5 มี.ค. 2022 เวลา 08:22 • สิ่งแวดล้อม
เสียงสะท้อนจากม็อบชาวนา กับโครงสร้างภาคการเกษตรที่ไม่เอื้อต่อเกษตกร
ในช่วงเดือนกว่า ๆ ที่ผ่านมา หลายคนคงได้เห็นข่าว #ม็อบชาวนา ที่เป็นประเด็นอยู่บนโลกโซเชียลบ้าง วันนี้เราเลยอยากชวนทุกคนมารับฟังเสียงสะท้อนจากพวกเขาที่ได้รับความเดือดร้อนจากความไม่เป็นธรรมในประเทศแห่งเกษตรกรรม เป็นแชมป์โลกส่งออกข้าว แต่ทำไม เรากลับมีเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน มีหนี้สินมากมาย ค้าขายกลับขาดทุน แปลว่าประเทศเรารับฟังเสียงและสนับสนุนพวกเขาแล้วจริง ๆ หรือไม่?
โครงสร้างที่ไม่ช่วยพวกเขาแถมยังซ้ำเติมให้แบกรับต้นทุนมากมาย นอกเหนือจากต้นทุนการผลิตทั่วไปแล้วยังมีต้นทุนในการรับมือกับวิกฤติอากาศแปรปรวน ภาคเกษตรกรรมเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ เนื่องจากส่งผลทำให้พืชพรรณไม่ออกผลเช่นกัน ถึงแม้ว่าจะหว่านดูแลอย่างดี แต่เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวก็ต้องผิดหวังเพราะพืชผลที่นั้นเสียหาย จำหน่ายไม่ได้ เท่ากับที่ลงทุนไปก็สูญเปล่า และไม่มีกองทุนหรือหน่วยงานใดที่เข้ามาช่วยดูแลในส่วนนี้
วันนี้เลยอยากชวนทุกคนมารับฟังและลองตั้งคำถามกันอีกครั้งว่า ปัญหาของภาคเกษตรกรรมไทยคืออะไร? ถ้าหากเป็นธุรกิจอันดับต้นของประเทศทำไมเกษตรกรถึงยังมีหนี้สินมากมาย และโครงสร้างการบริหารจัดการมีส่วนช่วยเหลือพวกเขามากน้อยเพียงใด?
⚫️ จุดเริ่มต้นม็อบชาวนา จริง ๆ แล้วเรื่องนี้เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2546 ยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 20 ปี ย้อนไป เมื่อปี 2542 มีคำสั่งจัดตั้ง “สำนักงานกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” (กฟก.) ที่ก่อตั้งขึ้นตาม “พระราชบัญญัติกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร” อันเป็นพ.ร.บ.ที่มาจากเสียงของประชาชนจริง ๆ แต่หลังจากนั้นกลับไม่มีการดำเนินการอะไรเลย ปล่อยทิ้งไว้แบบนั้น จนตอนนี้ขั้นตอนการช่วยบรรเทาหนี้สินให้ภาคเกษตรกรก็ยังไม่บรรลุเสียที จนเกิดเป็นคำถามว่าการดำเนินการที่ชาวบ้านเรียกร้องนั้นต้องใช้เวลาทำเรื่องถึงกว่า 20 ปีเลยไหม?
⚫️ ข้อเรียกร้องม็อบชาวนา
1.ขอให้สถาบันการเงินเจ้าหนี้ชะลอการฟ้องบังคับคดียึดทรัพย์ขายทอดตลาด ทรัพย์สินของสมาชิก
2.ขอให้ลดหนี้ ปลดหนี้ให้กับเกษตรกรสมาชิก กฟก. กรณีที่ตาย พิการ ทุพพลภาพ ชราภาพ เจ็บป่วย เป็นโรค เหลือไม่เกิน 25 เปอร์เซ็นต์
3.ขอให้ตรวจสอบปัญหาทุจริตคอรัปชั่นพร้อมกับปฏิรูปการบริหารงานของสำนักงาน กฟก. ที่ไม่สามารถช่วยควบคุมราคาในท้องตลาดได้ ทั้งราคาขายและราคารับซื้อข้าว
⚫️ ติดอยู่ที่ขั้นตอนไหน ? - พวกเขามาปักหลักนับตั้งแต่ 24 ม.ค. อยู่ที่บริเวณหน้ากระทรวงการคลังจนตอนนี้ย้ายมาที่ถนนราชดำเนินนอก รวมเป็นเวลาเดือนกว่า ๆ แล้ว เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอนุมัติเรื่องเสียที เนื่องจากตอนนี้เจ้าหนี้หลักของเกษตรกรก็คือ สถาบันทางการเงินของรัฐทั้ง 4 แห่ง ไม่สามารถตัดสินใจเองได้ ต้องมีมติอนุมัติจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ธนาคารทั้งหมด ได้แก่ ธกส. ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ เอสเอ็มอีแบงค์ จึงทำให้การบรรเทาหนี้สินชาวนาไม่สามารถเกิดขึ้นได้เสียที
เรามีโอกาสได้นั่งคุยกับพี่ชรินทร์ ที่ปรึกษาเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทย ถึงที่มาที่ไป ปัญหาที่พบเจอ ประโยคหนึ่งที่เหมือนจะสรุปรวมปัญหาทั้งหมดได้เลยคือ “การดูแลภาคเกษตรกรรมของประเทศไทยถือว่าล้มเหลวมาก ชาวนาเหมือนมีหน้าที่แค่ปลูกข้าว แต่ราคาข้าวที่เพิ่มขึ้นจากขั้นตอนอื่น ๆ ชาวบ้านเข้าไม่ถึง ไม่ได้ผลประโยชน์จากตรงนั้นเลย” นอกจากรายได้จะโดนกดทับแล้ว รายจ่ายก็ยังมาจากหลายทิศทางจนก่อตัวเป็นหนี้สิน ไม่ว่าจะเป็น
⚫️ หนี้สินจากต้นทุน สินค้าต้นทุนทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นปุ๋ย ยา สารเคมี เครื่องจักร รัฐบาลก็ไม่เคยมาดูแลให้เป็นสินค้าควบคุม สิ่งเหล่านี้ขึ้นลงตามใจพ่อค้าคนกลางตลอดและก็เกิดการผูกขาดราคาอีก
⚫️ หนี้สินจากความไม่แน่นอนของธรรมชาติ ภัยธรรมชาติหรือสภาวะอากาศเปลี่ยนนั้นส่งผลต่อผลผลิตทางการเกษตรโดยตรงอย่างน้ำท่วม ฝนแล้ง แมลงลง ปัญหาเหล่านี้ไม่มีสนใจเข้าไปคุ้มครองหรือให้หลักประกัน เพราะฉะนั้นภาคเกษตรทุกคนก็ต้องเผชิญและแบกรับปัญหาเหล่านี้ด้วยตัวเอง เช่น ข้าวตั้งท้องเจออากาศร้อนจัดก็ไม่ออกผล หรือบางทีเจอปล่อยน้ำจากแก้มลิงเพื่อป้องกันการน้ำท่วมในเขตเมือง ก็เป็นชาวบ้านแถวนั้นที่ต้องรับกรรม โดนน้ำท่วมทุ่งท่วมนา ก้มหน้ารับกรรมกันไป
⚫️ หนี้สินจากดอกเบี้ยเงินกู้ ดอกเบี้ยภาคการเกษตรนั้นสูงมาก เริ่มต้นที่ร้อยละ 8 บาท สำหรับอาชีพอื่น ๆ เมื่อกู้ยืมมาแล้วก็อาจจะมีรายได้วันนี้วันพรุ่งมาหมุนได้ แต่ชาวนานั้นต้องรอฤดูเก็บเกี่ยวกว่าผลผลิตจะออกเป็นเวลากว่า 5-6 เดือน ก็ต้องแบกดอกเบี้ยระหว่างรอรายได้ไป ทำให้ยิ่งเพิ่มทวีคูณเข้าไปอีก
⚫️ ไม่ช่วยแล้วยังซ้ำเติม ชาวนาไม่เคยรู้ได้เลยว่าราคาข้าวปีนี้จะอยู่ที่เท่าไหร่ และไม่สามารถกำหนดราคาขายเองได้เพราะโครงสร้างมันไม่เอื้อให้ชาวนาผลิตข้าวเองแบบครบวงจร มันมีผู้ที่ได้ประโยชน์จากภาคการผลิตนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นพ่อค้ารับซื้อข้าวเปลือก เจ้าของโรงสี พ่อค้าคนกลาง กระทั่งพ่อค้าส่งออก กำไรที่เพิ่มขึ้นนั้นก็เข้าคนอื่นหมด บางครั้งกำไรมากกว่าครึ่งจากราคาต้นทุนเลย ทั้งที่ไม่ต้องตากแดด ออกแรง ออกต้นทุนอะไร ซึ่งขั้นตอนเหล่านี้นี่แหละที่ไม่ส่งเสริมให้ชาวนาลืมตาอ้าปากได้
ผลผลิตข้าวไทยกว่า 30-35 ล้านตัน/ปี แต่กระจุกการส่งออกอยู่เพียงไม่กี่เจ้าที่กำหนดราคาส่งออก ทั้งราคาสินค้าต้นทุนและราคาขายก็ถูกกำหนดด้วยคนไม่กี่กลุ่ม ทำให้ชาวนาไม่สามารถรู้ได้เลยว่าปีนี้จะขายได้เท่าไหร่และต้องลงทุนการผลิตเท่าไหร่
พี่ชรินทร์เล่าให้ฟังว่า เคยมีนักข่าวมาสัมภาษณ์เหมือนกันว่ารู้สึกอย่างไรที่ข้าวไทยได้แชมป์โลก? ก็บอกได้เลยว่า “ไม่ได้รู้สึกอะไรเลย เพราะข้าวส่งออกนี่ยิ่งส่งออกเยอะก็ยิ่งขูดรีดจากเรา ถ้าเป็นแชมป์ส่งออกแต่ขายข้าวได้ราคาไม่ดี ได้แค่ 6,000 บาท อย่างนี้หนักกว่าเดิมอีก”
พี่ชรินทร์ ตัวแทนเกษตรกรก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้สังคมมองภาคการเกษตรเสียใหม่ พวกเขาเป็นหนี้ไม่ได้เกิดจากความขี้เกียจ การใช้เงินไม่เป็น ไม่มีวินัยทางการเงิน หรือเพราะไม่ได้ทำบัญชีครัวเรือนอย่างที่เคยมีโฆษณากล่าวอ้างไป มันไม่ใช่เลย “ทำไปเราก็ยิ่งเจ็บช้ำมากกว่า เพราะต้องเห็นว่ามันขาดทุนไปเท่าไหร่ และนี่ไม่ใช่บุญกรรมจากชาติที่แล้วด้วย แต่มันเกิดจากเวรกรรมในชาตินี้ที่มีคนเอาจากเราไป 12,000 แล้วเหลือให้เราแค่ 6,000 บาท แบบนี้”
“ปัญหาหนี้สินเหล่านี้มันเกิดจากปัญหาเชิงโครงสร้างด้านนโยบาย ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐต้องรับผิดชอบ รัฐไปรบเร้าให้พวกเขาผลิตมาก ๆ แต่ไม่เคยรับผิดชอบราคา ไม่เคยรับผิดชอบต้นทุน สินค้า ปุ๋ย ยา ต่าง ๆ ไม่เคยถูกควบคุมราคา รวมถึงผลผลิตก็ไม่มีการควบคุมหรือประกันเลย สุดท้าย ถ้ามันเป็นผลกระทบจากโครงสร้างรัฐก็ต้องช่วยรับผิดชอบสิ ไม่ใช่มาโทษประชาชนว่าเราขี้เกียจเอง นี่เป็นเรื่องที่อยากให้คนมองภาคเกษตรเสียใหม่ เขายากจน เพราะเขาถูกเอารัดเอาเปรียบ ขูดรีดมูลค่าส่วนเกินในผลผลิตไปมหาศาล”
1

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา