25 ก.พ. 2022 เวลา 06:52 • ความงาม
เสริมหน้าอก (breast augmentation) ตอนที่ 1
หน้าอกเป็นอีกส่วนในร่างกายที่คุณผู้หญิงหลาย ๆ คนให้ความสำคัญ เพราะการมีหน้าอกที่มีขนาดพอดีกับตัวจะช่วยให้รูปร่างดูสวยงาม มีส่วนโค้งส่วนเว้า เพิ่มความมั่นใจ สำหรับคนที่รู้สึกกังวลเรื่องขนาดหน้าอกที่เล็กหรือแบนเกินไป ก็สามารถแก้ไขได้ด้วยการผ่าตัดเสริมหน้าอกครับ ❤
หลาย ๆ ท่านอาจสนใจเรื่องการผ่าตัดเสริมหน้าอกแล้วก็เคยได้อ่านได้ฟังเรื่องเกี่ยวกับการผ่าตัดมาบ้าง ซึ่งข้อมูลก็มีมากมาย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการผ่าตัด ชนิด ขนาดของซิลิโคน หรือรูปทรงของหน้าอก วันนี้ผมเลยอยากมาสรุปให้อ่านกันแบบเข้าใจง่าย ๆ พอให้เป็นไอเดียกันนะครับ
การผ่าตัดเสริมหน้าอก มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มขนาดหน้าอก ข้อมูลสำคัญที่ควรทราบก่อนเข้ารับการผ่าตัดมี 6 ข้อหลัก ๆ ดังนี้
1. แผลผ่าตัด มี 3 แบบ ได้แก่ แผลรักแร้ แผลที่ปานนม และแผลใต้ราวนม
• แผลรักแร้ มีข้อดีคือไม่มีแผลที่เต้านม แต่การเลาะโพรงและใส่ซิลิโคนอาจทำได้ยากกว่าวิธีอื่น ในปัจจุบันการผ่าตัดผ่านรักแร้โดยใช้กล้องจะทำให้การเลาะโพรงและใส่ซิลิโคนทำได้ง่ายขึ้น ให้ผลลัพธ์ดีกว่าการผ่าตัดแบบไม่ใช้กล้อง
• แผลปานนม รอยแผลเป็นจะซ่อนอยู่รอบปานนม แต่ไม่สามารถใส่ซิลิโคนที่ขนาดค่อนข้างใหญ่ได้ และมีโอกาสเกิดพังผืดรัดนม (Capsular contracture) ได้มากกว่าวิธีอื่น
• แผลใต้ราวนม เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุดเพราะเลาะโพรงและใส่ซิลิโคนได้ง่าย หากมีเลือดออกระหว่างผ่าตัดก็สามารถหยุดเลือดได้อย่างรวดเร็ว แต่จะมีรอยแผลบริเวณใต้ราวนม
2. ชั้นของการใส่ซิลิโคน มี 3 แบบ ได้แก่
• ใส่ใต้เนื้อนม (Subglandular plane) เป็นวิธีที่ทำได้ง่าย ทรงของเต้านมดูเป็นธรรมชาติ แต่มีโอกาสเกิดพังผืดรัดนมได้มากกว่าวิธีอื่น ๆ และไม่เหมาะสำหรับคนผอมหรือเนื้อนมน้อยเพราะอาจคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคน (Rippling) ทำให้ดูไม่เป็นธรรมชาติ
• ใส่ระหว่างชั้นกล้ามเนื้อกับเนื้อนม (Subfascial plane) มีข้อดีคือทำได้ง่าย ทรงของเต้านมดูเป็นธรรมชาติ ใช้เวลาพักฟื้นน้อย โอกาสเกิดพังผืดรัดนมน้อย แต่ไม่เหมาะสำหรับคนผอมหรือเนื้อนมน้อยเพราะอาจคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคนเช่นเดียวกับการใส่ซิลิโคนในชั้นใต้เนื้อนม
1
• ใส่ใต้ชั้นกล้ามเนื้อบางส่วน (Dual plane) เป็นวิธีที่ไม่ทำให้เกิดปัญหาเรื่องการคลำได้ขอบหรือรอยย่นของซิลิโคน โอกาสเกิดพังผืดรัดนมน้อย แต่อาจมีเลือดออกระหว่างผ่าตัดและมีอาการปวดหลังผ่าตัดมากกว่าวิธีอื่น ใช้เวลานานกว่าหน้าอกจะเข้าที่เมื่อเทียบกับอีกสองวิธี นอกจากนั้นในคนที่ออกกำลังกายจนมีกล้ามเนื้อหน้าอกหนา อาจเห็นซิลิโคนขยับไปมาตามการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อได้ (Animated breast)
3. รูปทรงซิลิโคน: ทรงกลม VS ทรงหยดนํ้า
• ทรงกลม ซิลิโคนมีรูปร่างกลม เหมาะสำหรับคนที่มีเนินอกน้อยหรือต้องการให้เห็นเนินอกชัดเจน
• ทรงหยดนํ้า ครึ่งบนของซิลิโคนจะมีรูปร่างแบนราบกว่าทรงกลม เหมาะสำหรับคนที่พอมีเนื้อหน้าอกและไม่ต้องการให้เห็นเนินอกชัดเกินไป อยากให้ทรงหน้าอกดูเป็นธรรมชาติ แต่ซิลิโคนอาจบิดหมุนทำให้หน้าอกเสียรูปทรงได้ ซึ่งตอนนี้ซิลิโคนบางยี่ห้อก็แก้ปัญหาเรื่องนี้ด้วยการทำให้ซิลิโคนสามารถปรับรูปร่างเป็นลักษณะทรงหยดน้ำเฉพาะเมื่ออยู่ในท่านั่งหรือยืน เพื่อลดปัญหาการบิดหมุนของซิลิโคนครับ
1
เนื่องจากเนื้อหามีค่อนข้างมาก วันนี้ผมขอเขียนค้างไว้ตรงนี้ก่อน ฝากติดตามเนื้อหาส่วนถัดไปของการผ่าตัดเสริมหน้าอกในสัปดาห์หน้ากันนะครับ 😉
โฆษณา