26 ก.พ. 2022 เวลา 02:21 • กีฬา
วงการฟุตบอลยุโรป เริ่มโจมตีรัสเซียด้วยกลยุทธ์ Soft Power อาจไม่ได้ทำให้ปธน.ปูตินสนใจ แต่ประชาชนโดนผลกระทบแน่ วิเคราะห์บอลจริงจังจะไปลำดับเรื่องราวสำคัญนี้ให้ทุกคนอ่านกัน
1
ในวงการฟุตบอลมีเหตุการณ์ใหญ่ 2 เรื่อง ที่เกี่ยวข้องกับสงครามยูเครน - รัสเซีย โดยเรื่องทั้งคู่เกิดขึ้นในเวลาใกล้เคียงกันมาก
เรื่องแรก คือการที่สโมสรชาลเก้ 04 ประกาศลดความสัมพันธ์กับ บริษัท Gazprom (ก๊าซปรอม) ที่เป็นสปอนเซอร์หลักของทีม โดยจะเอาโลโก้ของ Gazprom ที่หน้าอกเสื้อออก เปลี่ยนมาใช้ชื่อสโมสร Schalke 04 แทน
เรื่องที่สอง คือการที่ยูฟ่า ตัดสินใจเปลี่ยนสนามแข่งยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกนัดชิงชนะเลิศ จากเครสตอฟสกี้ สเตเดี้ยม ในเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์กของรัสเซีย เป็นสนามสต๊าด เดอ ฟรองซ์ ของฝรั่งเศสแทน
จุดเริ่มต้นของทั้งสองเรื่อง เกิดขึ้นจากผู้ชายคนเดียว นั่นคือวลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีของรัสเซีย
เริ่มที่เรื่องแรกกันก่อน คือ Gazprom กับสโมสรชาลเก้ 04
ประเทศรัสเซีย มีทรัพยากรที่สำคัญที่สุดคือ น้ำมันและก๊าซธรรมชาติ พวกเขาจะขุดเจาะน้ำมันจากทางตอนเหนือของประเทศ แล้วส่งต่อเพื่อนำไปขายทั่วทวีปยุโรป
ในธุรกิจทั้งหมดของรัสเซีย บริษัทที่ทำรายได้สูงสุดอันดับ 1 2 3 คือบริษัทเชื้อเพลิงทั้งหมด (Gazprom, Lukoil และ Rosneft) และในบรรดาบริษัททั้งหมดนั้น Gazprom คือบริษัทเบอร์หนึ่ง นี่คือบริษัทที่มีรัฐบาลรัสเซียเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ ดังนั้นจะบอกว่า Gazprom คือความภูมิใจของรัสเซีย ก็อาจจะไม่เกินเลยไปนัก
เป็นตามธรรมดาของธุรกิจ เมื่อคุณสร้างรายได้จากชาติยุโรป สิ่งที่คุณต้องทำ คือต้องสร้างภาพลักษณ์ที่ดีขององค์กรให้คนยุโรปเห็น และสิ่งที่ Gazprom เลือกทำ คือเอาเงินมาเป็นสปอนเซอร์ให้กับวงการฟุตบอล
Gazprom จ่ายเงินโฆษณาเพื่อเป็นสปอนเซอร์ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก จำนวนมหาศาลถึง 40 ล้านยูโรต่อปี โดยมีสัญญากันยาวถึงปี 2024
2
ในยูโร 2024 ที่เยอรมนีจะเป็นเจ้าภาพในอีก 2 ปีข้างหน้า Gazprom ก็ล็อกโควต้าเป็นสปอนเซอร์เอาไว้เรียบร้อยแล้ว
และไม่ใช่แค่รายการใหญ่ๆ แต่ Gazprom จ่ายเงินซัพพอร์ทแม้แต่รายการอื่นๆ ที่มีความนิยมน้อยกว่า เช่น เนชั่นส์ลีก, ยูธลีก และ ฟุตซอลแชมเปี้ยนส์ลีก คือพูดได้เลยว่า Gazprom เป็นฐานรายได้สำคัญของยูฟ่าเลยก็ว่าได้
อีกหนึ่งหมากสำคัญที่ทำให้ Gazprom ได้ใจคนยุโรปโดยเฉพาะเยอรมนี คือการประกาศเป็นสปอนเซอร์หลักของชาลเก้ 04 ทีมในบุนเดสลีกา ในปี 2007
ก่อนหน้านั้น แม้ชาลเก้จะเป็นทีมใหญ่ มีฐานแฟนอันดับ 3 ของบุนเดสลีกา เป็นรองแค่บาเยิร์น กับ ดอร์ทมุนด์ แต่ผู้บริหารควบคุมการเงินกันผิดพลาด จนทีมมีหนี้สิน 120 ล้านยูโร จนทีมกำลังจะล่มสลาย
3
ถ้าเป็นลีกอื่นๆ ทีมมีหนี้ขนาดนี้ เจ้าของก็จะขายให้นายทุนต่างชาติมาเทกโอเวอร์เพื่อล้างหนี้ เหมือนเลสเตอร์ ยุคมิลาน มันดาริช ใช้หนี้ไม่ไหว ก็ขายต่อให้ตระกูลศรีวัฒนประภา เป็นต้น แต่กรณีของเยอรมัน ตามกฎ 50+1 คุณขายทีมแบบนั้นไม่ได้
เมื่อขายทีมทิ้งไม่ได้ สโมสรก็ไม่เหลือทางเลือก นอกจากต้องขายผู้เล่นเก่งๆ เพื่อเอาเงินมาโปะหนี้ และแน่นอนว่า ถ้าคุณขายคีย์แมนออกไปหมด ทีมก็จะลดระดับกลายเป็นทีมขนาดกลางค่อนไปทางเล็ก โอกาสประสบความสำเร็จก็แทบไม่เหลือเลย
ในขณะที่ชาลเก้อยู่ในสถานการณ์วิกฤตินั้น Gazprom เป็นพระเอกขี่ม้าขาว เมื่อประกาศขอเป็นสปอนเซอร์หลักให้กับชาลเก้ โดยพร้อมจ่ายเงิน 100 ล้านยูโร ในสัญญา 5 ปีครึ่ง โดยไม่ได้ต้องการอะไรตอบแทนเลย ไม่มีการแทรกแซงการบริหารจากเจ้าของเดิม คือเป็นการให้เงินเฉยๆ แลกกับช่องทางการเป็นสปอนเซอร์เท่านั้น
ไม่เพียงแค่จ่ายเงินให้สโมสรเท่านั้น Gazprom ยังประกาศซัพพอร์ทกลุ่มแฟนบอลพันธุ์แท้ของสโมสร (Schalke Hilft) และเป็นสปอนเซอร์หลักให้มูลนิธิช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาโรคหัวใจ ของเกรัลด์ อซาโมอาห์อีกด้วย เรียกได้ว่าสร้างความสัมพันธ์ที่ดีเอาไว้กับแฟนๆ ตั้งแต่แรก
ตัวเลข 100 ล้านยูโรในช่วง 5 ปีครึ่ง (เฉลี่ยเกือบ 20 ล้านยูโรต่อปี) ทำให้ Gazprom เป็นสปอนเซอร์ที่จ่ายหนักที่สุดในประเทศเยอรมัน แซงหน้าดอยช์ เทเลคอม สปอนเซอร์หลักของบาเยิร์น มิวนิคเสียอีก
1
การได้เงินก้อนในมือ ทำให้ชาลเก้รอดพ้นจากวิกฤติการเงิน ทำให้พวกเขาค่อยๆ สร้างทีมที่ดีขึ้นเรื่อยๆ ในฤดูกาล 2010-11 ชาลเก้คว้านักเตะดังๆ อย่างราอูล กอนซาเลส และ คลาส แยน ฮุนเตลลาร์เข้ามา จนสามารถทะลุถึงรอบรองชนะเลิศยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีกเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์สโมสร
ไม่แปลกที่หลายคนจะคิดว่า Gazprom เป็นหนึ่งในผู้มีพระคุณของชาลเก้เหมือนกัน คือมาช่วยกันไว้ในยามลำบาก
ส่วนประโยชน์ที่ Gazprom จะได้รับจากชาลเก้ คือการอยู่ในสายตาของคนเยอรมันตลอด และในอนาคตเมื่อจะผลักดันโครงการอะไร ก็มีโอกาสทำได้ง่าย กว่าองค์กรที่ไม่เป็นที่รู้จักของคนในประเทศเลย
ตัวอย่างเช่นในปี 2010 Gazprom เจรจากับรัฐบาลเยอรมันเพื่อขอขุดเจาะเส้นทางท่อรัสเซีย-เยอรมัน ใต้ทะเลบาลติค (Nord Stream) ระหว่างนั้น Gazprom ก็ใช้สนามชาลเก้ เป็นแหล่งโฆษณาโปรเจ็กต์ Nord Stream ตลอดเวลา สุดท้ายการเจรจาลุล่วงและรัฐบาลเยอรมัน ให้เริ่มต้นกระบวนการขุดเจาะได้
ตามปกติสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อฟุตบอล เข้ามาแล้วก็จากไป แต่กับ Gazprom พวกเขาอยู่กับชาลเก้มานานถึง 15 ปี เรียกได้ว่ามีความผูกพันกันมากจริงๆ อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ สิ่งที่ทำให้น่าตกใจก็เกิดขึ้นเมื่อ ชาลเก้ประกาศว่า เสื้อแข่งต่อจากนี้ไปจะเอาคำว่า Gazprom ออก แล้วใส่ชื่อสโมสรลงไปแทน
มีคนวิเคราะห์กันต่างๆ นานา แต่เหตุผลหลักๆ มีสองข้อ ข้อแรกคือการที่รัสเซียถล่มยูเครน อันนี้ก็แน่นอนอยู่แล้ว แต่เหตุผลที่ลึกลงไปอีก คือในการปราศรัยตอนที่ปูตินออกมาพูดโจมตียูเครน เขากล่าวคำถึง "นาซี" และมันก็กระทบความรู้สึกคนเยอรมัน
1
ปูตินอธิบายว่า ที่เขาต้องยกพลทหารรัสเซีย บุกเข้าไปในแคว้นดอนบาส ก็เพื่อ "ปกป้องคนเชื้อสายรัสเซียที่อาศัยอยู่ ไม่ให้ถูกฆ่าล้างเผ่าพันธุ์โดยยูเครน ในแบบที่นาซี เคยทำกับยิว"
เรื่องนี้มีความย้อนแย้ง เพราะโวโลดิเมียร์ ซีเลนสกี้ ประธานาธิบดีของยูเครนแท้จริงแล้วเป็นคนยิว! เขาไม่มีทางจะทำพฤติกรรมแบบนาซีหรอก แล้วที่สำคัญไม่มีคนเชื่อว่า กำลังทหารของยูเครน จะไปฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ใครได้ยังไง ปกป้องตัวเองได้ก็เก่งแล้ว
การที่ปูตินหยิบไพ่นาซีมาพูดถึง ส่งผลให้คนเยอรมันไม่พอใจ อย่างที่เราทราบกันว่าคนเยอรมันไม่ได้ภูมิใจเลยที่ยังโดนหยิบเอาประเด็นนาซีมาขุดอีก ทั้งๆ ที่ควรจะจบไปนานแล้ว
อย่าลืมว่า ปูติน = รัสเซีย และ Gazprom = รัสเซีย ดังนั้นไม่แปลกที่คนจะมองว่า คำพูดใดๆ ของปูติน Gazprom ก็ต้องรับผิดชอบด้วย
และอีกเหตุผลที่เกี่ยวเนื่องกัน คือวลาดิเมียร์ ปูติน คือผู้อำนวยการของโครงการวางท่อ Nord Stream ด้วย ดังนั้นจะบอกว่าปูตินไม่เกี่ยวกับ Gazprom คงไม่ได้
ประเด็นนี้มันส่งผลกระทบต่อชาลเก้ ที่รับเงินมาจากรัสเซียเต็มๆ ทุกปี ดังนั้นชาลเก้เองก็จำเป็นต้องแสดงจุดยืน ว่าจะอยู่ข้างประชาชน หรือจะอยู่ข้างสปอนเซอร์หลักมากกว่า
ซึ่งสุดท้ายชาลเก้ก็เลือกประชาชน เลือกแฟนบอลของตัวเอง และขอลดความสัมพันธ์กับ Gazprom ลงจากเดิม ด้วยการเอาสปอนเซอร์ออกจากหน้าอกเสื้อ
1
นี่เป็นชอยส์ที่ชาลเก้ไม่มีทางเลือกนัก จะมีทีมไหนที่ให้เงินสนับสนุนมากกว่า 10 ล้านยูโร ทั้งๆที่คุณตกชั้นไปแล้ว แต่ชาลเก้ก็ต้องตัดสินใจ เมื่อสังคมประณามปูตินอยู่ พวกเขาจะแบมือรับเงินคนเดียวมันก็คงจะไม่ได้เหมือนกัน
-------------------------
นั่นคือดอกแรก ที่รัสเซียโดนเล่นงาน จากนั้นก็ตามมาด้วยเรื่องที่สองคือการริบสิทธิ์การจัดแข่งยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก นัดชิงชนะเลิศที่สนามเครสตอฟสกี้ ในเมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก
1
เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก คือเมืองที่มีความสวยงามระดับโลก เมืองนี้ถูกเรียกว่า เมืองหลวงแห่งวัฒนธรรมของรัสเซีย เป็นสถานที่ ที่ชาวรัสเซียภาคภูมิใจ
จริงๆ แล้ว รัสเซียรอคิวเป็นเจ้าภาพแชมเปี้ยนส์ลีกนัดชิงอยู่นานมาก หนสุดท้ายจัดขึ้นที่มอสโก ในปี 2008 โดยรอบชิงแมนฯ ยูไนเต็ดชนะจุดโทษเชลซี และหลังจากนั้นมา ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นเจ้าภาพอีกเลย จนยูฟ่าอนุมัติในซีซั่นนี้ ปี 2022
ในช่วง gap ระหว่างปี 2008-2022 อิตาลีเป็นเจ้าภาพไป 2 รอบ, อังกฤษ 3 รอบ, สเปน 2 รอบ, โปรตุเกส 3 รอบ ดังนั้นในมุมของรัสเซียก็คิดว่า พวกเขาสมควรจะได้เป็นเจ้าภาพในปีนี้บ้างแล้วนะ
และในที่สุดยูฟ่า ก็ตอบตกลง ให้จัดการแข่งขันนัดชิงแชมเปี้ยนส์ลีกได้เดือนพฤษภาคม 2022 ที่สนามเครสตอฟสกี้ สเตเดี้ยม หรืออีกชื่อคือ Gazprom Stadium ตามชื่อสปอนเซอร์หลักคือ Gazprom นั่นเอง
สุดท้ายยูฟ่าตัดสินใจ "ริบ"แล้วยกสิทธิ์ให้สนามสต๊าด เดอ ฟรองซ์ เป็นเจ้าภาพแทน
1
ในเรื่องนี้ ฉากหน้าคือการอ้างว่า "ต้องระวังเรื่องความปลอดภัย เพราะไม่รู้ว่าไปรัสเซียจะเกิดเหตุร้ายอะไรหรือเปล่า" แต่จริงๆ หลายคนก็คิดตรงกันว่าชาติยุโรป ต้องการสั่งสอนรัสเซีย และไม่มีวิธีไหนดีไปกว่ากระชากสิทธิ์เจ้าภาพที่พวกเขารอคอยกันดื้อๆ
วลาดิเมียร์ ปูติน เกิดที่เมืองเซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก และเป็นแฟนทีมเซนิต เซนต์ ปีเตอร์สเบิร์ก การที่เมืองเกิดของตัวเอง โดนยูฟ่าบล็อกกันดื้อๆ แบบนี้ เป็นการตบหน้ากันอย่างรุนแรงทีเดียว
ในเรื่องนี้ชาติอื่นๆ ต่างเห็นดีเห็นงาม เช่นรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรมอังกฤษ ออกมาชื่นชมยูฟ่าว่า "รัสเซียไม่สามารถจัดแข่งกีฬา หรือกิจกรรมใดๆ ได้ในระดับโลก ตราบใดที่พวกเขายังเลือกใช้กำลังกับรัฐอื่นแบบนี้"
ขณะที่ยูฟ่า ก็ดูจะเด็ดเดี่ยวพอตัว แม้ว่าเรื่องนี้อาจทำให้ Gazprom ที่เป็นสปอนเซอร์หลักตัดสินใจถอนตัวจนเงินต้องหาย แต่ยูฟ่าก็ไม่ได้ลังเลและ Take Action อย่างรวดเร็วทันที คือถ้า Gazprom จะถอนก็ช่วยไม่ได้ ยูฟ่ามองว่ามันสำคัญกว่าที่จะแสดงให้รัสเซียเห็นว่าชาติอื่นเขาไม่พอใจกันแค่ไหน
1
สำหรับรัสเซียถ้าสงครามยังไม่หยุด ก็มีโอกาสเจ็บตัวได้อีกเรื่อยๆ ในแง่เศรษฐกิจ ล่าสุด Aeroflot สายการบินที่สนับสนุนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด มา 9 ปี ก็โดนยุติความสัมพันธ์เรียบร้อยแล้ว
แน่นอน รัสเซียย่อมมีเหตุผลในการบุกยูเครน แต่ในกรณีนี้ชาติยุโรปเห็นตรงกันว่า รัสเซียทำไม่ถูกที่บุกเข้าไปรุกล้ำอธิปไตยของชาติอื่น
1
ยูเครนจะมีปัญหากับกลุ่มแบ่งแยกดินแดน ก็ให้เขาจัดการกันไป ไม่ใช่ว่ารัสเซียต้องยกกองกำลังทหารบุกไปช่วยกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในลักษณะนั้น
จริงอยู่ การที่ยูเครนไม่ได้อยู่ร่วม NATO อาจทำให้กองทัพของหลายๆ ชาติไม่สามารถส่งกองกำลังไปช่วยได้ เรื่องการต่อสู้ด้วยกำลังทหารก็ประเด็นหนึ่ง แต่ในแง่ Soft Power เราจะเห็นเลยว่ามีหลายอย่างมากๆ ที่ชาติยุโรปสามารถทำได้
ในเวลานี้ รัสเซียโดนบทลงโทษที่รุนแรงจากชาติร่วมทวีป เป็นการเล่นงานทางอ้อมด้วยการแบนสินค้าและการบริการ ซึ่งมันส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรงแน่ๆ
ลองคิดดูไม่มีเกมแข่งขันนัดชิงที่เซนต์ปีเตอร์สเบิร์ก เศรษฐกิจหายไปเท่าไหร่ คนจองโรงแรม นักท่องเที่ยวเป็นแสน ค่าเครื่องบิน ค่าบริการ ก็หายวับไปกับตา คนในธุรกิจบริการก็ย่อมรู้สึกแน่ว่าเสียรายได้ไป แบบไม่ควรจะเกิดขึ้นเลย
4
เช่นเดียวกับเรื่องกีฬา ในฟุตบอลโลกรอบคัดเลือก ชาติอื่นรวมตัวกันแล้วบอกว่าจะไม่ขอแข่งที่รัสเซีย แบบนี้ทีมฟุตบอลก็เสียหาย แทนที่จะได้เปรียบจากการเล่นในบ้าน ก็ต้องไปเล่นสนามกลาง แล้วอาจอดไปบอลโลกก็ได้ ในเชิงวัฒนธรรมและกีฬา ก็ถือว่าสาหัสไม่น้อย
ดังนั้นท้ายที่สุดแล้ว ฝั่งรัสเซียก็จำเป็นต้องหักลบกัน ว่าการเสียโอกาสหลายสิ่งหลายอย่าง แลกกับการลุยยูเครนเพื่อความมั่นคงของชาติ อะไรเป็นสิ่งที่คุ้มค่ากว่ากัน
 
#DECISIONMAKER
โฆษณา