2 มี.ค. 2022 เวลา 10:00 • ประวัติศาสตร์
เรื่องที่ขงเบ้งทำจริง หน้าประวัติศาสตร์
ขงเบ้งเป็นที่รับรู้ของนักอ่านสามก๊กในนามของปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ กุนซือ นักการทหารที่มีเรื่องราวน่าประทับใจ จวบจนปัจจุบัน ทั้งคุณสมบัติและคุณงามความดี ขงเบ้งยังเป็นที่กราบไหว้กล่าวขานอยู่เช่นเดิม วันนี้เรามาเรียนรู้สิ่งที่ประวัติศาสตร์บันทึกเกี่ยวกับขงเบ้งไว้ เหมือนหรือแตกต่างจากที่เราท่านได้รับรู้จากหลอก้วนจงอย่างไรบ้าง
และเช่นเคยครับ การเรียนรู้จากบันทึกทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีอยู่ มิได้ไปหักล้างความเชื่อเดิม หรือรู้ไว้เพื่อถกเถียงอวดรู้ในวงสนทนา หรือนำเอาไปถกเถียงคนละเรื่องเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งยกวรรณกรรมมาพูด อีกฝ่ายเอาประวัติศาสตร์มาอ้าง เรื่องราวจึงไม่มีวันจบสิ้น ผู้ที่มีปัญญาแล้ว จะได้แต่นั่งหัวเราะและเลี่ยงวงสนทนาเช่นนี้ออกไป
1.เล่าปี่เชิญขงเบ้งถึงประท่อมสามครา
ความตามนิยายกล่าวไว้ว่าเล่าปี่ทำความเพียรเดินทางมาเชิญขงเบ้งที่เขาโงลังกั๋งถึงสามครั้งสามครากว่าจะได้พบขงเบ้งและก็เป็นจุดเริ่มต้นแห่งการร่วมมือสร้างรากฐานเพื่อกอบกู้ราชวงศ์ฮั่นในเวลาต่อมา ซึ่งก็ตรงกับจดหมายเหตุสามก๊ก บทประวัติขงเบ้งที่บันทึกไว้ว่า "ไปเยือนสามครั้ง จึงได้พบ" และก็มีการเล่ารายละเอียด มุมมองการแบ่งแผ่นดินออกเป็นสามก๊กของขงเบ้งที่แสดงให้แก่เล่าปี่ ยังมีการกล่าวถึงเรื่องนี้อีกครั้งในฎีกาที่ขงเบ้งถวายพระเจ้าเล่าเสี้ยนบุตรเล่าปี่ เมื่อครั้งที่ขอนำทัพขึ้นเหนือว่า
"ฮ่องเต้พระองค์ก่อน มิได้รังเกียจว่าข้าเป็นคนต่ำต้อย ทรงยอมลดพระเกียรติมาพบกระหม่อมที่กระท่อมถึงสามคราเพื่อขอคำปรึกษาแผนยุทธศาสตร์เพื่อบ้านเมือง ข้าพเจ้ารู้สึกปลาบปลื้มยิ่งนัก จึงตัดสินใจถวายตัวรับใช้ " แต่แน่นอนว่ามิได้ปลาบปลื้มใจเฉพาะขงเบ้งเท่านั้น ผู้รับรู้เรื่องราวนี้ต่างก็ปลาบปลื้มใจเช่นกัน เรื่องราวนี้เป็นตัวอย่างให้แก่ผู้นำที่จะแสวงหาผู้มีความสามารถต้องแสดงความจริงใจให้ผู้นั้นได้เห็นจริง ไม่ว่าจะจริงใจจริง ๆ หรือไม่ก็ตาม
2.ศึกทุ่งพกบ๋อง เผาทัพแฮหัวตุ้นโชว์กวนอู เตียวหุย
ในขณะที่ขงเบ้งมารับใช้เล่าปี่นั้น กวนอู เตียวหุย และบรรดาขุนนางของเล่าปี่ยังไม่ได้ให้ความนับถือขงเบ้งเลย ขงเบ้งได้บรรชากองทัพทั้งหมดและใช้กลล่อให้ทัพแฮหัวตุ้นเข้าไปติดกับถูกไฟครอก จนต้องพ่ายทัพกลับไป แต่ตามจดหมายเหตุสามก๊ก ขงเบ้งไม่ได้มีส่วนร่วมในศึกนี้เลย แต่เป็นเล่าปี่เองที่แสร้งถอยทัพแล้วเผาค่าย แฮหัวตุ้นตามมา ถูกทัพเล่าปี่ที่ซุ่มไว้โอบเข้าโจมตี จนต้องพ่ายกลับไป เป็นเรื่องที่น่าตกใจเช่นกันที่ว่า เล่าปี่ที่พ่ายศึกโจโฉมาโดยตลอด สามารถเอาชนะได้ด้วยตนเอง แต่ถูกหลอก้วนจึงชิงผลงานไปให้ขงเบ้งเสียอย่างนั้น
3.ขงเบ้งปะทะคารมกับขุนนางกังตั๋งอย่างกล้าหาญ
หลังจากที่ขงเบ้งเข้าทำงานกับเล่าปี่ได้ไม่นานก็ต้องพาชาวบ้านและเล่าปี่หนีตายจากกองทัพโจโฉ ขงเบ้งเสนอว่าจะเดินทางไปยังกังตั๋งพร้อมกับโลซกเพื่อร่วมมือกันต้านโจโฉ ในขณะนั้นด้วยสถาณการณ์ของเล่าปี่และขงเบ้งเอง ก็เป็นที่ดูแคลนของขุนนางกังตั๋งอยู่มาก เหล่าขุนนางกังตั๋งจึงนั่งรอขงเบ้งพร้อมโจมตีด้วยวาทะให้ขงเบ้งจำนน แล้วเลิกล้มความคิดที่จะโน้มน้ามให้กังตั๋งต้องต่อสู้กับโจโฉในเวลานั้น บทโต้คารมระหว่างขงเบ้งกับขุนนางกังตั๋งเป็นบทสนทนาที่ถึงพริกถึงขิงทั้งคำกล่าวหาและการตอบโต้ จนผู้อ่านเกิดความสงสัยและเป็นห่วงในสวัสดิภาพของขงเบ้ง เพราะขณะนั้นเล่าปี่และขงเบ้งไม่มีต้นทุนใดเลยที่จะไปต่อรองมากนัก
แล้วควรหรือที่จะไปด้วยท่าทางที่แข็งกร้าวเช่นนั้น แต่ในทางประวัติศาสตร์มิได้มีบันทึกเหตุการณ์โต้คารมกับเหล่าขุนนางกังตั๋งไว้เลย มีเพียงการเข้าพบเพื่อเจรจากับซุนกวนและเตียวเจียวยังได้เชิญชวนให้ขงเบ้งมาทำงานด้วย แต่ขงเบ้งตอบปฏิเสธกลับไปด้วยความสุภาพ อย่างไรก็ตาม ไม่บันทึกมิได้หมายถึงไม่ได้เกิดขึ้นจริง
4.ขงเบ้งทำอะไรบ้างในมหาศึกผาแดง
ในเรื่องของรายละเอียดการร่วมสงครามและเหตุการณ์สำคัญต่าง ๆ โดยเฉพาะเรื่องใช้เรือยืมเกาฑันฑ์ และการเรียกลมบูรพาขงเบ้งไม่ได้ทำ วณิพกได้เล่าไว้แล้วในคลิปด้านบน ส่วนของผลงานขงเบ้งที่ถูกวันทึกไว้เป็นเรื่องของผลงานทางการฑูตที่โน้มน้าวซุนกวน ชี้จุดดีจุดด้อยจนซุนกวนตัดสินใจสู้กับโจโฉได้ แล้วหลังจากนั้นก็เป็นการทำศึกของกังตั๋งกับโจโฉ โดยที่ขงเบ้งรอเวลาที่จะดำเนินการต่อไป ในการยึดบางส่วนของเกงจิ๋วได้อย่างชาญฉลาด นี่ก็เป็นส่วนที่น่ายกย่องในการฉกชิงโอกาสไม่แพ้กับการทำกลอุบายต่างๆ ที่ถูกเขียนในวรรณกรรมเช่นกัน
5.ขงเบ้งทำจิวยี่กระอักเลือดตาย
"ฟ้าให้ข้าเกิดมาแล้ว ไยต้องให้ขงเบ้งเกิดด้วยเล่า" เป็นประโยคที่เปล่งออกมาด้วยความอัดอั้นตันใจของจิวยี่หลังจากถูกขงเบ้งซ้อนกลแล้วกระอักเลือดตาย เป็นประโยคที่ผู้อ่านวรรณกรรมสามก๊กรู้จากและคุ้นเคยกันดี เน้นย้ำให้ผู้อ่านรับรู้ว่าจิวยี่ผู้นี้เป็นคนเจ้าคิดเจ้าแค้นจนกระทั่งตัวตาย แต่ในจดหมายเหตุสามก๊ก บทประวัติจิวยี่ระบุไว้ว่า ช่วงปี ค.ศ.211 จิวยี่ทราบข่าวว่าเล่าเจี้้ยงเจ้าเมืองเอ็กจิ๋ว ในเสฉวน กำลังจะทำศึกกับเตียวฬ่อแห่งฮั่นจง
จิวยี่จึงเสนอแผนบุกเสฉวนและปราบภาคเหนือต่อซุนกวน โดยเสนอว่า ขั้นแรกจะร่วมกับแม่ทัพซุนอู่ตีเสฉวน ต่อด้วยฮั่นจง แล้วร่วมมือกับม้าเฉียวแห่งเสเหลียงตีโจโฉจากภาคเหนือขนาบด้วยทัพทางตะวันตก ขั้นต่อไปจิวยี่จะย้อนกลับมาปักหลักที่เกงจิ๋วร่วมทัพใหญ่กับซุนกวนเพื่อบุกตีเซียงหยางเพื่อใช้เซียงหยางเป็นที่มั่นตีขนาบโจโฉขึ้นไป เมื่อซุนกวนเห็นชอบด้วย จิวยี่จึงเดินทางไปยังเกงจิ๋วเพื่อเตรียมความพร้อม เมื่อถึงปาคิว แผลเดิมจิวยี่กำเริบ จิวยี่ป่วยแล้วสิ้นชีพในอายุเพียง 36 ปีเท่านั้น
นอกจากนี้ส่วนของบันทึกทิ้งท้ายของเฉินโซ่วยังระบุลักษณะนิสัยของจิ่วยี่ว่า เปี่ยมล้นด้วยสติปัญญา มีความสามารถ จิตใจกว้างขวาง เก่งกาจในการพูดเจรจาและยังมีความสามารถทางดนตรีสูง เป็นที่รักนับถือของผู้คน พร้อมเปรียบเปรยความสามารถทางดนตรีของจิวยี่ว่า สามารถฟังเสียงดนตรีและจับจุดผิดพลาดได้ทันที
ในประวัติโลซกบันทึกว่า ก่อนสิ้นใจ จิวยี่ได้ส่งสารถึงซุนกวนให้แต่งโลซกขึ้นสืบทอดตำแหน่ง
เผยซงจือ แทรกเชิงอรรถอธิบายเสริมว่า นางง่อฮูหยินภรรยาซุนเกี๋ยนได้กล่าวไว้ว่า จิวยี่ประดุจลูกชายในไส้ของเราคนหนึ่ง ทั้งเทียเภาแม่ทัพเฒ่าเองก็กล่าวยกย่องและอ่อนน้อมต่อจิวยี่ในภายหลัง จึงน่าเสียดายที่วรรณกรรมสามก๊กได้ใช้บุคลิกตรงกันข้ามกับความจริงของจิวยี่เพื่อขับความโดดเด่นของขงเบ้ง แต่ถึงกระนั้น ทางประวัติศาสตร์ จิวยี่ก็เป็นแม่ทัพที่น่ายกย่องอีกคนหนึ่งเช่นกัน
6.ขงเบ้งเป็นกุนซือที่เล่าปี่ใกล้ชิดและไว้วางใจที่สุด
เมื่อเล่าปี่ได้ขงเบ้งมาใช้งานครั้งแรกนั้น ได้มีการบรรยายว่า "ราวปลากับน้ำ" แต่ต่อมาในช่วงที่เล่าปี่เข้ายึดเสฉวนโดยปล่อยให้ขงเบ้ง กวนอู เตียวหุย จูล่งเฝ้าเกงจิ๋ว ผู้ที่อยู่ข้างกายเล่าปี่คือบังทองและหวดเจ้ง ช่วงเวลา 3- 4 ปีนั้น บังทองและหวดเจ้งอยู่ข้างกายเล่าปี่ตลอด ภายหลังที่เสียบังทองไปแล้วบุคคลสำคัญที่อยู่ข้างกายเล่าปี่ก็คือหวดเจ้ง ทำให้หวดเจ้งเป็นผู้ที่ใกล้ชิดเล่าปี่มาโดยตลอด ทั้งทางประวัติศาสตร์และทางนิยายได้บันทึกไว้ว่าหวดเจ้งเป็นกุนซือสำคัญที่ช่วยเล่าปี่ยึดเสฉวน ช่วยฮองตงทำศึกปราบเเฮหัวเอี๋ยน ยึดฮั่นจง
จนกระทั่งหลังจากที่หวดเจ้งได้รับตำแหน่งเสนาธิการชั้นนายพลแล้ว หวดเจ้งใช้อำนาจแก้แค้นศรัตรูทางการเมือง มีคนมาแจ้งความต่อขงเบ้งที่ได้ชื่อว่าใช้หลักคุณธรรมและใช้กฏหมายอย่างเคร่างครัด แต่ขงเบ้งกลับพูดกลับไปว่า "เล่าปี่นายเราลำบากมาตลอดชีวิต หวดเจ้งเป็นผู้ที่ช่วยให้นายเราสยายปีกได้ถึงเพียงนี้ จะไปห้ามปรามหวดเจ้งได้อย่างไร" จึงเป็นที่วิจารณ์กันว่า ขงเบ้งผู้ที่เคร่งครัดจะยืดหยุ่นได้เพียงนี้จริงหรือ
นอกจากนี้ในครั้งที่เล่าปี่พ่ายแก่ลกซุนย่อยยับที่อิเหลง ขงเบ้งถึงกับลำพึงว่า "หากหวดเจ้งยังมีชีวิตอยู่ ก็อาจจะทัดทานไม่ให้เล่าปี่ออกศึกได้" ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่า แม้ขงเบ้งเองก็ยอมรับถึงความสัมพันธ์ของเล่าปี่กับหวดเจ้งผู้ที่ช่วยยึดเสฉวนและฮั่นจง ยุทธศาสตร์สำคัญไว้ได้
7.ลกซุนถอยทัพเพราะค่ายกลขงเบ้ง
ในนิยายสามก๊กว่า หลังจากที่เล่าปี่พ่ายแก่ลกซุนที่อิเหลง ได้หนีกลับมาทางเมืองเป๊กเต้ ลกซุนยกทัพติดตามมาแต่หลงอยู่ในค่ายกลที่ขงเบ้งวางเอาไว้เพราะคาดการไว้ก่อนแล้ว แต่รอดออกมาได้เพราะพ่อตาของขงเบ้งมาบอกทางออกให้ ลกซุนจึงต้องถอยทัพกลับกังตั๋งในที่สุด แต่ในทางประวัติศาสตร์กลับไม่มีบันทึกไว้ มีเพียงบันทึกว่า ลกซุนต้องถอยทัพกลับไปเพราะเกรงว่าโจผีจะยกทัพเเสร้งมาช่วยกังตั๋งตีเล่าปี่แล้วตลบหักหลังตีกังตั๋งแทน และก็เป็นเช่นนั้นจริง ๆ เพราะหลังจากนั้นอีกไม่นาน โจผีก็ให้ทัพใหญ่ตีกังตั๋งทั้งสามทิศทาง
8.ก่อนตายเล่าปี่อนุญาตให้ขงเบ้งขึ้นเป็นอ๋องแทนเล่าเสี้ยนหากเล่าเสี้ยนไร้ความสามารถ
ข้อความสั่งเสียของเล่าปี่ก่อนตายที่ว่า ให้จูล่งรักษาครอบครัวของเล่าปี่ ให้ลิเงียมและขงเบ้งช่วยกันดูแลบ้านเมืองต่อไป และสุดท้ายหันกลับมาสั่งแก่ขงเบ้งว่า ให้ช่วยเล่าเสี้ยนดูเลบ้านเมืองและถ้าหากเล่าเสี้ยนไร้ความสามารถก็ให้ขึ้นแทนที่เล่าเสี้ยนเสีย ประโยคนี้ถึงกลับทำให้ขงเบ้งร้องไห้ออกมา พร้อมสาบานว่าจะจงรักภักดีต่อเล่าเสี้ยนตราบชั่วลมหายใจสุดท้าย
เหตุการณ์ดังกล่าวได้ถูกบันทึกไว้จริงในทางประวัติศาสตร์ แต่ก็เป็นที่วิเคราะห์ในภายหลังว่า เล่าปี่อาจจะไม่ได้ประสงค์เช่นนั้นจริง แต่การพูดเช่นนั้นเป็นเล่เหลี่ยมทางการเมืองอย่างมีเขี้ยวเล็บ เพราะสถานะของขงเบ้งตอนนั้นไม่ต่างอะไรกับโจโฉกับพระเจ้าเหี้ยนเต้ อาจจะยึดบัลลังค์เมื่้อใดก็ได้ การสั่งเสียที่เปี่ยมไปด้วยเล่เหลี่ยมครั้งนี้มีหรือขงเบ้งจะรู้ไม่ทัน จึงร้องไห้ออกมาพร้อมสาบานตนต่อหน้าทุกคน และการที่เล่าปี่ให้ลิเงียมบริหารบ้านเมืองคู่กับขงเบ้งก็เป็นการคานอำนาจขงเบ้งอีกทางหนึ่ง เล่าปี่ผู้ซึ่งฉลาดในการช่วงใช้คนได้วางหมากจนกระทั่งลมหายใจสุดท้าย
9.จับเบ้งเฮ้ก 7 ครั้ง ปล่อย 7 ครั้ง
หลังจากที่สิ้นเล่าปี่แล้ว ข่าวจากชายแดนใต้ขึ้นมาว่า หัวเมืองหนานจงเกิดขบถลุกฮือขึ้น นำโดยเบ้งเฮ้ก จ้าวเเห่งชนเผ่าหมาน ไม่นานหลังจากนั้น ขงเบ้งก็นำทัพด้วยตนเอง จับเบ้งเฮก 7 ครั้ง ปล่อย 7 ครั้งเพื่อเอาชนะใจชาวใต้ให้ได้ แต่ในทางประวัติศาสตร์บันทึกเพียงว่า ขงเบ้งปราบขบถได้ในช่วงใบไม้ร่วงถัดมา โดยไม่เสียกำลังพลมากนัก และได้กำลังพลมาเสริมทัพเพื่อบุกขึ้นเหนืออีกมาก แต่ก็เป็นไปได้ว่าจดหมายเหตุสามก๊กฉบับเฉินโซ่วไม่เชื่อเรื่องนี้จึงไม่ได้บันทึกไว้ ในขณะที่หนังสือประวัติศาสตร์จือจื่อจงเทียนที่ประพันธ์โดยซือหม่ากวง ได้วิเคราะห์ว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจริง จึงเป็นไปได้ว่า หลอก้วนจงผู้ประพันธ์นิยายสามก๊กเอาเค้าโครงจากจือจื้อทงเทียนนี่เองมาขยายความให้เราท่านได้อ่านกัน
10.อุบายเมืองร้างอันเลื่องชื่อ
ในการยกทัพขึ้นเหนือครั้งแรกของขงเบ้ง และเสียท่าให้กับสุมาอี้ที่เกเต๋ง ขงเบ้งต้องถอยทัพ แต่ด้วยกำลังทหารในขณะนั้นไม่อาจจะหนีสุมาอี้ได้ ขงเบ้งจึงใช้อุบายเมืองร้าง โดยขึ้นไปเล่นกู้เจิ้งบนกำแพง ให้เด็กน้อยยืนขนาบสองข้าง แล้วเปิดประตูเมืองไว้ ให้ชาวเมืองกวาดทางเดินปกติอยู่
เมื่อสุมาอี้เห็นเช่นนั้นก็ไม่กล้าบุกเข้าไป ทำให้ถอยทัพกลับไป แล้วถูกกองทัพน้อยของขงเบ้งแสร้งโห่ร้องเสริมกลซุ่มอยู่ ไล่กองทัพสุมาอี้วิ่งหนีกลับไปอย่างหมดท่า
แต่ในทางประวัติศาสตร์ไม่มีบันทึกไว้เลย มีเพียงสามคนเท่านั้นที่เคยทำกลเมืองร้างคือ จูล่งเเห่งจ๊กก๊ก บุนเพ่งแห่งวุยก๊ก และจูเหียนแห่งง่อก๊ก ทั้งบทประวัติขงเบ้งและสุมาอี้ก็ระบุว่า ศึกนั้นคนที่เผชิญหน้ากับขงเบ้งไม่ใช้สุมาอี้ แต่เป็นเตียวคับ เพราะขณะนั้นสุมาอี้ได้เดินทางไปปราบขบถเบ้งตัดที่เมืองอ้วนเสีย ซึ่งเป็นเเผนการของขงเบ้งให้เบ้งตัดก่อความวุ่นวายขึ้น แล้วให้ม้าเจ๊กรับศึกเตียวคับที่เกเต๋ง แต่ม้าเจ๊กขัดคำสั่งทำให้เสียเกเต๋ง ขงเบ้งจึงจำต้องถอยกลับเข้าฮั่นจงและประหารม้าเจ๊กพร้อมลดยศตนเองสามขั้น แต่มีหน้าที่ตามเดิม เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
11.ด่าอองลองจนตกม้าตาย
ตามนิยาย ขงเบ้งยกทัพบุกภาคเหนือ อองลองอาสาติดตามทัพวุยก๊กมาด้วย เพื่อเกลี้ยกล่อมขงเบ้งให้ยอมถอยทัพ แต่กลับถูกขงเบ้งด่ากลับว่าเป็นโจรเฒ่าเข้าข้างคนผิดคิดทรยศบ้านเมือง จนอองลองแค้นใจตกม้าตาย แต่ในเรื่องจริงแล้ว อองลองใช้การส่งจดหมายกล่อมให้ขงเบ้งถอยทัพ แต่ขงเบ้งไม่แม้แต่จะอ่านจดหมาย และอองลองเองก็ป่วยตายเมื่อปี ค.ศ.228
12.ขงเบ้งทำพิธีต่อชะตา เทวดาขงเบ้งพบจงโฮย
ในวรรณกรรมสามก๊กว่า ขงเบ้งทำพิธีต่ออายุตนเองแต่อุยเอี๋ยนพลาดเข้าไปทำให้พิธีล้มเหลว ต่อมาขงเบ้งจนสิ้นอายุไข แต่ในหน้าประวัติศาสตร์ไม่มีบันทึกเช่นนี้ไว้เลย มีเพียงว่า ขงเบ้งป่วยและเสียชีวิตในวัน 54 ปีเท่านั้น รวมถึงเรื่องราวที่แม่ทัพจงโฮยยกทัพบุกเสนฉวนและเห็นเทวดาขงเบ้งมาหาพร้อมทั้งฝากว่าอย่าทำร้ายชาวเมือง ในหน้าประวัติศาสตร์บันทึกเพียงว่า จงโฮยได้เข้าไหว้สุสานขงเบ้งที่เขาเตงกุนสันเพียงเท่านั้น
ที่มา
-หนังสือสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)
-เรื่องจริงหรือเรื่องแต่งในจดหมายเหตุสามก๊ก ฉบับเฉินโซ่ว โดย ยศไกร ส.ตันสกุล
โฆษณา