9 มี.ค. 2022 เวลา 12:19 • หุ้น & เศรษฐกิจ
Veto คืออะไร? และประเทศไหนเคยใช้สิทธิมากที่สุด?
2
หลายคนอาจเพิ่งจะเคยได้ยินคำว่าวีโต้ (Veto) เมื่อเร็วๆ นี้ จากการที่เห็นข่าวว่ารัสเซียใช้สิทธิวีโต้ร่างมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ที่เรียกร้องให้รัสเซียยุติการโจมตีและถอนทหารจากยูเครน
ในบทความนี้ Bnomics จะพาผู้อ่านไปดูว่าอำนาจ “วีโต้ คือ อะไร” ประเทศไหนมีอำนาจนี้บ้าง และประเทศไหนที่เคยใช่อำนาจวีโต้มากที่สุด
📌 อำนาจวีโต้ (Veto) คืออะไร?
คำว่า Veto มีรากมาจากภาษาละตินแปลว่า ฉันไม่อนุญาต ถ้าพูดง่ายๆ เลยวีโต้จึงหมายถึงอำนาจการโหวตยับยั้งมติต่างๆ ในที่ประชุม
2
แต่ในระดับสหประชาชาติ (United Nations) ไม่ใช่ว่าทุกประเทศจะมีสิทธิวีโต้ได้หมด หากแบ่งตามประเภทการเป็นสมาชิกก็จะแบ่งได้ 2 ประเภท คือสมาชิกถาวร และสมาชิกไม่ถาวร
2
สำหรับประเทศที่เป็นสมาชิกแบบถาวร ประกอบด้วยจีน, ฝรั่งเศส, รัสเซีย, สหราชอาณาจักร และสหรัฐฯ ประเทศกลุ่มนี้จะถูกเรียกว่า P5
ส่วนสมาชิกไม่ถาวร มีอยู่ด้วยกัน 10 ประเทศ และต้องทำการเลือกใหม่ทุกๆ 2 ปี ในปัจจุบัน ประกอบด้วยประเทศเอสโตเนีย, อินเดีย, ไอร์แลนด์, เคนยา, เม็กซิโก, ไนเจอร์, นอร์เวย์, เซนต์วินเซนต์และเกรนาดีนส์, ตูนิเซีย, และเวียดนาม
1
ประเทศที่จะมีสิทธิใช้อำนาจวีโต้มีเพียงแค่ 5 ประเทศที่เป็นสมาชิกแบบถาวรเท่านั้น ซึ่งหากประเทศเหล่านี้ใช้อำนาจวีโต้ นั่นหมายถึงการโหวตไม่เห็นชอบ หรือปัดตกมติของที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำให้มติในที่ประชุมนั้นไม่ได้รับการรับรอง เนื่องจากตามกฎบัตรสหประชาชาติ การตัดสินใจของคณะมนตรีฯ ต้องเกิดจากการคะแนนเสียงที่สอดคล้องกันของสมาชิกแบบถาวร
อย่างไรก็ตาม ในบางครั้งประเทศสมาชิกแบบถาวรก็ใช้สิทธิวีโต้ปัดตกมติ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ของประเทศหรือเพื่อรักษาหลักนโยบายต่างประเทศของตน
ในบางครั้ง หลายๆ ประเทศก็เสนอมติในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ แม้ตระหนักว่าสิ่งที่เสนอไปอาจถูกวีโต้หรือปัดตก แต่ก็เป็นเหมือนการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์และเพื่อแสดงให้เห็นถึงจุดยืนของแต่ละประเทศในเวทีการประชุม
📌 นับตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ประเทศไหนใช้สิทธิวีโต้บ่อยที่สุด?
การใช้สิทธิวีโต้ครั้งแรกถูกบันทึกว่าเกิดขึ้นในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 1946 เมื่อสหภาพโซเวียตขัดขวางร่างมติที่ประชุมให้ถอนกำลังทหารออกจากเลบานอนและซีเรีย
ถ้านับตั้งแต่ปี 1992 ประเทศที่ใช้สิทธิวีโต้มากที่สุดได้แก่ ประเทศรัสเซีย รองลงมาคือสหรัฐฯ
โดยหากนับจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2022 มีการใช้สิทธิวีโต้ไปแล้วทั้งสิ้น 262 ครั้ง
  • รัสเซีย ใช้สิทธิวีโต้ไปแล้วถึง 119 ครั้ง (ใช้สิทธิเมื่อครั้งเป็นสหภาพโซเวียต 90 ครั้ง)
  • สหรัฐฯ ใช้ไป 82 ครั้ง
  • สหราชอาณาจักร ใช้ไป 29 ครั้ง
  • ฝรั่งเศส ใช้ไป 16 ครั้ง
  • และจีน ใช้ไป 16 ครั้ง
2
จะเห็นได้ว่ารัสเซียเป็นประเทศที่ใช้อำนาจวีโต้มากกว่าประเทศอื่นๆ เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงระหว่างปี 1946 - 1969 ที่สมาชิกสภาความมั่นคงส่วนใหญ่เป็นของสหรัฐฯ รัสเซียหรือสหภาพโซเวียตในขณะนั้นใช้สิทธิวีโต้ไปถึง 93% ของการวีโต้ทั้งหมดจนถึงปัจจุบันเพื่อจะขัดขวางมติของเสียงส่วนใหญ่ฝั่งตะวันตก
1
และเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ก็ถือเป็นการใช้สิทธิวีโต้ครั้งล่าสุดของรัสเซีย ทำให้ที่ประชุมไม่สามารถรับรองมติและแถลงการประณามรัสเซียได้
อย่างไรก็ตาม ได้มีการเปิดการประชุมสมัชชาใหญ่สมัยพิเศษเมื่อวันพุธที่ผ่านมา โดยประเทศสมาชิกสหประชาชาติทั้ง 193 ประเทศ และในรอบนี้จะไม่มีประเทศใดมีสิทธิวีโต้ เนื่องจากการประชุมสมัชชาสมัยพิเศษนี้เป็นการให้อำนาจสมัชชาในการจัดการเกี่ยวกับประเด็นสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ เมื่อที่ประชุมคณะมนตรีฯ ไม่สามารถดำเนินการได้เนื่องจากขาดมติเอกฉันท์จากประเทศสมาชิกแบบถาวรทั้ง 5 ประเทศที่มีสิทธิวีโต้
ผลการประชุมจึงเป็นไปตามคาด ประเทศสมาชิกส่วนใหญ่เห็นควรที่จะตำหนิการที่รัสเซียไปบุกรุกยูเครนด้วยผลโหวต 141 ต่อ 5 และงดออกเสียง 35 ประเทศ ซึ่งถือได้ว่าเป็นการประกาศโดดเดี่ยวรัสเซียจากนานาชาติ
สุดท้ายนี้ผู้เขียนอยากจะยกถ้อยแถลงต่อรัสเซียของเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำสหประชาชาติ ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ ที่กล่าวไว้เมื่อรัสเซียใช้อำนาจวีโต้ครั้งล่าสุดที่ว่า
"Russia, You can veto this resolution but you cannot veto our voices,
You cannot veto the truth.
You cannot veto our principles.
You cannot veto the Ukrainian people.
You cannot veto the UN charter."
“รัสเซีย คุณสามารถใช้สิทธิวีโต้หยุดยั้งมตินี้ได้ก็จริง แต่คุณไม่สามารถหยุดยั้งเสียงของพวกเรา
คุณไม่สามารถหยุดยั้งความจริง
คุณไม่สามารถหยุดยั้งหลักการของพวกเรา
คุณไม่สามารถหยุดยั้งประชาชนชาวยูเครน
และคุณไม่สามารถหยุดยั้งกฎบัตรสหประชาชาติได้”
ลินดา โทมัส-กรีนฟิลด์ (Linda Thomas-Greenfield)
4
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference :
เครดิตภาพ : Shannon Stapleton/Reuters
โฆษณา