11 มี.ค. 2022 เวลา 02:50 • หุ้น & เศรษฐกิจ
รู้จัก ROE ตัวเลขยอดนิยม ของนักลงทุนสายพื้นฐาน
ROE ย่อมาจาก Return on Equity
ซึ่งเป็นอัตราส่วนที่แสดง “ผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น”
ดังนั้น ถ้าตามทฤษฎีแล้ว ยิ่งค่า ROE สูง ๆ ก็ยิ่งดี
1
อย่างไรก็ตาม มันก็มีสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เมื่อลงทุนใน หุ้น ROE สูง
เรื่องนี้เป็นเพราะอะไร ?
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง
ROE (Return on Equity) เป็นอัตราส่วนผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น
วิธีการหาค่า ROE นั้น คำนวณโดยเอากำไรสุทธิของบริษัท มาหารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น หลังจากนั้นเอาไปคูณกับ 100 ซึ่งค่าที่เราได้นั้น จะออกมาในรูปของเปอร์เซ็นต์
3
วิธีการตีความหมายของค่า ROE นั้น สามารถตีความได้ 2 ความหมาย คือ
- ถ้าค่า ROE สูง หมายความว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง จนสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นได้
- ถ้าค่า ROE ต่ำ หมายความว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำ จนไม่สามารถสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่ผู้ถือหุ้นได้ เมื่อเทียบกับหุ้นที่มีค่า ROE ที่สูงกว่า
ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น
ถ้าบริษัท A มีกำไร 100 ล้านบาท มีส่วนของผู้ถือหุ้นเท่ากับ 500 ล้านบาท
หมายความว่าในกรณีนี้ บริษัท A จะมีค่า ROE เท่ากับ 20%
หรือตีความในอีกมุมหนึ่งก็จะได้ว่า
บริษัทใช้ส่วนของผู้ถือหุ้น 100 บาท ในการทำกำไรได้ 20 บาท
คำถามที่น่าสนใจต่อมาคือ แล้วค่าที่ได้นี้สูงหรือต่ำ ?
การจะบอกว่า ROE สูงหรือต่ำ ต้องอาศัยการ “เปรียบเทียบ” ซึ่งโดยปกติแล้ว เราสามารถนำค่า ROE ณ ปัจจุบัน มาเทียบกับค่า ROE ในอดีตของบริษัทนั้น ๆ ได้
ถ้าค่า ROE ของบริษัทมีแนวโน้มค่อย ๆ ปรับตัวสูงขึ้น ก็แปลว่า บริษัทมีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา
นอกจากนี้ เราก็อาจนำค่า ROE ของบริษัท มาเทียบกับค่า ROE ของบริษัทที่ทำธุรกิจคล้าย ๆ กันหรืออยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน เพื่อประเมินว่า บริษัทไหนที่มีความสามารถในการทำกำไรให้แก่ผู้ถือหุ้นได้มากกว่ากัน
อย่างไรก็ตาม การเลือกลงทุนในหุ้นที่มีค่า ROE สูง ๆ ก็อาจทำให้เราติดกับดักได้เช่นกัน
เพราะค่า ROE ที่สูง อาจเกิดจากปัจจัยอื่น
ที่ไม่ใช่การเติบโตของกำไรเพียงอย่างเดียว
แล้วเรื่องไหนที่เราควรต้องคิดให้รอบคอบ ก่อนที่จะเลือกลงทุนในหุ้นที่มีค่า ROE สูง ?
- ประเด็นแรก คือ บริษัทอาจมีการก่อหนี้จำนวนมาก
การคำนวณค่า ROE คือ การนำเอากำไร หารด้วยส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งหมายความว่าค่า ROE ที่สูงอาจเกิดขึ้นได้ 2 กรณี คือ
1. เมื่อกำไรของบริษัทเติบโตอย่างแข็งแกร่ง
2. ส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นมีจำนวนน้อย
โดยกรณีหลังนั้น หมายความว่า บริษัทพึ่งพาเงินทุนจากภายนอก เช่น การกู้ยืมจากเจ้าหนี้ มากกว่าการใช้เงินจากส่วนของผู้ถือหุ้น
ถ้าเป็นแบบนี้ บริษัทจะมีความเสี่ยงทางด้านการเงินตามมา เนื่องจากบริษัทมีภาระหนี้ที่สูง
- ประเด็นที่สอง คือ บริษัทมีผลการดำเนินงานสม่ำเสมอแค่ไหน ?
หากบริษัทนั้นมีผลการดำเนินงานไม่แน่ไม่นอน กรณีที่เลวร้ายก็คือ อาจขาดทุนมาเป็นเวลาหลายปี แต่แล้วถ้าอยู่ ๆ บริษัทสามารถกลับมาทำกำไรจำนวนมากในปีนี้
การขาดทุนของบริษัทในแต่ละปี จะทำให้กำไรสะสมนั้นค่อย ๆ ลดลง ซึ่งการลดลงของกำไรสะสม จะทำให้ส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นค่อย ๆ ลดลง
ด้วยความที่ส่วนของผู้ถือหุ้นนั้นมีมูลค่าน้อย หลังจากที่บริษัทมีการบันทึกผลขาดทุนมาหลายปี แล้วปีนี้ดันมามีกำไร กรณีนี้ก็จะทำให้ค่า ROE นั้นสูงขึ้นอย่างผิดปกติได้เช่นกัน
- ประเด็นที่สาม คือ กำไรที่เกิดขึ้นนั้น เป็นกำไรจากรายการพิเศษหรือไม่
กำไรที่เกิดจากรายการพิเศษ ก็อย่างเช่น กำไรจากการขายสินทรัพย์ของบริษัทออกไป, กำไรจากการขายบริษัทย่อย หรือกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน
หากกำไรที่เกิดขึ้นในลักษณะนี้ โดยทั่วไปแล้วมักจะเกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวหรือนาน ๆ ครั้ง ซึ่งจะทำให้ค่า ROE ของบริษัทที่คำนวณได้ สูงผิดปกติในปีที่มีกำไรพิเศษ และลดลงเมื่อไม่มีกำไรดังกล่าวในปีต่อ ๆ ไป
1
สรุปแล้ว
ROE เป็นตัวเลขชี้วัดอย่างหนึ่ง ที่ดูความสามารถในการสร้างกำไรของแต่ละบริษัท
ซึ่งการลงทุนในหุ้นที่มีค่า ROE สูง ๆ ช่วยเพิ่มโอกาสสร้างผลตอบแทนที่ดีให้แก่นักลงทุนได้
อย่างไรก็ตาม ถ้าเราเข้าไปซื้อหุ้น โดยที่มองแค่ว่าต้องมีค่า ROE สูง โดยที่ไม่รู้ว่า กำไรนั้นเกิดขึ้นมาจากไหน
เราก็อาจเจ็บตัวจากการลงทุนได้เช่นกัน..
โฆษณา