8 มี.ค. 2022 เวลา 11:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ก้าวสู่แนวรบที่ 3 ของ สงครามค่าเงินรูเบิล
เช้าวันนี้ สนามรบทางเศรษฐกิจอีกหนึ่งด้าน ที่มีการรุกคืบ ต่อสู้กันอย่างดุเดือด คือ สงครามค่าเงินรูเบิล
1
ล่าสุด ข่าวรัฐบาลสหรัฐกำลังพิจารณาไม่นำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ทำให้สถานการณ์ค่าเงินรัสเซีย ย่ำแย่ลงไปเพิ่มเติม
จากเดิมในสัปดาห์ก่อนสงครามเปิดฉาก ค่าเงินรูเบิลขึ้นลงอยู่แถวๆ 75 รูเบิล/ดอลลาร์
แต่ครั้นมีข่าวสงคราม ค่าเงินรูเบิลเสื่อมค่าลง 3 รอบ ในระยะเวลาสั้นๆ เพียง 10 วันทำการ
1
โดยทุกครั้ง ธนาคารกลางรัสเซียต้องเข้าไปดูแล ประคองเอาไว้
รอบแรก หลังท่านปูตินประกาศส่งกองทัพเข้าบุกยูเครน อ่อนค่ามาที่ 85-90 รูเบิล/ดอลลาร์
รอบสอง หลังประกาศ Freeze เงินสำรองต่างประเทศของรัสเซีย และไม่ให้ทำธุรกรรมผ่าน Swift ค่าเงินอ่อนค่าอีกรอบมาที่ ประมาณ 110 รูเบิล/ดอลลาร์ พร้อมวิ่งขึ้นลงไปมาระหว่าง 100-120 รูเบิล/ดอลลาร์
รอบที่สาม หลังมีข่าวที่รัฐบาลสหรัฐจะไม่รับนำเข้าน้ำมันจากรัสเซีย ค่าเงินจึงอ่อนอีกรอบไปอยู่แถวๆ 150 รูเบิล/ดอลลาร์
ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะ น้ำมันและก๊าซเป็นสินค้าหลักที่รัสเซียส่งออก ซึ่งมีมูลค่ามากกว่า 50% ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมด เป็นกล่องหัวใจของรัสเซีย หากรัสเซียไม่สามารถส่งออกน้ำมันได้ ก็จะเริ่มขาดเงินตราต่างประเทศ ที่จะไหลเข้ามาสู่ตลาดเงินตราต่างประเทศของตน
4
จึงไม่น่าแปลกใจ ในรอบที่สามนี้ ค่าเงินรูเบิลถึงอ่อนตัวลงไปอย่างรวดเร็วอีก 30 รูเบิล/ดอลลาร์ ตั้งแต่เปิดตลาดเช้านี้ และผันผวนไปมาระหว่าง 140-160 รูเบิล/ดอลลาร์
2
ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ธนาคารกลางรัสเซียได้งัดมาตรการ Capital Controls ที่เข้มงวดอย่างยิ่งหลากหลายมาตรการ มาประกาศใช้แล้ว
แล้วนัยยะที่ตามมาคืออะไร
1
การที่ค่าเงินอ่อนค่าลงจาก 75 รูเบิล/ดอลลาร์เป็น 153 รูเบิล/ดอลลาร์ ทำให้อดคิดถึงช่วงต้มยำกุ้งของไทยไม่ได้
ตอนนั้น ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงจาก 25 บาท เป็น 50 กว่าบาท (แต่ของเราใช้เวลานานกว่ามาก คือประมาณ 6 เดือน)
ผลที่ตามมา ก็คือ ความเสียหายอย่างรุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะคนที่กู้ยืมมาในรูปของเงินตราต่างประเทศ อยู่ๆ ก็มีภาระหนี้เพิ่มอีกเท่าตัว นอกจากนี้ แบงก์ชาติก็ต้องขึ้นดอกเบี้ยไปสูงลิ่วเพื่อไปดูแลค่าเงิน ทำให้เกิดภาระอีกทาง
1
ด้วยเหตุนี้ ในช่วงดังกล่าว
  • หนี้เสียในระบบธนาคารไทยจึงเพิ่มไปสูงกว่า 50%
  • บริษัทเอกชนจำนวนมากกลายเป็น NPL
  • ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุนจำนวนมาก ต้องปิดกิจการไป
  • เงินเฟ้อเพิ่มสูง
  • เศรษฐกิจถดถอยอย่างรุนแรง
  • ประชาชนไม่พอใจกับรัฐบาลที่ดูแลประเทศอยู่ในขณะนั้น
3
นี่คงเป็นสิ่งที่ฝ่ายพันธมิตร NATO และสหรัฐต้องการให้เกิดขึ้นในรัสเซีย
คงต้องรอดูกันต่อไปว่า รัสเซียจะแก้เกมส์อย่างไร เพราะถ้าดูเร็วๆ เงินเฟ้อ คงเพิ่มขึ้นแน่ ยุคข้าวยากหมากแพงคงมาถึง ซ้ำเติมด้วยดอกเบี้ยที่สูงลิ่ว ส่วนจะลุกลามกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจในรัสเซีย มีบริษัทเจ๊ง ธนาคารล้ม หรือไม่ คงต้องติดตามต่อไปครับ
1
ผู้เขียน : กอบศักดิ์ ภูตระกูล
▶️ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
1
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา