2 มี.ค. 2022 เวลา 14:40 • ท่องเที่ยว
เหตุเกิดเพราะความบ้ารถไฟ
กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ ผมได้รับมอบหมายให้ไปทำงานบางอย่างที่เชียงใหม่ เป็นงานระยะสั้นประมาณ 4-5 เดือน (แล้วแต่ว่าเราจะทำให้เสร็จเมื่อไหร่)
ด้วยความที่ไม่ได้มีบ้านอยู่ที่นั่น ก็แอบคิดอยู่หลายตลบว่าจะเอาอย่างไร ด้วยความที่ยังอยากอยู่ใกล้ ๆ คุณแม่ที่อายุมากขึ้นเรื่อย ๆ สุดท้ายแล้วจึงตัดสินใจที่จะ "ไป-กลับ" เชียงใหม่-กรุงเทพ ครับ (ฟังไม่ผิดครับ ไป-กลับ กรุงเทพ-เชียงใหม่)​
เพื่อเป็นการประหยัด จึงเลือกเดินทางด้วยรถไฟชั้นสาม (ฟังไม่ผิดครับ รถไฟชั้นสาม ที่เบาะแข็ง ๆ เอนไม่ได้ ไม่มีแอร์) ​แค่สองร้อยกว่าบาทเท่านั้นก็เดินทางไปถึงภาคเหนือตอนบนของเมืองไทยได้ -- แต่ระยะเวลานี่สิ ราว ๆ 17 - 18 ชม. แต่ก็นั่งจนชิน
เที่ยวที่เดินทางไป คือ เที่ยว 4 ทุ่ม ไปขึ้นรถหลังจากทำงานประจำเสร็จแล้ว ไปถึง เชียงใหม่ ราว ๆ เที่ยง แล้วก็ไปทำงานเลย ก่อนที่จะกลับมาที่สถานีรถไฟ มาขึ้นเที่ยวกลับ คือ เที่ยว บ่าย 4
ฟังไม่ผิดครับ เดินทาง 17 - 18 ชม. เพื่อไปทำงาน 3 ชั่วโมง แล้วก็กลับเลย โดยชากลับก็อีก 17 - 18 ชม. กว่าจะถึงกรุงเทพ
แต่แผนก็มี "Flexible" หรือยืดหยุ่น บ้าง คือ ถ้าเจอคนที่คุยถูกคอ ส่วนใหญ่จะเจอกันที่ กาด (ภาษาเหนือ แปลว่า ตลาด) ต่าง ๆ ของเมืองก็จะชวนกันกินข้าว แล้ว กลับวันรุ่งขึ้นแทน โดยที่พักก็จะเป็น โอสเตล หรือ ห้องเช่า เล็ก ๆ นอนเตียงสองชั้น คืนละ 150 บาท (ขอมีที่ให้นอนที่ปลอดภัย และอาบน้ำก็พอแล้ว)
ช่วงนั้นน่าจะนั่ง ไป-กลับ มากกว่า 30 เที่ยว (ที่ประมาณได้ เพราะมีตั๋วที่เก็บเป็นที่ระลึกอยู่มัดทีเดียว) มีหลายครั้งที่ ลงที่สถานีอื่น เช่น ลำปาง หรือ นครสวรรค์แทน เพื่อ ดูเมือง เที่ยวบ้าง ทำให้ได้เห็นอะไร ๆ เยอะแยะมากมาย
บนรถไฟนั้น มีประสบการณ์อย่างไร แล้วคิดอะไรได้บ้าง อยากจะมาแชร์ ครับ
1) Alone Time Is Good: "มีเวลาอยู่คนเดียวดีเหมือนกัน" ทำให้ได้คิด ได้อ่าน ได้ทำงาน หลาย ๆ
โดยเฉพาะพื้นที่ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ ทำให้ไม่สามารถใช้อินเตอร์เน็ตได้ ต้องเอาหนังสือที่เป็นเล่ม ๆ หรือ หนังสือเสียง (Audiobook) ที่โหลด ๆ มาแต่ดองไว้ ไม่ได้ฟังสักที มาปัดฝุ่นอ่านและฟัง ตลอด 17 - 18 ชม. คูณ 30 เที่ยว ในปีนั้น จำได้ว่า หนังสือดี ๆ ผ่านตา ผ่านหู ไปกว่า ร้อยเล่ม เหมือนได้เรียนปริญญาใหม่อีกใบบนรถไฟ
2) Travel is Lightweight: "เดินทางแบบตัวเบา" กระเป๋าที่หนักนั้นทำให้เราเดินทางไม่คล่อง การที่จะค่ำไหน นอนนั่นได้นั้น ต้องมีของน้อย อีกอย่างของเยอะก็ทำให้กลัวของหายอีก ดังนั้นต้องลดของให้เหลือน้อยที่สุด สุดท้ายที่จำเป็นจริง ๆ และไม่มีของมีค่าเลย เมื่อได้ลองทำเช่นนี้แล้ว ทำให้ได้เรียนรู้ว่า ในชีวิตของเราจริง ๆ นั้น มีของไม่กี่อย่างเท่านั้นเอง ที่จำเป็นต้องมา อาทิ กระบอกน้ำ เสื้อกันหนาว แปรงสีฟัน รองเท้าที่ใส่สบายและทน อย่างอื่นไม่มีก็ได้
3) Serendipity is Life: "การปล่อยให้โชคชะตานำพาชีวิตบ้าง" การเดินทางแบบค่ำไหนนอนนั่น ทำให้ได้รู้จักคนใหม่ ๆ เยอะมาก
รถไฟชั้นามนั้น เวลาอยู่บนรถเยอะ เลือกที่นั่งไม่ได้ ทุก ๆ สถานี มีคนขึ้นคนลง บางคนก็ไปด้วยกัน มาด้วยกัน ตั้งแต่ต้นจนจบ บางคนก็เจอกันแค่แว้บเดียว บางคนดูเผิน ๆ ไม่เป็นมิตรแต่จริง ๆ เป็นมิตรมาก แบบว่าเอาอาหารท้องถิ่นที่พกมาด้วยมาแบ่งให้ทาน บางคนดูเป็นมิตรแต่พอได้โอกาสก็จะเริ่มบ่นเรื่องโน่นนี่หรือบางทีก็ขอเงิน (แต่ในบางสถานการณ์ก็เห็นใจ ช่วย ๆ กัน)
หลายคนที่รู้จักกันบนรถไฟ ปัจจุบันยังคุยกันอยู่ (เพราะแลกไลน์กัน) บางคนก็เคยไปเยี่ยมบ้านด้วย คนที่นั่งรถไฟชั้นสามมักจะเห็นอกเห็นใจกัน ไม่รู้ว่าจะได้เจอกันอีกไหม ไม่รู้ว่าใครจะขึ้นจะลงเมื่อไหร่ ไม่รู้ว่าเวลาผ่านไปนานแค่ไหน ทำให้เข้าใจว่า ชีวิตก็ไม่ต่างกัน คนที่หมุนเวียนเข้ามาในชีวิตก็เป็นเช่นนั้น เห็นอกเห็นใจกันและให้คุณค่าแก่กันและกันในฐานะเพื่อนมนุษย์ ทำให้เราเดินทางมีความสนุก และไม่ได้เป็นแค่เรื่องน่าเบื่อหน่าย (ขนาดการรถไฟห้ามดื่มแอลกอฮอล์ บนรถไฟแล้วนะนี่ย ถ้ามีเบียร์ด้วยจะสนุกขนาดไหน)
4) Morning is Bliss: "ตอนเช้าคือเวลาที่มีความสุขที่สุด" เที่ยวกรุงเทพ-เชี่ยงใหม่ (เรียกภาษารถไฟว่า เที่ยวขึ้น) ตอนเช้า รถจะจอดที่สถานีแม่เมาะ ประมาณครึ่ง ชม. เพื่อรอรถไฟอีกคัน ​(เที่ยวล่อง) สวนมา ก็จะเป็นช่วงที่ได้ลงมายืดตัว เยียดตัว หลังจากหลาย ชม. บนรถไฟ ที่ได้นอนบ้างไม่ได้นอนบ้าง
อากาศเย็นสบาย ๆ แม่ค้า พี่ ๆ น้อง ๆ เอาอาหารเช้ามาขาย แต่ก่อนที่เคยกินแต่กาแฟสด กาแฟอเมซอน เพรามองว่ากาแฟสำเร็จรูปมันไม่น่าจะอร่อย ก็มาลองกาแฟสำเร็จรูป ที่พี่ ๆ ในแม่เมาะเอามาขายบ้าง -- มันก็อร่อยนะ -- กินกับไก่ย่าง ข้าวเหนียว
ระหว่างรอ นั่งคุยกับนายสถานี ที่ชอบอธิบายเรื่องรถไฟ ทำให้เวลาผ่านไปอย่างรวดเร็ว ตอนเช้าที่สดใสทำให้รู้สึกถึงความเยาว์วัยของจิต ซึ่งหลายปีที่ผ่านมาได้ถูกค่อย ๆ ทำให้หายไปด้วยความเป็นผู้ใหญ่ การได้มองเห็นสังคม ชุมชน เล็ก ๆ ได้รู้จัก และ รู้สึก ถึงความเป็นพี่น้อง ณ ที่ห่างไกลที่ถ้าไม่ได้เดินทางอย่างนี้คงไม่ได้มาถึง ทำให้มาย้อนดูตัวเองอยู่หลาย ๆ ครั้งว่า "ความสุขอยู่แค่นี้เอง ทำให้ถึงไปไขว่คว้าในที่ไกล ๆ จนบางครั้งถึงกับทำร้ายตัวเอง และคนอื่น"
จงหา “เหตุ” ของการมีชีวิตอยู่ที่อยู่เหนือกว่าแค่การมีชีวิตอยู่แค่เพื่อตัวเอง แล้วทุ่มทั้งกายทั้งใจให้กับสิ่งนั้น: นั่นคือสิ่งที่ผมเรียกว่า “ความหมายของชีวิต”
โฆษณา