28 ก.พ. 2022 เวลา 12:16 • ไลฟ์สไตล์
รับมือกับอารมณ์ได้ดีขึ้นด้วย
“Mushin No Shin” วิถีแห่งเซน
2
“รู้อย่างนี้ เชื่อตัวเองดีกว่า”
1
มักเป็นความคิดแรกที่เกิดขึ้นหลังเราตัดสินใจทำบางสิ่งไป แต่กลับไม่ชอบผลลัพธ์ที่ได้ ขนาดใช้เวลานั่งคิดนอนคิดพิจารณาอยู่หลายตลบ ผลลัพธ์ก็ยังออกมาไม่ดีอีก! หลายครั้งเราเลยอดรู้สึกไม่ได้ว่า รู้แบบนี้ เชื่อสัญชาตญาณตัวเองแต่แรกดีกว่า แถมอดสงสัยไม่ได้ว่าท้ายที่สุดแล้วการ “คิดเยอะ” นั้นดีจริงไหม
7
การพิจารณาอะไรอย่างถี่ถ้วนนั้นเป็นเรื่องดี อย่างไรก็ตาม การที่เราปล่อยให้จิตใจเราเต็มไปด้วยความคิดและอารมณ์ต่างๆ มากเกินไปอาจทำให้เกิดผลเสียได้! เช่น ทำให้เราเหนื่อยล้าโดยไม่จำเป็น จนลดประสิทธิภาพในการตัดสินใจและการใช้ชีวิต
คิดมากไปก็ไม่ดี คิดน้อยไปก็ไม่ได้ แล้วถ้าเราอยากตัดสินใจให้ดีขึ้นล่ะ ต้องทำอย่างไร?
ว่าด้วยเรื่อง ‘การตัดสินใจ’
ทุกวันนี้เรามักตัดสินใจแบบมีจิตสำนึก (Concious) ซึ่งเป็นการคิดผ่านความรู้ที่เรามี ใช้ตรรกะ รวมถึงรับฟังความเห็นจากคนอื่นๆ มามากมาย แต่หลายครั้งผลลัพธ์ดันออกมาแย่ จนเริ่มมีการมองมุมกลับและตั้งคำถามว่าแล้วการคิดแบบ ‘จิตใต้สำนึก’ (Subconcious) ล่ะ จะช่วยให้เราตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ได้ดีแค่ไหน?
3
ในปี 2004 มหาวิทยาลัย Amsterdam ได้ทดลองเพื่อหาคำตอบว่า ‘การตัดสินใจแบบมีจิตสำนึก’ หรือ ‘แบบใช้จิตใต้สำนึก’ จะช่วยให้ตัดสินใจได้ดีกว่ากัน พวกเขาได้ทดลองให้คนเลือกอพาร์ตเมนต์ที่ดีที่สุดหลังได้รับข้อมูล 12 ข้อของแต่ละอพาร์ตเมนต์ เช่น ขนาด ที่ตั้ง หรือนิสัยของเพื่อนร่วมห้องว่าเป็นคนแบบไหน ตลกหรือเจ้าระเบียบ
1
หลังจากนั้นผู้ทดลองจะต้องเลือกอพาร์ตเมนต์ที่พวกเขาชอบโดยแบ่งกลุ่มเป็นการตัดสินใจแบบมีจิตสำนึก คือให้เวลา 3 นาทีเพื่อคิดไตร่ตรองแล้วเลือกตอบ ส่วนอีกกลุ่มจะต้องตัดสินใจแบบจิตใต้สำนึก ซึ่งพวกเขาจะต้องทำกิจกรรมยากๆ เป็นเวลา 3 นาทีแล้วเลือกอพาร์ตเมนต์ทันที ผลปรากฏว่า กลุ่มที่ตัดสินใจแบบจิตใต้สำนึกสามารถเลือกอพาร์ตเมนต์ได้ดีกว่า กลุ่มที่ต้องใช้จิตสำนึก ถึงแม้น้ำหนักตัวแปรในการตัดสินใจของแต่ละคนจะไม่เท่ากัน เช่น บางคนให้ความสำคัญกับที่ตั้งของอพาร์ตเมนต์มากกว่าขนาดห้อง
1
ทำไมจึงเป็นเช่นนี้? สาเหตุที่การตัดสินใจแบบจิตใต้สำนึกได้ผลดีกว่าเป็นเพราะ ‘การคิดแบบมีจิตสำนึก’ เหมาะกับการต้องตัดสินใจทั้งที่มีข้อมูลน้อย ในขณะที่ ‘จิตใต้สำนึก’ สามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ที่ได้รับ แล้วจึงค่อยทำการตัดสินใจ อย่างการเลือกอพาร์ตเมนต์ที่มีข้อมูลเยอะแยะ การวิเคราะห์จากภาพรวมอย่างรวดเร็วด้วยจิตใต้สำนึก อาจเป็นวิธีที่เหมาะสมและให้คำตอบที่ดีกว่า
1
แล้วถ้าเราอยากพัฒนาการตัดสินใจแบบจิตใต้สำนึกเพื่อนำไปใช้ตัดสินใจเรื่องอื่นๆ ในชีวิตเราล่ะ จะเป็นไปได้ไหม ชาวญี่ปุ่นมีวิธีการตัดสินใจแบบใช้จิตใต้สำนึก โดยการทำให้จิตว่างเปล่าไม่ให้ความคิดอื่นๆ มารบกวน ซึ่งเรียกว่า “Mushin No Shin”
3
“Mushin No Shin” คืออะไร?
1
แนวคิดที่รับมาจากพุทธศาสนานิกายเซน ‘Mushin No Shin’ หมายถึง จิตใจที่ไร้ซึ่งความคิด เป็นสภาวะที่เราไม่มีเสียงความคิดอื่นๆ มารบกวนใจเรา ทำให้จิตใจเราอยู่ในภาวะสงบ เมื่อเราอยู่ใน Mushin No Shin ทุกการกระทำจะออกมาจากจิตใต้สำนึกหรือสัญชาตญาณของเราล้วนๆ
2
“Mushin No Shin” กับหลักการวิทยาศาสตร์
เมื่อเราต้องอยู่ในสถานการณ์ที่มีความเครียดสูง เช่น บนสนามแข่งขัน เราแทบไม่มีเวลาตั้งสติหรือไตร่ตรองตัดสินใจ ดังนั้นสิ่งที่เราทำได้ในตอนนั้นคือ การทำตามสัญชาตญาณ ซึ่งเกิดจากการสร้าง “Muscle Memory” หรือความจำในกล้ามเนื้อ ผ่านการฝึกทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งซ้ำๆ โดยที่เราไม่มานั่งคิดหรือไตร่ตรองเวลากระทำสิ่งนั้น
3
เช่น เมื่อเราขี่จักรยานเป็น ต่อให้เราหยุดขี่ไปนานเท่าไหน พอเรากลับมาทำกิจกรรมนี้ เราก็ยังสามารถขี่จักรยานได้โดยอัตโนมัติทันที การสร้าง Mushin No Shin เองก็อาศัยหลักการนี้เช่นกัน เราจะลดการตัดสินใจแบบใช้สมองของเราลง แล้วไปเพิ่มที่การตัดสินใจผ่านสัญชาตญาณของเราแทน
1
‘Mushin No Shin’ ดีต่อเราอย่างไรบ้าง?
1
- เพิ่มประสิทธิภาพการตัดสินใจ
หนังสือเรื่อง Blink โดย Malcolm Gladwell ได้อธิบายไว้ว่า สาเหตุที่เราตัดสินใจผิดพลาดนั้นเป็นเพราะขณะที่สมองเราคิดหรือตัดสินใจ เรามักถูกรบกวนโดยข้อมูลอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้อง ในขณะที่ ‘จิตใต้สำนึกของเรามักตัดสินใจสิ่งต่างๆ ได้ดีกว่าการคิดแบบปกติ’ เพราะสามารถหลีกเลี่ยงการโดนข้อมูลอื่นๆ แทรกแซงได้
8
แล้ว ‘ข้อมูลอื่นๆ’ ที่ว่านั้นคืออะไร
1
ข้อมูลที่รบกวนเราอยู่ขณะนั้นคือ ‘อารมณ์และตรรกะ’ สองสิ่งนี้สามารถผันตัวไปเป็น ‘อคติ’ ทำให้เราตัดสินใจพลาดง่ายขึ้น ทางแก้คือการใช้ Mushin No Shin มาช่วยให้เราตัดสินใจผ่านตัวเราอย่างแท้จริง วิธีนี้จะทำให้เราไม่วิเคราะห์สิ่งต่างๆ มากเกินไปจนรู้สึกเครียด
- โฟกัสกับงานตรงหน้าได้ดีขึ้น
เมื่อไร้สิ่งรบกวน จิตใจเราก็จะจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ดีขึ้น นี่เป็นช่วงที่เราจะเกิด ‘Flow’ หรือความต่อเนื่องในการทำงานได้ดีที่สุด เช่น นักอ่านที่สามารถเห็นภาพผ่านนิยายที่อ่านได้ หรือนักเขียนที่สามารถสร้างสรรค์ผลงานโดยไม่หลุดสมาธิ ไม่สนใจว่าเวลาผ่านไปนานเท่าไหนและบรรยากาศรอบข้างเป็นอย่างไร ความต่อเนื่องในการทำงานนี้ช่วยให้เราอยู่ในสภาวะที่ไม่ต้องคิดสิ่งอื่นให้วุ่นวาย และรู้สึกมีความสุขกับ Productivity
1
4 วิธีสร้างสภาวะ “Mushin No Shin” ในจิตใจเรา
เราอาจมองว่า เราไม่สามารถกำจัดอารมณ์หรือการใช้ตรรกะได้ เพราะเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่จริงๆ แล้วเราไม่ถึงกับต้องกำจัด! แค่ต้องควบคุมไม่ให้อารมณ์เหล่านั้นมาควบคุมจิตใจเราให้ได้เท่านั้นเอง
1
แล้วเราจะฝึกควบคุมไม่ให้จดจ่อกับอารมณ์ได้อย่างไร? วันนี้เรามี 4 วิธีทำให้ใจเราเข้าสู่ Mushin No Shin มาแนะนำ ซึ่งวิธีเหล่านี้นั้นไม่ต้องอาศัยอุปกรณ์เพิ่มเติมมากมาย และอาจเป็นกิจกรรมที่เราทำอยู่ทุกวันโดยไม่รู้ตัว
1
1. ทำกิจกรรมที่เราต้องจดจ่อ
หลายคนมักมองข้ามงานอดิเรกที่ตนชอบ เพราะรู้สึกว่ากิจกรรมเหล่านี้ไม่มีประโยชน์แถมทำให้เราจดจ่อมากเกินจนกินเวลา แต่รู้หรือไม่ว่าในขณะที่เราทำกิจกรรมเหล่านั้น จิตใจเรากำลังเข้าสู่สภาวะ Mushin No Shin อยู่
1
ลองหาเวลาพักสั้นๆ มาทำงานอดิเรกหรือกิจกรรมที่ทำให้เราหลงลืมเวลารอบข้างดู หากกังวลว่าจะรบกวนการทำงาน เราอาจจะเคลียร์งานและภาระต่างๆ ก่อนจะใช้เวลาที่เหลือนี้ไปกับการใช้สมาธิให้เต็มที่
7
2. ฝึกเพิ่มความเร็วให้การตัดสินใจ
กิจกรรมที่ต้องใช้ความรวดเร็วจะช่วยลบความคิดที่ไม่เกี่ยวข้องออกไปจากสมองเราได้ ดังนั้นลองมองหากิจกรรมที่เราต้องขยับร่างกายหรือตัดสินใจอย่างรวดเร็วดู เช่น กีฬาคาราเต้ ปิงปอง หรือแม้แต่การเล่นเกม Tetris ซึ่งให้เวลาตัดสินใจแค่ไม่กี่วินาทีในการเลือกช่องให้บล็อกที่ลงมาพอดีกับบล็อกที่อยู่ข้างล่าง
2
3. อยู่กับธรรมชาติ
เคยไหม เวลาเราไปเที่ยวในสถานที่ธรรมชาติที่สวยงาม เรารู้สึกสงบจนนั่งอยู่ที่นั่นได้ทั้งวัน การอยู่กับธรรมชาติก็ช่วยให้จิตใจเราไม่ต้องคิดอะไรฟุ้งซ่าน ให้ไหลไปตามบรรยากาศ ในภาษาญี่ปุ่นมีแนวคิดที่เรียกว่า “Shinrin-yoku” ซึ่งหมายถึง การอาบป่า เป็นการชื่นชมธรรมชาติรอบตัวและโลกภายนอกมากกว่าจะสนใจตัวเราเอง
3
เพราะฉะนั้น ลองหาเวลาเดินเล่นชมธรรมชาติรอบข้างบ้าง นอกจากเราจะได้พักจากการทำงานแล้ว ยังได้พักจากการใช้ความคิด และได้รีเซ็ตสมองให้พร้อมรับสิ่งใหม่ๆ อีกด้วย
2
4. นั่งสมาธิ
กิจกรรมที่เรียบง่ายแต่ทำได้ยากคงหนีไม่พ้นการนั่งสมาธิ สิ่งที่ทำให้เราไม่สามารถนั่งสมาธิได้สำเร็จสักที เกิดจากการโดนรบกวนทั้งภายนอกร่างกายและภายในใจ แม้จะหลับตา แต่เรายังสนใจเสียงที่ได้ยิน หรือหากอยู่ในห้องเงียบ เราก็ได้ยินเสียงความคิดในใจที่ดังและไม่สามารถควบคุมให้หยุดคิดได้เลย
1
การทำสมาธิให้มีประสิทธิภาพอาจผ่านการนึกถึงภาพใดสักภาพหนึ่งหรือนับลมหายใจ วิธีนี้ต้องอาศัยการฝึกฝนและเวลาในการพัฒนาสมาธิให้กับจิตใจมากกว่ากิจกรรมอื่นๆ แต่หากเราทำได้ ก็จะเป็นการพาจิตเข้าสู่ Mushin No Shin ได้ดีขึ้น
2
สภาวะจิตใจที่ไร้การปรุงแต่งจะช่วยให้เราสามารถโฟกัสกับงานตรงหน้าได้ดียิ่งขึ้น แถมเพิ่มประสิทธิภาพในการตัดสินใจมากขึ้น เราจะรู้สึกเสียดายผลลัพธ์ที่เลือกน้อยลง เพราะเราได้ฟังเสียงที่เป็นตัวเราอย่างแท้จริงมากขึ้น
1
แม้การสร้าง Mushin No Shin จะไม่ใช่เรื่องง่าย แถมต้องฝึกฝนเป็นประจำ แต่อย่าพึ่งถอดใจ เราสามารถฝึกสร้างสภาวะนี้ไปพร้อมๆ กับทำกิจกรรมที่เราชอบได้นะ! นอกจากจะได้ความสงบแล้วยังได้ความสุขอีกด้วย
2
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ:
เพิ่มความสุขด้วยวิธี ‘Vuja Dé’ มองสิ่งธรรมดาด้วยมุมมองใหม่ๆ https://bit.ly/34YYeLh
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#inspiration
#softskills
โฆษณา