23 ก.พ. 2022 เวลา 09:06 • ปรัชญา
ความสมดุลของของสองสิ่งที่มีสภาพขั้วตรงข้ามหรือทวิภาวะ ทางเต๋าเรียกหยิน- หยาง แสดงสัญลักษณ์เป็นตัวลูกอ๊อด ดํา-ขาว ต่อหัวหางเป็นวงกลมแสดงวัฏจักรการหมุนเวียนอย่างต่อเนื่องเป็นวงกลม ขับเคลื่อนโลกและจักรวาล ในหยินใหญ่มีหยางเล็ก ( ลูกอ๊อดขาวมีจุดดําเล็ก) ในหยางใหญ่มีหยินเล็ก (ลูกอ๊อดดํามีจุดขาวเล็ก) ในความตึง มีความหย่อนผสมอยู่ด้วย ในความหย่อนก็มีความตึงอยู่ ในความดี มีชั่วผสมเล็กน้อย ในชั่วมีดีผสม ไม่มีสุดโต่งที่ดีก็ดีอย่างเดียว หรือชั่วก็ชั่วอย่างเดียวไปเลย ส่วนผสมของหยิน-หยางและความสมดุลย์ ทําให้เกิดการขับเคลื่อน การดําเนินชีวิตประจำวัน ความสงบสุขและวิถีชีวิตของคนเรา
เมื่อเกิดขาดสภาวะสมดุล เช่นหยินมากไป หยางมากไป ก็เกิดความโกลาหล เกิดวิบัติ เกิดความไม่ปรกติ ความไม่สบาย โรคภัยไข้เจ็บส่วนใหญ่เกิดจากความไม่สมดุลของหยินหยางในร่างกาย โลกไม่สงบถ้าขั่วมากเกินก็จะมีโจรเต็มบ้าน หรือดีมากเกินไปโลกก็จะขับเคลื่อนไม่ได้ ก็จะมีแต่คนปฏิบัติธรรมละทางโลกกันหมด เชือกที่ตึงเกินไปก็จะขาด อ้วนเกินไปหรือผอมไปก็ป่วยง่าย สุขมากเกินก็ติดสุข ไม่รู้จักทุกข์ ลืมที่จะบรรลุธรรม มีคนรวยมากไปก็ไม่มีคนจนทํางานให้ ไม่มีผู้ชาย ผู้หญิงก็มีลูกไม่ได้ เป็นต้น
ดังนั้นความสมดุลหรือทางสายกลางนั่นแหละคือคําตอบมิใช่เส้นกั้นใดๆ ที่มิให้โอนเอียงไปทางหยินหรือหยาง ความสมดุลคือภาวะจิตที่มิได้ให้คุณค่าทั้งซ้ายและขวา คือสติที่มิได้เอนเอียงหรือให้คุณค่าสิ่งใดมากกว่ากัน ในทางโลกธรรมชาติจึงสร้างหยินหยางให้มีจํานวนพอๆกัน
โฆษณา