9 มี.ค. 2022 เวลา 08:33 • หนังสือ
ความเจ็บปวดที่ทานทนได้
ความเจ็บปวดที่ทานทนได้
1
ผมกำลังเขียนบันทึกนี้ขณะบาดเจ็บต้องนั่งรถเข็น คุณหมอแจ้งว่ากล้ามเนื้อและเอ็นใกล้เข่าบาดเจ็บจากวีรกรรมกระโดดจากเวทีขณะร้องเพลงอย่างเมามัน
ชีวิตคือการบาดเจ็บซ้ำๆ
น่าสนใจที่บางครั้งเราทนได้ และเหตุใดบางครั้งเกินทนไหว
2
มีใครอยากบาดเจ็บ แต่เมื่อเกิดขึ้นแล้วโดยธรรมชาติเรามักเลือกวิธีให้ตนเองสองแนวทางด้วยกัน แบบแรกคือผลักไสความเจ็บปวดนั้น ปฏิเสธว่ามันไม่มีอยู่ กลบความเศร้าด้วยรอยยิ้ม พยายามใช้ชีวิตต่อไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แบบสองคือซ้ำเติมตัวเองด้วยการตอกย้ำความผิดหวัง คิดย้ำเหมือนขยี้แผลให้ลึกและเรื้อรังยิ่งขึ้น
การปฏิเสธความจริงว่าฉันไม่เจ็บเป็นหนทางเยียวยาใจตัวเองอย่างหนึ่งที่คนจำนวนไม่น้อยเลือกทำโดยอัตโนมัติ มันแทบเป็นกระบวนการโดยธรรมชาติด้วยซ้ำ ใช้เวลาสักพักจึงยอมรับว่าตัวเองบอบช้ำจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนวิธีที่สองเป็นด้านกลับ แทนที่ทำเป็นมองไม่เห็นกลับจ้องเขม็งไปที่แผล และขยายขนาดเพิ่มความช้ำแล้วดำดิ่งลงไปในความเจ็บปวด
1
ทั้งสองวิธีล้วนสร้าง ‘แผลเรื้อรัง’
3
วิกเตอร์ ฟรังเคิล จิตแพทย์ชาวออสเตรียกล่าวไว้ว่า “ความเจ็บปวดสามารถทานทนได้เมื่อเรามองเห็นจุดสิ้นสุดของมัน มิใช่เมื่อเราปฏิเสธว่ามันไม่มีอยู่”
3
สองประโยคสั้นๆ นี้ชวนทบทวนเกี่ยวกับอาการเจ็บปวดทั้งทางกายและใจ
ผมนึกถึงภาพยนตร์รันทดใจที่ตัวเองสามารถนั่งดูได้ทั้งที่เจ็บปวดทรมาน เพราะทราบว่าถึงจุดหนึ่งเรื่องราวจะคลี่คลาย และความเจ็บช้ำทั้งหมดนี้จะสิ้นสุดลง
การมีอยู่ของบาดแผลมิใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง ตราบที่เราตระหนักรู้ว่าวันหนึ่งย่อมไปถึงจุดสิ้นสุด หรือสถานการณ์ไม่ชอบใจก็ยังทนได้เมื่อมองไปแล้วตอบตัวเองได้ว่ามันจบลงเมื่อไหร่
1
เทียบกับตัวฟรังเคิลเอง สถานการณ์เลวร้ายที่เขาเผชิญไม่ต่างกับนรกบนดิน ชีวิตในค่ายกักกันนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง มองไปข้างหน้าก็ไม่เห็นจุดสิ้นสุด ฉะนั้น สิ่งหล่อเลี้ยงลมหายใจจึงมีเพียงความหวังและความหมายของชีวิตที่เขายังคงเชื่อว่าหากรอดชีวิตจากค่ายกักกันอันโหดร้ายนี้ไปได้จะสามารถนำเอาประสบการณ์อันมีค่านี้ไปเป็นบทเรียนให้คนอื่นได้เรียนรู้
1
เขามิได้ปฏิเสธว่านรกตรงหน้าไม่มีจริง ขณะเดียวกันก็มิได้มองว่ามันจะดำเนินต่อไปโดยไม่มีที่สิ้นสุด
1
4
ผมไม่แน่ใจว่ามีความเจ็บปวดชนิดใดบ้างที่ดำเนินต่อเนื่องยาวนานโดยไม่สิ้นสุด เพราะถึงวันหนึ่งเจ้าของความเจ็บปวดนี่เองที่ต้องลาจากโลกใบนี้ไป วันนั้นความเจ็บปวดย่อมสิ้นสุดลงด้วยเช่นกัน
1
ในวัย 40 กว่าปี ทุกครั้งที่เจ็บปวดทางกายผมมักคอยสังเกตศักยภาพในการฟื้นฟูเยียวยาตนเองของร่างกายอันน่าอัศจรรย์ใจ ในแต่ละวันเราจะพบว่าร่างกายค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมาทีละนิด จากบวมก็ยุบ จากช้ำก็จาง จากเจ็บมากก็ลดลง
ครั้งนี้ก็เช่นกัน ผมเป็นเดือดเป็นร้อนไม่มากนักเมื่อมองเห็นการฟื้นตัวทีละเล็กทีละน้อยในแต่ละวัน เมื่อรับรู้ว่าวันหนึ่งความเจ็บปวดนี้ย่อมสิ้นสุดลง เพียงอดทนและรอคอย
ธรรมชาติของมนุษย์คือการกลับมาสู่การมีชีวิตต่อไป
3
ตราบที่มันสามารถทำได้
โดยไม่ต้องสั่งการแต่อย่างใด ร่างกายมีธรรมชาติของการฟื้นคืนและ ‘หายบาดเจ็บ’ โดยตัวมันเอง
ในแง่ของจิตใจ เราต่างทราบดีว่าวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิตล้วนสร้างให้เราจดจำเรื่องร้ายลึกกว่าเรื่องดี เพราะถ้าไม่จำย่อมไม่เข็ดหลาบ มีโอกาสพลาดอีกในครั้งหน้า ทำให้ต้องเจ็บอีกหนหรืออาจอันตรายถึงตายได้
กระนั้น เรื่องร้ายก็จะค่อยๆ จางหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน
นอกเสียจากเราจะเหนี่ยวรั้งมันไว้ด้วยสองวิธีที่กล่าวไปข้างต้น
ซ่อน หรือ ขยี้
5
ไม่มีใครหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดได้ บางทีมันพุ่งเข้าใส่เรา บางทีเราเป็นฝ่ายแกว่งเท้าไปหามัน ในห้วงเวลาของความเจ็บปวด สิ่งหนึ่งที่พอจะช่วยให้เราอยู่กับบาดแผลหรือสถานการณ์เลวร้ายนั้นได้คือการมองไปข้างหน้าแล้วตอบตัวเองว่าวันหนึ่งมันจะสิ้นสุดลงใช่ไหม
หากคำตอบคือใช่ ผมเห็นด้วยกับฟรังเคิลว่าเราจะทานทนมันได้
หากคำตอบคือไม่ น่าถามต่อไปว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างกับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ส่วนหนึ่งผมคิดว่าอย่างน้อยที่สุดเราสามารถผินหน้าไปมองเรื่องอื่นที่ยังมีด้านสวยงาม แม้เจ็บเรื่องนี้ ยังมีเรื่องอื่นชุบชูใจ แต่ถ้าวันใดรู้สึกว่าหันไปทางใดก็ไม่พบเลยว่าจะมีสิ่งชุบชูใจใดๆ อีก หนทางที่ยังเหลืออยู่คือวิธีเดียวกับที่ฟรังเคิลใช้ นั่นคือค้นลึกลงไปว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นมอบ ‘ความหมาย’ อะไรให้ชีวิตเรา
2
เปลี่ยนความเจ็บปวดเป็นความหมาย
เมื่อมีความหมาย เราย่อมเข้าใจว่าเหตุใดจึงต้องพบเจอเรื่องนี้
ก็เพื่อให้เราเข้าใจชีวิตในแง่มุมที่ลึกซึ้งและสมจริงยิ่งขึ้น
ไม่แน่ เมื่อเข้าใจในความหมายของความเจ็บปวดที่กำลังเผชิญ วันนั้นอาจเป็นจุดเริ่มต้นของการสิ้นสุดความเจ็บปวดก็เป็นได้
เราหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดไม่ได้ แต่เราทานทนได้
เมื่อรู้ว่ามันจะสิ้นสุดในวันหนึ่ง
3
และเมื่อรู้ว่ามันเกิดขึ้นเพื่อมอบความหมายบางประการให้ชีวิต
1
โฆษณา