25 ก.พ. 2022 เวลา 17:16 • การศึกษา
ฝึกการเรียนรู้ด้วยกฏ FASTER
ทุกๆคนคงเคยผ่านการเรียนมาใช่ไหมครับ แน่นอนว่าทุกคนต้องเคยเรียนรู้กันมาก่อนอยู่เเล้วไม่มากก็น้อย แต่ว่าในการเรียนทุกคนๆมีวิธีในการเรียนไหมครับ ถ้าเป็นสมัยก่อนคุณครูของเราก็จะชอบบอกว่า “อ่านหนังสือเยอะๆ นะแล้วจะเก่งเอง” เราจะเห็นว่าด้วยแนวคิดแบบนี้ที่ปลูกฝังเรามาตั้งแต่เด็กทำให้เด็กสมัยนี้เรียนพิเศษกันตั้งแต่เช้าจรดเย็น นอกจากนี้เมื่อพ้นจากวัยเรียนแล้วชีวิตจริงเรายังจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ อีกมากมายไม่ว่าจะเป็นในที่ทำงานหรือในชีวิตประจำวัน เพราะเทคโนโลยีสมัยนี้นั้นเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทำให้คนที่ห่างหายจากการเรียนรู้ไปนั้น ไม่สามารถที่จะรับการเปลี่ยนแปลงได้ทัน
ทำให้การผลเสียในการทำงานหรืออาจทำให้บุคคลผู้นั้นเรียนรู้ช้า แทนที่จะนำเวลาที่ใช้ในการเรียนรู้นั้นไปทำอย่างอื่นแทน ซึ่งจากประสบการณ์ที่ผ่านมาเรียกได้ว่าแทบจะไม่มีใครสอนวิธีการเรียนรู้ให้เราเลย ทั้งจากโรงเรียนหรือในมหาวิทยาลัย ในบทความนี้ผมจะนำเสนอวิธีเรียนรู้แบบหนึ่งที่มีชื่อว่า “FASTER”
FASTER คืออะไร FASTER เป็นการรวมคำทั้งหมด 6 คำในภาษาอังกฤษเข้าด้วยกัน ได้แก่ F-Forget, A-Act, S-State, T-Teach, E-Enter, R-Review เรามาดูกันเลยว่าแต่ละคำนั้นหมายถึงอะไร
F-Forget(ลืม): คำว่า Forget นั้นมีความหมายว่า “ลืม” เมื่อนำมาใช้กับการเรียนรู้ เราจะหมายถึง การลืม อีโก้ ความรู้ที่มี อคติ หรือ สิ่งที่ไม่จำเป็น ที่ขัดขวางต่อการเรียนรู้ทั้งหมด พูดง่ายๆ ก็คือการทลายกรอบความความคิดของตัวเองนั้นเอง
A-Act (กระทำ): การลงมือทำหรือลงมือเรียนรู้ด้วยตนเอง การลงมือทำจริงจะทำให้เราได้ฝึกคิด ฝึกทำ และเห็นข้อบกพร่องในตัวเอง ซึ่งจะทำให้เกิดการพัฒนาอย่างรวดเร็ว คนบางคนไม่กล้าที่จะลงมือทำในสิ่งที่คิดทำให้ไม่เกิดผลลัพท์ขึ้น ดังนั้นการลงมือทำจะช่วยให้เราเห็นผลลัพท์ได้อย่างชัดเจนและสามารถนำผลลัพท์นั้นไปปรับปรุงได้
S-State (สภาวะ): เราจะเรียนรู้ได้ดีที่สุดนั้นขึ้นอยู่ว่าเราอยู่ในสภาพที่พร้อมจะเรียนรู้หรือไม่ ซึ่งแต่ละคนมีการเตรียมพร้อมให้เกิดสภาพที่พร้อมต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกัน เช่น บางคนชอบอ่านหนังสือในที่เงียบๆ จะได้ไม่มีเสียงรบกวน หรือ บางคนชอบอ่านหนังสือในตอนเช้า เนื่องจากสมองปลอดโปร่ง หรือบางคนต้องกินข้าวก่อนที่จะทำการเรียน เป็นต้น ซึ่งการเตรียมพร้อม state ให้เหมาะสมกับการเรียนรู้นั้นแตกต่างกันไปตามแต่ละคน ดังนั้นเราควรหาวิธีเตรียม state ให้เหมาะกับตนเองแล้วคุณจะเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว
T-Teach (สอน): การสอนผู้อื่นนั้นเป็นเสมือนตัวชี้วัดว่า เราเข้าใจเนื้อหาที่สอนนั้นไหม นอกจากนี้การสอนยังมีข้อดีอื่นๆ อีกเช่น เป็นเสมือนกับการทบทวนเนื้อหาอีกรอบหนึ่งไปในตัว, เป็นเสมือนการฝึกอธิบายเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจเนื้อหายิ่งเราสามารถอธิบายได้ง่ายเพียงใดก็เท่ากับเราเข้าใจเนื้อหาได้มากเพียงนั้น
E-Enter (เข้า): อาจจะฟังดูแปลกๆ สำหรับการแปลเป็นภาษาไทย การเข้าในข้อนี้นั้นมีความหมายว่า เราควรนำสิ่งที่เราต้องการจะเรียนรู้นั้นเข้าไปแทรกในชีวิตประจำวันด้วย เนื่องจากในแต่ละวันเรามีสิ่งที่ต้องทำมากมายดังนั้นเพื่อให้เราสามารถที่จะมีเวลาในการเรียนรู้ เราควรแบ่งเวลาให้สิ่งนั้นด้วย แนะนำให้เขียนให้ชัดเจนไปเลยว่าจะเรียนสิ่งนี้ตอนกี่โมง เป็นระยะเวลาเท่าไหร่
R-Review (ทบทวน): ข้อนี้ถือเป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ก็ว่าได้เนื่องจากคนเรามีความจำที่จำกัดและไม่สามารถที่จะจำเนื้อหาทั้งหมดได้ ดังนั้นการกลับการอ่านเนื้อหานั้นอีกครั้งจะทำให้เราสามารถจำรายละเอียดได้อย่างแม่นยำมากขึ้น โดยในหนังสือบางเล่มบอกว่า หากเราทำการทบทวนเป็นจำนวนอย่างต่ำ 4 ครั้ง (ขึ้นอยู่กับแต่ละคนด้วย) เราจะสามารถเปลี่ยนความรู้นั้นให้กลายเป็นความทรงจำระยะยาวได้
การเรียนถือเป็นทักษะที่ขาดไม่ได้ในปัจจุบัน เราต้องเรียนรู้สิ่งต่างๆในแต่ละวันตลอดเวลา โดยผู้เขียนหวังว่าเนื้อหาในบทความนี้จะสามารถทำให้ผู้อ่านนำ FASTER เข้าไปประยุกต์ใช้กับวิธีการเรียนรู้ของผู้อ่านได้และหวังว่าจะทำให้ความสามารถในการเรียนรู้เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพครับ
Reference
เนื้อหาในบทความนี้ผู้อ่านได้รับแรงบรรดาลใจมากจากหนังสือ Limitless หากผู้อ่านท่านใดสนใจ สามารถหาซื้ออ่านกันได้ครับ
โฆษณา