6 มี.ค. 2022 เวลา 13:20 • ไอที & แก็ดเจ็ต
10 เทคโนโลยีแห่งปี 2022 จาก MIT Technology Review
1
โลกที่ไม่เคยหยุดหมุน นำมาซึ่งเทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยนับไม่ถ้วน ที่เข้ามาเปลี่ยนรูปแบบชีวิตของผู้คนทั่วโลกให้ต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง รวมถึงช่วยอำนวยความสะดวกสบาย สร้างความมั่นคง และความปลอดภัยทั้งชีวิตและทรัพย์สินให้เราอย่างไม่เคยมีมาก่อน
ในบทความนี้ เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับ 10 เทคโนโลยีสุดล้ำแห่งปี 2022 จากนิตยสาร MIT Technology Review ซึ่งจะมีการจัดอันดับในทุกๆ ปี โดยปีที่ผ่านมามีการพูดถึงเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก อย่างวัคซีน mRNA, GPT-3, Green Hydogen เป็นต้น มาติดตามไปพร้อมๆ กันว่าเทคโนโลยีใหม่ๆ ในปี 2022 นี้จะมีอะไรบ้าง
1
1. การใช้รหัสผ่านน้อยลง (The End of Password)
1
เมื่อก่อนการยืนยันตัวตนเพื่อเข้าใช้งานระบบต่างๆ บนเครือข่ายออนไลน์ (Authentication) ไม่ว่าจะเป็นเว็บไซต์ อีเมล หรือแอปฯ ต่างๆ จำเป็นต้องยืนยันด้วยรหัสผ่าน (Password) เท่านั้น แต่ทว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบันอาจทำให้การยืนยันด้วย Password ลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะมีช่องทางใหม่ๆ ที่ทั้งใช้งานง่าย สะดวกรวดเร็ว และค่อนข้างปลอดภัยกว่าเข้ามาแทนที่ เช่น การส่งลิงก์ทางอีเมล (Link Sent via Email) การส่งแจ้งเตือนผ่านข้อความ (Push Notification) หรือการสแกนใบหน้าและลายนิ้วมือ (Biometric Scan)
2. การติดตามเชื้อโควิด-19 ที่ง่ายขึ้น (Covid Variant Tracking)
การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กินระยะเวลาไปกว่า 2 ปีแล้วนั้น ทำให้เกิดการคิดค้นและเสาะหาแนวทางใหม่ๆ เพื่อให้ผู้คนทั่วโลกได้กลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติอีกครั้ง ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ การลงทุนเกี่ยวกับการศึกษาหาลำดับคู่เบสในสาย DNA ทั้งหมด (Genomic Sequencing) มากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งช่วยส่งเสริมและเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจสอบและเฝ้าระวังให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถตรวจสอบ ติดตาม ระบุ และแจ้งเตือนข้อมูลเกี่ยวกับสายพันธุ์ใหม่ได้รวดเร็วและแม่นยำนิ่งขึ้น อย่างการค้นพบสายพันธุ์อัลฟา เดลตา หรือโอมิครอนที่ผ่านมา
3. แบตเตอรี่กริดที่ทนขึ้น (A Long-lasting Grid Battery)
ภายใต้สถานการณ์ทางธรรมชาติที่ไม่แน่นอน ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต่างตระหนักและหันมาให้ความสำคัญกับความยั่งยืน (Sustainability) มากขึ้น อย่างการใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่องทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคประชาชน อย่างไรก็ตาม ก็มีข้อกังวลที่ว่าเมื่อพระอาทิตย์ตกหรือไม่มีลมพัด แล้วเราจะกักเก็บพลังงานไว้ใช้ได้อย่างไร?
จึงมีการพัฒนา “Iron-based Batteries” แบตฯ รูปแบบใหม่ เพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้า (Electricity) ไว้ภายหลัง ซึ่งมีราคาถูกกว่าและอาจเหมาะกับการใช้งานมากกว่าประเภทอื่นๆ เพราะมีคุณสมบัติในการจัดเก็บพลังงานหมุนเวียนภายใต้ความผันผวนทั้งสภาพแวดล้อมและปัจจัยอื่นๆ ได้ดีกว่า โดยปี 2021 ที่ผ่านมา มีการเปิดตัว “Grid-Scale Projects” ที่รัฐแมสซาชูเซตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีแบตฯ ที่กักเก็บพลังงานได้นานถึง 100 ชั่วโมง โดยมีโรงงานต้นแบบในรัฐมินนิโซตาจะทำร่องติดตั้งครั้งแรกในขนาด 1 เมกะวัตต์ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2023
4. AI ช่วยหาโครงสร้างโปรตีน (AI for Protein Folding)
“DeepMind” บริษัทสัญชาติอังกฤษได้พัฒนาปัญญาประดิษฐ์ “AlphaFold2” เพื่อช่วยทำนาย “โครงสร้างโปรตีน” (Protein Structure) และปัญหาการพับของโปรตีน ที่นับว่าเป็นปัญหาที่ยากและซับซ้อนอย่างมากทางชีวภาพ เพราะการหาโครงสร้างดังกล่าว มีต้นทุนสูงและใช้เวลานานหลายเดือน โดย AI ดังกล่าว ช่วยให้นักวิทยาศาสตร์สามารถหาโครงสร้างและกระบวนการต่างๆ ของโปรตีนได้เร็วกว่าเดิมและใช้ต้นทุนไม่เยอะมาก ส่งผลให้สามารถค้นพบยาและแนวทางการรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
5. วัคซีนป้องกันมาลาเรียตัวแรกของโลก (Malaria Vaccine)
1
เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้รับรอง “วัคซีนต้านมาลาเรีย” ตัวแรกของโลกจากความพยายามและการพัฒนามานานกว่า 30 ปี ซึ่งนับเป็นข่าวดีของทุกคนทั่วโลก เพราะวัคซีนดังกล่าวจะสามารถช่วยรักษาชีวิตคนได้กว่าแสนคนต่อปี
1
โดยโรคมาลาเรีย (Malaria) เป็นหนึ่งในโรคติดเชื้อร้ายแรงที่สร้างความกังวลใจให้ผู้คนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนกว่า 600,000 คนต่อปี และส่วนใหญ่เป็นเด็กเล็กอายุไม่ถึง 5 ปี เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน และหากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันท่วงทีอาจก่อให้เกิดอันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งโรคดังกล่าวมียุงก้นปล่องเป็นพาหะนำโรค โดยสามารถพบได้ตามบ้านเรือน ป่า หรือภูเขา
6. PoS ระบบตรวจสอบและบันทึกธุรกรรม (Proof of Stake)
คนในแวดวงการลงทุนจะทราบกันดีว่าการขุดคริปโทเคอร์เรนซี อย่างบิตคอยน์ (Bitcoin) จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์แบบพิเศษที่มีความสามารถในการถอดรหัส Algorithm และประมวลผลระดับสูง ซึ่งในการขุดแต่ละครั้งนั้นก่อให้เกิดการใช้พลังงานไฟฟ้าและก๊าซเรือนกระจกปริมาณมหาศาล จึงเกิดการพัฒนา “ระบบ Proof of Stake” (PoS) ที่ช่วยลดการใช้พลังงานสิ้นเปลืองจากการถอดรหัสและประมวลผลได้ โดย Ethereum วางแผนที่จะเปลี่ยนไปใช้ระบบดังกล่าวในปีนี้ เพื่อลดการใช้พลังงาน 99.95%
1
7. ยาเม็ดรักษาโควิด-19 (A Pill for Covid)
“Pfizer” บริษัทยายักษ์ใหญ่สัญชาติอเมริกัน ได้เปิดตัว “Paxlovid” ยาเม็ดสำหรับรักษาโควิด-19 โดยระบุว่า ยาดังกล่าวสามารถช่วยป้องกันไวรัสโคโรนาและสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยลดอัตราความรุนแรงในการเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลหรือเสียชีวิตได้ถึง 89% นอกจากนี้ หลายๆ บริษัทต่างก็กำลังพัฒนายาเม็ดเพื่อรักษาโควิด-19 ด้วยเช่นกัน ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยาวนานครั้งนี้ นับเป็นอีกหนึ่งความหวังที่น่ายินดีเป็นอย่างมาก เชื่อว่าการพัฒนายาเม็ดควบคู่ไปกับการฉีดวัคซีนจะช่วยให้สถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายและดีขึ้นในเร็ววัน
1
8. การผลิตนิวเคลียร์ฟิวชันทุบสถิติ (Practical Fusion Reactors)
นับเป็นข่าวใหญ่ในแวดวงวิทยาศาสตร์ เมื่อ “Commonwealth Fusion Systems” สตาร์ทอัพสัญชาติอเมริกันได้ประกาศถึงความสำเร็จไปอีกขั้นของการทดสอบแม่เหล็กชนิดใหม่ที่สามารถสร้างสนามแม่เหล็กกว่า 20 เทสลา ซึ่งใช้พลังงานไฟฟ้าและต้นทุนต่ำกว่าเดิม ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นอีกก้าวสำคัญของโลกในการผลิต “พลังงานนิวเคลียร์ฟิวชัน” (Fusion Power) ที่นักวิจัยตั้งตารอคอยมาหลายทศวรรษ สู่การสร้างสังคมที่ยั่งยืน ไร้คาร์บอน ด้วยพลังงานสะอาด เพื่อให้โลกมีพลังงานในปริมาณมหาศาลและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
9. การฝึกฝน AI ด้วยข้อมูลสังเคราะห์ (Synthetic Data for AI)
สำหรับการฝึก “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ “AI” ให้เกิดการเรียนรู้และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั้นจำเป็นต้องอาศัยชุดข้อมูลจำนวนมหาศาล ซึ่งปัญหาที่ตามมาก็คือข้อมูลต่างๆ มีความซับซ้อน และมีข้อจำกัดด้านความปลอดภัย ทำให้หลายบริษัทเริ่มหันมาพัฒนาและขาย “ข้อมูลสังเคราะห์” หรือ “Synthetic Data” กันอย่างแพร่หลาย เพื่อหลีกเลี่ยงข้อจำกัดและปัญหาต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นได้
1
โดย Synthetic Data เป็นการสร้างข้อมูลให้ระบบคอมพิวเตอร์ได้เรียนรู้ข้อมูลสังเคราะห์ที่สร้างจากการจำลอง แทนข้อมูลในโลกแห่งความเป็นจริงที่มีข้อจำกัดมากมาย ซึ่งเป็นแนวคิดที่มีมานานแล้ว แม้จะไม่ใช่ตัวเลือกที่สมบูรณ์นัก แต่ก็นับเป็นทางเลือกที่ดีทางหนึ่ง เช่น รถไร้คนขับที่ฝึกจากถนนเสมือนจริง ที่จำลองสถานการณ์ต่างๆ บนท้องถนนด้วยเทคโนโลยี เป็นต้น
1
10. โรงงานกำจัดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก (A Carbon Removal Factor)
“Orca” โรงงานกำจัดคาร์บอนที่ใหญ่ที่สุดในโลก จาก “Climeworks AG” สตาร์ทอัพสัญชาติสวิส ร่วมมือกับ “Carbfix” สตาร์ทอัพสัญชาติไอซ์แลนด์ สู่โรงงานที่สามารถดักจับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กว่า 4,000 ตันต่อไป โดยตั้งอยู่ที่เมือง Reykjavik ประเทศไอซ์แลนด์ ซึ่งใช้พลังงานสะอาดและปราศจากคาร์บอนในทุกกระบวนการ สำหรับการดักจับคาร์บอนจะมีใบพัดขนาดใหญ่คอยดูดอากาศผ่านตัวกรองที่มีวัสดุพิเศษช่วยดักจับโมเลกุลของ CO2 หลังจากนั้นจะนำก๊าซดังกล่าวไปเก็บที่ใต้ดินต่อไป
1
อย่างที่ทราบกันดีว่าเทคโนโลยีนั้นมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ซึ่งหากเรานำเทคโนโลยีมาปรับใช้ให้เหมาะสมก็จะส่งผลให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นวงกว้างในระยะยาว นำไปสู่การคิดค้น ทดลอง และพัฒนาที่มีคุณค่าต่อทุกสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ เช่นเดียวกับเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกทั้ง 10 อันดับจาก MIT ที่พัฒนาและปรับเปลี่ยนไปตามความเคลื่อนไหวของโลก สามารถตอบสนองต่อความไม่แน่นอนและความต้องการของผู้คนทั่วโลกได้เป็นอย่างดี พร้อมช่วยอำนวยความสะดวก ให้ความมั่นคง และความปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินอีกด้วย
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
10 ทักษะด้าน IT ที่มาแรงในปี 2022: https://bit.ly/3IzCZOz
เปิด 10 อาชีพมาแรงและรายได้ดีในอีกสิบปีข้างหน้า: https://bit.ly/3K6PdP0
แปลและเรียบเรียงจาก:
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#business
โฆษณา