5 มี.ค. 2022 เวลา 00:37 • ท่องเที่ยว
สถานีรถไฟหัวหิน (ดั้งเดิม)
หัวหิน .. เป็นเมืองชายทะเลที่ไม่ไกลกรุงเทพฯ เดินทางง่าย เป็นเมืองชายทะเลที่สวยงาม ที่แวดล้อมด้วยบรรยากาศที่สงบเงียบ มีความเป็นท้องถิ่นสูง รวมถึงอาหารก็อร่อย
หัวหิน .. มีภูมิหลังของการเป็นเมืองตากอากาศที่คลาสสิกในยุคที่การคมนาคมสะดวกสบายมากขึ้น จากการเข้ามาของรถไฟ ที่นี่จึงเป็นจุดหมายปลายทางของคนหลายคน ตั้งแต่เมื่อครั้งอดีตมาแล้ว
ชุมขนดั้งเดิมเกิดจากการตั้งรกรากของผู้คนในบริเวณเขาตะเกียบมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 โดยการทำประมงและการเกษตรเช่นเดียวกับอีกหลายชุมชน
จนกระทั่งถึงช่วงสมัยของรัชกาลที่ 6 หลังจากการเข้ามาถึงของการเดินรถไฟสายใต้จากบางกอกน้อยสร้างมาถึงปลายทางที่เพชรบุรี และต่อขยายปลายทางลงใต้เพื่อไปมลายู ส่วนหนึ่งของทางรถไฟได้ผ่านชุมชนหัวหิน และมีสถานีรถไฟเหมือนกับชุมชนขนาดใหญ่รายทางอื่นๆ
รถไฟได้นำพาความเจริญมาที่นี่ ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงความเจริญด้านการคมนาคม รวมถึงยังมีสิ่งที่รถไฟพามาถึง ทำให้หัวหินยิ่งเริ่มมีการตั้งรกรากของชุมชนมากขึ้นกว่าเดิมจนกลายเป็นชุมชนขนาดใหญ่
การมาถึงของรถไฟใน พ.ศ. 2454 ไม่ได้เพียงแค่ทำให้หัวหินเจริญเติบโตในแง่ของเมือง แต่ยังนำวัฒนธรรมการท่องเที่ยวตากอากาศให้เดินทางมาถึงชุมชนแห่งนี้อีกด้วย
... เจ้านายชั้นสูงได้รับพระราชทานที่ดิน มีความนิยมมาสร้างตำหนักกันมาก รวมถึงพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนเรศวรฤทธิ์ (พระองค์เจ้าชายกฤษดาภินิหาร) ได้ทรงสร้างตำหนักแสนสำราญสุขเวศน์ ก็ได้มีการเรียกชื่อพื้นที่หาดที่เต็มไปด้วยหินนี้ว่า ‘หัวหิน’
สถานีรถไฟหัวหิน ที่เปี่ยมคุณค่า
สถานีหัวหิน .. นับว่าเป็นสถานีรถไฟที่สวยเป็นลำดับต้นๆของประเทศไทย ซึ่งหลายคนมีภาพจำถึง สถานีรถไฟสีครีมตัดแดง ป้ายสถานีสีขาวขอบสลักลวดลายวิจิตรสีแดง พร้อมตัวหนังสือสีดำรูปลักษณ์ไม่เหมือนสถานีไหนๆ
อาคารสถานีรถไฟหัวหินที่สวยงาม โดดเด่นสะดุดตา ..
.. แท้จริงแล้วอาคารที่เราเห็นในปัจจุบัน ไม่ได้สร้างมาเพื่อเป็นสถานีรถไฟ หากแต่เป็นอาคารหลังที่สอง ส่วนอาคารหลังแรกไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าเป็นรูปแบบใด คาดว่าเป็นเพียงอาคารไม้เล็กๆ แบบพิมพ์นิยมของการสร้างสถานีรถไฟยุคนั้น
อาคารสถานีรถไฟหัวหินที่วิจิตรที่เราเห็น .. เดิมเป็นอาคารไม้ที่ประกอบขึ้นเพื่อจัดงาน ‘สยามรัฐพิพิธภัณฑ์’ ที่สวนลุมพินีใน พ.ศ. 2468 แต่ไม่ได้มีการจัดจริง เนื่องจาก พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 เสด็จสวรรคตก่อนการจัดงาน งานสยามรัฐพิพิธภัณฑ์จึงถูกยกเลิก และได้นำมาประกอบขึ้นใหม่เพื่อใช้เป็นอาคารสถานีหัวหินที่เราเห็นอยู่ในปัจจุบัน
สถานีรถไฟหัวหิน ... สร้างด้วยไม้ มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมแบบวิกตอเรียนที่นิยมมากในอังกฤษ
อาคารของสถานี .. เป็นอาคารไม้ชั้นเดียวหลังคาทรงปั้นหยา มุขกลางเป็นแบบจั่วตัด มุงหลังคาด้วยกระเบื้องว่าว โครงสร้างอาคารเป็นกรอบเสารับคาน โครงเคร่าและไม้กรุผนังทาสีตัดกันจนเห็นความแตกต่างชัดเจน
.. เสามีการเซาะร่องเป็นลวดลาย และประดับหัวเสาเลียนแบบสถาปัตยกรรมคลาสสิก ตัวสถานีทาสีขาวครีมตัดกับสีแดง ป้ายสถานีมีเอกลักษณ์ทั้งตัวอักษรและกรอบที่สลักอย่างวิจิตร สอดคล้องกับตัวอาคารสถานี
ด้วยความสวยงามและเป็นเอกลักษณ์นี้ จึงได้รับพิจารณาคัดเลือกจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ให้เป็น ‘อาคารอนุรักษ์ดีเด่น’ เมื่อ พ.ศ. 2525
พลับพลาพระมงกุฎเกล้า
‘พลับพลาพระมงกุฎเกล้า’ .. ตั้งอยู่ด้านทิศใต้ของสถานีหัวหิน ห่างจากอาคารสถานีไปเล็กน้อย เป็นพลับพลาทรงจตุรมุขทรงไทยประยุกต์ ซึ่งพลับพลานี้ไม่ใช่อาคารสถานีหัวหิน แต่เป็นส่วนหนึ่งของสถานี
เดิมทีเป็นอาคารสถานีรถไฟหลวงสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม เรียกกันว่า ‘พลับพลาสนามจันทร์’ ทำหน้าที่เป็นสถานีรถไฟหลวงเหมือนกับสถานีจิตรลดาที่กรุงเทพฯ .. จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต กรมรถไฟได้รื้อตัวพลับพลาสถานีสนามจันทร์มาเก็บรักษาไว้
ใน พ.ศ. 2511 .. การรถไฟแห่งประเทศไทยได้นำพลับพลากลับมาประกอบใหม่ และย้ายไปตั้งไว้ที่สถานีหัวหิน เพื่อใช้เป็นพลับพลาที่ประทับในการเสด็จทางรถไฟของพระบรมวงศานุวงศ์ เมื่อมีการแปรพระราชฐานที่วังไกลกังวล
พลับพลาได้ประกอบเสร็จ ทำพิธีเปิดโดย สมเด็จพระเจ้าภคิณีเธอ เจ้าฟ้าเพชรรัตนราชสุดา สิริโสภาพัณณวดี พระราชธิดาในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในครั้งนั้นก็ได้มีการตั้งชื่อพลับพลาใหม่ว่า ‘พลับพลาพระมงกุฎเกล้า’
หัวหิน .. คือส่วนหนึ่งของรถไฟ และรถไฟก็เป็นส่วนหนึ่งของหัวหินเช่นกัน
ทั้งสถานีหัวหินและพลับพลา .. จึงเป็นอีกสถานที่ซึ่งถ้าใครมาหัวหินแล้ว ก็ไม่ควรพลาดแวะไปเยี่ยม ไปทักทายอาคารเก่าทรงคุณค่าทั้งสอง
สถานีรถไฟหัวหินเดิมนั้น ... เป็นสถานีรถไฟประวัติศาสตร์ที่บอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่วันที่ทางรถไฟตัดมาถึง
.. วันที่ตัวสถานีได้ประกอบร่างขึ้นมาใหม่
.. วันที่มีโรงแรมรถไฟ
.. วันที่ผู้คนเริ่มตากอากาศชายทะเล
.. วันที่พลับพลาพระมงกุฎเกล้ามาอยู่เคียงคู่สถานี
.. วันที่เรายืนอยู่ตรงนี้ และจนถึงวันที่สถานีแห่งใหม่เปิดใช้งาน
ขอบคุณเนื้อความบางส่วนจาก : https://readthecloud.co/hua-hin-train-station/
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
โฆษณา