28 ก.พ. 2022 เวลา 09:14 • ประวัติศาสตร์
พันเอก ขุนอิงคยุทธบริหาร (ค่ายอิงคยุทธบริหาร)
พันเอกขุนอิงคยุทธบริหาร เป็นผู้ซึ่งได้คุมกำลังทหารเพื่อต่อสู้กับทหารญี่ปุ่นที่บุกเมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ที่ปัตตานี จนเสียชีวิตในที่รบ มีนามเดิมว่า ทองสุก อิงคกุล เกิดเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน พ.ศ. ๒๔๔๓ ที่ตำบลราชวงศ์ อำเภอป้อมปราบ กรุงเทพฯ เป็นบุตรนายบุญเฮง กับนางสุ่น อิงคกุล ได้สมรสกับนางสาวสะอิ้ง ทิมรัตน์ มีธิดา ๔ คน
ประวัติการรับราชการทหารของท่าน มีดังนี้
พ.ศ. ๒๔๖๕ - ๒๔๖๙ รับราชการประจำกรมทหารราบที่ ๑๕
พ.ศ. ๒๔๗๐ ประจำกรมทหารพรานในกองพลทหารราบที่ ๓
พ.ศ. ๒๔๗๑ - ๒๔๗๒ ประจำกองพันที่ ๓ กรมทหารราบที่ ๒ รักษาพระองค์
พ.ศ. ๒๔๗๓ ประจำ ร.๒ รอ.พัน ๓
พ.ศ. ๒๔๗๔ เป็นนายทหารฝึกหัดราชการแผนก
พ.ศ. ๒๔๗๔ ประจำ ร.๒ รอ.พัน ๒ วันที่ ๑ ตุลาคม ๒๔๗๔
พ.ศ. ๒๔๗๕ ประจำกองพันทหารราบที่ ๕
พ.ศ. ๒๔๗๖ เป็นรอง ผบ.ก ร.พัน ๕ ร้อย ๔
พ.ศ. ๒๔๗๖ ประจำ ร.พัน ๕ (พระนคร) ๑ เมษายน ๒๔๗๖
ก่อนเสียชีวิตได้มาประจำเป็น ผบ.พัน กองพันทหารราบที่ ๔๒ กรมผสมที่ ๕ และจังหวัดทหารบกสงขลา (ส่วนแยกปัตตานี) ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
เดิมมีบรรดาศักดิ์เป็นขุน แต่ในต้นปี พ.ศ. ๒๔๘๔ เป็นช่วงที่ข้าราชการพากันยกเลิกบรรดาศักดิ์ ท่านก็เลิกใช้ "ขุน" นำหน้าชื่อ เหลือเพียง พ.ต. ที่เป็นยศทหารเท่านั้น เช่นเดียวกับ จอมพล หลวงพิบูลสงคราม ก็เลิกใช้ "หลวง"
ลักษณะเด่นของ พ.ต.อิงคยุทธบริหาร คือเป็นผู้นำที่เข้มแข็ง เป็นผู้ที่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเคารพยำเกรง เป็นผู้ที่มีน้ำใจโอบอ้อมอารีแต่เด็ดขาด ทหารในปกครองของท่านจะมีระเบียบวินัย เป็นที่รักของประชาชนที่อยู่ใกล้
เมื่อมาตั้งกองพันอยู่ที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิกไม่กี่เดือน พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหารได้เริ่มสังเกตความเคลื่อนไหวของคนญี่ปุ่น ที่มาเปิดร้านที่ถนนปัตตานีภิรมย์ หน้าวัดตานีนรสโมสร ซึ่งครั้งแรกมีเพียงร้านทำฟันเพียงร้านเดียว ต่อมามีร้านขายถ้วยชาม ร้านถ่ายรูป จึงให้ผู้ใต้บังคับบัญชาคอยสืบและติดตามความเคลื่อนไหวของเจ้าของร้านเหล่านี้
ก่อนทหารญี่ปุ่นจะบุกปัตตานี ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหารได้รับการติดต่อสื่อสารว่า ญี่ปุ่นจะบุกที่โรงฆ่าสัตว์ ซึ่งอยู่ที่ถนนนาเกลือใกล้ศาลเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยว แต่ความจริงแล้วทหารญี่ปุ่นได้บุกปัตตานีที่บริเวณคอกสัตว์ ซึ่งอยู่ใกล้ปากทางเข้ามหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ในปัจจุบัน ผู้รับสารฟังผิดจาก "คอกสัตว์" เป็น "โรงฆ่าสัตว์" จึงทำให้ พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหารนำกำลังทหารมุ่งหน้าไปที่โรงฆ่าสัตว์ถนนนาเกลือ ซึ่งจะต้องเดินทางผ่านสะพานเดชานุชิต และก่อนที่เดินทางไปถึงสะพานเดชานุชิต จะต้องผ่านถนนหนองจิกบริเวณที่อยู่ใกล้คอกสัตว์ ด้วยไม่คิดว่าศัตรูจะอยู่แถวนั้นจึงไม่ทันระมัดระวัง ช่วงที่เดินทางผ่านทางนั้น กองกำลังทหารที่มี พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหารเป็นนายกองจึงถูกซุ่มโจมตีด้วยปืนกล
พ.ต.ขุนอิงคยุทธบริหาร ถูกยิงได้รับบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ยังคงตะโกนสั่งการให้ทหารสู้รบต่อไป จนตัวเองมาเสียชีวิตที่สุขศาลา (โรงพยาบาลในสมัยนั้น) ในวันต่อมา คือ วันที่ ๙ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ และได้รับการเลื่อนยศเป็น พันเอก ในเวลาต่อมา
ในปี พ.ศ. ๒๕๑๑ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานนามใหม่แก่ค่ายทหารที่ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี ว่า "ค่ายอิงคยุทธบริหาร" เพื่อเป็นการรำลึกถึงวีรกรรมอันกล้าหาญของ พ.อ.ขุนอิงคยุทธบริหาร
นอกจากนี้ก็ยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่ในเหตุการณ์ช่วงที่ญี่ปุ่นบุกปัตตานี สมควรได้รับการบันทึกชื่อไว้เช่นเดียวกัน ดังต่อไปนี้
นายยุนุ ไม่ทราบนามสกุล ชาวบ้านรูสะมิแลที่เห็นญี่ปุ่นบุกปัตตานี เวลา ๐๓.๐๐ น. ของวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงวิ่งไปบอกข่าวแก่นายละมุน และนางเหนี่ยง เจริญอักษร ปลัดอำเภอเมืองปัตตานีและภรรยา ซึ่งได้รีบส่งข่าวแก่ น.อ.หลวงสุนาวิวัฒน์ ร.น. (กิมเหลียง สุนาวิน) ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานีสมัยนั้น ทำให้การประสานงานกับสถานีตำรวจภูธรจังหวัดปัตตานีเรียบร้อยรวดเร็ว สามารถเตรียมกำลังเป็นศูนย์อำนวยการต่อสู้ป้องกันเมืองปัตตานี ทั้งกำลังตำรวจ กำลังยุวชนทหาร และพลเรือนได้ทันท่วงที มิฉะนั้นคงจะเสียหายมากกว่านี้
นายประธาน เลขะกุล เจ้าของร้านปืนกุ้นเซียะบราเดอร์ ตั้งอยู่เยื้องสถานีตำรวจภูธรปัตตานี นายสมเกียรติ เวียงอุโฆษ เจ้าของร้านปืนที่ถนนปัตตานีภิรมย์ ใกล้โรงเรียนจีนจ้องฮั้ว เจ้าของร้านทั้งสองคนได้ให้ยืมปืนและกระสุนปืนทั้งหมดเท่าที่มีในร้านของตน เพื่อให้ทุกคนใช้ต่อสู้กับทหารญี่ปุ่น
และนอกจากนี้ก็ยังมีกลุ่ม "ลูกปัตตานี" อีกหลายคนที่มีส่วนในการปกป้องเมืองปัตตานีไว้ อาทิ นายเกษม ทรัพย์เกษม นายมานิต วัฒนานิกร นายแวยายอ กาซอ นายคณิต ศรีเจริญ นายถาวร มงคลสิทธิ์ นายเฉลียว ดิลก นายอรุณ พงศ์ประเสริฐ (ชื่อเดิม ดอเลาะ) และนายสุนนท์ ทับทิมทอง
บุคคลเหล่านี้ทั้งที่พลีชีพและที่รอดชีวิตมาได้จากเหตุการณ์ญี่ปุ่นบุกปัตตานี เมื่อวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ ล้วนเป็นบุคคลที่ชาวเมืองปัตตานีจะต้องรำลึกถึงพวกเขา ในฐานะผู้มีพระคุณที่ได้ปกป้องเมืองปัตตานีเอาไว้
ที่มา: หนังสือเรื่อง บุคคลสำคัญของปัตตานี โดย รศ.มัลลิกา คณานุรักษ์ (๒๕๔๕)
โฆษณา