2 มี.ค. 2022 เวลา 09:57 • ประวัติศาสตร์
เมียขงเบ้ง
เมื่อสงครามแย่งชิงอำนาจปะทุขึ้นในภาคกลางและภาคเหนือ ในยุคสมัยที่ขุนพลเรืองอำนาจ ช่วงต้นก่อนแผ่นดินแยกออกเป็นสามก๊ก เหล่าบัณฑิตและผู้รักความสงบต่างหนีภัยสงครามลงมายังทางใต้ บัณฑิตผู้มีความทะเยอทะยานเท่านั้นที่พาตนเองเข้าหาเจ้านายที่อยู่ท่ามกลางการแย่งชิงอำนาจ เกงจิ๋ว จึงเป็นดินแดนที่เหล่าบัณฑิตมารวมตัวกันมากที่สุดดินแดนหนึ่ง ขงเบ้ง เป็นหนึ่งในจำนวนนั้น นอกจากการทำไร่ทำนา การศึกษาตำราและพูดคุยเก็บข้อมูลจากเหล่าบัณฑิตก็เป็นงานหลักที่ขงเบ้งทำเป็นประจำ จนกระทั่งสามารถกลั่นกรองมาเป็นยุทธศาสตร์รวมแผ่นดินให้กับเล่าปี่ได้ในที่สุด
เดิมทีขงเบ้งก็ไม่ได้เป็นที่รู้จักของชาวเมืองมากนัก จนกระทั่งการสมรสของขงเบ้งกับนางเย่อิง หรือ อุ๋ยซี เกิดขึ้น จนเป็นที่วิจารย์กันภายหลังว่าขงเบ้งเลือกที่จะแต่งงานเพื่อยกฐานะตัวเอง
ทั้งบันทึกประวัติศาสตร์ เกร็ดตำนาน เรื่องเล่าต่างบรรยายลักษณะของนางเย่อิงเป็นเสียงเดียวกันว่า มีผิวสีคล้ำ ผมสีเหลืองนวล เชื่อว่ามารดาเป็นชาวเผ่าเกี๋ยงหรือตี้ จากนอกด่าน ส่วนบิดาคือ อุยสิง่าน หรือ อองเสงหงัน คหบดีผู้มีเชื่อเสียงในเกงจิ๋ว ลักษณะของนางเย่อิง จึงไม่เหมือนหญิงงามในรูปแบบของชาวฮั่นเลย บทสรุปจึงเป็นในแนวทางที่ว่า อัปลักษณ์
แต่สิ่งที่น่าสนใจและน่าจะเป็นสาเหตุหลักที่ขงเบ้งเลือกที่จะแต่งงานกับหญิงสาวที่ชาวเมืองมองว่าอัปลักษณ์นี้ก็คือ ความมีสติปัญญาที่ว่ากันว่ามีเหนือกว่าบุรุษทั่วไป มีความรู้แตกฉานในงานประดิษฐ์ วิชาคำนวณ การทำนายทายทัก
อุ๋ยซี แท้จริงแล้วไม่ใช่ชื่อตัว แต่แปลว่า แม่นางอุ๋ย เป็นการเรียกตามชื่อสกุล เพราะนางเป็นบุตรสาวของ อุยสิง่าน โดยทางประวัติศาสตร์ แท้จริงแล้วไม่ได้มีการบันทึกชื่อของภรรยาชงเบ้งไว้เลย ซึ่งเป็นเรื่องทั่วไปของการบันทึกประวัติศาสตร์ในสมัยนั้นที่ให้ความสำคุญกับตำแหน่งบุคคลมากกว่าปัจเจก โดยเฉพาะชื่อผู้หญิง ยากนักที่จะบันทึกไว้โดยละเอียด ชื่อเย่อิงจึงถูกแต่งขึ้นในภายหลังในบทละครงิ้วสามก๊ก
มีบันทึกประวัติศาสตร์ของเมืองซงหยงได้เล่าเรื่องนี้ไว้ว่า เมื่อขงเบ้งได้เข้าสนทนากับอองเสงหงัน และทั้งสองเข้ากันได้เป็นอย่างดี อองเสงหงันรู้ว่าขงเบ้งยังโสดและกำลังมองหาหญิงผู้มีสติปัญญาจึงเสนอนางเย่อิงบุตรสาวให้ พร้อมกับรับรองว่านางคู่ควรกับสติปัญญาของขงเบ้งอย่างแน่นอน ขงเบ้งเองก็ตกลงตามอองเสงหงันไปที่บ้าน เมื่อได้พบกับนางและสนทนากัน ขงเบ้งก็ตอบตกลงแต่งงานกับนางเย่อิง งานแต่งงานของทั้งสองเป็นที่สนใจของคนทั้งเมือง จนมีคำล้อเลียนที่ว่า อย่าได้หาภรรยาเยี่ยงจูกัดเหลียง
ยังมีตำนานพื้นบ้านเล่ากันอีกว่า ครั้งหนึ่งนางเย่อิงได้ทดสอบเหล่าชายที่จะมาขอนางเป็นภริยา โดยให้ชายเหล่านั้นนั่งรอในเวลากลางคืน นางค่อย ๆ เปิดม่านออก เมื่อแสงจันทร์สาดกระทบผมสีทองของนาง ชายเหล่านั้นเห็นผมนางเป็นเปลี่ยนเป็นสีแดงจึงวิ่งหนีออกไปหมด คิดว่านางเป็นปีศาจ เหลือเพียงขงเบ้งที่ยังนั่งอยู่ที่เดิม นางจึงยอมเป็นภรรยาขงเบ้งในทีสุด และยังคาดการณ์กันอีกว่าโคยนต์และหน้าไม้ที่ยิงได้ทีละสิบดอกของขงเบ้ง เป็นภูมิปัญญาที่ถูกคิดค้นและปรับใช้มาจากงานประดิษฐ์นางเย่อิงเอง
ในเรื่องรูปลักษณ์ของนางเย่อิง มีการวิเคราะห์ว่า แท้จริงแล้วนางไม่ได้มีรูปร่างที่อัปลักษณ์เลย เพียงแต่ลักณะนางเป็นเหมือนชนเผ่านอกด่าน ซึ่งถ้าหากพิจารณาจากข้อความที่ว่า ผิวกายเข้ม ผมสีเหลือง ก็อาจจะหมายถึงความงามแบบชาวอารยันทางตอนเหนือของอินเดีย หรือผมสีทองซึ่งก็คือผมสีเหลืองบลอนด์แบบชาวตะวันตกก็เป็นได้ ซึ่งลักษณะดังกล่าวไม่ตรงกับค่านิยมของชาวฮั่นในสมัยนั้น อีกทั้งบันทึกประวัติศาสตร์ที่ว่าลักษณะ รูปชั่ว ตัวดำ ผมแดง ก็น่าจะเป็นการถอดจากคำพูดของอองเสงหงันผู้พ่อเอง ที่ถ่อมตัวหรืออาจลองใจขงเบ้งก็เป็นได้
2
ในหนังสือสามก๊กฉบับภาษาไทยของเจ้าพระยาพระคลัง(หน) กล่าวถึงนางเย่อิงไว้ในตอนที่ 86 ตอนจูกัดเจี๋ยมบุตรขงเบ้งอาสารบเตงงาย ความว่า ”นางอุ๋ยซีนี้รูปชั่ว ตัวดำ หน้าออกฝี มีลักษณะวิปริต ทั้งกายจะหางามสักสิ่งหนึ่งก็มิได้ แต่ทว่ามีปัญญาพาทีหลักแหลม รู้วิชาการในแผ่นดินแลอากาศ ขงเบ้งเห็นดังนั้นจึงเลี้ยงเป็นภริยาได้บอกศิลปศาสตร์ทั้งปวงให้นางนั้นเป็นอันมาก ครั้งขงเบ้งถึงแก่ความตายก็เป็นหม้ายอยู่”
ความประทับใจหนึ่งที่ทำให้ผู้คนยกย่องขงเบ้งและนางเย่อิงก็คือ แม้สุดท้ายแผ่นดินจ๊กก๊กจะใกล้ถึงจุดจบ แต่จูกัดเจี๋ยมบุตรชายขงเบ้งและจูกัดสงผู้หลานก็ยืนหยัดต่อสู้จนตัวตายในสนามรบ และมีอีกบทความหนึ่งที่สามก๊กฉบับแปลไทยไม่ได้ถ่ายทอดเอาไว้คือตามหนังสือสามก๊กฉบับภาษาอังกฤษของบริวิท เทเลอร์ ได้เขียนต่อท้ายถ้อยคำของนางอุ๋ยซีที่มอบไว้ให้แก่จูกัดเจี๋ยมผู้บุตรว่า “be loyal and filial” - "จงซื่อสัตย์และกตัญญู" และกล่าวถึงสาเหตุของการแต่งงานกับนางเย่อิ่งว่า ขงเบ้งแต่งงานกับนางเพราะความดีในตัวนางเอง
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสหลักคำสอนอันเป็นมงคลทั้ง 38 ประการ ธรรมอันจะนำพาความเป็นมงคลและความเจริญเข้าสู่ชีวิต ในมงคลชีวิตข้อที่ 13 ว่าด้วยการสงเคราะห์ภรรยา แบ่งภรรยาออกเป็น 7 ประเภท ได้แก่
วธการภริยา เมียที่เสมอเพชรฆาต คือคิดประทุษร้ายสามีอยู่เนืองๆ มิได้ขาด
โจรีภริยา เมียเป็นโจรคอยลักข้าวของแห่งสามี รักสามีที่ทรพย์สิน
อัยยภริยา เมียข่มขู่ผัวให้อยุ่ในอำนาจดังนายกับบ่าว
มาตาภริยา เมียรักผัวดังมารดารักบุตรที่บังเกิดแก่อุทร เป็นภรรยาที่พึ่งพาได้เสมอ
ภคินีภริยา เมียดังน้องหญิง เป็นที่สมัครรักยิ่งดังพี่และน้องร่วมท้องมารดาเดียวกัน พูดจาอ่อนน้อมสอดคล้องสามี
ทาสีภริยา เมียดังทาสทาสี เป็นที่ยินดีเกรงกลัวผัวยิ่งนัก ทั้งกลัวท้ังรักเป็นที่เคารพ
สขีภริยา เมียราวกับว่าสหายเป็นเพื่อนเจ็บเพื่อนตายของสามี มิได้คิดหน่ายหนีตีจาก
แล้วการเลือกภรรยาที่ดีควรพิจารณ 4 ประการดังนี้
1.สมสัทธา คือมีสัทธาความเชื่อมั่นในศาสนาเสมอกัน
2.สมสีลา มีศีลเสมอกัน ความประพฤติ กริยามารยาทดีเสมอกัน
3.สมจาคา มีจาคะเสมอกัน เสียสละช่วยเหลือผู้อื่น ใจกว้างเสมอกัน
4.สมปัญญา มีสติปัญญา พูดจาเหตุผลเข้าใจกันดี
เมื่อเลือกภรรยาหรือสามีได้เช่นนี้ ย่อมนำมาซึ่งความเจริญและมงคลสู่ชีวิต พิจารณากันเองเถิด
อ้างอิง
-การสงเคระห์ภริยามงคงชีวิตตามแนวพุทธ : ศักดิพงษ์ โสภาจร ,ถาวร วรบุตร , วาริณี โสภาจร วารสารวิชาการแสงอีสาน มหาวิทยาลัยมหามกุฎราชวิทยาลัย วิทยาเขตอีสาน
-เรื่องจริงหรือแต่งเสริม ในจดหมายเหตุสามก๊ก ฉบับเฉินโซ่ว โดย ยศไกร ส.ตันสกุล
-สามก๊กฉบับภาษาอังกฤษของบริวิท เทเลอร์
-สามก๊กฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
โฆษณา