22 ก.พ. 2022 เวลา 15:38 • ประวัติศาสตร์
สวัสดีค่ะ เปิดเพจคนงามวันนี้ วันสวยๆ
🌺 22022022 🌺⚘️22222🌷 เริ่มต้นด้วยบทความ เกี่ยวกับวันสำคัญทางศาสนาพุทธ ที่เพิ่งผ่านมานะคะ นั่นคือ 🙏วันมาฆบูชา🙏
วันสำคัญทางพุทธศาสนาในวันนี้ ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันเพ็ญเดือน 3 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย "วันมาฆบูชา" หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เป็น "วันจาตุรงคสันนิบาต" ขอพุทธศาสนิกชนทั้งหลาย #เจริญในธรรม เพื่อคงไว้ซึ่ง #ความงามผุดผ่องทางจิตใจ ของทุกๆ ท่านนะคะ
วันนี้ทางเพจของเราจะมาคุยถึงประวัติ ที่มาของวันมาฆบูชา กันค่ะ
....#มาฆบูชา ย่อมาจาก "มาฆปูรณมีบูชา" หมายถึง การบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะตามปฏิทินอินเดีย
.... ส่วน #จาตุรงคสันนิบาต นี้ มาจากศัพท์บาลี จาตุร+องฺค+สนฺนิปาต แปลว่า การประชุมอันประกอบด้วยองค์ประกอบทั้งสี่ประการ
.... สำหรับ #ประวัติของวันมาฆบูชา นั้น เริ่มขึ้นในวันเพ็ญเดือนมาฆะ เมื่อกว่า 2565 ปีที่ผ่านมา หลังจากพระพุทธเจ้าตรัสรู้แล้ว 9 เดือน (45 ปี ก่อนพุทธศักราช) ซึ่งในวันนั้นได้เกิด #องค์ประกอบอัศจรรย์ 4 ประการ คือ
1. ตรงกับวันเพ็ญเดือน 3
2. มีพระอรหันต์ 1,250 องค์ มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย (ใช้ลักษณนามว่า "องค์" ไม่ใช่คำว่า "รูป" เนื่องจากพระอรหันต์เป็นพระภิกษุผู้มีจิตวิญญาณเป็นเทวดาชั้นสูงสุด เทียบเท่าเทวดาชั้น "วิสุทธิเทพ" เมื่อใช้ลักษณะนามเรียกเทวดาว่าเป็น "องค์" พระอรหันต์ก็ได้รับลักษณะนามเช่นนั้น)
3. พระอรหันต์เหล่านั้นเป็นพระผู้ทรงอภิญญา 6( อภิญญา แปลว่า มีความรู้ยิ่ง หมายถึงปัญญาความรู้ที่สูงเหนือกว่าปกติ เป็นความรู้พิเศษที่เกิดขึ้นจากการอบรมจิตเจริญปัญญาหรือบำเพ็ญกรรมฐาน)
4. พระอรหันต์เหล่านั้นไม่ได้ปลงผมด้วยมีดโกน โดยพระพุทธเจ้าประทาน "เอหิภิกขุอุปสัมปทา" ด้วยพระองค์เอง
(เอหิภิกขุอุปสัมปทา เป็นชื่อเรียกวิธีบรรพชาอุปสมบทเป็นพระภิกษุในสมัยพุทธกาลยุคต้นๆ โดยพระพุทธเจ้าทรงประทานให้ด้วยพระองค์เอง โดยการตรัสว่า เธอจงเป็นภิกษุมาเถิด ธรรมอันเรากล่าวดีแล้ว ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์โดยชอบเถิด เพียงเท่านี้ และเราเรียกผู้ได้รับการอุปสมบทว่า เอหิภิกขุ)
.... พระพุทธเจ้าเมื่อทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆสันนิบาตอันอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงเห็นเป็นโอกาสอันสมควรที่จะแสดง #โอวาทปาติโมกข์ อันเป็นหลักคำสอนสำคัญที่เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนาแก่ที่ประชุมพระสงฆ์เหล่านั้น เพื่อวางจุดหมาย หลักการ และวิธีการ ในการเข้าถึงพระพุทธศาสนาแก่พระอรหันตสาวกและพุทธบริษัททั้งหลาย สรุปใจความได้เป็นสามส่วน คือ #หลักการ3อุดมการณ์4และวิธีการ6 ดังนี้
หลักการ 3 ได้แก่หลักการอันเป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา 3 ประการ
1. การไม่ทำบาปทั้งปวง(ศีล)
2. การทำกุศลให้ถึงพร้อม(ทาน)
3. การทำจิตใจให้บริสุทธิ์ (ภาวนา,ปัญญา)
อุดมการณฺ์ 4 ได้แก่
1. ความอดทนอดกลั้นเป็นสิ่งที่นักบวชในศาสนานี้พึงยึดถือและเป็นสิ่งที่ต้องใช้เมื่อประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจทุกอย่างที่ต้องเจอในชีวิตนักบวช เช่น ประสงค์ร้อนได้เย็น ประสงค์เย็นได้ร้อน
2. การมุ่งให้ถึงพระนิพพานเป็นเป้าหมายหลักของผู้ออกบวช มิใช่สิ่งอื่นนอกจากพระนิพพาน
3. พระภิกษุและบรรพชิตในพระธรรมวินัยนี้(เช่นภิกษุณี สามเณร สามเณรี สิกขมานา)ไม่พึงทำผู้อื่นให้ลำบากด้วยการเบียดเบียนทำความทุกข์กายหรือทุกข์ทางใจไม่ว่าจะในกรณีใดๆ
4. พึงเป็นผู้มีจิตใจสงบจากอกุศลวิตกทั้งหลายมีความโลภ โกรธ หลง เป็นต้น
วิธีการ 6 หมายถึง วิธีการเผยแผ่พระพุทธศาสนา 6 ประการ ได้แก่
1. การไม่กล่าวร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตีดูถูกความเชื่อผู้อื่น)
2. การไม่ทำร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับข่มขู่ด้วยวิธีการต่างๆ)
3. ความสำรวมในพระปาฏิโมกข์ (รักษาความประพฤติให้น่าเลื่อมใส)
4. ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภค (เสพปัจจัยสี่อย่างรู้ประมาณพอเพียง)
5. นั่งนอนในที่อันสงัด (สันโดษไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ)
6. ความเพียรในอธิจิต (พัฒนาจิตใจให้ยิ่งด้วยสมถะและวิปัสสนาเสมอ มิใช่ว่าเอาแต่สอนแต่ตนเองไม่กระทำตามที่สอน)
....พระพุทธเจ้าทรงแสดง "โอวาทปาติโมกข์" นี้ ด้วยพระองค์เอง ท่ามกลางที่ประชุมสงฆ์ผู้ศีลบริสุทธิ์ตลอด 20 พรรษาแรก ในครั้งสุดท้าย มีภิกษุผู้ทุศีล เข้าร่วมประชุม พระพุทธเจ้าทรงประกาศให้ออกจากที่ประชุม ภิกษุผู้ทุศีลไม่ยอมออกจากที่ประชุม พระโมคคัลลาฯจึงบังคับให้ออกจากที่ประชุม หลังจากนั้นทรงบัญญัติให้พระสงฆ์แสดง "อาณาปาติโมกข์","ภิกษุปาฏิโมกข์" กันเอง โดยพระองค์ไม่ทรงเข้าร่วมอีก
....สำหรับ #วันมาฆบูชาในประเทศไทย นั้น แต่เดิมไม่มีพิธีมาฆบูชาในประเทศพุทธเถรวาท จนมาในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) พระองค์ได้ทรงปรารภถึงเหตุการณ์ครั้งพุทธกาลในวันเพ็ญเดือน 3 ดังกล่าวว่า เป็นวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญยิ่ง ควรประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา เพื่อเป็นที่ตั้งแห่งความศรัทธาเลื่อมใส จึงมีพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ ให้จัดการพระราชกุศลมาฆบูชาขึ้นคือ มีการบำเพ็ญพระราชกุศลต่าง ๆ และมีการพระราชทานจุดเทียนตามประทีปเป็นพุทธบูชาในวัดพระศรีรัตนศาสดารามและพระอารามหลวงต่าง ๆ เป็นต้น ในช่วงแรก พิธีมาฆบูชาคงเป็นการพระราชพิธีภายใน ยังไม่แพร่หลายทั่วไป ต่อมา ความนิยมจัดพิธีมาฆบูชาจึงได้ขยายออกไปทั่วราชอาณาจักรไทย
ความเป็นมาก็เป็นดังนี้ค่ะ จริงๆ มีเรื่องราวเกี่ยวกับวันมาฆบูชาอีกหลายประการที่เราอยากเล่าสู่กันฟัง แต่ด้วยพื้นที่จำกัด ก็ขอยกไปโอกาสหน้านะคะ ขอให้ทุกท่าน #เจริญในธรรม และ #งดงามผุดผ่องจิตใจ ค่ะ สาธุ สาธุ สาธุ
#มาฆบูชา #วันมาฆบูชา #วันจาตุรงคสันนิบาต #วันพระใหญ่ #ขึ้น15ค่ำเดือน3 #วันเพ็ญเดือน3 #ประวัติวันมาฆบูชา #โอวาทปาติโมกข์ #หัวใจพระพุทธศาสนา #พุทธศาสนา #พระพุทธเจ้า #พระอรหันต์1250องค์ #วันสำคัญทางศาสนา
โฆษณา