4 มี.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Twenty five, Twenty one : วิกฤตเศรษฐกิจ IMF...ยุคสมัยที่พรากความฝันวัยรุ่นยุค 90
สิ่งที่พรากความฝันฉันไป คือยุคสมัย…ยุคสมัยมีสิทธิ์อะไรมาพรากฝันฉันไป?
1
ยุคสมัยน่ะ พรากความฝันไปจากเธอได้ง่ายๆ เลย ไม่ใช่แค่ความฝัน แต่มันพรากเงินทองไปได้ด้วย และพรากครอบครัวไปได้เหมือนกัน หรือมันอาจพรากทั้งสามอย่างนั้นไปพร้อมกันก็ได้
แพคอีจิน
2
ประโยคข้างต้นบ่งบอกความเจ็บปวดของวัยรุ่นในยุคนั้นได้เป็นอย่างดี ในช่วงปี 1997 - 1998 ที่เกิดวิกฤตการเงินจนหลายประเทศต้องหันไปกู้ยืมเงินจากกองทุน IMF ซึ่งเกาหลีใต้เองก็เป็นหนึ่งในประเทศเหล่านั้น
วัยรุ่นหลายคนถูกพรากความฝัน และความหวังไปในชั่วข้ามคืน ซีรีส์เรื่อง Twenty Five, Twenty One ได้ฉายภาพช่วงเวลาเหล่านั้นผ่านตัวละครหลัก นาฮีโด (แสดงโดย คิมแทรี) เด็กสาวที่ถูกวิกฤต IMF พรากความฝันไป และ แพคอีจิน (แสดงโดย นัมจูฮยอก) ชายหนุ่มที่บ้านล้มละลายท่ามกลางวิกฤต IMF
ในบทความนี้ Bnomics จะมาเล่าว่าเกิดอะไรขึ้นกับเกาหลีใต้บ้างในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ IMF เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน
📌 ทำไมเกาหลีใต้ถึงเผชิญกับวิกฤตเศรษฐกิจ?
ในปี 1990 ดุลบัญชีเดินสะพัดของเกาหลีใต้เริ่มแย่ เนื่องจากเกิดเงินเฟ้อสูง และสกุลเงินวอนแข็งค่า ประกอบกับเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย
ช่วงปี 1991 ดุลบัญชีเดินสะพัดขาดดุลถึง 8.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งมากกว่าปีก่อนหน้าถึง 4 เท่า
ดังนั้นเพื่อที่จะกอบกู้ดุลบัญชีเดินสะพัดให้ดีขึ้น รัฐบาลจึงพยายามกระตุ้นให้เงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาในเกาหลีใต้ โดยแก้พระราชบัญญัติการจัดการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศ เพื่อเปิดเสรีทางการเงิน
การบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนที่ผิดพลาดนี้ เป็นข้อผิดพลาดหลักของรัฐบาลที่ทำให้เกิดหนี้เสีย เพราะรัฐบาลพยายามเอาค่าเงินวอนไปผูกไว้กับสกุลเงินดอลลาร์ ทีนี้เมื่อเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นก็แปลว่าเงินวอนต้องแข็งค่าตาม
ในช่วงปี 1997 ตลาดการเงินเริ่มมองเห็นว่าค่าเงินวอนมีมูลค่าสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น เป็นผลให้รัฐบาลต้องพยายามการันตีอัตราแลกเปลี่ยนคงที่นี้ เพื่อให้ธุรกิจเชื่อมั่นว่าจะไม่มีความเสี่ยงในอัตราแลกเปลี่ยน
แต่ด้วยความที่ปัจจัยเบื้องหลังทางเศรษฐกิจในตอนนั้น คือ การส่งออกลดลงและการนำเข้าเพิ่มสูง ทำให้รัฐบาลต้องเผชิญกับปัจจัยกดดันจากแรงขายเงินวอน รัฐบาลจึงต้องงัดเงินทุนสำรองออกมาเพื่อรักษาระดับค่าเงินจนเงินทุนสำรองค่อยๆ หมดลงไป
ท้ายที่สุด ในช่วงกลางเดือนธันวาคม 1997 รัฐบาลจำต้องปล่อยเงินวอนลอยตัว ทำให้เงินวอนด้อยมูลค่าลดลง เมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์ถึง 95% กลายเป็นว่าธุรกิจที่กู้เงินตราต่างประเทศ ต้องชำระหนี้มากกว่าจำนวนที่กู้ยืมมาเป็นเท่าตัว
2
อีกทั้งในช่วงนั้น ข้อกำหนดในการกู้ยืมเงินระยะสั้นมีน้อยกว่าการกู้ยืมเงินระยะยาว จึงกลายเป็นแรงกระตุ้นให้ทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน และธุรกิจต่างเลือกที่จะกู้ยืมเงินระยะสั้นจากต่างประเทศ เพื่อไปใช้ในการลงทุนที่เป็นโครงการระยะยาว
เมื่อรัฐบาลปล่อยลอยตัวค่าเงินวอน ทั้งธนาคาร สถาบันการเงิน และธุรกิจจำนวนมากจึงได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง
แต่ความผิดพลาดของรัฐบาลดันไม่ได้อยู่แค่ในเรื่องการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยน ยังเกิดปัญหาเชิงนโยบายในอุตสาหกรรมอีกด้วย
เนื่องจากรัฐบาลเข้าไปมีส่วนอย่างมากในอุตสาหกรรมการเงินการธนาคาร ในขณะที่การตัดสินใจปล่อยกู้เงินของธนาคารยอมถูกกำหนดจากนโยบายของรัฐบาลเป็นหลัก มากกว่าจะตรวจตราพื้นฐานของธุรกิจอย่างเข้มงวด เนื่องจากคาดว่าหากเกิดหนี้เสียขึ้นมารัฐบาลก็จะเข้ามาช่วยเหลืออยู่ดี
โดยเฉพาะกลุ่มบริษัทใหญ่อย่างกลุ่มแชโบล (Chaebols) ที่มีผลต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจเกาหลีอย่างมาก จึงเกิดเป็นปัญหาที่ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “Moral hazard”
เมื่อเกิดวิกฤต เหล่าบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างก็รอความช่วยเหลือจากรัฐจนนาทีสุดท้าย แต่ในท้ายที่สุดทีมวางแผนเศรษฐกิจของรัฐบาลตัดสินใจสวนทางกับที่คนส่วนใหญ่คิดว่าควรจะเป็น เนื่องจากทางทีมคิดว่าเศรษฐกิจควรจะขับเคลื่อนไปในตลาดตามหลักการจริงๆ
และกลุ่มแชโบลก็ควรจะยืนได้ด้วยขาของตนเอง อีกทั้งรัฐเองก็ไม่ได้มีเงินมากพอที่จะเข้าไปช่วยกลุ่มแชโบลที่กำลังประสบปัญหาการเงินในขณะนั้น อาทิ กลุ่มบริษัท Hanbo จึงทำให้บริษัท Hanbo ต้องประกาศล้มละลาย และต่อมาบริษัท Sammi, Jinro, และบริษัทอื่นๆ ก็ทยอยล้มละลายไปตามๆ กัน
📌 การเข้ามาแก้วิกฤตการเงินของ IMF
เพื่อที่จะหยุดวิกฤตครั้งนั้น เกาหลีใต้มี 2 ทางเลือก คือ
รับความช่วยเหลือทางด้านการเงินจาก IMF เพื่ออุ้มนักลงทุนและผู้ให้กู้ยืมเงินต่างประเทศ แต่ผลักภาระให้มาตกที่ประชาชนที่จะต้องมาจ่ายหนี้แทน
หรืออีกทางหนึ่ง คือ ปฏิเสธความช่วยเหลือจาก IMF แต่นั่นก็จะแปลว่าเจ้าหนี้ต่างชาติคงไม่ปล่อยให้ธุรกิจที่ไปกู้ยืมเงินเป็นอิสระแน่ ซึ่งอาจจะทำให้หลายธุรกิจของเกาหลีใต้ล้มละลาย โดยเฉพาะกลุ่มแชโบล แล้วก็อาจกลายเป็นช่องทางให้เจ้าหนี้ต่างชาติเข้ามาเป็นเจ้าของแทน
รัฐบาลจึงต้องยอมไปเจรจาขอให้ IMF เข้ามาช่วยเหลือ จนสุดท้ายก็ได้ข้อตกลงร่วมกัน คือ เกาหลีใต้ยอมรับความช่วยเหลือจาก IMF มูลค่ากว่า 5.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยแลกกับการที่เกาหลีใต้จะต้องปฏิรูประบบการเงิน และใช้นโยบายการเงินการคลังแบบเข้มงวด
ซึ่งทาง IMF ยืนยันว่าให้เกาหลีใต้ตัดลดงบประมาณรายจ่ายภาครัฐลง โดยไม่ต้องลดภาษี นำไปสู่การหดตัวทางเศรษฐกิจและการว่างงาน ส่งผลให้เกิดการประท้วงโดยกลุ่มสหภาพแรงงานที่ถูกให้ออกจากงานทั่วประเทศ
1
ทางด้านสถาบันการเงินก็ต้องออกแผนฟื้นฟู เนื่องจากการล้มละลายของกลุ่มบริษัทแชโบลทำให้งบดุลของธนาคารย่ำแย่ สัดส่วนหนี้เสียเพิ่มขึ้นสูงถึง 118 ล้านวอน หรือคิดเป็นกว่า 28% ของ GDP เกาหลีใต้ในปี 1998 สถาบันการเงินหลายแห่งถูกยุบ ถูกควบรวมไปกว่า 38%
นอกจากนโยบายทางการเงินเหล่านี้แล้ว ในช่วงปี 1998 ยังมีแคมเปญรณรงค์ให้คนบริจาคทองคำช่วยชาติ เพื่อนำไปชำระหนี้ IMF นำโดย บริษัทใหญ่ๆ อย่าง Daewoo, Samsung และ Hyundai
 
ซึ่งในช่วงเวลา 4 เดือนที่ออกแคมเปญนี้ มีคนเข้ารวมกว่า 3.51 ล้านคน และคาดว่ามูลค่าทองคำที่ชาวเกาหลีบริจาคในช่วงนั้นคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือบางสำนักคาดว่าอาจจะมีมูลค่าถึง 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว
 
แม้ว่าอาจจะไม่เยอะเมื่อเทียบกับมูลค่าหนี้ IMF แต่นั่นก็แสดงให้เห็นว่าชาวเกาหลีจำนวนมาก มีความเต็มใจที่จะยอมทำทุกอย่างที่เขาคิดว่าจะสามารถช่วยชาติได้
ด้วยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ในที่สุดเศรษฐกิจเกาหลีใต้ก็ฟื้นตัวจากวิกฤต จนทำให้สามารถชำระหนี้ IMF ได้ทั้งหมดในเดือนสิงหาคม ปี 2001
📌 เศษซากความฝันของวัยรุ่น และเศษซากของครอบครัวที่แตกสลาย
จริงอยู่ว่าการยอมรับความช่วยเหลือจาก IMF ก็ช่วยให้เกาหลีใต้มีเงินไปจ่ายหนี้ต่างประเทศ แต่ก็กลายเป็นว่าการลงทุนในประเทศต้องตกอยู่ในสถานะย่ำแย่อยู่ช่วงเวลาหนึ่งเลย ประชาชนก็ต้องรับภาระเป็นคนชำระหนี้นั้นแทนผ่านภาระภาษีที่เพิ่มขึ้น ซึ่งก็เป็นผลให้เศรษฐกิจหดตัวอีก
ในซีรีส์เรื่อง Twenty five, Twenty one สะท้อนให้เราเห็นถึงสภาพเศรษฐกิจ ที่สร้างความกดดันในครอบครัว และในสังคม ทุกสิ่งล้วนกดให้เด็กวัยรุ่นหลายคนต้องยอมละทิ้งความฝันในวันที่เศรษฐกิจย่ำแย่ เพียงเพื่อจะต่อสู้ให้มีชีวิตรอดไปในแต่ละวัน
เราควรเรียนรู้ความผิดพลาดในอดีต เพื่อป้องกันไม่ให้เรื่องราวที่น่าเศร้าใจเหล่านั้นต้องเกิดขึ้นอีก เพื่อไม่ให้เด็กที่อยู่ในวัยที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวัง ความฝัน ต้องถูก “ยุคสมัย” พรากทุกอย่างไปจากพวกเขาเหมือนที่เด็กในอดีตเคยเผชิญอีกแล้ว
1
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา