23 ก.พ. 2022 เวลา 08:12 • ข่าวรอบโลก
ยุคทองของเศรษฐกิจญี่ปุ่น
ที่จุดเริ่มต้น เฟื่องฟู สู่ถดถอย ภายเวลาใน 20 ปี
1
เมื่อพูดถึงประเทศญี่ปุ่น เราจะนึกถึงภาพลักษณ์ของประเทศที่เคยแพ้สงครามโลก แต่สามารถพลิกฟื้นกลับขึ้นมาเป็นชาติอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจที่มีอิทธิพลสูง เต็มไปด้วยเทคโนโลยีล้ำๆ นวัตกรรมเจ๋งๆ ความมีระเบียบ วินัย ตรงต่อเวลา และมีความเป็นชาตินิยมที่เข้มข้น
แต่รู้ไหมว่าในช่วงยุค 1980 เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจญี่ปุ่นเฟื่องฟูสุดขีด ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นยุคทองเลยก็ว่าได้ เวลานั้นญี่ปุ่นไม่ได้ใช้กองทัพจรรกวรรดิในการสร้างอำนาจเหมือนสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับยึดครองเกือบครึ่งค่อนโลกในฐานะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอันดับ 2 ของโลก
อุตสาหกรรมสร้างชื่อให้กับชาติญี่ปุ่นคือ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า ที่ต้องยอมรับว่าสินค้าญี่ปุ่นมีชื่อเสียงด้านคุณภาพและนวัตกรรมที่แม้แต่ชาติที่เคยให้กำเนิดเทคโนโลยีต้นฉบับในยุโรปยังต้องยอมรับในความเป็น Made in Japan รวมทั้งประเทศไทยที่ชื่นชอบและนิยมสินค้าที่มาจากดินแดนอาทิตย์อุทัย จนถึงทุกวันนี้ก็ยังได้รับความเชื่อถือไม่เสื่อมคลาย
สำหรับประเทศญี่ปุ่นมีอาณาเขตจากการรวมของหมู่เกาะต่างๆ บนพื้นที่วงแหวนแห่งไฟ 337,975 ตารางกิโลเมตร น้อยกว่าประเทศไทยประมาณ 135,145 ตารางกิโลเมตร และจำนวนประชากรในปี 1980 คือ 116.8 ล้านคน
จำนวนทรัพยากรมนุษย์บนพื้นที่ที่จำกัดคือแรงกดดันในการนำเข้าสินค้า และเป็นการแข่งขันทางเศรษฐกิจที่ทำให้สินค้าอุตสาหกรรมต่างๆ ถูกส่งออกให้มากกว่า เพื่อรักษาเสถียรภาพดุลการค้าเช่นกัน
คุณภาพของสินค้าญี่ปุ่นที่อยู่ในเกรดสูง มีประสิทธิภาพสูง ในราคาย่อมเยากว่าสินค้าประเภทเดียวกันที่ผลิตโดยชาติยุโรปหรืออเมริกา มันจึงเป็นตัวเลือกอันดับ 1 สำหรับผู้บริโภคและผู้ประกอบการในการเลือกสินค้านำเข้าจากญี่ปุ่น
เมื่อมีการนำเข้าสินค้าญี่ปุ่นจากประเทศต่างๆ มากขึ้น สิ่งที่ตามมาคือเจ้าแห่งตลาดเดิมขาดดุลการค้า หรือเข้าใจง่ายๆ คือ ขายของอยู่แล้ว แต่สินค้าขายไม่ดีเหมือนแต่ก่อน ทำให้ขาดทุน ซึ่งในทางเศรษฐศาสตร์คือการขาดดุล
ที่น่าสนใจคือ ผู้ขาดดุลรายใหญ่เป็น สหรัฐอเมริกา
เมื่อสหรัฐกำลังเสียท่า เพราะไม่ได้รับผลกระทบแค่ทางฝั่งญี่ปุ่น แต่ยังได้รับผลกระทบจากอีกหลายๆ ประเทศที่กำลังผลักดันสินค้าอุตสาหกรรม
นำมาสู่ Plaza Record หรือข้อตกลงพลาซ่า ที่นิวยอร์ก ในเดือนกันยายน 1985 เมื่อรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ และรัฐมนตรีกระทรวงพาณิชย์อังกฤษ เยอรมนีตะวันตก ฝรั่งเศส และญี่ปุ่น เหล่านี้ล้วนได้เปรียบดุลการค้ากับสหรัฐ
มาลงนามข้อตกลงร่วมกัน โดยได้ข้อสรุปเป็นการลดค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ เมื่อเทียบกับสกุลเงินของตน เพื่อแก้ปัญหาให้กับการขาดดุลการค้า
และผลจาก Plaza Record ส่งผลให้ค่าเงินเยนญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้นเกือบ 2 เท่าตัวในเวลา 1 ปี
ในปี 1985 เงิน 242 เยน เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
ในปี 1986 เงิน 153 เยน เท่ากับ 1 ดอลลาร์สหรัฐ
แล้วเป้าหมายในการลดค่าเงินสหรัฐคืออะไร ?
คำตอบก็คือ ต้องการสินค้าส่งออกในราคาที่ถูกลง ส่วนสินค้านำเข้าโดยเฉพาะจากญี่ปุ่นจะแพงขึ้น แต่เรื่องที่หวังกลับไม่เป็นอย่างหวัง เพราะผลที่ได้คือ ญี่ปุ่นกลับมาปรับการบริหารให้คล่องตัว ลดต้นทุนการผลิต โดยการกระจายฐานการผลิตออกไปในประเทศที่มีค่าแรงต่ำ
โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไล่เรียงตั้งแต่อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น
เทคโนโลยี และเงินทุนมหาศาล หลั่งไหลเข้าประเทศเหล่านี้ ทำให้แรงงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ในขณะที่ผู้ประกอบการจากญี่ปุ่นก็ได้ประโยชน์จากแรงงานราคาถูก และฐานลูกค้าใหม่ก็เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล
ความมั่งคั่งเพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่มีทรัพย์สินเหลือพอที่จะเพิ่มความสุขให้ชีวิต โดยเฉพาะที่พักอาศัย ราคาอสังหาริมทรัพย์ และสินทรัพย์อื่นที่มีเงินเยนเป็นฐาน มีราคาพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์
ราคาที่ดินในญี่ปุ่น สูงเป็น 4 เท่าของสหรัฐอเมริกา แม้อเมริกาจะใหญ่กว่าถึง 30 เท่า
มาถึงตรงนี้ อสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐถูกกว่ามาก นั่นจึงเป็นโอกาสในการลงทุนและขยายกิจการของบริษัทใหญ่ต่างๆ
บริษัท Sony ซื้อกิจการ Columbia Pictures ผู้ผลิตภาพยนตร์ขนาดใหญ่
เครือ Mitsubishi ซื้อ Rockefeller Center อาคารใหญ่ใจกลางนิวยอร์ค
เวลานั้นเศรษฐีที่รวยที่สุดในโลกในปี 1987 ก็เป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ชื่อว่า Yoshiaki Tsutsumi ซึ่งก็เป็นคนญี่ปุ่น
GDP ญี่ปุ่นโตเป็น 2 ใน 3 ของสหรัฐอเมริกา แม้จำนวนประชากรจะน้อยกว่าถึงครึ่งหนึ่ง
คนญี่ปุ่นกำลังมีความสุขกับคุณภาพชีวิตบนกองเงินกองทอง แต่ถึงกระนั้นพวกเขาก็ยังไม่รู้ว่าสิ่งที่กำลังรออยู่ตรงหน้าจะพลิกให้ประเทศที่กำลังเติบโตร่ำรวย กลายเป็นประเทศที่เศรษฐกิจแทบไม่โตเลยในระยะเวลาอันรวดเร็ว
นโยบายทางการเงินปลายทศวรรษที่ 1990 เริ่มหละหลวม ธนาคารปล่อยกู้ง่ายโดยให้เหตุผลถึงการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งมันส่งผลต่อประชาชนที่รู้สีกว่าเงินกู้คือสิ่งที่หาง่าย จนเกิดการใช้จ่ายจนเกินตัว
แม้เงินเยนจะแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องหลายปี ขณะเดียวกันเงินทุนก็ไหลออกนอกประเทศ ทั้งในการลงทุนในประเทศค่าแรงถูก และการเก็งกำไรในตลาดเงิน
ธนาคารกลางญี่ปุ่นสมัยนั้นแก้ปัญหาโดยการปรับอัตราดอกเบี้ยให้สูงขึ้น เพื่อหวังให้เม็ดเงินไหลออกนอกประเทศน้อยลง แต่มันกลับเป็นการสร้างกำแพงให้ประชาชนญี่ปุ่นชำระเงินกู้ได้ยากขึ้น
ผลสุดท้าย หนี้สูญเกิดขึ้นทั่วประเทศ ภาคธุรกิจล้มระเนระนาด คนว่างงานในประเทศเพิ่มขึ้น ในขณะที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ร่วงหนัก จนเศรษฐกิจอันเป็นยุคทองของญี่ปุ่นต้องจบลงเพียงแค่ 2 ทศวรรษ
แต่ต้องยอมรับว่าญี่ปุ่นสะสมบุญเก่าในอดีตมาค่อนข้างดี เพราะแม้ประเทศจะเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว และภาวะเงินฝืด แต่ก็ยังถือเป็นประเทศที่ร่ำรวย ประชากรมีรายได้สูงอยู่
นับตั้งแต่ปี 1990 - 2020 เศรษฐกิจญี่ปุ่นเติบโตใกล้เคียง 0% มาตลอดระยะเวลา 30 ปี นั่นเท่ากับว่าเศรษฐกิจญี่ปุ่นแทบไม่มีการเติบโตเลย แต่ด้วยพลังของจำนวนพลเมืองที่มีอยู่กว่า 130 ล้านคน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานและวัยหนุ่มสาวที่มีกำลังซื้อ ก็ยังสามารถทำให้เศรษฐกิจภายในขับเคลื่อนต่อไปได้บ้างจากการบริโภคภายใน
จนกระทั่งปี 2018 ที่ญี่ปุ่นประกาศอย่างเป็นทางการว่าประเทศกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เนื่องจากการศึกษาของ OECD ในขณะนี้ จำนวนผู้ที่มีอายุเกินเกษียณที่ 65 ปี คิดเป็น 52% ของประชากรวัยทำงาน ตามการคาดการณ์ของ Credit Suisse จะมีประชากรสูงอายุถึง 82% ภายในปี 2060
สิ่งที่ตามมาก็คืองบประมาณในการใช้จ่ายเพื่อการดูแลสวัสดิการผู้สูงอายุของญี่ปุ่นที่เพิ่มสูงขึ้น ตรงกันข้ามกับอัตราการเกิดของประชากรที่ชะลอตัว และมีอัตราการเกิดต่ำที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทำให้ญี่ปุ่นเริ่มกังวลว่า แรงงานรุ่นใหม่จะเริ่มขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 4 ของโลก และจะส่งผลอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว รวมทั้งการเก็บภาษีที่ลดลงจนอาจกระทบสวัสดิการทั้งหลาย
หากใครจำได้เมื่อช่วงปี 2008 รัฐบาลญี่ปุ่นต้องมีการหารายได้เพิ่มทางอื่น เนื่องจากอัตราการบริโภคภายในประเทศที่ต่ำ ซึ่งเงินที่มาเร็ว และเยอะที่สุดคือการท่องเที่ยว ดังนั้นองค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศญี่ปุ่น จึงถือกำเนิดขึ้น เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาญี่ปุ่น ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาญี่ปุ่นเพิ่มจาก 8.4 ล้านคน มาอยู่ที่ 31.9 ล้านคน ในปี 2019
แต่ก็ยังไม่สามารถสร้างเม็ดเงินได้มากเพียงพอที่จะขยายอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทำให้สุดท้ายญี่ปุ่นต้องมีการปรับเพิ่มอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มจาก 8% เป็น 10% ในปี 2019
ผลที่ตามมาคือรายได้เข้ารัฐมากขึ้น แต่กลับทำให้อัตราการจับจ่ายชะลอตัวลงตามไปด้วย ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่กระทบกับห่วงโซ่อุปทานโดยรวม และเป็นเหตุให้ญี่ปุ่นในฐานะชาติพันธมิตรของสหรัฐฯ จำเป็นต้องย้ายฐานการผลิตหลายรายการออกจากประเทศจีน เป็นจังหวะที่จีนเองก็เร่งพัฒนาประเทศ และเทคโนโลยี รวมทั้งค่าแรงเริ่มสูงขึ้น ไม่ใช่แหล่งแรงงานราคาถูกอย่างในอดีตอีกต่อไป
แม้สินค้าญี่ปุ่นจะได้รับการยอมในเรื่องของคุณภาพที่อยู่ในระดับสูง แต่ก็มีข้อด้อยคือ ราคาสินค้าที่แพงเมื่อเทียบกับคู่แข่งอย่างเกาหลีใต้ และจีน ที่ในช่วงหลังๆ สามารถพัฒนานวัตกรรมได้เทียบเท่าหรือเหนือกว่า โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีและอิเล็กทรอนิกส์ ที่ญี่ปุ่นนับว่าเพลี่ยงพล้ำให้กับคู่แข่งมาหลายปี เนื่องจากไม่สามารถพัฒนาจุดเด่นได้ทันหรือเหนือกว่า
ส่งผลให้หลายบริษัทจำเป็นต้องยุติการพัฒนาสินค้าเพราะไม่อาจแบกต้นทุนที่สูงกว่า และขายในราคาที่แพงกว่าคู่แข่งได้นั่นเอง
อย่างไรก็ตามญี่ปุ่นก็ยังคงเป็นประเทศที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะการถือสิทธิบัตรนวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงอื่นๆ ที่หลายประเทศไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ และแม้ว่าประเทศคู่แข่งจะพัฒนาเทคโนโลยีขึ้นมาจนเกือบเทียบเท่า แต่อุปกรณ์บางชิ้นส่วนที่สำคัญก็ยังต้องนำเข้าจากญี่ปุ่น โดยเฉพาะสมาร์ตโฟน ที่แม้ค่ายผู้ผลิตยักษ์ใหญ่จากเกาหลีใต้ก็ยังต้องพึ่งพาชิ้นส่วนเหล่านี้จากญี่ปุ่น
แต่อนาคตหากบริษัทเหล่านี้พัฒนาชิ้นส่วนสำคัญได้ด้วยตัวเองแล้ว ญี่ปุ่นอาจจะถูกลดความสำคัญลง และเมื่อไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมมาทดแทนได้ ญี่ปุ่นอาจจะประสบปัญหาเศรษฐกิจถดถอยในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
╔═══════════╗
ไม่พลาดบทความสาระดีๆ ที่ Reporter Journey ตั้งใจสร้างสรรเพื่อผู้ติดตามทุกท่าน อย่าลืมกดติดตามเพจ ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
╚═══════════╝
.
ติดตาม Reporter Journey ได้ทุกช่องทางที่
2
โฆษณา