10 มี.ค. 2022 เวลา 01:08 • ธุรกิจ
วิกฤติของโรงเรียนสอนการบินในช่วงโควิด
📌 โรงเรียนสอนการบิน ต้นน้ำของธุรกิจการบิน
โรงเรียนสอนการบิน ถือได้ว่าเป็นต้นน้ำของอุตสาหกรรมการบิน ในฐานะเป็นแหล่งผลิตนักบินออกสู่ตลาด ในสมัยที่ธุรกิจการบินรุ่งเรือง อาชีพนักบินเป็นที่ต้องการอย่างมาก จึงเป็นโอกาสทองของโรงเรียนสอนการบิน ช่วงนั้นเคยมีโรงเรียนสอนการบินมากถึง 26 แห่ง
ในช่วงก่อนเกิด COVID-19 มีกำลังการผลิตนักเรียนรวมทุกโรงเรียนเฉลี่ยปีละราว 500 คน และ Demand อาชีพนักบินในช่วงนั้นก็อยู่ที่ราว 500 คนต่อปี ดูแล้วกำลังการผลิตน่าจะเพียงพอ แต่ในความเป็นจริงเราผลิตได้น้อยกว่านั้นค่ะ
เหตุผลคือ นักเรียนบางคนเกรดไม่ถึง เรียนไม่จบ ส่วนผู้ที่จบมาใช่ว่าจะสอบเป็นผู้ช่วยนักบินได้ทุกคน สรุปแล้วในหนึ่งปีเราสามารถผลิตนักบินที่มีใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี (Commercial Pilot License “CPL”) ออกมาได้เพียง 300-400 คน เท่านั้น ยังขาดไป 100-200 คนต่อปี
การขาดแคลนนักบินมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น เพราะสายการบินต่างก็แข่งกันเปิดเส้นทางใหม่เพื่อให้ครอบคลุมในหลายประเทศมากขึ้น ซึ่งเพื่อนๆรู้มั้ยว่าการมีเครื่องบินเพิ่มขึ้นมา 1 ลำ เราต้องมีนักบินเพิ่มขึ้นถึง 10 คน นั่นเป็นเพราะนักบินจะถูกจำกัดโดยกฏสากลว่า 1 สัปดาห์ บินได้ไม่เกิน 34 ชม. , 4 สัปดาห์ (28 วัน) บินได้ไม่เกิน 110 ชม. และ 1 ปี บินได้ไม่เกิน 1,000 ชม. ซึ่งแต่ละวันนักบินที่มีอยู่ในองค์กรจะต้องแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ กลุ่มที่บิน กลุ่มสำรอง และกลุ่มที่พัก โดยไม่สามารถนับกลุ่มที่พักมาเป็นกลุ่มสำรองได้
1
ฟังดูแล้วอาชีพนักบินเป็นหนึ่งในอาชีพที่น่าสนใจมาก แต่ทำไมอาชีพนักบินยังขาดตลาดอยู่ทุกปี? เพราะค่าเรียนสำหรับหลักสูตร CPL ค่อนข้างสูง ค่าเรียนจนจบหลักสูตรอยู่ที่ราว 2 – 2.5 ล้านบาท ไม่นับค่าชั่วโมงบินที่จะต้องไปเก็บเพิ่มอีก ซึ่งจำเป็นอย่างมากในการสมัครงาน แต่สำหรับผู้ที่มีกำลังทรัพย์มากพอก็ถือว่าคุ้มค่า เพราะหากเป็นผู้ช่วยนักบินได้จะสามารถทำรายได้อยู่ราวๆ 60,000 บาท จนถึงหลักแสนต้นๆ และเมื่อขึ้นเป็นนักบินแล้วจะสามารถทำรายได้สูงถึง 300,000 – 500,000 บาท ขึ้นอยู่กับสายการบินและจำนวนความถี่ในการบิน ซึ่งใช้เวลาไม่กี่ปีก็คืนทุนค่าเรียนได้เลย
2
สำหรับในไทยโรงเรียนที่เป็นเจ้าใหญ่ 3 อันดับแรก ก็คงไม่พ้นโรงเรียนการบินกรุงเทพ (BAC), สถาบันการบินพลเรือน (CATC) และโรงเรียนการบินศรีราชา (AVA) ทั้ง 3 แห่งมีการผลิตนักบินออกสู่ตลาดรวมกว่า 90% เลยทีเดียว
📌 โควิด จุดเปลี่ยนธุรกิจการบิน
ในช่วงปลายปี 2562 ทั้งโลกต้องเจอกับ COVID-19 ธุรกิจการบินหยุดชะงัก รัฐบาลควบคุมการเดินทาง กระทบสายการบินต้องลดจำนวนเที่ยวบินลง และแน่นอนว่ากระทบต่ออาชีพนักบินอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในปี 2563 มีจำนวนเที่ยวบินลดลงถึง 53% จากปีก่อนหน้า หรือปีก่อนที่จะมี COVID ระบาด โดยมีเที่ยวบินรวมทั้งปี 2562 อยู่ที่ราว 1.07 ล้านเที่ยวบิน ปี 2563 มีจำนวนเที่ยวบินอยู่ที่ 500,000 เที่ยวบิน และในปี 2564 ซึ่งมีสายพันธุ์เดลต้าระบาดรุนแรงมีจำนวนเที่ยวบินทั้งปีเหลือเพียง 258,000 เที่ยวบิน ซึ่งแน่นอนว่ากระทบต่อความต้องการนักบินโดยตรง
จากข้อมูลของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย ปี 2563 มีจำนวนผู้ถือใบอนุญาตที่ประจำหน้าที่ (ATPL, CPL, PPL, SPL) รวมทั้งสิ้น 761 ราย ซึ่งลดลงกว่าช่วงก่อน COVID ที่อยู่ที่ระดับ 1,590 – 1,740 ราย หรือลดลงเฉลี่ย 54%
แน่นอนว่าการลดลงของจำนวนนักบินในช่วง COVID ทำให้ Demand อาชีพนักบินลดลงตามไปด้วย ลามไปถึงการตัดสินใจเรียนในเส้นทางอาชีพนักบิน ทำให้โรงเรียนสอนการบินได้รับผลกระทบอย่างมาก โรงเรียนสอนการบินทุกที่ในช่วง COVID มีผู้สมัครเรียนน้อยลง จนขาดทุน และบางที่ขาดทุนจนต้องหยุดดำเนินกิจการ ทุกวันนี้มีโรงเรียนสอนการบินที่มีใบอนุญาติเปิดสอนเพียง 15 แห่ง และแน่นอนว่าโรงเรียนที่เปิดอยู่ต่างก็ประสบปัญหารายได้ลดลง เพราะมีผู้สมัครน้อยโดยเฉพาะหลักสูตร CPL ซึ่งเป็นรายได้หลักของโรงเรียน
📌 การปรับตัว
การลดลงของจำนวนนักเรียนในช่วง COVID ทำให้หลายโรงเรียนต้องทำการบ้านอย่างหนัก เพื่อหาวิธีเพิ่มรายได้ให้กับโรงเรียน หลายโรงเรียนมีการพัฒนาหลักสูตรเพื่อจัดคอร์สอบรมออนไลน์มากขึ้น เช่น สถาบันการบินพลเรือน มีการเปิดคอร์สสำหรับนักบินที่เว้นช่วงจากการบินมานาน
ในช่วง COVID ที่ต้องการรักษาสมรรถภาพทางการบิน หรือผู้ที่มีความต้องการต่อใบอนุญาตผู้ประจำหน้าที่นักบิน มีการเปิดหลักสูตรสำหรับนักบินที่ต้องการเก็บชั่วโมงบิน แต่รายได้ในส่วนนี้เทียบไม่ได้เลยกับคอร์สราคาแพงอย่าง CPL ทำให้บางที่ทบทวนราคาหลักสูตร มีการผ่อนค่าเรียนได้ และยอมปรับลดราคาค่าเรียนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้อีกด้วย
ขณะเดียวกันก็ได้มีการตัดค่าใช้จ่ายบางส่วนลง มีการปรับลดจำนวนครูผู้สอน ปรับลดเงินเดือนพนักงานในองค์กร หรือแม้แต่การเข้าร่วมมาตรการของ ธปท. ที่ช่วยเหลือบริษัทที่ได้รับผลกระทบในช่วง COVID ทำให้ช่วยบรรเทาค่าใช้จ่ายลงไปได้บางส่วน
แม้จะมีการปรับตัว ก็ใช่ว่าจะทดแทนรายได้เดิมได้ เพราะเส้นเลือดใหญ่ของโรงเรียนการบินคือคอร์ส CPL อย่างสถาบันการบินพลเรือน หรือ CATC ที่มีการปรับปรุงหลักสูตรใหม่ขึ้นมา ในปี 2564 ยังคงมีรายได้ลดลงไปกว่าปี 2563 มีรายได้เบื้องต้นทั้งปีอยู่ที่ประมาณ 150 ล้านบาท และคาดการณ์รายได้ในปี 2565 ว่าน่าจะลดลงน้อยกว่า 150 ล้านบาทอีกด้วย
📌 แนวโน้มของอาชีพนักบิน
แม้ว่าทุกวันนี้การระบาดของ COVID จะยังไม่สิ้นสุด แต่ในหลายประเทศเริ่มเปิดเส้นทางการบิน รับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ และลดมาตรการคุมเข้ม COVID เพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว อย่างเช่น เวียดนาม และประเทศในแถบยุโรป ถือเป็นข่าวดีให้กับผู้ประกอบธุรกิจการบินที่มีความหวังว่าสถานการณ์จะกลับมาใกล้เคียงกับในช่วงก่อนเกิด COVID ในเร็วๆนี้
ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อทุกอย่างกลับมาใกล้เคียงกับช่วงปกติ นักบินที่มี License อยู่เดิม จะเป็นกลุ่มแรกๆที่กลับเข้าไปบินก่อน แล้วสำหรับนักบินรุ่นใหม่ในอนาคตจะยังเป็นที่ต้องการอยู่มั้ย?
เรื่องนี้ นักวิเคราะห์ได้มีการคาดการณ์ไว้ว่า ความต้องการอาชีพนักบินหลังจากที่โรคระบาดเริ่มฟื้นตัว อาจจะเกิดการขาดแคลนอาชีพนักบินด้วยซ้ำ เพราะว่าเหตุการณ์ในช่วง COVID มีหลายสายการบินได้ปลดเกษียณนักบินก่อนกำหนด รวมไปถึงนักบินบางคนที่ถูกลดชั่วโมงบินและเงินเดือนลงหันไปประกอบอาชีพอื่นแทน
ซึ่งไม่สามารถคาดเดาได้เลยว่าจะมีจำนวนเท่าไรที่จะกลับมาประกอบอาชีพนักบินอีกครั้ง และยังมีช่วงของการลดลงของผู้สมัครเรียน CPL ในช่วงเกิด COVID อีกด้วย
ขณะที่ความต้องการเดินทางของหลายๆคน หลังจากที่ COVID ดีขึ้น คาดว่าจะสูงขึ้นมากหลังจากที่อัดอั้นมานานหลายปี
มีตัวเลขที่คาดการณ์ไว้ว่าการขาดแคลนนักบินทั่วโลกน่าจะเริ่มเห็นภายในปี 2566 เป็นต้นไป ซึ่งได้คาดการณ์ไว้ว่าน่าจะมีการขาดแคลนนักบินราว 34,000 รายในปี 2568 และคาดว่าจะสูงถึง 60,000 ราย ในปี 2572 เลยด้วย
เห็นข้อมูลอย่างนี้แล้ว โรงเรียนสอนการบินคงต้องอดทนกันอีกไม่นาน และเมื่อผ่านวิกฤตินี้ไปได้ จะเป็นช่วงที่สดใสของโรงเรียนสอนการบินอีกครั้ง จากการขาดแคลนนักบินในอนาคต รวมไปถึงการลดลงของคู่แข่งที่ได้ปิดตัวลงในช่วงที่ผ่านมาด้วยค่ะ
1
ผู้เขียน : วรัสชญาน์ วรไชยทรัพย์
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
โฆษณา