1 มี.ค. 2022 เวลา 10:50 • ธุรกิจ
ทำไม โรงพยาบาลสมิติเวช มีกลยุทธ์ว่า “ไม่อยากให้ใครป่วย”
พอพูดถึงธุรกิจโรงพยาบาล
แน่นอนว่า รายได้หลักจะมาจากการให้บริการคนไข้ที่เจ็บป่วยมา
แต่รู้ไหมว่า สำหรับโรงพยาบาลสมิติเวชนั้น กลับชูกลยุทธ์ที่ว่า “ไม่อยากให้ใครป่วย และไม่อยากให้ใครต้องมาโรงพยาบาล”
แล้วกลยุทธ์นี้จะช่วยให้ สมิติเวช เติบโตได้อย่างไร ?
THE BRIEFCASE จะสรุปให้ฟัง
ก่อนอื่นเรามาทำความรู้จักกับ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) หรือ โรงพยาบาล “สมิติเวช” กันก่อน..
สมิติเวช ก่อตั้งโดยกลุ่มนักธุรกิจและกลุ่มแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงเรียนแพทย์ในปี พ.ศ. 2519
โดยชื่อของสมิติเวช มาจาก ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ตั้งชื่อนี้ให้
ซึ่งมีความหมายว่า “ที่รวมของแพทย์”
ปัจจุบัน เครือข่ายโรงพยาบาลสมิติเวช มีทั้งหมด 7 แห่ง
คือ สมิติเวช สุขุมวิท, สมิติเวช ธนบุรี, สมิติเวช ไชน่าทาวน์, สมิติเวช ศรีนครินทร์, สมิติเวช ชลบุรี, สมิติเวช ศรีราชา และโรงพยาบาลเด็กสมิติเวช
ขณะที่ผู้ถือหุ้นใหญ่ของสมิติเวช คือ บริษัท กรุงเทพดุสิตเวชการ จำกัด (มหาชน) หรือ BDMS โดยถือหุ้นในสมิติเวชอยู่ถึง 95.8%
1
ข้อมูลจากรายงานประจำปี 2563 ของสมิติเวช ระบุว่า รายได้ของสมิติเวชนั้นมาจาก
- รายได้จากค่าบริการคนไข้ 97%
- รายได้จากเงินปันผลและอื่น ๆ 3%
ขณะที่ถ้าแบ่งตามประเภทผู้ป่วยจะพบว่า
- รายได้จากผู้ป่วยใน 44%
- รายได้จากผู้ป่วยนอก 56%
แน่นอนว่า สำหรับธุรกิจโรงพยาบาล รายได้หลักก็มาจากการรักษาผู้ป่วย ที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาล
แต่หลายคนอาจต้องแปลกใจ ถ้าบอกว่า
โรงพยาบาลสมิติเวช ชูกิมมิกว่า “ไม่อยากให้ใครป่วย และไม่อยากให้ใครต้องมาโรงพยาบาล”
ทำไมถึงเป็นแบบนั้น ?
เรื่องนี้ คุณชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ซีอีโอของสมิติเวช ได้อธิบายว่า
ธุรกิจโรงพยาบาล มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่น ๆ
ตรงที่ธุรกิจนี้ เป็นการให้บริการภายใต้ความเจ็บปวดของคนไข้
พูดง่าย ๆ คือ ถ้ามีคนป่วย โรงพยาบาลก็จะมีรายได้
แน่นอนว่า ในความเป็นจริง โรงพยาบาลจำเป็นต้องมีรายได้ เพราะธุรกิจนี้ ไม่ใช่การทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องเพียงแค่หมอ พยาบาล และเภสัชกรเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงผู้คนอื่นที่เกี่ยวข้อง
ไม่ว่าจะเป็น พนักงานรักษาความสะอาด พนักงานทำอาหาร หรือพนักงานรักษาความปลอดภัยในโรงพยาบาล
เพียงแต่ว่า หลักการคิดในการทำธุรกิจ สำหรับคุณชัยรัตน์นั้น มองว่า เขาไม่อยากให้ลูกค้าหรือคนไข้นั้นเจ็บป่วย และถ้าไม่จำเป็นก็ไม่ต้องมาโรงพยาบาล
ดังนั้น สิ่งที่โรงพยาบาลต้องทำคือ การเสนอวิธีการให้ทุก ๆ คนรู้จักดูแลตัวเองให้ดี ไม่ให้เกิดอาการเจ็บป่วย
รวมไปถึงสามารถเข้าถึงลูกค้าหรือคนไข้จากที่ไหนก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเป็นที่โรงพยาบาลที่เดียวเท่านั้น
อย่างที่หลายคนทราบ ปัจจุบันนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ถูกพัฒนาอย่างก้าวหน้าและมีประสิทธิภาพ
โดยเฉพาะเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ Artificial intelligence (AI) ได้เข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องของสุขภาพ และการแพทย์มากขึ้นเรื่อย ๆ
พอเรื่องเป็นแบบนี้ ทางสมิติเวชจึงพยายามนำความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เช่น การนำ AI มาตรวจหาโรคแต่เนิ่น ๆ หรือที่เรียกว่า Early detection เพื่อให้คนไข้และแพทย์สามารถรู้อาการเจ็บไข้ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพื่อที่จะช่วยให้สกัดกั้น หรือลดความรุนแรงลงได้
โดยที่ผ่านมา สมิติเวช ก็มีการใช้ AI มาช่วยตรวจและป้องกันคนที่จะเป็นมะเร็งลำไส้ได้มากกว่า 5,600 คน ประเมินแล้วก็สามารถช่วยประหยัดเงินให้แก่คนไข้ได้กว่า 800 ล้านบาท
ส่วนกลยุทธ์เรื่องการที่ลูกค้าไม่ต้องมาโรงพยาบาล
เกิดขึ้นเพราะคุณชัยรัตน์เชื่อว่า การระบาดของโควิด 19 ทำให้หลายธุรกิจไม่สามารถทำธุรกิจในรูปแบบเดิม ๆ ได้อีกต่อไป ไม่เว้นแม้แต่โรงพยาบาล
และเชื่อว่าจุดเหล่านี้เป็น Pain point ของผู้รับบริการทั้งสิ้น ที่ไม่อยากเดินทางมารับบริการที่โรงพยาบาลเหมือนเคย
ทำให้สมิติเวชมีการพัฒนาแอปพลิเคชันที่ชื่อว่า “Samitivej Plus”
เพื่อช่วยให้คนสามารถเข้ารับการรักษาผ่านโปรแกรมที่ชื่อว่า “Samitivej Virtual Hospital” ซึ่งเป็นเสมือนโรงพยาบาลบนโลกออนไลน์ เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time
รวมไปถึงมี Medicine delivery หรือบริการจัดส่งยาถึงบ้าน ให้ผู้ป่วยได้รับยาที่แพทย์สั่ง ในเวลาอันรวดเร็ว
ซึ่งเราจะเห็นว่า ด้วยกลยุทธ์นี้ที่สมิติเวชกำลังนำมาใช้ ก็ยังทำให้สมิติเวช สามารถเข้าถึงลูกค้า เพื่อไปให้บริการได้ แม้ว่าลูกค้าหรือคนไข้จะยังไม่ได้ป่วยหนัก รวมทั้งไม่อยากเดินทางมาโรงพยาบาลก็ตาม
โดยรายได้และกำไรของ บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน) ช่วงที่ผ่านมา
ปี 2562 รายได้ 12,796 ล้านบาท กำไร 2,001 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้ 10,476 ล้านบาท กำไร 1,447 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้ 11,019 ล้านบาท กำไร 1,491 ล้านบาท
ก็ต้องติดตามกันต่อไปว่า การปรับตัวของสมิติเวชในวันนี้ จะช่วยให้บริษัทนั้นเติบโตมากน้อยแค่ไหนในอนาคต
แต่ก็ต้องยอมรับว่า กิมมิกกลยุทธ์ว่า “ไม่อยากให้ใครป่วย” ของสมิติเวช
ก็ถือว่าแปลกใหม่ และน่าสนใจไม่น้อยเลยเหมือนกัน..
References:
- แบบฟอร์ม 56-1 ปี 2563, บริษัท สมิติเวช จำกัด (มหาชน)
โฆษณา