28 ก.พ. 2022 เวลา 08:58 • ประวัติศาสตร์
ประวัติการสร้างเมืองปัตตานี
ราชาศรีวังสา
ราชาศรีวังสา ปกครองเมืองปัตตานีราวปี พ.ศ. ๒๐๐๐ - ๒๐๔๓ เดิมเป็นเจ้าเมืองอยู่ที่เมือง "กอตามะลิฆัย" หรือ ลังกาสุกะ มีความเห็นว่าบริเวณริมฝั่งทะเลที่มีชายชราชาวมลายู ชื่อ "ตานี" มีอาชีพเป็นชาวประมง ที่คนทั่วไปเรียกว่า "ปะตานี" อาศัยอยู่นั้น มีผู้คนอาศัยอยู่รวมกันหนาแน่น เพราะพื้นที่สูงน้ำไม่ท่วมในฤดูฝน ชายทะเลเป็นแหลมยาว มีอ่าวกว้างใหญ่เหมาะสำหรับเป็นท่าเรือกำบังคลื่นลมได้อย่างดี มีลำคลองเล็กๆ เป็นเส้นทางคมนาคมให้เรือเล็กแล่นออกทะเลได้สะดวก อาทิ "คลองกรือเซะ"
ดังนั้น ราชาศรีวังสา และพระบรมวงศานุวงศ์พร้อมพสกนิกรที่ลังกาสุกะจึงได้ย้ายมาอยู่ที่หมู่บ้านดังกล่าว โดยสร้างพระราชวังใกล้หมู่บ้านปะตานี ประตูพระราชวังหันออกไปยังฝั่งคลองปะเระ เพื่อให้สะดวกในการนำเรือเข้าออก ด้านทิศเหนือของพระราชวังมีคลองปาปารี ซึ่งชาวบ้านเรียกว่า สุไหงแปแปรี
เมื่อราชาศรีวังสาสร้างพระราชวังเรียบร้อยแล้วจึงให้ขุดคลองอีก โดยให้ล้อมรอบพระราชวัง เพื่อเป็นป้อมปราการป้องกันศัตรูที่จะรุกล้ำเข้ามาในพระราชวัง คลองนี้ได้ขุดจากคลองกรือเซะไปทางด้านหลังเมือง และมาบรรจบกับคลองปาปารี (คลองสุไหงแปแปรี) ซึ่งยังปรากฏร่องรอยให้เห็นที่หมู่บ้านกรือเซะในปัจจุบัน โดยราชาศรีวังสาได้ตั้งชื่อเมืองแห่งใหม่นี้ว่า "ปะตานี" ต่อมาเรียกเป็น "ปาตานี" เมืองปัตตานีเป็นที่รู้จักของผู้คนที่เดินทางเข้ามาค้าขายทั่วโลกทั้งตะวันออกและตะวันตก และมีชื่อเสียงด้านการค้ามากในเวลาต่อมา
ราชาอินทิรา
ราชาอินทิรา เป็นโอรสของราชาศรีวังสา ปกครองเมืองปัตตานีต่อจากพระบิดา ในช่วง พ.ศ. ๒๐๔๓ - ๒๐๗๓
ก่อนหน้านี้ผู้ครองเมืองลังกาสุกะและเมืองปัตตานียังคงนับถือศาสนาพุทธ ต่อมาเมื่อมีชาวเมืองปาไซที่เกาะสุมาตราหลายคนที่นับถือศาสนาอิสลามได้ถูกพวกฮินดูยกทัพเข้าตีเมือง จึงได้อพยพมาอยู่ที่เมืองปัตตานี บริเวณนั้นจึงได้ชื่อว่าหมู่บ้านปาไซ ชาวมุสลิมที่หมู่บ้านปาไซคนหนึ่งชื่อว่า "แซะห์ ซาอิด" เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลายอย่าง อาทิ ความรู้ด้านกฎหมายอิสลาม และความรู้ทางการรักษาโรคต่างๆ เป็นบุคคลที่ชาวปัตตานียอมรับนับถือในความสามารถ
อยู่มาวันหนึ่ง ราชาอินทิราได้ประชวรเป็นโรคผิวหนัง ไม่มีแพทย์คนใดในเมืองปัตตานีสามารถรักษาให้หายได้ แม้แต่แพทย์จากต่างประเทศที่เก่งกาจก็รักษาไม่หาย แซะห์ ซาอิด ชาวเมืองปาไซขออาสาถวายการรักษา โดยมีข้อแม้ว่า ราชาอินทิราจะต้องเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ราชาอินทิราทรงยินยอม เพราะอยากหายจากโรคที่เป็นอยู่ แต่เมื่อหายประชวรแล้ว กลับมิได้ปฏิบัติตามสัญญาที่ให้ไว้กับ แซะห์ ซาอิด ในที่สุดก็กลับมาประชวรด้วยโรคเดิมอีก เป็นอย่างนี้ถึง ๓ ครั้ง โดยในครั้งที่ ๓ ราชาอินทิราได้ทรงยินยอมปฏิบัติตามคำสัญญา จึงหายประชวรอย่างเด็ดขาด
ด้วยเหตุนี้ ราชาอินทิราจึงได้เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามแทนศาสนาพุทธตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ราชาอินทิราเป็นเจ้าเมืองปัตตานีคนแรกที่นับถือศาสนาอิสลาม ได้พระนามใหม่ว่า "อิสมาแอลชาห์" (การใช้คำว่า "สุลต่าน" นำหน้า ตามแบบอาหรับ และการใช้ "ชาห์" ลงท้าย ตามแบบเปอร์เซีย) และเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการใหม่หมด อาทิ เปลี่ยนตำแหน่งประธานมุขมนตรี เป็น ดาโต๊ะ เป็นต้น
"สุลต่านอิสมาแอลชาห์" ได้ปกครองเมืองปัตตานีให้เจริญก้าวหน้า จนเป็นที่รู้จักของคนทั่วโลก มีชาวสยาม จีน ชวา อินเดีย อาหรับ โปรตุเกส ฯลฯ เข้ามาค้าขายที่เมืองปัตตานี โดยในครั้งแรก สุลต่านอิสมาแอลชาห์ ได้ส่งคณะทูตจากเมืองปัตตานีไปเจริญสัมพันธไมตรีกับเมืองมะละกา และกรุงศรีอยุธยาราชธานีของสยามในเวลานั้น
สุลต่านอิสมาแอลชาห์ มีโอรส ๒ องค์ และธิดา ๑ องค์ คือ
๑. รายามุซ็อฟฟาร์ (ออกเสียงแบบอาหรับว่า มุฏอฟฟาร์)
๒. ซีตีอาอีซะห์
๓. รายามันโซร์
สุลต่านมุซ็อฟฟาร์ชาห์
สุลต่านมุซ็อฟฟาร์ชาห์ (มุฏอฟฟาร์ชาห์) เป็นโอรสของสุลต่านอิสมาแอลชาห์ ได้ปกครองเมืองปัตตานีต่อจากพระบิดาในช่วง พ.ศ. ๒๐๗๓ - ๒๑๐๗ (ค.ศ. ๑๕๓๐ - ๑๕๖๔) หลังจากขึ้นครองเมืองปัตตานีได้ระยะหนึ่ง สุลต่านมุซ็อฟฟาร์ชาห์ได้เสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยา ๒ ครั้ง เพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรี โดยรายามันโซร์ พระอนุชาดูแลเมืองปัตตานีแทน กษัตริย์กรุงศรีอยุธยาในสมัยนั้น คือ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งครองราชย์ช่วง พ.ศ. ๒๐๘๒ - ๒๑๑๒ ได้มอบชาวพม่าและล้านช้างแก่สุลต่านมุซ็อฟฟาร์ชาห์เป็นของกำนัลกลับเมืองปัตตานีด้วย
เมื่อถึงปัตตานีได้จัดให้ชาวพม่าอยู่อาศัยที่เชิงสะพาน "กะดี" เพื่อเลี้ยงช้าง และให้ชาวล้านช้างอยู่ที่นาใกล้คลองปาเระ หมู่บ้านนี้จึงได้ชื่อว่า หมู่บ้านกือดี (กะดี) หรือบ้าน "ดี" ปัจจุบันอยู่ที่ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
สุลต่านมุซ็อฟฟาร์ชาห์ ได้เดินทางไปกรุงศรีอยุธยาอีกครั้ง ใน พ.ศ. ๒๑๐๗ และครั้งหลังได้สิ้นพระชนม์ที่นั่น พระศพถูกฝังไว้ที่ใกล้ปากน้ำเจ้าพระยา
สุลต่านมันโซร์ชาห์
สุลต่านมันโซร์ชาห์ เป็นพระอนุชาของสุลต่านมุซ็อฟฟาร์ชาห์ สิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๑๑๕
ตามตำนานเมืองปัตตานีของฮิบรอฮิม ชุกรี เขียนบอกว่า สุลต่านมันโซร์ชาห์ มีโอรส ๒ องค์ เกิดจากพระสนม ชื่อ รายาบะห์โดร์ และ รายาบีมา แต่ในหนังสือเรื่อง "ลังกาสุกะ ปาตานี ดารุลสลาม" ที่ อ.ลออแมน และอารีฟิน บินจิ (๒๕๔๐ : ๖๓) ระบุว่า สุลต่านมันโซร์ชาห์ มีโอรส ๒ องค์ มีธิดา ๔ องค์ โดยธิดาองค์ที่ ๑ มีนามว่า รายาฮิเยา ธิดาองค์ที่ ๒ มีนามว่า รายาบีรู ธิดาองค์ที่ ๓ มีนามว่ารายาอูงู และธิดาองค์ที่ ๔ สิ้นพระชนม์ตั้งแต่พระชนม์ ๕ พรรษา และบอกว่าธิดาทั้ง ๔ พระองค์ ประสูติจากราชินีมัสกือราจัง ส่วนโอรส ๒ องค์ที่ชื่อ ราชาบีมา ประสูติจากพระสนม แต่โอรสองค์เล็กประสูติจากพระมเหสีมีพระนามว่า ราชาบาห์โดร
สุลต่านปาเตะสยาม
สุลต่านปาเตะสยาม (ปาติก สยาม) เป็นโอรสของสุลต่านมุซ็อฟฟาร์ชาห์ ได้พระนามเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่พระบิดาสิ้นพระชนม์ที่เมืองสยาม
ขึ้นครองเมืองปัตตานีต่อจากสุลต่านมันโซร์ชาห์ พระปิตุลา (น้องชายของพ่อ) ช่วง พ.ศ. ๒๑๑๕ - ๒๑๑๖ เพียง ๑ ปีเท่านั้น เนื่องจากขณะนั้นทรงมีพระชันษาเพียง ๙ พรรษา จึงต้องให้ซีตีอาอีซะห์ พระปิตุจฉา (น้องสาวของพ่อ) เป็นผู้สำเร็จราชการแทน ภายหลังทั้ง ๒ พระองค์สิ้นพระชนม์ เพราะถูก รายามัมบัง พระเชษฐา (ที่ประสูติจากพระสนม) ลอบสังหาร รายามัมบังเองก็ถูกปลงพระชนม์ในเวลาต่อมา
สุลต่านบะห์โดร์ชาห์
สุลต่านบะห์โดร์ชาห์ (บาห์โดรชาห์) เป็นโอรสของสุลต่านมันโซร์ชาห์ ครองเมืองปัตตานีในช่วง พ.ศ. ๒๑๑๖ - ๒๑๒๗ เป็นเวลา ๙ ปี ก็ถูก ราชาบีมา ลอบสังหารด้วยกริช เพราะต้องการแย่งราชบัลลังก์ แต่ราชาบีมาก็ถูกบริวารของสุลต่านบะห์โดร์ชาห์สังหารเช่นเดียวกัน
สุลต่านบะห์โดร์ชาห์ไม่มีโอรส มีเพียงพระธิดา ๓ องค์ คือ รายาฮิเยา รายาบีรู รายาอูงู แต่จากหนังสือเรื่อง ลังกาสุกะ ปาตานี ดารุลสลาม ของ อ. ลออแมน และอารีฟิน บินจิ (๒๕๔๐ : ๖๘ -๖๙) สรุปความได้ว่า ราชาบาฮาดูร (สุลต่านบะห์โดร์ชาห์) เป็นโอรสองค์สุดท้องของสุลต่านมันโซร์ชาห์ที่ประสูติจากพระมเหสี ได้ครองราชย์ต่อจากสุลต่านปาเตะสยาม ในขณะที่มีพระชันษาเพียง ๑๐ พรรษาเท่านั้น ได้สร้างความไม่พอใจแก่ขุนนาง จึงได้ยุยงให้ราชาบีมา พระเชษฐา ที่ประสูติจากพระสนม วางแผนลอบปลงพระชนม์ ต่อมาราชาบีมาเองก็ถูกขุนนางปลงพระชนม์เช่นกัน เมื่อไม่มีรัชทายาทที่เป็นโอรสจะสืบราชสันตติวงศ์ จึงมีการประชุมพิจารณาผู้ที่จะมาครองเมืองปัตตานีจากพระธิดาทั้ง ๓ พระองค์ของสุลต่านมันโซร์ชาห์ ในที่สุดรายาฮิเยา พระธิดาองค์แรกก็ได้รับการคัดเลือกให้เป็นผู้ปกครองเมืองปัตตานี
รายาฮิเยา
รายาฮิเยาปกครองเมืองปัตตานีในช่วง พ.ศ. ๒๑๒๗ - ๒๑๕๙ ด้วยพระปรีชาสามารถ บ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองอย่างมาก บ้านเมืองสงบสุข การค้าเจริญรุ่งเรือง พระนามของราชินีฮิเยาลือเลื่องขจรขจายไปทั่วโลก กษัตริย์จากทวีปยุโรปและกษัตริย์จากเมืองต่างๆ ได้ส่งคณะทูตมาเชื่อมสัมพันธไมตรีกับเมืองปัตตานี โดยรายาฮิเยาก็ได้ส่งราชทูตไปยังเมืองต่างๆ เพื่อเป็นการตอบแทนสัมพันธภาพ รวมทั้งเมืองสยามและญี่ปุ่นด้วย
ชาวญี่ปุ่นเริ่มเข้ามาค้าขายที่เมืองปัตตานีเป็นครั้งแรก เรือสินค้าญี่ปุ่นเดินทางมาสู่เมืองปัตตานีอย่างไม่ขาดสาย รวมทั้งเรือสินค้าจากเมืองสยามก็เดินทางเข้ามาสู่เมืองปัตตานีที่เมืองสาย (อำเภอสายบุรี ในปัจจุบัน) การค้าดำเนินไปอย่างต่อเนื่องด้วยดี กษัตริย์สยามเรียกพระนามราชินีฮิเยาว่า "พระนางเจ้าหญิง" โดยชาวเมืองปัตตานีก็ได้เรียกตาม แต่ออกเสียงเพี้ยนเป็น "รายาจาเย็ง" หรือ "นาซาแย" หรือ "นังจาแย"
รายาฮิเยา ทรงสนพระทัยปัญหาความเป็นอยู่ของพสกนิกร โดยการให้ขุดคลองจาก กรือเซะ มุ่งไปทางทิศใต้จนถึงแม่น้ำปัตตานีที่ เตอร์มางัน (อยู่ในตำบลเมาะมาวี ต่อเขตกับ ปรีกี อำเภอยะรัง) เพ่อให้น้ำไหลมาตามคลองแห่งใหม่คือ คลองกะดี ผ่านคลองกรือเซะ แล้วไหลออกทะเลตรงกัวลารอ (อยู่ในตำบลตันหยงลุโละ อำเภอเมืองปัตตานีปัจจุบัน) ช่วยให้น้ำที่ไหลออกทางคลองกรือเซะเป็นน้ำจืด สามารถใช้น้ำเพื่อการเกษตรได้มากขึ้น
เมืองปัตตานีในสมัยรายาฮิเยามีชื่อเสียงไปทั้งโลกตะวันตกและโลกตะวันออก ท่าเรือเมืองปัตตานีคับคั่งไปด้วยเรือสินค้านานาชาติ ฝรั่งชาติฮอลันดาได้เข้ามาค้าขายในเมืองปัตตานีเป็นครั้งแรกในสมัยนี้ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๔๘ ชาวสเปนได้เดินทางเข้ามาค้าขายที่เมืองปัตตานี และอีก ๕ ปีต่อมาใน พ.ศ. ๒๑๕๓ ชาวอังกฤษได้เข้ามาค้าขายที่เมืองปัตตานีด้วย
เมืองปัตตานีขณะนั้นอุดมสมบูรณ์มาก และยังเป็นศูนย์กลางการค้าที่ยิ่งใหญ่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อีกทั้งยังเป็นศูนย์กลางแห่งการสืบทอดวัฒนธรรมมลายูด้วย
รายาฮิเยาได้รับพระสมญานามว่า มาร์โฮม เกอร์ตามางัน อันเป็นนามที่ชาวเมืองปัตตานีเรียกรายาฮิเยา เมื่อครั้งเสด็จทอดพระเนตรการขุดคลองที่หมู่บ้านเตอร์มางัน
รายาฮิเยาสิ้นพระชนม์เมื่อ พ.ศ. ๒๑๕๙ พระชนมายุได้ ๖๓ พรรษา พระองค์ไม่มีพระสวามี แต่เป็นผู้ปกครองเมืองปัตตานีที่พสกนิกรรักมาก และยังเป็นผู้ที่คนต่างชาติทั่วโลกรู้จักและยอมรับในพระปรีชาสามารถ
รายาบีรู
รายาบีรู เป็นพระขนิษฐภคินี (น้องสาว) ของรายาฮิเยา ปกครองเมืองปัตตานีในช่วง พ.ศ. ๒๑๕๙ - ๒๑๖๗ ขณะขึ้นครองราชย์มีพระชนมายุ ๕๐ พรรษาแล้ว เมื่อครองราชย์ได้ประมาณ ๓ ปี ทรงเห็นว่าคลองที่ขุดจากหมู่บ้านเตอร์มางันไปถึงกรือเซะ มีกระแสน้ำไหลแรงเซาะริมฝั่งที่ติดต่อกับพระราชวังทำให้เสียหาย ที่สำคัญคือน้ำในคลองกรือเซะกลายเป็นคลองน้ำจืดตามพระประสงค์ของรายาฮิเยา แต่มีผลเสียคือทำให้ที่ดินบริเวณนาเกลือตรงชายทะเลไม่สามารถทำเป็นนาเกลือ คือผลิตเกลือไม่ได้ รายาบีรูจึงมีรับสั่งให้สร้างเขื่อนกั้นน้ำที่ไหลมาจากด้านเหนือที่ไหลเข้าสู่คลองกรือเซะ เขื่อนนี้สร้างด้วยหิน จึงเรียกหมู่บ้านนี้ว่า บ้านทำนบหิน หรือบ้านตาเนาะบาตู อยู่ในอำเภอเมืองปัตตานี
ในสมัยรายาบีรูนี้เองที่มีการหล่อปืนใหญ่ ๓ กระบอก ในพงศาวดารเมืองปัตตานี (เลขที่ ๓๘ ประวัติส่งมาจากกระทรวงมหาดไทย พ.ศ. ๒๔๕๕) บอกว่าสร้างในสมัยที่เจ้าเมืองเป็นผู้หญิง เรียกว่า นางพระยาตานี ตำบลที่หล่อคือ ริมบ้าน กะเสะ (กรือเซะ) นายช่างที่หล่อปืนชื่อ เคี่ยม แซ่หลิม เป็นชาวฮกเกี้ยน ได้ภรรยาเป็นชาวมลายูจึงนับถือศาสนาอิสลามตามภรรยา ปืน ๓ กระบอกมีชื่อว่า พญาตานี ศรีนครี และมหาหล่าหลอ โดยหลิมโต๊ะเคี่ยม ได้ทดลองยิงปืนใหญ่จนเสียชีวิตขณะทดลองยิงปืนกระบอกที่ ๓
รายาอูงู
รายาอูงู เป็นพระขนิษฐภคนีองค์สุดท้องของรายาฮิเยา ได้อภิเษกสมรสกับสุลต่านอับดุลฆอฟุร แห่งรัฐปาหัง และได้ไปอยู่ที่ปาหังนานถึง ๒๘ ปี เมื่อพระสวามีสิ้นพระชนม์จึงได้เสด็จกลับมาอยู่ที่เมืองปัตตานี โดยได้นำพระธิดาชื่อ รายากูนิง กลับมาด้วยตามคำบัญชาของรายาบีรู พระขนิษฐา
รายาอูงู ปกครองเมืองปัตตานีในช่วง พ.ศ. ๒๑๖๗ - ๒๑๗๘ ในช่วงสมัยนี้ เมืองปัตตานีได้ทำศึกสงครามกับเมืองสยาม เนื่องจากกรุงศรีอยุธยาราชธานีเมืองสยาม มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ออกญาศรีวรวงศ์ได้ยึดอำนาจจากพระเจ้าอาทิตยวงศ์ ใน พ.ศ. ๒๑๗๓ แล้วสถาปนาตนขึ้นเป็นกษัตริย์มีนามว่า พระเจ้าปราสาททอง รายาอูงูไม่ยอมรับพระเจ้าปราสาททอง จึงงดส่งดอกไม้เงินดอกไม้ทองอันเป็นเครื่องแสดงว่ามีสัมพันธไมตรีต่อกัน
ต่อมาเมื่อวันที่ ๑๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๑๗๗ กองทัพเรือจากกรุงศรีอยุธยาได้ยกทัพเข้าสู่ปากน้ำเมืองปัตตานี ได้สู้รบกับกองทัพเมืองปัตตานี แต่ไม่สามารถเอาชนะได้จึงถอยทัพกลับไป ๑๐ วันหลังจากนั้นคือเมื่อวันที่ ๒๑ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๑๗๗ ต่อมาภายหลังได้มีการเจรจาเพื่อเชื่อมสัมพันธไมตรีกันใหม่ โดยทางเมืองปัตตานียินยอมส่งเครื่องราชบรรณาการแก่สยามเหมือนเดิม รายาอูงูสิ้นพระชนม์ในปี พ.ศ. ๒๑๗๘
รายากูนิง
รายากูนิง พระธิดาของรายาอูงูกับสุลต่านอับดุลฆอฟุร แห่งรัฐปาหัง ได้อภิเษกสมรสกับ ยังดีเปอร์ตูวันมูดอร์ โอรสเจ้าเมืองยะโฮร์ โดยทั้งสองพระองค์อาศัยอยู่ด้วยกันที่เมืองปัตตานี
รายากูนิง ปกครองเมืองปัตตานีเมื่อปี พ.ศ. ๒๑๗๘ พระองค์ทรงโปรดการกสิกรรมและพาณิชยกรรมมาก มีรายได้จากการขายพืชผลที่ทรงปลูกไว้ในอุทยานจนไม่ต้องใช้เงินของแผ่นดินเลย อีกทั้งยังยกทรัพย์สินเงินทองที่หามาได้ให้เป็นของรัฐ ทำให้เป็นที่ชื่นชมอย่างมากของชาวเมืองปัตตานี
ทรงเป็นเจ้าเมืององค์แรกที่ทำการค้าขายกับชาวต่างประเทศด้วยพระองค์เอง ทรงจัดเรือสินค้าพร้อมกัปตันที่วางพระทัยให้นำสินค้าจากเมืองปัตตานีไปขายตามหัวเมืองต่างๆ บรรดากัปตันของรายากูนิงได้รับสมญานามว่า พ่อค้ารายา
รายากูนิงได้รับเกียรติจากเมืองสยามเฉกเช่นเดียวกับรายาฮิเยา ด้วยการขนานนามว่า พระนางเจ้าหญิง หรือ นางเจ้าหญิง พระองค์ได้สานต่อสัมพันธไมตรีกับเมืองสยามอย่างแน่นแฟ้น ด้วยการเสด็จเยือนกรุงศรีอยุธยาด้วยพระองค์เอง เพื่อประสานรอยร้าวที่เกิดขึ้นในการศึกสงครามสมัยรายาอูงู
ชีวิตสมรสของรายากูนิงในช่วงหลังมีปัญหา เพราะพระสวามีไปหลงใหลติดพัน นางดังสิรัต นักร้องเสียงทองของราชสำนัก จนถึงขั้นต้องเลิกร้างกัน พระสวามีและข้าราชบริพารของพระสวามีต้องเสด็จกลับเมืองยะโฮร์ รายากูนิงจึงปกครองเมืองปัตตานีตามลำพัง โดยบ้านเมืองมีความร่มเย็นเป็นสุขตลอดพระชนม์ชีพของพระนาง รายากูนิงสิ้นพระชนม์ใน พ.ศ. ๒๒๒๙ (ค.ศ. ๑๖๘๖) ชาวเมืองปัตตานีขนานพระนามพระองค์ว่า มัรโฮม บือซาร์ เนื่องจากรายากูนิงไม่มีรัชทายาท จึงทำให้ราชวงศ์ศรีวังสาที่ครองเมืองปัตตานีมาตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๐๐๐ ต้องสิ้นสุดลง
หลังจากนั้นเจ้าเมืองปัตตานีมาจากราชวงศ์อื่นๆ หลายราชวงศ์ แต่ไม่มีเจ้าเมืองคนใดที่มีผลงานโดดเด่นเท่ากับสมัยราชวงศ์ศรีวังสา การค้ากับต่างประเทศก็เสื่อมลง ชาวยุโรปเดินทางออกจากเมืองปัตตานีหมด คงเหลือแต่พ่อค้าชาวจีน ญี่ปุ่น อินเดีย และอาหรับเท่านั้น
ที่มา: หนังสือเรื่อง บุคคลสำคัญของปัตตานี โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๕)
โฆษณา