9 มี.ค. 2022 เวลา 13:23 • ประวัติศาสตร์
ขุดนิยายสามก๊ก ทำไมโจโฉเป็นฝ่ายมาร
สำหรับเราท่านที่ได้อ่านวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์สามก๊ก คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเนื้อหาได้ถูกโน้มเอียงในเรื่องความชอบธรรมไปทางฝ่ายของเล่าปี่ และถึงแม้ท่านจะไม่ถูกโน้มน้าวไปทางนั้นก็ตาม เนื้อหาก็ยังเป็นอยู่เช่นนั้น แต่เมื่อเราอ่านซ้ำและนำมาครุ่นคิด หรือศึกษาที่มาที่ไปเพิ่มเติม ก็อาจจะพอสันนิษฐานได้ว่าจริง ๆ ก็มีที่มาที่ไปของวรรณกรรมเช่นนี้ แต่ก็เป็นเรื่องปกติ ที่ถ้าเราจะเขียนนิยายขึ้นเรื่องหนึ่ง เราต้องมีฝ่ายดีฝ่ายร้ายเพื่ออรรถรสในการอ่าน
และเช่นเคยครับ การเรียนรู้จากบันทึกทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีอยู่ มิได้ไปหักล้างความเชื่อเดิม หรือรู้ไว้เพื่อถกเถียงอวดรู้ในวงสนทนา หรือนำเอาไปถกเถียงคนละเรื่องเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งยกวรรณกรรมมาพูด อีกฝ่ายเอาประวัติศาสตร์มาอ้าง เรื่องราวจึงไม่มีวันจบสิ้น ผู้ที่มีปัญญาแล้ว จะได้แต่นั่งหัวเราะและเลี่ยงวงสนทนาเช่นนี้ออกไป
สามก๊กฉบับแรกถูกเขียนโดย ตันซิ่ว หรือเฉินโซ่ว ที่เคยทำงานในจ๊กก๊ก เมื่อก๊กล่มสลายก็ถูกพาตัวมาทำงานในราชสำนักจิ้น เขาได้เขียนชีวประวัติของขงเบ้งจนเป็นที่พอพระทัยของสุมาเอี๋ยน จึงมีรับสั่งให้เฉินโซ่วรวบรวมประวัติศาสตร์ยุคสามก๊ก เรียกสามก๊กฉบับนี้ว่า จดหมายเหตุสามก๊ก หรือซานกว๋อจื่อ เป็นฉบับที่ไม่มีการขีดเส้นดีร้าย เป็นเพียงการบันทึกประวัติเชิงบุคคลของแต่ละก๊ก แต่ยังไม่เหมาะจะเป็นเรื่องที่อ่านสนุกแบบวรรณกรรม
ก่อนจะเข้าสู่สามก๊กของหลอก้วนจงที่เราคุ้นชื่อ จะขอเล่าเรื่องยุทธนาวีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์จีน ยิ่งกว่าศึกผาแดงในสามก๊ก เป็นศึกที่เกิดขึ้นในช่วงปลายราชวงศ์หยวน ช่วงที่ชาวฮั่นถูกปกครองโดยมองโกล ช่วงนั้นได้เกิดขบถขึ้นทั่วแผ่นดิน กลุ่มใหญ่ ๆ สี่กลุ่มได้แก่ 1. กลุ่มของเสี่ยวหมิงหวาง 2. กลุ่มของจูหยวนจาง ซึ่งต่อมาได้เป็นฮ่องเต้ต้นราชวงศ์หมิง 3. กลุ่มของเฉินโย่วเลี่ยง ศรัตรูคู่แค้นของจูหยวนจาง และ 4. กลุ่มของจางซื่อเฉิง ซึ่งเป็นกลุ่มที่หลอก้วนจง ผู้แต่งนิยายสามก๊กทำงานเป็นเสนาธิการอยู่ด้วย กลุ่มต่าง ๆ เหล่านี้ไม่ได้รวมตัวกันเพื่อต้านมองโกลเพียงอย่างเดียว แต่ยังหันคมดาบเข้าหากันเพื่อชิงอำนาจและก่อตั้งแคว้นเป็นของตน
ศึกครั้งใหญ่ที่เป็นศึกชี้ชะตาก็เกิดขึ้นเมื่อเฉินโย่วเลี่ยงนำทัพเรือพร้อมกำลังพลกว่าหกแสนนายเปิดศึกกับจูหยวนจาง ทัพของเฉินโย่วเลี่ยงเข้าสู่ทะเลสาบโผหยางแต่ถูกจูหยวนจางเจ้าถิ่นแห่งแคว้นหมิงลุ่มน้ำแยงซี ใช้ความคล่องตัวของเรือที่เล็กกว่าและโจมตีเรือใหญ่ด้วยไฟ เอาชนะศึกครั้งนี้ได้ด้วยกำลังพลที่น้อยกว่าถึงสามเท่า ผ่านพ้นศึกนองเลือดครั้งใหญ่ครั้งนี้ทำให้จูหยวนจางรุกคืบเข้ายึดดินแดนของเฉินโย่วเลี่ยงและจางซื่อเฉิงของหลอก้วนจง พร้อมทั้งขับไล่ชาวมองโกลออกไป ทำให้จูหยวนจาง จากชาวนาก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งฮ่องเต้ในที่สุด
จากเหตุการณ์นี้ทำให้นักประวัติศาสตร์วิเคราะห์กันว่า หลอก้วนจงได้นำเอายุทธนาวีครั้งนี้ดัดแปลงเข้าใส่เนื้อหาในซานกว๋อจื้อทงซกเหยี่ยนอี้ นิยายสามก๊กต้นฉบับ มีการใส่ลักษณะของนิยายเสริมเข้าไปอีกกว่าสามจากสิบส่วน ซึ่งก็ยังไม่มากนักในแง่ของการนำประวัติศาสตร์มาสร้างนิยาย ความจัดจ้านของหลอก้วนจงในแง่ของนิยายก็ไม่เสียชื่อของอาจารย์ของเขา ซีไน่อัน ผู้ประพันธ์เรื่องซ้องกั๋ง หรือ 108 ผู้กล้าแห่งเขาเหลียงซาน เป็นจุดเริ่มต้นของการขีดแบ่งเส้นฝ่ายธรรมมะ อธรรม โดยนำเอาเหตุการณ์สงครามที่ตนได้พบเห็นและร่วมสมัยผนวกเข้าไว้ในสามก๊กเล่มนี้ ความเก่งกาจของขงเบ้งเองก็อาจจะเป็นการมองภาพตนเองที่แม้เก่งกาจแต่ก็เป็นฝ่ายที่พ่ายศึกสิ้นแผ่นดิน ให้ก๊กของเล่าปี่มีความชอบธรรมในการสืบทอดบัลลังค์กษัตริย์ ตรงกันข้ามกับจดหมายเหตุสามก๊กของเฉินโซ่ว
แต่อย่างไรก็ตามจะกล่าวหาหลอก้วนจงเช่นนั้นก็ไม่เป็นธรรมนัก เพราะสามก๊กฉบับที่เราท่านได้อ่านทุกวันนี้ แท้จริงแล้วเป็นฉบับที่ดัดแปลงโดย สองพ่อลูกเหมาหลุนและเหมาจงกัง ในยุคราชวงศ์ชิง ที่ฝักใฝ่แนวคิด เจิ้งถง คือแนวคิดเรื่องการสืบสันตติวงศ์ ว่าด้วยความชอบธรรมของการสืบต่อราชบัลลังค์ ดังนั้น การอ้างว่าเป็นเชื้อสายกษัติย์ของเล่าปี่จึงเป็นหนึ่งในต้นเรื่องที่จะสร้างให้เล่าปี่เป็นฝ่ายธรรมมะ ทั้งวีรกรรม ตำนาน นิทานชาวบ้านของกวนอู ตามที่เคยเล่าไว้ในคลิปด้านบน และความนิยมในตัวของขงเบ้งเองก็เป็นที่นิยมมาตั้งแต่สมัยราชวงศ์จิ้น ในขณะที่ฝ่ายโจโฉเอง เป็นคนเหี้ยมหาญ เจ้าเล่ห์ เด็ดขาด เป็นลักษณะนิสัยคล้าย ๆ จูหยวนจาง รับบทการกดขี่ฮ่องเต้แบบทรราช ข้อสังเกตุนี้เป็นข้อสังเกตุของงานวิจัยทั้งฝั่่งไทย จีน และโลกตะวันตก
เหมาหลุนและเหมาจงกังได้ปรับเปลี่ยนแนวคิด ตำแหน่งขุนนาง สถานที่ บางส่วนแตกต่างจากหลอก้วนจง ทำให้สามก๊กฉบับนี้ขยับออกห่างจากคำว่าประวัติศาสตร์ไปทุกที แต่มีข้อดีคือการใช้ภาษา การดำเนินเรื่องให้กระชับเข้าใจ จนเป็นต้นแบบในฉบับแปลไทยของเจ้าพระยาพระคลัง(หน)ที่เราท่านได้อ่านกันทุกวันนี้
ถ้าจะเปรียบเทียบกับสมัยปัจจุบัน หากมีผู้สร้างภาพยนต์ต่อต้านผู้มีอำนาจในประเทศที่เข้มงวดเรื่องการรักษาอำนาจ ภาพยนต์เรื่องนั้นก็คงไม่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนต์ เช่นเดียวกัน หากบทละครงิ้่วเชิดชูโจโฉ ผู้ที่ทางประวัติศาตร์แล้วเป็นใหญ่ขึ้นมาได้ด้วยกองกำลังจากโจรโพกผ้าเหลืองที่พิชิตได้ ทำให้มีกองกำลังตั้งตัวได้อย่างรวดเร็ว ผู้ที่ปิดประกาศทั่วเมืองว่าต้องการคนมีฝีมือมาทำงานโดยไม่เกี่ยงว่าจะเป็นโจร หรือเคยทำความผิดมาก่อน จึงเป็นที่ขัดใจต่อชาวลัทธิหยูที่มีมากในแผ่นดินที่ยึดหลักความดีงาม รวมถึงการสั่งประหารขงหยงซึ่งเป็นเชื้อสายขงจื่อจึงเป็นการประกาศตนว่ามิได้ฝักใฝ่ในสิ่งที่คนมีอำนาจอยากจะให้เป็น
จึงเป็นสิ่งที่ทำให้คนส่วนใหญ่รวมถึงผู้ปกครองในยุคหลังไม่ต้องการให้เกิดคนแบบโจโฉขึ้นอีก ในขณะที่ฝ่ายจกก๊ก โดยขงเบ้งเป็นฝ่ายที่ฝักใฝ่และดำเนินชีวิตตามหยูและเต๋าอย่างเด่นชัด เป็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนระหว่างธรรมมะและฝ่ายมาร
เรื่องราวของสิ่งที่โจโฉถูกยัดเยียดบทบาทก็ทำให้นึกถึงการที่กวนอูถูกยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งความซื่อสัตย์แทนงักฮุย ที่เคยเล่าไว้ในคลิปด้านบน "เพราะเป็นเรื่องของสิ่งที่อยากให้เป็น ของผู้เขียน และอยากให้ดำรงอยู่ โดยผู้มีอำนาจ"
แต่จะว่าจดหมายเหตุสามก๊กถูกต้องเสมอไป ก็มีเสียงวิจารย์ว่าไม่อาจเป็นเช่นนั้นเสียทั้งหมด เพราะจดหมายเหตุสามก๊กที่ไม่ได้ว่าใครดีหรือเลวเหมือนในนิยายนั้น ก็อาจจะมีอคติกับขงเบ้งอยู่ก็ได้ เพราะผู้บันทึก คือ ตันซิ่ว มีบิดาชื่อ ตันเซ็ก เมื่อครั้งเคยอยู่กับขงเบ้งเคยถูกขงเบ้งลงโทษปลดออกจากตำแหน่ง บทหนึ่งจึงมีบันทึกว่า "แม้ขงเบ้งจะมีความสามารถดุจยอดคนอย่างก่วนจ้งและเซียวเหอ แต่บั้นปลายชีวิตกลับไม่เคยประสบความสำเร็จทางการทหารเลยเพราะขาดการพลิกแพลงยืดหยุ่น" บทบันทึกนี้จึงแตกต่างจากฉบับของหลอก้วนจงและเหมาจงกังอยู่ไม่น้อย และยึดให้วุยก๊กของโจโฉ และจิ้นก๊กของตระกูลสุมา มีความชอบธรรมในการสืบทอดอำนาจ เพราะตันซิ่วทำงานให้ราชสำนักจิ้นที่สืบต่อมาจากก๊กของโจโฉ แต่โดยรวมก็เป็นการยกย่องขงเบ้งอยู่ไม่น้อย
ดังนั้นไม่ว่าบทบาทจะถูกเขียนไปเช่นไร สิ่งที่ผู้อ่านควรนำมาขบคิดคือข้อคิดกลอุบาย อุทาหรณ์ที่ได้จากเรื่อง จึงไม่สำคัญที่ใครจะเป็นเช่นไร ใครจะเก่งจะดีกว่าใคร คิดเสียว่าตัวละครแต่ละตัวคือตัวแทนของคนที่มีนิสัยเช่นนั้น แล้วนำมาครุ่นคิดศึกษา ก็จะได้คุณค่าจากการอ่านมากกว่า
ที่มา
-หนังสือสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง(หน)
-เรื่องจริงหรือเรื่องแต่งในจดหมายเหตุสามก๊ก ฉบับเฉินโซ่ว โดย ยศไกร ส.ตันสกุล
โฆษณา