10 มี.ค. 2022 เวลา 11:00 • หุ้น & เศรษฐกิจ
6 อัตราส่วนการเงินที่มือใหม่ควรรู้
ซื้อหุ้นอะไรดี ? ตอนนี้ตัวไหนกำลังมา ? บริษัทไหนน่าลงทุน ดูยังไง ? เป็นคำถามที่คนส่วนใหญ่ถามกันบ่อย
พูดถึงวิธีหาบริษัทที่น่าลงทุนมีอยู่หลายวิธี บางคนใช้วิธีฟังข้อมูลจากผู้รู้ ถามเพื่อนหรืออาจารย์ที่เราไว้ใจ สุดท้ายอาจจะแอบอ่านจากไลน์กลุ่มลับต่าง ๆ เช่น กลุ่มผีบอก กลุ่มพาขึ้นดอย และกลุ่มขึ้นให้สุดไปหยุดที่ดวงจันทร์ เป็นต้น
แต่เราจะมั่นใจได้ยังไงว่า หุ้นที่เราไปฟังเค้ามา น่าลงทุนและมีคุณภาพดีจริง ๆ
หนึ่งในวิธีที่นิยมใช้กันมากคือ การเปรียบเทียบด้วยอัตราส่วนการเงิน ที่จะช่วยแปลตัวเลขทางการเงินให้เป็นข้อมูลที่เข้าใจได้ง่าย ๆ เช่น ความสามารถในการทำกำไร ความสามารถในการชำระหนี้ และสภาพคล่อง เป็นต้น
1
วันนี้เราเลยจะชวนมาดู “6 อัตราส่วนการเงินที่นักลงทุนมือใหม่ควรรู้” คัดมาให้แล้วเน้น ๆ เอาไปใช้กันได้เลย
6 อัตราส่วนการเงินนี้ ผ่านการคัดกรองมาแล้วว่ามีความครอบคลุมในหลายมิติ ถ้าทำความเข้าใจให้ดี มันจะเป็นเหมือนลายแทงขุมสมบัติ ให้เรามองหาหุ้นชั้นยอดต่อไปได้
“เพราะอัตราส่วนการเงินเพียงตัวเดียว ไม่เพียงพอที่จะหาบริษัทชั้นยอดได้”
6 อัตราส่วนการเงิน ที่มือใหม่ควรรู้
แล้วอัตราส่วนนี้ ควรมีแนวโน้มแบบไหน ?
แนวโน้มพวกนี้ จริง ๆ แล้วก็คือ “สามัญสำนึกทั่วไป” หรือ Common Sense ของเรานี่เอง
6 อัตราส่วนนี้ ควรมีแนวโน้มแบบไหน ?
ตัวอย่างเช่น
1. ทุกคนอยากให้บริษัทมีกำไรเติบโตสม่ำเสมอทุกปี เพราะกำไรที่โตขึ้น สุดท้ายจะส่งผลให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้นด้วย
2. บริษัทควรสร้างผลตอบแทนให้ผู้ถือหุ้นได้อย่างเหมาะสม ถ้าไม่อย่างนั้น สู้เราเอาเงินไปลงทุนอย่างอื่น คงจะดีกว่า
3. อัตรากำไรขั้นต้นคงที่สม่ำเสมอ แสดงว่าบริษัทมีความสามารถในการตั้งราคาขาย มีอำนาจในการต่อรองราคากับลูกค้า ตัวอย่างที่เห็นชัด ๆ คือ ธุรกิจโรงพยาบาล เราจะไม่เคยเห็นลูกค้าขอลดราคาเหมือนกับการซื้อของในตลาดเลย
4. จะดีกว่ามั้ย ถ้าบริษัทไม่ต้องเสียเงินค่าโฆษณาสินค้ามากนัก ก็ยังขายของได้อยู่ตลอด
แต่ยังมีบางอุตสาหกรรมที่แข่งขันรุนแรงมาก ถึงขั้นยอมใช้รายได้ทุกบาทไปกับการโฆษณาเพื่อแย่งชิงลูกค้ามาใช้บริการของตน ตัวอย่างที่เราเห็นทุกวันคือ แอปซื้อของออนไลน์ และแอปส่งอาหารออนไลน์
ถ้าเราอยากลงทุนในบริษัทด้านบนนี้ คำถามที่ต้องตอบให้ได้คือ บริษัทไหนคือผู้ชนะในกลุ่มนี้ ? ซึ่งเราจะตอบได้ก็ต่อเมื่อเรามีความเข้าใจสินค้าและบริการนั้นแค่ไหน รู้ว่าบริษัทไหนเป็นเจ้าตลาด รู้ว่าคู่แข่งในธุรกิจนี้มีใครบ้าง แต่ละบริษัทมีจุดแข็งและจุดอ่อน อะไรบ้าง
5. ความสามารถในการชำระหนี้ดูจะมีความสำคัญมากขึ้น ท่ามกลางความไม่แน่นอนหลายอย่าง เช่น การระบาดไวรัสโควิด และวิกฤติสงครามรัสเซีย-ยูเครน
ถ้าบริษัทยังสามารถจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ได้อยู่ อย่างน้อยเราก็พอสบายใจได้ว่าบริษัทที่เราลงทุนนี้ มีความทนทานในระดับหนึ่ง
6. หนี้สินต่อทุนที่ต่ำ แสดงว่าบริษัทยังมีความสามารถในการก่อหนี้เพิ่มได้อีก ซึ่งจะมีความจำเป็นอย่างมาก ในภาวะที่ยากลำบากแบบโควิด ทำให้บางอุตสาหกรรมไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติ เช่น การท่องเที่ยว เป็นต้น
บริษัทไหนน่าลงทุน ?
ลองวิเคราะห์อัตราส่วนการเงินไปด้วยกัน (หมายเหตุ : ตัวเลขอัตราส่วนการเงินเหล่านี้เป็นการสมมุติขึ้นมา)
บริษัทไหนน่าลงทุน ?
🖋 EPS (กำไรสุทธิต่อหุ้น)
ดูจะเป็นอัตราส่วนที่มีความสำคัญมากที่สุด แต่การดูเพียงแค่อัตราส่วนนี้อย่างเดียว อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะบางบริษัทอาจใช้วิธีการซื้อหุ้นคืน เพื่อทำให้จำนวนหุ้นลดลง จนเหมือนว่า EPS เติบโต แท้จริงแล้วกำไรของบริษัทอาจไม่โตขึ้นมากเลย
🖋 ROE (อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น)
ROE ที่สูงสม่ำเสมอ หมายความว่าผู้ถือหุ้นก็จะมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นทุกปีเช่นกัน แต่อัตราส่วนนี้ควรดูควบคู่กับอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) เพราะบางบริษัทอาจสร้างกำไรขึ้นมา ด้วยวิธีการกู้หนี้จำนวนมาก แทนการใช้เงินลงทุนจากผู้ถือหุ้น
มองผ่าน ๆ ดูเหมือนจะดี แต่การที่บริษัทมีหนี้เยอะเกินไป ก็อาจจะเป็นความเสี่ยงในอนาคตได้ ถึงคราวที่จำเป็นต้องกู้เงินเพิ่ม อาจจะกู้ไม่ได้
🖋 GPM (อัตรากำไรขั้นต้น)
บริษัทที่รักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ได้ในระยะยาว ดูจะน่าลงทุนกว่ามาก เพราะนั่นหมายความว่าบริษัทไม่จำเป็นต้องลดราคาสินค้าเพื่อดึงดูดลูกค้าเลย
บริษัทไหนน่าลงทุน ? (ต่อ)
🖋 SG&A to Sales (ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารต่อรายได้)
ให้มองหาบริษัทที่มีอัตราส่วนนี้ คงที่หรือลดลง เพราะนั่นหมายความว่า บริษัทไม่ต้องโฆษณามากนักก็ขายของได้
🖋 ICR (ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย)
ถ้าบริษัทไหนมีอัตราส่วนนี้สูง ๆ เราในฐานะผู้ลงทุนก็ยิ่งมีความอุ่นใจได้ระดับหนึ่ง
1
🖋 D/E (อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน)
อัตราส่วนนี้ยิ่งต่ำยิ่งปลอดภัย และถ้าบริษัทสามารถสร้างกำไรจากเงินในส่วนของผู้ถือหุ้นอย่างเดียวได้ ยิ่งน่าสนใจ เพราะนั่นหมายความว่าถ้าในอนาคตบริษัทมีการกู้หนี้มาลงทุนเพิ่ม กำไรของบริษัทก็มีโอกาสจะเติบโตได้อีก
แต่มองอีกมุมหนึ่ง อัตราส่วน D/E ที่ต่ำเกินไป อาจทำให้ราคาหุ้นดูไม่น่าสนใจ เพราะบริษัทไม่ยอมกู้หนี้มาลงทุนเพิ่ม จึงไม่สามารถสร้างการเติบโตของกำไรได้เท่าที่ควร
📌 หมายเหตุ : ข้อมูลอัตราการส่วนเงิน ถ้าเป็นหุ้นไทยเราเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ SET และในงบการเงินของแต่ละบริษัท แต่ถ้าเป็นหุ้นต่างประเทศ แนะนำเว็บไซต์ Seeking Alpha จะตอบโจทย์มากที่สุด
1
สรุป !! บริษัทไหนน่าลงทุน ? เฉลยอยู่ในคอมเมนต์
สิ่งที่ควรรู้ก่อนการใช้ “อัตราส่วนการเงิน”
สิ่งที่ควรรู้ก่อนการใช้ “อัตราส่วนการเงิน”
1. การเปรียบเทียบบริษัทด้วยอัตราส่วนการเงิน ควรเทียบในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพราะแต่ละอุตสาหกรรมก็มีโครงสร้างการเงิน ความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่างกัน การเปรียบเทียบข้ามอุตสาหกรรมอาจทำให้เข้าใจผิดได้
2. แม้จะอยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว ก็ยังเปรียบเทียบกันตรง ๆ ไม่ได้ เช่น ธุรกิจการบิน และธุรกิจโรงแรม ทั้งคู่อยู่ในอุตสาหกรรมการบริการเหมือนกัน แต่มีลักษณะธุรกิจต่างกันสิ้นเชิง
3. อัตราส่วนการเงินเพียงตัวเดียวไม่อาจสรุปได้ว่าบริษัทนั้นเป็นบริษัทชั้นยอด เราควรจะดูหลายอัตราส่วนประกอบกัน และถ้าจะให้ดี ควรใช้การวิเคราะห์เชิงคุณภาพประกอบด้วย
4. บริษัทชั้นยอดไม่จำเป็นต้องมีอัตราส่วนการเงินดีเยี่ยมทุกข้อ แต่ขอให้เข้าเป้าหลายข้อ ก็ถือว่าใช้ได้แล้ว เพราะในโลกการลงทุนจริง ๆ บริษัทที่มีอัตราส่วนการเงินดีเยี่ยมทุกข้อนั้น หาได้ยากมากหรือไม่มีเลย
หมายเหตุ : บทความนี้จัดทำเพื่อนำเสนอข้อมูลเท่านั้น มิได้มีเจตนาในการชี้นำหรือแนะนำการลงทุนแต่อย่างใด นักลงทุนควรศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม ก่อนตัดสินใจลงทุน
"เพราะการเงินเป็นเรื่องของทุกคน"
พวกเรากลุ่มคนที่รักเรื่องราวของการเงินการลงทุนเป็นชีวิตจิตใจ จึงก่อตั้งเพจ Dime! (ไดม์!) ขึ้น
Dime! แปลว่าเหรียญ 10 เซ็นต์ (ประมาณ 3 บาท) สื่อถึงความตั้งใจของเราที่จะทำให้การเงินการลงทุนเป็นเรื่องที่คุณเข้าถึงได้ เข้าใจง่าย และนำไปประยุกต์ใช้ต่อได้จริง เหมือนกับเงิน 1 ไดม์ ที่ใคร ๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
หากทุกคนมีความรู้ทางการเงินที่แข็งแรง
สังคมของเราก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
โฆษณา