10 มี.ค. 2022 เวลา 09:51 • การศึกษา
ชีวิตเป็นของน้อย
พระ สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสไว้ว่า "ชีวิตนี้เป็นของน้อย ถูกความชรารุกรานไปอย่างเงียบๆ ความชรานั้นรุกรานนำไปสู่ความตาย บุคคลใดพิจารณาเห็นโทษของความตายนั้น ก็ควรจะคลายความยึดมั่นถือมั่นในโลกามิส มีใจยินดีในพระนิพพาน" (อังคุตรนิกาย)
เดี๋ยวนี้อายุขัยของคนเราถัวเฉลี่ยแล้วประมาณ ๗๕ ปี ใครอายุเกินจากนี้ ถือว่าเป็นผู้ที่มีอายุยืน ได้สั่งสมบุญเก่ามาดี แต่ว่าถัวเฉลี่ยแล้วเรามีเวลาอยู่ ๗๕ ปี ท่านถือว่าเป็นของน้อย น้อยต่อการสร้างความดี
วันหนึ่งมีอยู่ ๒๔ ชั่วโมง เราแบ่งชีวิตเป็น ๓ ช่วง ช่วงละ ๘ ชั่วโมง ๘ ชั่วโมงเราเอาไว้นอนหลับพักผ่อน นี่เราเสียเวลาไปแล้ว ๘ ชั่วโมง ถ้า ๘ ชั่วโมงเอาไว้สำหรับทำงาน
แต่บางคนทำเกินกว่า ๘ ชั่วโมง อีก ๘ ชั่วโมงเอาไว้สำหรับบริหารขันธ์ ทำความสะอาดร่างกาย อาบน้ำ ล้างหน้า แปรงฟันรับประทานอาหาร ออกกำลังกาย ดูหนังดูทีวี หรือพูดจาพูดคุยกับญาติมิตรบ้าง เพราะฉะนั้น เวลาที่สูญเปล่าต่อวันหนึ่งมากทีเดียว
ที่พระพุทธองค์ตรัสเอาไว้ว่า ชีวิตเป็นของมีน้อยนั้น น้อยสำหรับเอาไว้ใช้สร้างบารมี แต่สำหรับผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่มีสติ ไม่มีปัญญา มีชีวิตเหมือนนกเหมือนกา ก็ไม่ต้องคิดอะไรกันไป ก็ปล่อยกันไปเป็นวันๆ ก็สะเปะสะปะเหมือนสวะลอยน้ำกันไปอย่างนั้น
เพราะฉะนั้น พระองค์ได้ตรัสเตือนพวกเราเอาไว้ว่า ชีวิตเป็นของน้อย ถูกความชรารุกรานอย่างเงียบๆ ข้าศึกต่างๆ ที่เวลาจะเข้าบ้านเข้าเมืองกัน ยังพอจะรู้เรื่องได้ แต่ความชราเป็นข้าศึกที่รุกรานอย่างเงียบๆ มันมาพร้อมกับความเกิด พอมีความเกิด ความแก่มันก็ตามมา แต่เป็นความแก่ที่มองไม่เห็น
เราจะสังเกตความเปลี่ยนแปลงของร่างกายเมื่อผ่านไปแล้ว ๑ ปี บ้าง ๒๐ ปี บ้าง ๓๐ ปี ๔๐ ปี ๕๐ ปี เรื่อยขึ้นไปตามลำดับ ตอนไหนที่เราจะสังเกตออก เราก็สมมุติเรียกตอนนั้นว่า วัยทารก วัยเด็ก วัยรุ่น วัยหนุ่มสาว วัยกลางคนวัยชรา วัยแก่ วัยหง่อม นั้นคือความแก่ที่มองเห็น
แต่ความชราที่รุกรานอย่างเงียบๆ มันมาทุกอนุวินาที ทุกลมหายใจเข้าออก แม้แต่เรานั่งปฏิบัติธรรมในตอนนี้ มันก็ยังรุกรานอยู่อย่างเงียบๆ ความชรานำความเสื่อมมาให้กับร่างกายของเรา ความชราดึงความเป็นหนุ่ม ความแข็งแรง ความคล่องตัวออกไป
แล้วก็เอาความเสื่อมมาให้กับเรา ความไม่มีกำลังกาย ความไม่มีกำลังใจ ความท้อ ความไม่สวยงามของผิวพรรณวรรณะ ความเสื่อมไปของสติปัญญา ซึ่งเป็นเหตุให้เราทำความดีไม่ได้เต็มที่ เราถูกความชรารุกรานอย่างเงียบๆ รุกรานนำไปสู่ความตาย คือจะเสื่อมไปอย่างนี้ ตอนสุดท้ายก็คือตาย สลายไปนั่นเอง ทุกคนไปสู่จุดสลายหมด
บุคคลใดพิจารณาเห็นโทษของความตายนั้น ว่าอย่างไรเราก็ต้องตาย จะมีชีวิตเลิศเลอสมบูรณ์ไปด้วยลาภ ยศ สรรเสริญแค่ไหนก็ตาม ตายหมด จะมีรูปร่างสวยงามแค่ไหนก็ตาย
ตัวเราเองก็ต้องตาย
เพราะฉะนั้นพิจารณาให้เห็นโทษว่า ยังไงเราก็ตายแน่ ทุกคนที่นั่งอยู่ในที่นี้ตายหมด แต่ก่อนตายนะ เราควรจะทำชีวิตของเราให้มีประโยชน์อย่างไร พระพุทธองค์ได้ตรัสต่อไปว่า ให้พิจารณาเห็นโทษว่า ...
อย่างไรเราต้องตาย แล้วให้ละคลายความยึดมั่นถือมั่นในโลกามิส โลกามิสก็คือเหยื่อล่อให้ติดอยู่ในโลกนี้ เป็นเหตุให้ใจห่างจากกระแสของพระนิพพาน เมื่อห่างจากกระแสของพระนิพพาน ซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดของความสุข ห่างมากเข้าๆ ใจเราไปจมจ่อมอยู่ในโลกามิส ชีวิตจึงเต็มไปด้วยความระทมทุกข์
1
เราลองพิจารณาที่ผ่านมา ตั้งแต่เราเกิดจนมานั่งอยู่อย่างนี้ เราจมจ่อมอยู่ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ
เรานึกอย่างนี้ก็แล้วกันว่า ถ้าหากว่าเราเข้าใกล้แหล่งกำเนิดแสงเท่าไร เราก็ยิ่งพบความสว่างมาก พบความสว่างมากเท่าไร ความสะดุ้งกลัวต่างๆ ก็จะหายไป มีความอบอุ่นใจ
ถ้ายิ่งห่างจากแหล่งของแสงมากเท่าไร เราก็จะยิ่งพบกับความมืด ความมืดนั้นนำมาซึ่งความสะดุ้งกลัวกับตัวของเราเอง ลองนึกถึงสภาพว่าเราเดินไปในป่ามืด ๆ ป่ารกทึบ มีภัยต่างๆ รอบด้านเลย จากสิงสาราสัตว์บ้าง จากคนร้ายบ้าง จากอุบัติเหตุบ้าง สารพัดที่เกิดขึ้นในความมืด แต่เราเดินมาเห็นแสงริบหรี่สว่าง ๆ อยู่ในกลางทุ่งไกลๆ ใจเราชื้นขึ้นมาทันทีความสะดุ้งกลัวมันก็ค่อยๆ ลดลงไป ยิ่งเดินเข้าไปใกล้เท่าไร ความสะดุ้งก็ยิ่งหายไปเรื่อยเท่านั้น
เพราะฉะนั้น พระนิพพาน ท่านเปรียบเอาไว้เหมือน กับแหล่งกำเนิดของแสงสว่างของชีวิต เป็นที่บรรจุความสุขอันเป็นอมตะเอาไว้ที่นั้น เป็นที่รวมแห่งความสุข ถ้าใครได้เข้าใกล้ก็จะยิ่งมีความสุขมาก
แต่มนุษย์เดี๋ยวนี้ปล่อยปละละเลยในกระแสของพระนิพพาน แล้วก็หมกหมุ่นยินดีอยู่กับวิทยาการใหม่ๆ ติดกับโลกติดกับวัตถุ จึงเหมือนกับเดินอยู่ในที่มืด
ท่านจึงให้พิจารณาว่า ชีวิตเป็นของน้อย ถูกความชรารุกรานอยู่เงียบ ๆ รุกรานนำไปสู่ความตาย พิจารณาให้เห็นโทษของความตายนั้น คือ ที่สุดแห่งชีวิตนั้น แล้วละคลาย คือไม่ยึดมั่นถือมั่นในในโลกามิส คือเหยื่อล่อให้ใจเราติด
ท่านใช้คำว่าเหยื่อล่อ เหมือนพรานเบ็ดใช้เหยื่อติดเบ็ดแล้วก็ล่อปลาในน้ำนั้น เหยื่อล่อให้ติดอยู่อย่างนั้น พอปลากินเหยื่อ ก็ได้รับความทุกข์ทรมานตั้งแต่ร่างกาย การเจ็บป่วยของอวัยวะ จนกระทั่งตาย นั่นน่ะเหยื่อล่อ
หนังสือชีวิตลิขิตได้ หน้า ๑๓ - ๑๙
ภาพจาก เพจการบ้าน
โฆษณา