Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
เมืองไทยไดอารี่ by Supawan
•
ติดตาม
7 มี.ค. 2022 เวลา 14:48 • ท่องเที่ยว
วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร
วัดเทพศิรินทราวาส .. ถือเป็นวัดอีกวัดหนึ่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ที่มีความน่าสนใจ สวยงาม และมีความโดดเด่นด้านสถาปัตยกรรมอย่างมากอีกแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร
.. สร้างขึ้นในรัชกาลของ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อปี พ.ศ. 2419 ขณะมีพระชนมายุครบ 25 พรรษาพอดี เพื่อทรงเฉลิมพระเกียรติและอุทิศพระราชกุศลสนองพระเดชพระคุณกรมสมเด็จพระเทพศิรินทรามาตย์ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ซึ่งได้เสด็จสวรรคตตั้งแต่รัชกาลที่ 5 ยังทรงพระเยาว์
.. ทรงให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ เป็นแม่กองในการก่อสร้าง พระศิริสมบัติ (กร) และพระวิจิตรรจนาเป็นนายกอง โดยเริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2419 ก่อนจะได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาใน พ.ศ. 2421 ใช้เวลาทั้งสิ้น 3 ปีด้วยกัน และพระราชทานนามว่า ‘วัดเทพศิรินทราวาส’ ตามพระนามของพระบรมราชชนนีเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ
พระอุโบสถของวัดเทพศิรินทราวาส ... ทำหน้าที่เป็นทั้งพระอุโบสถและพระวิหารในตัว ซึ่งหมายความว่า จะต้องมีใบเสมาอยู่ที่ไหนสักแห่ง ..โดยเสมาของวัดเทพศิรินทร์ฯ มีอยู่ 2 ชั้น ชั้นในเป็นแผ่นหินที่ติดอยู่บนพื้นแบบเดียวกับใบเสมาของวัดเบญจมบพิตรฯ
ส่วนเสมาชั้นนอกนั้นอยู่ที่มุมและด้านของแนวกำแพงแก้ว ซึ่งมีทั้งต้นไม้ ก้อนหิน และบ่อน้ำ ที่ปัจจุบันถูกถมและปลูกต้นไม้ขึ้นแทน ซึ่งแม้เสมา 2 ชั้นจะพบมาก่อนแล้ว เช่น วัดโสมนัสวิหาร หรือวัดมกุฏกษัตริยาราม แต่การใช้สิ่งอื่นที่ไม่ใช่ใบเสมาที่เราคุ้นเคยกันมาใช้เป็นเสมานั้น ถือเป็นของแปลกที่หาชมได้ยากยิ่งในยุคนี้
อาคารพระอุโบสถ .. เป็นแบบผสมผสานอาคารแบบที่นิยมในสมัยรัชกาลที่ 3 และรัชกาลที่ 4 เข้าไว้ด้วยกัน และท่าสะดุดตามากๆ คือ เสาพาไลขนาดใหญ่ที่มองดูแล้วคล้ายเสาที่พาธินอน ประเทศกรีซ ล้อมรอบตัวพระอุโบสถ .. หลังคามุงกระเบื้องเคลือบสี
เครื่องลำยอง หรือจั่ว .. ตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 4 เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านแนวคิดของชนชั้นสูงในสมัยนั้น ที่เปลี่ยนจากแนวคิดของฮินดู เข้าสู่ยุคสมัยแห่งสัจนิยม คือมีความเสมือนจริงอันมีที่มาจากโลกตะวันตก โดยเฉพาะในอังกฤษและฝรั่งเศส ที่นิยมใช้ตราพระบรมราชสัญลักษณ์ประดับสิ่งก่อสร้างหรือข้าวของเครื่องใช้
ดังนั้นเครื่องลำยองที่หน้าจั่วที่มีความหมายถึงพระมหากษัตริย์ จึงเปลี่ยนจากพระนารายณ์ทรงครุฑหรือพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณมาเป็น ลายจุลมงกุฏ หรือ “พระเกี้ยว” ประดิษฐานบนพาน อันเป็นพระบรมราชสัญลักษณ์ของรัชกาลที่ 5 และใช้สีชมพูเป็นสีพื้นของหน้าบัน ซึ่งเป็นสีประจำวันประสูติของรัชกาลที่ 5
อีกทั้งยังเปลี่ยนจากช่อฟ้าและหางหงส์ให้กลายเป็น ‘นกเจ่า’ หรือนาคที่มีปากเป็นนก ซึ่งพบได้ในกรณีที่หน้าบันเป็นงานก่ออิฐถือปูน .. แต่แม้จะมีแนวทางมาจากโลกตะวันตก แต่ก็ยังนำมาผสมผสานกับความเป็นตะวันออก เพราะลายพันธุ์พฤกษาด้านหลังเป็นสิ่งที่พบตั้งแต่ในสมัยรัชกาลที่ 3 ที่นิยมความเป็นจีน
ซุ้มประตู .. ปกติเราจะคุ้นเคยกับซุ้มประตูวัดต่างๆที่ทำซุ้มอยู่ด้านนอก ประดับด้วยลวดลายต่างๆ แต่วัดแห่งนี้ทำซุ้มไว้ด้านในด้วย โดยแต่ละซุ้มประดับด้วยตราพระบรมราชสัญลักษณ์ นั่นก็คือพระเกี้ยวประดิษฐานบนพานแว่นฟ้าบนหลังช้างสามเศียร
ซุ้มประตูด้านนอกสลักลวดลายปูนปั้นเป็นทรงพระมหามงกุฎกระเบื้องเคลือบ
ภาพเพดานตรงโถงทางเข้าสู่พระอุโบสถ
... เมื่อเดินเข้าไปภายในพระอุโบสถ ท่านก็จะตกตะลึงในความงดงาม คือ มีการตกแต่งด้วยลายรดน้ำ พื้นเพดานด้านในทาด้วยชาดและสลักลวดลายเป็นรูปเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ตระกูล
ซุ้มประตูหน้าต่างด้านในสลักลวดลายเป็นซุ้มเครือไม้ดอกผูกล้อมตราพระเกี้ยวที่อยู่เหนือพานรองสองชั้น โดยมีช้างสามเศียรยืนบนแท่นทูนพานเครื่องสูง มีราชสีห์กับคชสีห์ประกอบเครื่องสูงทั้งสองข้าง
ภายในพระอุโบสถ .. สิ่งที่โดดเด่น งดงามมากอยู่เบื้องหน้าด้านในสุด คือ ฐานชุกชีขนาดใหญ่โตมหึมา ฐานชุกชีนี้แต่เดิมเคยเป็นพระแท่นเบญจาสำหรับประดิษฐานพระโกศของสมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระบรมราชเทวี หรือพระนางเรือล่ม มาก่อน โดยหลังจากพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพเมื่อปลาย พ.ศ. 2423 รัชกาลที่ 5 ได้โปรดฯ ให้นำพระแท่นเบญจาชั้นบนและชั้นกลางมาใช้ประดิษฐานพระพุทธรูปที่วัดแห่งนี้
.. โดยชั้นบนสุดประดิษฐานพระประธาน ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิที่มีจีวรยับย่นสมจริง ตามแนวคิดสัจนิยมที่มีมาแล้วตั้งแต่ในรัชกาลก่อน และรัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หล่อขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2427 ประดิษฐานอยู่ตรงกลางปราสาทจัตุรมุข โดดเด่นด้วยสีทองอร่ามตา ขนาบสองข้างด้วยพระอัครสาวก เป็นที่ประทับใจของผู้พบเห็น
พระนิรันตราย .. เป็นพระพุทธรูปที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 โปรดให้สร้างถวายแก่วัดในธรรมยุตินิกาย ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาไว้ที่วัดแห่งนี้เมื่อปี พ.ศ. 2421 ตามพระราชประสงค์ของพระบรมชนกนาถ ซึ่งประดิษฐานไว้อยู่ตรงกลางบนฐานชุกชีที่ตรงกับพระประธานพอดี
แต่บนฐานชุกชีนี้ยังเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปสำคัญอีก 2 องค์ นั่นก็คือ พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชชนนี ซึ่งเป็นพระพุทธรูปยืนทรงเครื่อง ปางห้ามสมุทร สูง 1.73 เมตร และ พระพุทธปฏิมากรฉลองพระองค์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจันทรมณฑล โสภณภควดี กรมหลวงวิสุทธิกระษัตริย์ พระขนิษฐาของรัชกาลที่ 5 ที่สิ้นพระชนม์ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ ซึ่งเป็นพระพุทธรูปหล่อ ยืนทรงเครื่อง ปางห้ามญาติ สูง 1.50 เมตร .. พระพุทธรูปทั้งสององค์หล่อขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 4 และต่อมาได้นำประดิษฐานยังวัดแห่งนี้พร้อมๆ กัน
พระพุทธรูปปางมารวิชัย สมัยเชียงแสน .. เดิมทีนั้น สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าเยาวมาลย์นฤมล กรมขุนสวรรคโลกลักษณวดีทรงขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตในการบูรณะ แต่เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญมาประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถแห่งนี้
ภาพด้านข้างของฐานชุดชี
ภาพด้านหลังของฐานชุดชี
จิตรกรรมบนบานประตู
ลายดอกไม้ที่ใช้ประดับเต็มพื้นที่ผนังพระอุโบสถ คือ “ดอกรำเพย” .. อันเป็นพระนามเดิมของ “สมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี”
เพดานของโบสถ์ ถือเป็นที่สุดแห่งความอลังการของวัดแห่งนี้ ... เพดานทั้งพื้นที่ ประดับตกแต่งด้วยปูนปั้นลวดลายเครื่องราชอิสริยาภรณ์ที่มีค่ายิ่ง ๕ ตระกูล อันเป็นเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ในขณะนั้น
.. ได้แก่มงคลนพรัตน์ราชวราภรณ์ฯมหาจักรีบรมราชวงศ์ฯ .. ปฐมจุลจอมเก้าฯ เชิดชูยิ่งช้างเผือก และเชิดชูยิ่งมงกุฎสยาม พร้อมตราพระราชลัญกร แถบเครื่องอิสริยาภรณ์ต่างๆโดยมีลวดลายดอกรำเพยประกอบให้งามตายิ่ง
.. การประดับเช่นนี้พบได้ไม่มากนัก หาชมได้ยาก ที่พบเห็นการประดับบนเพดานเหมือนกันจะมีที่ วิหารพระพุทธไสยาสน์ วัดปรมัยยิกาวาส จังหวัดนนทบุรี และปราสาทพระเทพบิดร วัดพระศรีรัตนศาสดาราม กรุงเทพมหานคร .. แต่ถ้าเป็นบนบานประตู จะพบที่ปราสาทพระเทพบิดรและที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมาราม กรุงเทพมหานคร
พื้นที่บริเวณรอบๆพระอุโบสถ ..
พระศรีมหาโพธิ์ .. บริเวณกึ่งกลางของแนวกำแพงแก้วยังเป็นที่ประดิษฐานพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์จากต้นพระศรีมหาโพธิ์ ณ วัดนิเวศธรรมประวัติ ที่เป็นพันธุ์จากพุทธคยา ประเทศอินเดีย ซึ่งต่างจากต้นพระศรีมหาโพธิ์ทุกต้นที่เข้ามายังประเทศไทยก่อนรัชกาลที่ 5 ที่จะเป็นพันธุ์จากต้นที่เมืองอนุราธปุระ ประเทศศรีลังกา
โดยต้นพระศรีมหาโพธิ์นี้มีสถานะเป็นเจดีย์ประธานของวัด โดยมีสถานะเป็นบริโภคเจดีย์ ซึ่งหมายถึงบรรดาสิ่งต่างๆ ที่พระพุทธเจ้าเคยใช้ ไม่ว่าจะเป็นบาตร จีวร หรือแม้แต่ต้นพระศรีมหาโพธิ์ก็ได้เช่นกัน
มณฑปจาตุรนรัศมี และมณฑปภาณุรังสีอนุสรณ์ .. ตั้งอยู่ภายในบริเวณกำพงแก้ว กลางสนามหญ้าด้านหน้าของพระอุโบสถ จำนวน 2 หลัง ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้น ได้แก่ ..
“จาตุรนตอนุสสารี” ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือ เป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์ และราชสกุลจักรพันธุ์
ส่วนหลังที่อยู่ทางทิศใต้มีชื่อว่า “ภาณุรังษีอนุสสร” เป็นที่บรรจุพระสรีรังคารของสมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และราชสกุลภาณุพันธุ์โดยภายในอนุสรณ์สถานทั้ง 2 หลังนี้มีพระพุทธรูปปางห้ามสมุทรประดิษฐานอยู่หลังละ 1 องค์
1
อาคารพิพิธภัณฑ์ทางพระพุทธศาสนา .. ตัวอาคารมีลักษณะเป็นอาคารแบบตะวันตก สูง 2 ชั้น .. เริ่มโครงการพิพิธภัณฑ์เมื่อปี พ.ศ.2551 จากแนวคิดของผู้ก่อตั้ง ที่มีความศรัทธา ที่ต้องการสร้างพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ ด้วยการใช้สื่อด้าน Computer Graphic, Video Animation และ Presentation ผสมผสานอย่างลงตัว กับการตกแต่งทางสถาปัตยกรรมภายในที่งดงาม มาใช้ในการเผยแพร่พระพุทธศาสนาในยุคโลกาภิวัฒน์ และเพื่อเฉลิมฉลองวาระ 2,600 ปี แห่งพุทธศาสนา
ภายในมีการจัดแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับ พุทธประวัติ แบ่งออกเป็น 4 ห้อง คือ ห้องปฐมบท ห้องตรัสรู้ ห้องปฐมเทศนา และห้องปรินิพพาน
การนำเสนอ .. ใช้เทคโนโลยีการถ่ายภาพจากสถานที่จริง ผสมผสานกับการผลิตภาพทางคอมพิวเตอร์ นำเสนอออกมาในรูปแบบ 4 มิติ ทั้งแสง สี เสียง ความรู้สึกสัมผัส
นอกจากนี้ยังจัดแสดง พระราชประวัติสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี บรมราชชนนี พระราชประวัติของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 และปฐมเหตุแห่งการสร้างวัดเทพศิรินทราวาส
ห้องพระอุโบสถ เป็นการสร้างห้องจำลอง ย่อส่วนพระอุโบสถ วัดเทพศิรินทราวาส ทั้งฐานชุกชี พระประธาน พระอัครสาวก รวมถึงบานประตู หน้าต่าง ลวดลายลงรักต่างๆ จำลองเหมือนจริง นอกจากนี้จะมีการบรรยายให้เราได้ทราบถึงประวัติของพระพุทธรูปแต่ละองค์ในอุโบสถด้วย
ห้องศรีมหาโพธิ์ จัดแสดงแบ่งเขตเป็นเขตพุทธาวาสและเขตสังฆาวาส จำลองกำแพงแก้ว ศิลาหินก้อนใหญ่ และต้นศรีมหาพิธิ์ที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แห่มาปลูกที่วัดเทพศิรินทราวาส
.. วันที่เราไปเยือน พิพิธภัณฑ์ไม่เปิดให้เข้าชมค่ะ
กุฏิสมเด็จ ..
กุฏิสมเด็จฯ หลังนี้ที่หน้าตึกมีเลขพ.ศ.กำกับ (2494) เป็นกุฏิที่จะสร้างถวายเป็นที่อยู่ของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (เจริญ ญาณวรเถร) แต่ท่านได้มรณภาพก่อน
สุสานหลวง .. คนมักเข้าใจว่า สุสานหลวง มีอยู่ที่วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามแห่งเดียว แต่ความจริงแล้ว “เมรุหลวง หน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส” ก็เรียกว่า สุสานหลวง เช่นกัน
“เมรุหลวง หน้าพลับพลาอิสริยาภรณ์” เป็นสิ่งก่อสร้างที่เป็นที่รู้จักกันดีของวัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร สร้างในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพื่ออุทิศพระราชกุศลถวายสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี พระบรมราชชนนี โดยโปรดให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมขุนเจริญผลพูลสวัสดิ์ เป็นแม่กองก่อสร้าง พระศิริสมบัติ (กร) และพระวิจิตรรจนา เป็นนายงาน เริ่มก่อสร้าง พ.ศ. 2419
รัชกาลที่ 5 ทรงสถาปนาสุสานหลวง หรือฌาปนสถานหลวงขึ้น ณ วัดเทพศิรินทราวาส ด้วยมีพระราชดำริและพระราชประสงค์ให้เป็นฌาปนสถานสำหรับพระราชวงศ์ซึ่งไม่ได้สร้างพระเมรุที่ท้องสนามหลวง และสำหรับชนทุกชั้นบรรดาศักดิ์ นับเป็นเรื่องพิเศษ เนื่องจากโดยปกติแล้วจะไม่มีฌาปนสถานในพระอารามหลวง
ภายในบริเวณสุสานหลวงมี “พลับพลาอิสริยาภรณ์” ซึ่งรัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างเป็นที่ตั้งพระศพพระเจ้าลูกยาเธอ พระองค์เจ้าอิศริยาภรณ์ เมื่อ พ.ศ.2437 ในการจัดพิธีพระราชทานเพลิงพระศพ ณ สุสานหลวง เป็นพระองค์แรก ศาลานี้ใช้เป็นพลับพลาที่ประทับเมื่อเสด็จพระราชทานเพลิงสืบมาจนถึงปัจจุบัน
ในการนี้ สุสานหลวง วัดเทพศิรินทราวาส จะใช้เป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราช ขณะเดียวกันเพื่อเป็นการถวายพระเกียรติในวัดหลักทั่วประเทศไทยได้จัดพิธีวางดอกไม้จันทน์เพื่อประกอบพระราชพิธีพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระสังฆราชเช่นกัน
นอกจากนี้ วัดเทพศิรินทราวาส ยังมีหมู่กุฏิในเขตสังฆาวาสที่มีความงามในเชิงช่างอีกหลายหลัง เป็นกลุ่มอาคารอีกชุดที่มีความงาม ความน่าสนใจ และสะท้อนให้เห็นยุคสมัยได้เช่นเดียวกัน
*******************
เที่ยวทั่วไทย ไปทั่วโลกกับพี่สุ … รวม link บทความที่เขียนในเพจ ..
***เมืองไทย ไดอารี่ by Supawan
***Supawan’s colorful world
***สถานีอร่อย by Supawan
https://www.blockdit.com/users/5eb3a11f4a0b280c7750b7c1
1 บันทึก
5
2
5
1
5
2
5
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย