28 ก.พ. 2022 เวลา 15:04 • หนังสือ
ตอนแรกที่ได้เล่มนี้มาบอกตามตรงว่าผมไม่กล้าอ่าน เอาจริงๆเพราะกลัวว่าตัวเราเองจะช่างแม่งทุกอย่างจนละทิ้งความรับผิดชอบที่ควรจะทำ กลัวตัวเองโดนป้ายยาโดยไม่รู้ตัว (มโนเก่ง)
1
เมื่อเปิดไปเพียงหน้าแรกก็เอาเรื่องเลย หนังสือพูดถึงเรื่องตาลุงขี้เมาที่มีชีวิตเสเพลที่บั้นท้ายประสบความสำเร็จ เขาให้ข้อคิดกับทุกคนว่า “อย่าพยายาม” เชื่อไหมครับว่า ความรู้สึกอึดอัด ขัดๆ หงุดหงิด หายใจไม่ค่อยสะดวกและคำถามมากมาย เข้าโจมตีผมทันที เหมือนกับว่าความเชื่อที่เราเคยมีมันถูกท้าทายและเหยียบย่ำยังไงยังงั้น
หลังจากที่ผมอ่านไปไม่กี่หน้า ผมก็ไม่กล้าอ่านต่อ แล้วก็ทิ้งเล่มนี้ไว้ประมาณ 2-3 วัน แต่ไม่รู้นึกครึ้มยังไง อารมณ์ตอนนั้นบอกให้ลองอ่านมันดูอีกครั้งก็ได้ คราวนี้เมื่ออ่านไปประมาณหนึ่งในสามของเล่ม ความรู้สึกต่อต้านผมเริ่มสงบลง และเมื่ออ่านต่อไปก็พบว่าผมเหมือนกับสัตว์ป่าที่เชื่องเสียแล้ว
และสุดท้ายผมอ่านจบ ความรู้สึกคือ หนังสือโคตรดี !! ผมไม่รู้จะชมเชยอะไรก่อนดี ผมคิดว่า ถ้าผมวางหนังสือเล่มนี้ไว้ไม่อ่านต่อผมน่าจะเป็นคนที่โชคร้ายมาก เพราะเล่มนี้มันคือหัวใจสำคัญของการก้าวพ้นความเจ็บปวดทุกรูปแบบ
หนังสือเล่มนี้ แมนสัน ผู้เขียน พูดได้ว่าคือ คนใช้ชีวิตของจริง ! ผ่านความทรหด ความเจ็บปวดมามากมาย ผ่านมาหลายสิบความสัมพันธ์ รัก เลิก เปลี่ยนงาน คาดหวัง ล้มเหลวมานับไม่ถ้วน
จุดที่ชอบที่สุดของเล่มนี้คือ ตัวผู้เขียนมีความเข้าใจกลไกทางจิตวิทยาของสมอง และพฤติกรรมได้อย่างลึกซึ้ง เหมือนกับอ่านใจเราออก เค้าแยกความเป็นนามธรรมในสมองออกมาให้ชัดเจนและอธิบายมันได้ดีมาก
ถ้าจะให้บอกสามคำที่เป็นประเด็นสำคัญของเรื่องนี้ก็คือ “ค่านิยม” เขาบอกว่าจริงๆแล้วคุณจะโอเคกับอะไรหรือไม่ อยู่ที่คุณตั้งค่านิยมเอาไว้อย่างไร ?
จากประสบการณ์ของผมเอง การจะระงับความเจ็บปวดหรือความทุกข์นั้น ต้องอาศัย 2 ทาง ทางแรก คือ การมีสติเท่าทันความคิด มองเห็นความคิดก่อนที่มันจะวิ่งเข้าไปในสมองแล้วปรุงแต่งเรื่องต่างๆให้เราทุกข์ หนังสือหลายเล่มที่พูดถึงเรื่องเหล่านี้ เช่น The Power of Now หนังสือธรรมแนวสติปัฏฐาน หรือจะเป็นหนังสือของท่านกฤษณะมูรติ
แต่สำหรับเล่มนี้คือ จะไม่พูดถึงเรื่องด่านแรกของการเท่าทันความคิดสักเท่าไร สิ่งที่เค้าจะเน้นก็คือ “ค่านิยม” เป็นหลัก
เมื่อความคิดวิ่งเข้ามาในสมองของเรา แล้วสติตัดไม่ทัน มันจะวิ่ง เข้าสู่ “ศาลแห่งความคิด” ศาลนี้จะคอยตัดสินว่าความคิดที่วิ่งเข้ามานั้นมันดีหรือไม่ดี โดยเทียบเคียงกับค่านิยมที่เรามี
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพสักหน่อย (ยกมาเพื่อความเข้าใจเท่านั้นนะครับ)
ถ้าเรามองเห็นคนกินข้าวคนเดียว ไม่มีเพื่อนกินข้าว ถ้าเรามีสติทันเราก็จะมองเห็นแค่ว่า “ก็แค่คนกินข้าว ไม่เห็นมีอะไร”
แต่เมื่อเผลอสติ ก็จะเกิดการปรุงแต่งต่อ ภาพนั้นจะวิ่งเข้าไปเปรียบเทียบกับค่านิยม ถ้าเรามองว่าการกินข้าวคนเดียว เป็นคนไม่มีเพื่อนคบ เข้าสังคมไม่เป็น น่ารังเกียจ เราก็จะตัดสินเค้าในทางที่ไม่ดี แต่เงื่อนไขไม่ใช่ตัดสินแค่คนอื่น คุณเองก็โดนเงื่อนไขเดียวกัน
ถ้าวันหนึ่งจะด้วยเหตุปัจจัยอันใดที่ทำให้ คุณต้องทานข้าวคนเดียว คุณจะโดนเงื่อนไขจิตนี้ตัดสินทันที และคุณจะรู้สึกอึดอัดและทุกข์ใจนั่นแหละคุณกำลังรับผลของมัน
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าตัวค่านิยม คือ “เงื่อนไขที่ใช้บอกว่าสิ่งใดดี สิ่งใดไม่ดี” ที่ใช้ตัดสินคนอื่นและตัวเอง
เช่น การเป็นคนรวยดี การเป็นคนธรรมดาไม่ดี การอยู่ใต้อำนาจคนอื่นไม่ดี การถูกกดตัวตนไม่ดี การมีรูปร่างผิวพรรณดีน่ายกย่อง
แมนสันบอกเลยว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร อยู่ที่เราวางตำแหน่งค่านิยมไว้แบบไหน มันจะเป็นตัวแปลงเหตุการณ์ภายนอกเป็นความรู้สึกว่าเราจะพอใจหรือไม่ ดังนั้นแม้ว่าเราจะสติไม่ดี อาจรู้ไม่เท่าทันความคิด แต่ไม่เป็นไร เราไปแก้ที่เงื่อนไขจิตแทน แก้ที่ค่านิยมแทนก็แล้วกัน
เช่น เรากินข้าวคนเดียวก็ไม่เห็นจะเป็นไรนิ จะได้นั่งเล่นมือถือไปด้วยไม่มีใครมากวน
แมนสันบอกว่าค่านิยมที่ดีมันต้องประกอบไปด้วย 3 ปัจจัย ก็คือ มันต้องยืนอยู่บนความเป็นจริง มันต้องควบคุมได้ และมันต้องเป็นสิ่งที่สังคมยอมรับ
แต่ปัจจุบันเรามีค่านิยมที่ผิดๆอยู่มาก ผิดๆในที่นี้คือ ค่านิยมที่ทำให้เราเจ็บปวด เช่น การมีชื่อเสียงเป็นสิ่งที่ดี จริงอยู่ที่การมีชื่อเสียงนั้นเป็นสิ่งที่ดี
แต่เรามาดูกันว่าทำไมค่านิยมนี้ถึงไม่ดีไปซะทั้งหมด อย่างแรกเลยคือ มันไม่อยู่บนความเป็นจริง เราอาจมโนเองว่าเรามีชื่อเสียงมาก เรายกตัวเองเราถูกบดบังจากอีโก้ ทำให้มองไม่เห็นว่าจริงๆแล้วเราไม่ได้สูงส่งไปกว่าใครเลย
อย่างที่สอง เราควบคุมมันไม่ได้ เราควบคุมความคิดทุกคนไม่ได้ เราจะทำให้ทุกคนนิยมชมชอบ และเชิดชูเราไม่ได้ มันเกินอำนาจของเราไป
คำถาม ถ้าเรารับค่านิยมนี้เข้ามา เราจะต้องเจอกับเงื่อนไขที่มันไม่ตรงกับธรรมชาติของชีวิต ถ้าวันหนึ่งเราถูกว่า ถูกตำหนิ ถ้าวันหนึ่งเราไม่มีใครเห็นความสำคัญ ถ้าวันหนึ่งเราไม่สามารถทำบางอย่างที่จะสร้างชื่อเสียงต่อไปได้ เราจะถูกค่านิยมนี้ตัดสินตัวเราเอง แล้วความเจ็บปวดจะเกิดขึ้นทันที
จุดสำคัญคือ คุณต้องเป็นคนเลือกเงื่อนไข ว่าสิ่งใดจะดี สิ่งใดจะแย่ เพราะการเลือกค่านิยมที่ถูกต้องจะลดแรงเสียดสีไปได้มาก จุดสังเกต ค่านิยมที่เรารับมาเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นค่านิยมที่สังคมยอมรับ แต่ไม่ได้ยืนอยู่บนความเป็นจริง และควบคุมได้ยาก
คำว่าช่างแม่งของแมนสัน ก็คือ ช่างแม่งค่านิยมที่เราไม่ควรแคร์หรือใส่ใจ ทิ้งมันไป แต่ควรเลือกค่านิยมที่เราควบคุมได้และอยู่ภายใต้ความจริง
1
แต่บอกเลยว่าไม่ง่าย เพราะเมื่อคุณเปลี่ยนค่านิยม คุณจะรู้สึกเหมือนสอบตกจากเกณฑ์เดิมที่เคยตัดสินคุณ มันจะเหมือนคนลงแดง ทรมาน เจ็บปวด จนวันหนึ่งคนยอมรับค่านิยมที่ถูกต้องได้ คุณจะพบกับเส้นทางที่ราบรื่นกว่า จนคุณอาจจะไม่เชื่อว่า เราเลือกเส้นทางแบบนี้ก็ได้หรอ !!
สำหรับผมเล่มนี้ไม่แปลกเลยที่จะขายได้มากกว่า 8 ล้านเล่ม เพราะคนเขียนนี่ขอใช้คำว่า คนจริง ! เจ็บจริง ! รู้จริง ! ตลกร้ายว่าสุดท้ายสิ่งที่ผมกลัวว่าเล่มนี้มันจะมาเปลี่ยนความคิดผม มันก็เกิดขึ้นจริง (ฮ่าๆ) เล่มนี้พิมพ์มาแล้ว 10 ครั้งไม่รู้ผมไปอยู่ไหนมา แต่เอาเป็นว่าใครยังไม่ได้อ่าน อ่านเถอะครับ เล่มนี้ของดีจริงๆ
//พะโลั
โฆษณา