7 มี.ค. 2022 เวลา 08:10 • หุ้น & เศรษฐกิจ
#knowledge รู้จัก Sberbank ธนาคารใหญ่สุดของรัสเซีย ที่กำลังจะล้มละลายเพราะสงคราม
ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกที่เกิดตามหลังจากการที่รัสเซียบุกยูเครนส่งผลกระทบอย่างหนัก เช่น ราคาน้ำมันเบรนท์พุ่งเกิน 10% สูงสุดในรอบ 8 ปี
ที่สำคัญ สิ่งที่รัสเซียเริ่มกลับย้อนทำร้ายตัวเองอย่างสาหัส ค่าเงินรูเบิลร่วงอย่างรุนแรง 30% ดัชนีตลาดหุ้นรัสเซียตกลงมากว่า 45%
แถมธนาคารที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในรัสเซียอย่าง Sberbank ก็ต้องเจอกับวิกฤติใหญ่
หุ้นที่จดทะเบียนเอาไว้ในตลาดลอนดอนร่วงลงมาอย่างมหาศาลถึง 90%
TODAY Bizview จะพาไปทำความรู้จัก Sberbank ธนาคารที่มีความสำคัญใหญ่หลวงต่อเศรษฐกิจรัสเซียในวันที่สงครามย้อนกลับมาทำร้ายตัวเอง
และสอนให้โลกได้เรียนรู้อีกครั้งว่า “ไม่มีใครเป็นผู้ชนะที่แท้จริงในสงคราม”
[ เส้นทางของ Sberbank ]
Sberbank คือธนาคารที่เก่าแก่ที่สุดในรัสเซีย
ถ้าสืบต้นตอกลับไป จะพบว่า Sberbank มีจุดเริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 1841 ตั้งแต่สมัยที่รัสเซียยังเป็นจักรวรรดิอันเกรียงไกรภายใต้ระบอบซาร์ด้วยซ้ำ
Sberbank เป็นธนาคารที่ใหญ่ที่สุด มีสินทรัพย์ในครอบครองประมาณ 4.43 แสนล้านดอลลาร์
ทิ้งห่างธนาคารอันดับ 2 ประมาณ 1 เท่าตัว
ส่วนความโดดเด่นคือเรื่องของบัญชีออมทรัพย์ เพราะถือครองเงินฝากครัวเรือนถึง 65% ของเงินฝากทั้งหมดภายในประเทศ
แต่ตอนนี้ความยิ่งใหญ่ของ Sberbank กำลังถูกท้าทายอย่างหนักหน่วง
หลังรัสเซียนำกำลังรุกล้ำเอกราชของยูเครนจนทำให้เกิดแรงกดดันจากนานาชาติ ทั้งในแง่เศรษฐกิจและการเมืองผ่านหลายๆ มาตรการ
จนหุ้นของ Sberbank ในตลาดลอนดอนร่วงลงมาถึง 90%
ล่าสุด ยุโรปประกาศอายัดธุรกิจของ Sberbank ใน 3 ประเทศ คือ ออสเตรีย โครเอเชีย และสโลวีเนีย
เนื่องจากมีกระแสเงินฝากไหลออกอย่างมีนัยสำคัญอันเป็นผลมาจากผลกระทบด้านชื่อเสียงจากความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่เกิดขึ้น
ส่วนธนาคารกลางรัสเซียก็ออกมาตรการห้ามโอนเงินตราต่างประเทศออกนอกประเทศ
ทำให้ธุรกิจของ Sberbank ถูกตัดสินว่าขาดสภาพคล่องจนไม่อาจชำระหนี้ได้
และในท้ายที่สุด Sberbank ต้องยอมแพ้ ประกาศถอนธุรกิจเกือบทั้งหมดออกจากยุโรป
เราลองมาหาคำตอบไปด้วยกันว่า ก่อนจะมาถึงจุดนี้ Sberbank มีความเป็นมาอย่างไร?
[ ย้อนรอยประวัติศาสตร์ความยิ่งใหญ่ของ Sberbank ]
จุดเริ่มต้นของ Sberbank คือการเป็นเครือข่ายของธนาคารรับฝากเงิน (Saving Bank) ที่เกิดมาจากการผ่านกฎหมายเพื่อสร้างสถาบันเงินฝากส่วนบุคคลในปี 1941 โดยพระเจ้าซาร์นิโคลัสที่ 1
ความต้องการคือต้องการให้ประชาชนมีสถาบันสำหรับฝากเงินที่น่าเชื่อถือและสร้างดอกผลได้
โดยใน 20 ปีต่อมา ก็มีสถาบันรูปแบบนี้เกิดขึ้นกว่า 45 แห่งทั่วเมืองหลวงในภูมิภาคต่างๆ ของรัสเซีย
ในปี 1860 ธนาคารกลางรัสเซียหรือ Gosbank ก็ถูกตั้งขึ้น และสถาบันเงินฝากจำนวนมากก็ถูกโอนย้ายเข้าไปอยู่ใต้อำนาจของ Gosbank
1
ภายหลังการปฏิวัติบอลเชวิกในปี 1917 ภายใต้การนำของวลาดิมีร์ เลนิน รัสเซียได้เข้าสู่ยุคสหภาพโซเวียต มีการเปลี่ยนระบอบการเมืองอย่างถอนรากถอนโคนสู่ระบบสังคมนิยม นโยบายเศรษฐกิจทุกอย่างถูกรวบเข้ามาดูแลโดยส่วนกลางและนโยบายด้านเงินฝากคือหนึ่งในนั้น
ในปี 1923 ธนาคารกลางแห่งสหภาพโซเวียตถูกตั้งขึ้นโดยถูกเรียกว่า Gosbank เหมือนเดิม เครือข่ายของสถาบันเงินฝากที่เคยมีก็ถูกนำไปอยู่ใต้การดูแลของ Gosbank ก่อนจะเปลี่ยนมือมาสู่กระทรวงการคลังในปี 1929 เพื่อให้การดูแลนโยบายเงินฝากอยู่ใกล้ฝ่ายบริหารกว่าเดิม
โดยหลังจากนั้น 20 ปี ธุรกิจเงินฝากเติบโตมหาศาลจนมีสาขากว่า 42,000 ภายในดินแดนภายใต้การยึดครองของสหภาพโซเวียต
[ โซเวียตยุคปฏิรูปการเมืองและเศรษฐกิจ ]
ในช่วงปลายศตวรรษที่ 20 สหภาพโซเวียตเริ่มเกิดความเปลี่ยนแปลงจากภายในด้วยนโยบาย Perestroika หรือการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจไปสู่ความเป็นเสรีนิยมมากขึ้น
โดยในปี 1988 มีการปรับโครงสร้างระบบธนาคาร เปลี่ยน Gosbank จากธนาคารที่ทำทุกอย่างเบ็ดเสร็จ ไปสู่การเป็นธนาคารกลางที่เป็นเพียงหน่วยงานกำกับดูแล
และสร้างธนาคารภายใต้กำกับแยกต่างหาก 5 ธนาคาร โดยความถนัดแตกต่างกันไป เช่น การค้าระหว่างประเทศ การเกษตร หรือการขยายเงินกู้ให้ภาคเกษตรกรรม
Sberbank คือหนึ่งใน 5 ธนาคารที่เกิดขึ้น รับผิดชอบเรื่องการดูแลเงินฝากและสินเชื่อสำหรับแรงงานและประชาชนทั่วไป เป็นเหมือนร่มใหญ่ให้กับธนาคารเงินฝาก 15 ธนาคารของสหภาพโซเวียต
ในปี 1990 อีกหนึ่งจุดพลิกผันคือการล่มสลายของสหภาพโซเวียต โดย Sberbank ได้สืบทอดกิจการด้านเงินฝากของ Gosbank ของอดีตสหภาพโซเวียต
หลังจากนั้น Sberbank ก็ตกมาเป็นของสหพันธรัฐรัสเซีย ก่อนที่จะถูกโอนให้กับเอกชน ในปี 1991 ภายใต้รัฐบาลบอริส เยลต์ซิน
ในที่สุด Sberbank ได้กลายเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในรัสเซีย และมีการขยายกิจการออกไปยังต่างประเทศจำนวนมากดังที่ได้เห็นในปัจจุบัน
[ รัสเซียบุกยูเครนปี 2014 ]
การบุกยูเครนครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรกของรัสเซียในยุคสมัยใหม่
เพราะในปี 2014 รัสเซียก็เคยบุกยูเครนและผนวกเอาพื้นที่บริเวณคาบสมุทรไครเมียเข้ามาเป็นของตนเองมาก่อน โดยการกระทำดังกล่าวก็นำมาซึ่งการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจทั้งจากสหรัฐฯ สหภาพยุโรป สวิตเซอร์แลนด์ และยูเครนหลายระลอก
จนในปี 2017 ทาง Sberbank ต้องตัดใจขายบริษัทย่อยให้กับมหาเศรษฐีชาวยูเครน
แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบัน Sberbank อาจต้องเจอกับวิกฤติครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยเจอมาก่อน
เพราะเทคโนโลยีทำให้การนำเสนอข้อเท็จจริงและแพร่กระจายภาพของความรุนแรงสู่พลเมืองโลกรวดเร็ว เกิดขึ้นในอัตราเร่งที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ความเสียหายในเชิงภาพลักษณ์ของธุรกิจรัสเซียและการเรียกร้องให้ตอบโต้โดยนานาประเทศต่อรัสเซียจึงรุนแรงกว่าปี 2014
1
อย่างที่ได้เห็นไปแล้วว่าหลังเวลาผ่านไป 10 วัน นับตั้งแต่รัสเซียได้เหยียบย่างเข้าไปในภูมิภาคดอนบาส
Sberbank ต้องตกอยู่ในสภาพตกต่ำอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน หุ้นร่วงลงไปกว่า 90% ต้องประกาศถอนธุรกิจออกจากยุโรป แถมภาพลักษณ์ของธุรกิจก็แทบถูกทำลายอย่างราบคาบ
#TODAYBizview
#workpointTODAY
#สาระความรู้เพื่อวันนี้
ติดตาม TODAY Bizview จากทีม workpointTODAY
ไม่พลาดข่าวธุรกิจ การตลาด การเงิน เทคโนโลยี
กับเพจ TODAY Bizview https://www.facebook.com/todaybizview
ติดตามรายการ TOMORROW เทรนด์สำคัญของโลกเพื่อวันพรุ่งนี้
ติดตามรายการของ workpointTODAY
ติดต่อโฆษณาอีเมล advertorial@workpointnews.com
โฆษณา