1 มี.ค. 2022 เวลา 12:45 • คริปโทเคอร์เรนซี
งานศิลปะ NFT โลกดิจิทัล VS งานศิลปะในโลกจริง แตกต่างกันอย่างไร?
นับตั้งแต่ปีที่แล้วจนมาถึงปี 2022 นี้ NFT ได้เป็นกระแสที่ถูกพูดถึงอย่างมาก มีคนให้ความสนใจไม่น้อยเกี่ยวกับ NFT ที่เกี่ยวข้องกับงานศิลปะหรือ NFT Art ดังนั้นในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า NFT Art คืออะไร และมีความแตกต่างกับงานศิลปะในโลกจริงอย่างไรบ้าง
NFT Art คืองานศิลปะที่อยู่ในรูปแบบของ NFT (Non-Fungible Token) ซึ่ง NFT นั้นถือว่าเป็นโทเค็นประเภทหนึ่งที่มีคุณสมบัติเฉพาะตัว โดยแต่ละโทเค็นจะไม่สามารถทดแทนกันได้ ทำให้ NFT นั้นเป็นโทเค็นที่ใช้แสดงถึงความเป็นเจ้าของงานศิลปะดิจิทัลได้
เรียกได้ว่า NFT Art หรืออีกชื่อที่คนนิยมเรียกคือ Crypto Art ได้เข้ามาทำให้งานศิลปะน่าสนใจมากยิ่งขึ้น เนื่องจากมีการนำเทคโนโลยีบล็อกเชนเข้ามาช่วยบันทึกความเป็นเจ้าของและเพิ่มความโปร่งใสให้กับงานศิลปะ โดยสามารถตรวจสอบได้ว่างานชิ้นไหนเป็นของจริง ผู้สร้างผลงานเป็นใคร รวมถึงการตรวจสอบธุรกรรมการซื้อขายผลงานได้อย่างครบถ้วน
มาดูกันว่างานศิลปะ NFT ที่อยู่บนโลกดิจิทัลนั้นมีความแตกต่างกันอย่างไรเมื่อเปรียบเทียบกับงานศิลปะในโลกจริงที่เราเห็นกันในแกลเลอรี่หรือในพิพิธภัณฑ์
1. ลักษณะทางกายภาพ
แน่นอนว่างานศิลปะในโลกจริงที่ถูกนำมาแสดงในพิพิธภัณฑ์นั้นเป็นสินทรัพย์ที่สามารถจับต้องได้ เราสามารถไปดูได้ด้วยตาของเราในพิพิธภัณฑ์จริง ๆ แต่พอเป็๋นงาน NFT Art ที่ขายกันในโลกคริปโตฯ นั้น เป็นสินทรัพย์ดิจิทัลที่ไม่สามารถจับต้องได้
2. การเก็บรักษา
ถ้าเราไปซื้องานศิลปะที่เป็น Physical จับต้องได้จากศิลปิน เราจะต้องมีการเก็บรักษาและดูแลเพื่อไม่ให้ผลงานนั้นมีการเสื่อมสภาพ เช่น สีหลุดร่อน หรือป้องกันจากสัตว์และแมลงตัวเล็กตัวน้อย ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้มีค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาตามมา
ถ้าเป็น NFT Art เราไม่จำเป็นที่จะต้องกังวลเรื่องของการเสื่อมสภาพของผลงาน เนื่องจากผลงานนั้นอยู่ในรูปแบบดิจิทัลที่ถูกเก็บรักษาอยู่บนบล็อกเชน แต่จะต้องคำนึงถึงเรื่องการเก็บรักษาให้ปลอดภัยในโลกคริปโตฯ
3. การถูกปลอมแปลง
งานศิลปะในโลกจริง สามารถถูกปลอมแปลงได้ง่าย แต่เราจะสามารถตรวจสอบได้ยาก แต่พอเป็น NFT Art ที่อยู่บนบล็อกเชน งานศิลปะชิ้นนั้นก็จะไม่สามารถกลับไปแก้ไขหรือถูกปลอมแปลงได้
ยกตัวอย่างเช่น ภาพวาด “โมนาลิซ่า” ที่ได้มีการถูกปลอมแปลงและลอกเลียนแบบมากมายจนทำให้ผู้คนสับสนว่าภาพที่เป็นของจริงคือภาพไหนกันแน่ โดยเราต้องให้ผู้เชี่ยวชาญเป็นผู้ตรวจสอบเท่านั้น
แต่ถ้าเป็นงาน NFT Art เราสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเองเลยว่างานชิ้นไหนเป็นงานของศิลปินจริง ๆ ซึ่งเทคโนโลยีบล็อกเชนได้เข้ามาแก้ไขปัญหาเรื่องการถูกปลอมแปลงได้เป็นอย่างดี
4. การตรวจสอบความเป็นเจ้าของ
จากที่กล่าวมาในข้อ 3 เรื่องของการตรวจสอบความเป็นเจ้าของในงานศิลปะที่เป็น Physical จะทำได้ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยผู้เชี่ยวชาญและผู้ที่เกี่ยวข้องกับผลงานมาช่วยกันยืนยันความถูกต้อง
เทคโนโลยีบล็อกเชนได้ทำให้การตรวจสอบความเป็นเจ้าของนั้นง่ายขึ้นและมีความโปร่งใสมาก เพราะเราสามารถรู้ได้เลยว่าผลงานนั้นถูกสร้างขึ้นเมื่อไร ถูกสร้างโดยใคร และเมื่อมีการขายผลงานออกไปแล้วก็สามารถตรวจสอบได้เช่นกันว่าผู้ซื้อหรือผู้ที่ได้รับกรรมสิทธิ์นั้นคือใคร
ทั้งนี้งานศิลปะแบบ NFT นั้นถือว่ามีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ศิลปินสามารถเข้ามาสร้างผลงานและสร้างรายได้ในโลกคริปโตฯ ได้
เรียกได้ว่าการเข้ามาของ NFT ที่มีเทคโนโลยีบล็อกเชนอยู่เบื้องหลังนั้นได้เป็นตัวผสานระหว่างโลกของศิลปะและโลกดิจิทัลให้มีความลงตัวมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยให้ศิลปินมีช่องทางการนำเสนอผลงานในยุคที่ถูกจำกัดด้วยโรคระบาดโควิด-19 อีกด้วย
อ่านเพิ่มเติมบนเว็บไซต์ได้ที่นี่: https://techtoro.me/3LX1yXB
#Techtoro #มากกว่าสินทรัพย์คือความรู้ #งานศิลปะ #NFT #Art #CryptoArt #Blockchain
โฆษณา