9 มี.ค. 2022 เวลา 11:00 • กีฬา
ปาเนนก้า ศาสตร์ต้นแบบของการยิงจุดโทษให้ชนะดวงและผู้รักษาประตู
จุดโทษเป็นเพียงแค่ดวง ? แค่เดาเอาสักทางเดี๋ยวก็ยิงเข้า ?
หลายๆ ครั้ง เราจะเห็นว่าการยิงจุดโทษเป็นตัว ตัดสินผล แพ้ ชนะ กันได้เลยในแมตช์นั้นๆ แต่คนที่รับหน้าที่ยิงจุดโทษจะต้องเป็นคนที่ได้รับมอบหมาย หรือว่าเป็นใครก็ได้จริงไหม?
จริงๆ แล้วจะบอกว่า แบบไหนก็ไม่ผิด แต่ส่วนใหญ่แล้วในการแข่งขันจะมีผู้เล่นที่ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้อยู่แล้ว เพราะการที่จะยิงประตูในนาทีที่สำคัญ หรือลูกที่ตัดสินผลการแข่งขัน กับสถานการณ์ที่บีบหัวใจ จนมีให้เห็นหลายครั้งว่ามันเกิดการผิดพลาดกันเกิดขึ้น
ดังนั้นนักเตะแต่ละคนจึงมีวิธีการ วิชาลับประจำตัวหรือลีลาแปลกๆ ในการยิงจุดโทษ เพื่อให้สามารถเอาชนะผู้รักษาประตูได้
ถ้ายกตัวอย่าง ในยุคปัจจุบันเช่น จอร์จินโญ่ กับท่าเขย่งยิง! ปอล ป็อกบา กับท่าซอยเท้าดึงจังหวะ หรือเจมส์ มิลเนอร์ ที่มีเทคนิคเฉพาะตัวคือการวิ่งดึงจังหวะ หลอกหน้าเท้า และยิงสวนทางผู้รักษาประตู
ผู้จัดการทีมชาติอังกฤษอย่าง แกเร็ธ เซาธ์เกต ผู้พาอังกฤษเอาชนะจุดโทษ ในรอบ 16 ทีมฟุตบอลโลก 2018 เหนือ โคลอมเบีย ก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า “นี่ไม่ใช่เรื่องของโชคชะตา แต่มันเป็นทักษะในการรับมือ กับแรงกดดันที่นักฟุตบอลควรมี”
ดังนั้นนี่อาจจะสรุปได้ว่า ในยุคนี้การยิงจุดโทษไม่ใช่ใครก็ยิงได้ และไม่ใช่ดวง…
ต้นกำเนิดการยิงแบบปาเนนก้า?
การยิงจุดโทษแบบปาเนนก้าได้ถูกนำมาใช้โดยนักเตะชื่อดังหลายคนอย่าง ซีเนดีน ซีดาน, เซร์คิโอ รามอส, ลิโอเนล เมสซี่, เธียรี่ อองรี ล่าสุดก็เป็นฟาร์บินโญ่ในนัดชิงคาราบาว คัพ ที่ผ่านมา
ซึ่งต้นกำเนิดจริงๆ เกิดมาจาก อันโตนิน ปาเนนก้า ยิงลูกจุดโทษนัดชิงชนะเลิศกับ เยอรมัน ในยูโร 1976 ซึ่งพื้นฐานของเขา เป็นนักเตะที่มีความโดดเด่นด้านการส่งบอล, เตะลูกนิ่ง และยิงฟรีคิกได้ดีอยู่แล้ว
ก่อนจะเกิดลูกยิงแบบปาเนนก้า อันโตนินพลาดการยิงจุดโทษมา 2 ครั้งติดกัน ทำให้เขาต้องฝึกซ้อมเป็นพิเศษ เพื่อคิดหาวิธีในการยิงจุดโทษแบบใหม่
ผมนึกภาพออกว่าผู้รักษาประตูมักจะรอจนถึงจังหวะสุดท้ายก่อนที่ฝ่ายตรงข้ามจะยิง จากนั้นผู้รักษาประตูจะเริ่มคาดเดาทิศทางเพื่อพุ่งตัวไปรอเซฟให้ทันเวลา
อันโตนิน ปาเนนก้า
จากการสังเกตนี้ทำให้อันโตนิน คิดได้ว่าถ้าเป็นแบบนั้น เขาน่าจะลองหลอกหน้าเท้าก่อนจะยิง และเตะที่บอลเบาๆ ให้เข้าที่กลางประตูก็น่าจะง่ายกว่า การต้องมาคิดตัดสินใจว่าจะยิงไปมุมไหนดี เพราะเมื่อผู้รักษาประตูพุ่งไปอีกทางแล้ว จะไม่สามารถกลับมารับบอลได้แน่นอน
และเขายังคิดวิธีเอาไว้อีกทาง หากผู้รักษาประตูยืนนิ่งๆ ก็จะต้องยิงไปที่มุมขวาหรือซ้ายทันที! และต้องฝึกฝนซ้ำ ๆ เพื่อให้กล้ามเนื้อจดจำการยิง และเพื่อให้กล้ามเนื้อทำงานสัมพันธ์กับสมองสั่งการ
อันโตนิน ปาเนนก้า เป็นยอดผู้เล่นในยุคเดียวกันอย่าง อูลี่ เฮอเนส, ฟรานซ์ เบ็คเค่นบาวเออร์ และ โยฮัน ครัฟฟ์ แต่เหตุที่ทำให้เขาไม่สามารถที่จะไปได้ไกลในอาชีพ สาเหตุมาจากในตอนนั้นเป็นยุคคอมมิวนิสต์ ทำให้เส้นทางลูกหนังของอันโตนิน ปาเนนก้า ไปได้ไม่ถึงไหน
โดยสิ่งนี้เอง ทำให้อันโตนิน ปาเนนก้า ดังแค่ลูกจุดโทษ ที่เกิดขึ้นในฟุตบอลยูโรปี 1976 ในนัดชิงชนะเลิศกันระหว่าง เชโกสโลวาเกีย กับ เยอรมันตะวันตก เท่านั้น
ศิลปินลูกหนังมักถูกมองว่าทำเหยียดหยามคู่แข่งเสมอ?
ในเวลานั้นนะครับ วงการฟุตบอลก็วิจารณ์กันไปหลากหลายทิศทาง บ้างก็ว่าปาเนนก้าเป็นการยิงที่หยามเกียรติและหยาบคาย บางฝ่ายก็บอกว่านี่คือการยิงแบบอัฉริยะลูกหนัง และงดงามแบบศิลปิน โดยเฉพาะเรื่องความกล้าหาญ และจิตใจที่แข็งแกร่งจึงเลือกยิงแบบนั้นในช่วงเวลาที่พลาดไม่ได้
ในตอนนั้นเขาพุ่งไปทางซ้ายมือของตัวเอง และสังเกตเท้าของปาเนนก้ายิงช้ากว่าปกติ รู้ตัวอีกทีก็เมื่อบอลมันเข้าประตูไปแล้ว เขามองไปที่กรรมการและยกมือขึ้นเพื่อประท้วง โดยคิดว่า ปาเนนก้า ทำผิดกฎการยิงจุดโทษ เพราะในตอนนั้นการยิงแบบนี้ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
เซ็ปป์ ไมเออร์ ผู้รักษาประตูของเยอรมันตะวันตก
เซ็ปป์ ไมเออร์ โกรธมากครับ จนถึงขนาดที่ว่าเกมยูโรเปี้ยนคัพหลังจากนั้น ที่ บาเยิร์น มิวนิค ต้นสังกัดของเขาต้องพบกับทีมจาก เชโกสโลวาเกีย เขาไม่ยอมแจกลายเซ็นและให้สื่อถ่ายภาพเลยทีเดียว
อย่างไรก็ตามครับ อันโตนิน ปาเนนก้า บอกว่านี่คือสิ่งที่เขาเตรียมการเอาไว้เป็นอย่างดี มันไม่ใช่การหยามหรือทำตัวอวดว่าตัวเองเหนือชั้น แต่มันคือการยิงที่เขามั่นใจว่าเมื่อเท้าของเขาสัมผัสบอลแล้ว มันจะเป็นประตู 1000%
ใน 4-5 ปีที่ผ่านมาก็มีเหตุการณ์ลักษณะนี้กับการที่เนย์มาร์ เล่นกระดกบอลข้ามหัวกองหลังที่บริเวณริมเส้น ถ้าจะมองว่ามันคือการไม่ให้เกียรติกันก็สามารถมองได้ แต่ถ้าหากเป็นคุณ คุณจะทำอย่างไรในเมื่อคุณไม่มีทางเลือกนอกจากส่งบอลกลับหลัง แต่คุณมีทักษะที่พิเศษกว่าคนอื่นๆ อยู่ในตัว ผมคิดว่าหลายๆ คนก็คงจะทำแบบเดียวกับเนย์มาร์
ทุกๆ อย่างที่เกิดขึ้นในโลกของฟุตบอลล้วนแล้วแต่มีเหตุผล และผ่านการคิดมาแล้วทั้งสิ้นสำหรับอัจริยะลูกหนังหลาย ๆ คนครับ
ความเรียบง่ายที่สุด คือสิ่งที่ยากที่สุด!
เราอาจจะเห็นกันมาเยอะ กับการที่มีผู้เล่นสักคนนึงเล่นฟุตบอลด้วยสมอง เล่นอย่างฉลาด และมีวิสัยทัศน์ในตอนที่มีลูกฟุตบอลอยู่กับตัว และทำเรื่องยากๆ อย่างการเลี้ยงหลบผู้เล่นฝ่ายตรงข้ามได้ 4-5 คนและตะลุยไปทำประตู รวมไปถึงการยิงจุดโทษ
ในเวลาที่มีถ้วยแชมป์ฟุตบอลยูโรเป็นเดิมพัน ในสถานการณ์ตอนนั้นผมเลือกที่จะยิงจุดโทษเพราะผมรู้ว่ามันเรื่องง่ายและเป็นทักษะพื้นฐานในการที่จะทำประตู มันก็คือสูตรสำเร็จพื้นฐาน” อันโตนิน ปาเนนก้า ก็ย้ำแนวคิดนี้อีกที
เจ้าพ่อสถิติอย่าง Opta เคยมีผลวิเคราะห์ออกมาว่า หากยิงลูกฟุตบอลจากจุดโทษ ระยะ 12 หลา ด้วยความเร็ว 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไปยังมุมบน จะทำให้ลูกฟุตบอลเคลื่อนที่ด้วยความเร็ว 0.3 วินาที และมีโอกาสสูงที่เป็นประตู
เพราะตามธรรมชาติแล้ว ผู้รักษาประตู จะต้องใช้เวลาราว 0.4 วินาที ในการประมวลผล คาดเดาทิศทาง แกว่งแขน หรือพุ่งลำตัวเหยียดออกไปป้องกันลูกบอล นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักฟุตบอลหลายคนเลือกที่จะดึงจังหวะ และยิงจุดโทษด้วยความเร็วไม่ว่าจะลูกยิง หรือการหลอกหน้าเท้า
และโดยเฉพาะการยิงมุมบนตรงกลางประตู ด้วยความเร็วนั้น คือ จุดยุทธศาสตร์ ที่มีโอกาสจะถูกเซฟโดยผู้รักษาประตูเพียงแค่ 2% เท่านั้น
เพราะฉะนั้นการยิงจุดโทษ จึงนับเป็นศาสตร์ฟุตบอลอีกอย่างหนึ่ง อย่าง ปาเนนก้า ศาสตร์ต้นแบบของการยิงจุดโทษให้ชนะดวงและผู้รักษาประตู ที่ต้องมีการนำเทคนิค ประสบการณ์หลายๆ ด้าน มาบวกกันเพื่อใช้ในการซ้อมยิง และใช้ในการยิงกับแมชต์การแข่งขันจริงที่ความกดดันจะต่างออกไปแบบชัดเจน
โฆษณา