28 ก.พ. 2022 เวลา 10:18 • หนังสือ
📚ปรัชญา
ทำไมต้องตกหลุมรัก : Alain Badiou ความรัก และ The Lobster
ทำไมต้องตกหลุมรัก by อ.สรวิศ ชัยนาม
“ ชีวิตไม่ได้แค่ดำเนินไปเหมือนเก่าเมื่อเรามีความรัก แต่กลับถล่มเราด้วย ‘การกระตุกอย่างทรมาน’ เป็นพัก ๆ คอยขัดขวางไม่ให้เราอยู่เป็นสุข “ (หน้า 61)
1
“ เราไม่สามารถออกจากบ้านไปและบอกว่า “วันนี้ฉันจะตกหลุมรักละนะ” หรือในทางตรงกันข้าม เราไม่อาจพูดได้ว่า “ฉันจะไม่ไปตกหลุมรักใครช่วงนี้นะ ตอนนี้จะโฟกัสกับเรื่องงาน” มันไม่มีเวลาที่เหมาะสมที่จะตกหลุมรัก อันที่จริงมันมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ไม่สะดวกสุด ๆ ในชีวิตด้วยซ้ำ “ (หน้า 19)
2
“ การรับความเสี่ยงและตกหลุมรักหมายความว่าคุณจะไม่มาถามว่า 'แล้วฉันล่ะ' หรือถามว่า 'ทำแบบนี้แล้วฉันจะได้อะไร' การตกหลุมรักหมายความว่าคุณยอมเสี่ยงที่จะกระโดดก่อนและหวังว่าคนที่คุณรักจะรับตัวคุณไว้ที่อีกฝั่งหนึ่ง และรองรับการร่วงหล่นของตัวคุณด้วยอ้อมกอด “ (หน้า 35)
“ คุณจะไม่มีวันรู้สึกสมปรารถนาหรือสงบสุขเมื่อมีความรัก ความรักไม่ใช่ยากล่อมประสาทหรือยาลดอาการซึมเศร้า ตรงกันข้าม คุณจะต้องเจ็บตัวอย่างหนีไม่พ้น แค่เจ็บในระดับที่แตกต่างกันออกไป อะไรเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องคาดว่าจะเกิด เพราะในฐานะที่เป็นคนที่สำคัญที่สุดในชีวิตของคุณ คนรักจึงเป็นคนที่มีโอกาสที่ทำร้ายคุณได้มากที่สุดด้วย ถ้าเธอเป็นคนสำคัญที่สุดสำหรับคุณ เธอก็จะมี 'อำนาจ' เหนือคุณมากกว่าใคร (หน้า 60)
1
นับว่าเป็นหนังสือปรัชญาเกี่ยวกับ “ความรัก” ที่ชวนให้เราคิดถึงเรื่องนี้ในมุมมองที่ต่างจากที่เราคิดไว้ในหัว(ใจ) สุดจะคณานับ เนื้อหาพูดถึง ‘ปรัชญาความรัก’ ผ่านมุมมองของ Alain Badiou นักปรัชญาชาวฝรั่งเศสคนสำคัญของโลกที่ยังมีชีวิตอยู่
1
นักเขียน (อ.สรวิศ) ทำการต่อยอดมาจากบันทึกบรรยายที่เขียนขึ้นมาเพื่อวิชาภาพยนตร์ที่ตนได้สอน และการอ่านบทสัมภาษณ์เกี่ยวกับความรักของนักปรัชญา Badiou ท่านนี้ แต่เหนืออื่นใด เขาเขียนขึ้นบนความพิเศษเพื่อคนพิเศษคนหนึ่ง
“ จงรักในสิ่งที่คุณจะไม่มีวันเชื่อซ้ำอีกหน (Love what you will never believe twice.) “ เป็นประโยคที่เขาใช้จีบเธอและอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้กับเธอ
1
ภายในหนังสือแบ่งออกเป็นสองส่วนหลัก ๆ คือ
  • ส่วนที่หนึ่ง: การสำรวจปรัชญาความรักของ Badiou อย่างคร่าว ๆ ซึ่งเน้นไปที่ความพยายามที่จะปกป้องความรัก โดยเขามองว่ากำลังถูกคุกคามจากทุก ๆ ด้าน เรื่องเริ่มจากสาธยายว่า Badiou คือใคร แนวคิดหลักที่เขาสนับสนุนคืออะไร ทำให้เขามองปรัชญาความรักหรือถ่ายทอดมันในแนวไหน
โดยแนวคิดของเขาประกอบไปด้วย 3 ประการสำหรับการอธิบายถึง ความรัก โดยประการแรก การพบกันโดยบังเอิญชี้ให้เห็นว่าความบังเอิญเป็นสิ่งสำคัญสำหรับความรัก มันคือการที่คนสองคนซึ่งแตกต่างและไม่เกี่ยวข้องกัน (two ones)ได้บังเอิญเจอกัน และสร้างอะไรร่วมกัน
ประการที่สอง เราตกหลุมรักโดยแทบไม่รู้อะไรเลย (เราเลิกรักโดยแทบไม่รู้อะไรเลยด้วยเช่นกัน) มีกระบวนการมองคนรักอย่างอุดมคติ (Idealize) เราจะยกคนรักขึ้นเทียบกับ ‘คุณค่าของสิ่งนั้น’ (the dignity of the Thing)
และประการที่สาม การกระทำซึ่งไม่เป็นไปตามหลักเหตุผลและขึ้นอยู่กับการไปพบใครบางคนเข้าโดยบังเอิญโดยที่ไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับตัวเขาหรือเธอเลย สิ่งที่เรียกว่าเป็นความรักนั้นจักต้องเผชิญกับความเสี่ยง และให้ละทิ้งความมั่นคงปลอดภัยที่เกิดจากการหลงตัวเอง (Narcissistic Safety) ทิ้งไป และทุนนิยมก็เป็นสิ่งที่ทำให้คำว่าความรักห่างไกลออกไปเรื่อย ๆ ฉะนั้นมันจึงเป็นการที่เราเชื่อใจความรัก บนความเสี่ยงนั้น ๆ
ท้ายที่สุด เขามองว่า ความรักควรเป็นคอมมิวนิสต์แบบจำกัด (Minimal Communism) ที่อยู่บนฐานของผลประโยชน์ร่วมกัน ไม่ใช่ของใครเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น
ทำไมต้องตกหลุมรัก by อ.สรวิศ ชัยนาม
  • ส่วนที่สอง: เป็นการใช้เครื่องมือในการคิดวิเคราะห์จากปรัชญาความรักของ Badiou เพื่อสำรวจภาพยนตร์เรื่อง The Lobster ผลงานของ Yorgos Lanthimos ออกฉายในปี 2015 ธีมของเรื่องคือความสัมพันธ์แบบความรัก และวิธีการปฏิบัติต่อคนโสด (ที่แอบจะโหดร้าย)
ซึ่ง The Lobster เป็นภาพยนตร์แนววิพากษ์เกี่ยวกับสังคมดิสโทเปีย เรื่องราวมีอยู่ว่า ชายคนหนึ่งโดนภรรยาทอดทิ้ง ถูกส่งไปอยู่ที่โรงแรมเพื่อหาคู่ ถ้าหาไม่สามารถหาคู่เพื่อกลับไปตั้งถิ่นฐานในเมือง ตัวเองก็จะต้องคำสาปให้กลายเป็นสัตว์ แต่ก็ยังให้เลือกได้ว่าจะเป็นอะไร โดยตัวเอกของเรื่องก็เลือกเป็น ‘ล็อบสเตอร์’ เพราะมีอายุยืนยาว (ยังมีรายละเอียดอีกเยอะ เหลาไม่ได้ยาวเท่าไหร่ค่ะ ต้องติดตามอ่านชีวิตของพระเอก ที่ก็ไม่รู้จะไปลงเอยเช่นไร)
สุดท้ายแล้ว โรงแรมนั้นก็เป็นเสมือนกับ ‘เอเจนซี่’ หรือ ‘แอปพลิเคชั่นหาคู่’ ส่วนทางผู้เข้าพักทุกท่าน(ที่อับจนในเรื่องนี้) ก็ตัดสินใจว่าจะ ‘ตกหลุมรัก’ แต่กระนั้นแล้ว พระเอกของเรื่องก็ไปกระทำการตกหลุมรัก(ที่แท้แบบ true love หรือไม่) ที่ป่าซึ่งเป็นสถานที่ต้องห้าม แต่ก็ทำไป และสุดท้ายเขาจะปรับเปลี่ยนสภาพให้ใกล้เคียงกับคนรักหรือไม่ นั้นยังเป็นสิ่งที่คลุมเครือ (แต่ภายในเล่มก็มีข้อถกเถียงเกี่ยวกับความเป็นไปได้ของตัวละครในหลายแบบ ทำให้เราคิดตามว่า ทางนั้นทางนี้ก็มีความเป็นไปได้)
1
แต่การที่เราเห็นการอธิบาย การนำเสนอและได้ติดตาม มันเป็นการที่ความรักไม่ได้สร้างฉากที่สอง (two ones) ขึ้นมาโดยสมบูรณ์ เพราะถูกจัดแจงให้คนสองคนมาพบปะกันอยู่ในพื้นที่(แคบใจ)เดียว ซึ่งก็ไม่ต่างจากแอปหาคู่ ที่คัดสรรคุณสมบัติที่อันเหมาะสมของแต่ละคน เพื่อเราจะได้ตามหาคู่ของเราได้อย่างง่าย ๆ และแมทช์กันแบบง่ายดาย
นับว่าเป็นการตกหลุมรัก ที่ไม่ได้เกิดขึ้นโดยไม่ได้คาดหมาย แต่กลับกลายเป็นแผนที่ต้องดำเนินไปอย่างประสิทธิภาพและมีประสิทธิผล ตามที่หนังสือยกตัวอย่างว่า ในสังคมของเรา ผู้หญิงก็จะถูกเตือนว่า เมื่อถึงเวลาหนึ่งเธอควรจะหาสามีและมีลูก ก่อนจะทำแบบนั้นไม่ได้ เนื่องจากเวลาที่ล่วงเลยไปจะกลายเป็นระเบิดเวลาแก่ตัวเธอเอง ไม่ควรมัวมาชักช้าเสียเวลา
ขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือ ทำไมต้องตกหลุมรัก by อ.สรวิศ ชัยนาม
ดังนั้น หนังสือก็เหมือนกับทิ้งคำถามให้กับเราเอาไปขบคิด ตามมุมมองความรักผ่านยุคสมัยของนักปรัชญาและการวิเคราะห์ผ่านภาพยนตร์ ภายใต้โลกของทุนนิยม ว่าความรักควรจะเดินไปในทิศทางใด ในสภาวะใดของจิตใจ มันควรจะเป็นแบบสำเร็จรูปเลยหรือไม่ หรือควรจะต้องเจอกับใครผ่านความบังเอิญและสร้างชะตาลิขิตขึ้นมาด้วยมือตัวเอง
หนังสือนี้น่าสนใจมาก ๆ ค่ะ จะว่าอ่านยากก็นิดนึงในเรื่องที่ต้องทำความเข้าใจสิ่งต่าง ๆ ที่นักปรัชญาแต่ละคนต้องการสื่อ ที่อ.สรวิศหยิบยกมาอ้าง แต่โดยรวมคิดว่าทำให้เห็นมุมมองความรักของแต่ละท่านในหลากหลายแบบ และความคิดเกี่ยวกับความรักของเรามันได้ถูกขัดเงาด้วยความเป็นไปได้ตามยุคสมัย
ถ้าไม่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ ไม่แน่ใจว่าเราจะสามารถรักใครคนนึงด้วยความเข้าใจความแตกต่างอย่างที่เป็นได้มากขนาดไหน แต่เมื่ออ่านเล่มนี้ก็รู้ซึ้งขึ้นมาเลยค่ะ อ่านรอบเดียวไม่น่าจะพอ จึงต้องอ่านซ้ำอีกหน เพราะว่าใจของเราต้องทำงานหนักมาก (แม้เราคิดว่าเราเข้าใจมันดีแล้วแท้ ๆ ) กับสิ่งที่เรียกว่า ‘ความรัก’ ที่เป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่และสุดแสนจะเปราะบางในเวลาเดียวกัน
ใครมีความคิดเห็นอย่างไร ได้ชมภาพยนตร์เรื่องนี้ หรืออ่านหนังสือเล่มนี้แล้ว มาถกมาแชร์กันได้นะคะ เราก็รีวิวตามประสาเรา ซึ่งจะมีบางจุดที่เป็นข้อผิดพลาด คิดว่าคงต้องเป็นการอ่านครั้งต่อไปเราถึงจะทำความเข้าใจได้มากขึ้น ขอบคุณค่ะ
ขอส่งท้ายหนังสือแห่งความรัก ในเดือนแห่งความรัก แต่เพียงเท่านี้ค่ะ
แล้วพบกันใหม่ ✨
นักเขียน : อาจารย์สรวิศ ชัยนาม
นักแปล สุชานาฎ จารุไพบูลย์
สำนักพิมพ์ : ILLUMINATIONS EDITIONS
โฆษณา