11 มี.ค. 2022 เวลา 13:00 • ศิลปะ & ออกแบบ
Craft and Folk Art
เรื่อง ไพวรินทร์ ภาพ มติมนต์
ภาพ: CreativeMatters
ภูมิปัญญาท้องถิ่นคือความรู้ของชาวบ้านที่ได้มาจากการสั่งสม สืบสาน และส่งต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ สืบทอดจากรุ่นสู่รุ่นโดยมีการปรับ ประยุกต์ และเปลี่ยนแปลงจนอาจเกิดเป็นความรู้ใหม่ตามบริบท สอดคล้องกับสถานการณ์ทางสังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม
การประยุกต์องค์ความรู้จากภูมิปัญญาท้องถิ่นก่อให้เกิดประโยชน์กับความเป็นอยู่ของผู้คนในชุมชน สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพิ่มมูลค่าให้แก่ผลผลิตทางภูมิปัญญา และสืบทอดแก่นสารทางวัฒนธรรมนั้นให้คงอยู่ต่อไป กรกต อารมย์ดี นักออกแบบสถาปัตยกรรมผู้นำภูมิปัญญาท้องถิ่นมาสร้างสรรค์เป็นผลงานชั้นยอด ใช้ทักษะ พื้นบ้านจากวิธีการมัดและผูกว่าวจุฬาปักเป้าที่เรียนรู้จากก๋ง (คำเรียกญาติฝ่ายแม่ในภาษาจีน หมายถึง ตา) มาประยุกต์ใช้จนกลายเป็นนักออกแบบที่มีผลงานโดดเด่นมีลายเส้นเป็นภาพจำคนหนึ่งของประเทศไทย
กรกต อารมย์ดี ขับเคลื่อนชุมชนด้วยงานออกแบบผ่านภูมิปัญญาท้องถิ่น
กรกตเป็นลูกหลานชาวประมงชายฝั่งทะเล อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ในวัยเด็กใช้ชีวิตอยู่กับก๋ง บุคคลที่เป็นคนสำคัญในการถ่ายทอดวิชาความรู้เทคนิคการมัดและผูก ทำให้ได้ซึมซับภูมิปัญญาการทำว่าวจุฬา ปักเป้าจนเกิดองค์ความรู้ด้านวัสดุ การคัดสรรไม้ไผ่ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ และมีโอกาสนำทางให้ชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมมีรายได้ และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เปลี่ยน “พืชหลังบ้าน” ให้กลายเป็นพืชทำเงิน สร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ ไปสู่ระดับนานาชาติ
กรกตสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านภายใต้แนวคิดใหม่โดยการนำพืชหลังบ้านอย่าง “ไม้ไผ่” มาประยุกต์ เป็นผลงานประเภทต่าง ๆ เช่น เฟอร์นิเจอร์ ประติมากรรมนูนต่ำสำหรับตกแต่ง ไปจนถึงอาคารสถานที่ แต่ละโครงการที่กรกตได้พัฒนาขึ้นนั้นประสบความสำเร็จอย่างสูงทั้งในด้านความคิดสร้างสรรค์และในด้านธุรกิจที่สามารถกระจายรายได้ให้กับคนในชุมชนบ้านแหลม และสร้างชื่อเสียงให้กับตนเองไปสู่ระดับนานาชาติ
ภาพ: CreativeMatters
เส้นโค้งของไม้ไผ่เป็นลายเส้นตามจินตนาการนั่นคือความงดงามที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ
กรกต อารมย์ดี
กรกตบอกว่า ชาวบ้านชุมชนบ้านแหลมเก่งและชำนาญเรื่องของการมัดและผูก เพราะอยู่ในครอบครัวที่ผูกอวนประมงมาตลอด การมัดให้แน่น มัดให้ขยับได้ในทิศทางที่ต้องการ มีความเข้าใจในตัววัสดุ และเทคนิคต่าง ๆ เหล่านี้เป็นแก่นสารของงานสร้างสรรค์ การนำมาประยุกต์ใช้ตามรูปทรงว่าวจุฬาปักเป้าไปสู่การสร้างสรรค์รูปทรง ตามจินตนาการต่าง ๆ เผยให้เห็นความงดงามของผลงานที่ปล่อยไปตามธรรมชาติของไม้ไผ่ กรกตได้สร้างสรรค์ ผลงานตามจินตนาการให้เป็นรูปร่างที่เป็นรูปธรรมจนกลายเป็นผลงานศิลปะ
ผลิตภัณฑ์จากพืชหลังบ้านสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ชุมชน
ทุกชุมชนมีพืชหลังบ้านที่คนในชุมชนสามารถนำพืชเหล่านั้นมาสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์เพื่อหารายได้เลี้ยงชีพ พืชหลังบ้าน เช่น ต้นไผ่ กก คลุ้ม คล้า กระจูด หญ้าลิเภา เตยปาหนัน ต้นจาก และต้นตาล ทุกอย่างที่ขึ้นและเติบโตบริเวณชุมชนสามารถนำมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะแปรรูปเป็นอาหาร เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัยล้วนแต่มาจากพืชหลังบ้านทั้งสิ้น
กรกตกล่าวว่า “ทุกชุมชนมีพืชอยู่หลังบ้าน และเราสามารถตัดพืชหลังบ้านมาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อขาย การขายทำให้ทรัพยากรมีมูลค่าเพื่อให้มีค่าแรงเพิ่มมากขึ้น”
กรกตสร้างความมั่นใจให้กับชุมชนว่าจะนำผลิตภัณฑ์จากพืชหลังบ้านมาสร้างมูลค่าเพิ่มได้ เพราะชาวบ้านในชุมชนมีทักษะ เทคนิค และวิชาที่ถ่ายทอดจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนกับวิทยาลัยชุมชนเป็นวิชาความรู้ที่สืบทอดมาจากบรรพบุรุษ กรกตยังกล่าวเพิ่มเติมอีกว่า “นี่คือสิ่งที่ผมต้องไปสนับสนุนคนในชุมชน”
ความเป็นช่างของเราสามารถปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้กลายเป็นร่วมสมัยได้
กรกต อารมย์ดี
กรกตนำวิชามัดและผูกว่าวจุฬาปักเป้าจากก๋งมาเป็นทักษะในการสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านให้ร่วมสมัย นำพืชหลังบ้านมาสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อขาย เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าเพื่อให้สอดรับกับชีวิตประจำวัน เพราะในปัจจุบัน ค่าครองชีพสูงขึ้น ทรัพยากรทางทะเลลดน้อยลง ชาวบ้านในชุมชนบ้านแหลมไม่มีงานทำและกำลังจะตกงาน กรกต ช่วยชาวบ้านโดยการออกแบบผลิตภัณฑ์และนำไปขาย โดยใช้ฐานในด้านศิลปะเป็นพื้นฐานในการออกแบบ เมื่อ ได้รับออเดอร์ (1) สินค้ามากนำไปกระจายงานให้กับคนในชุมชนเพื่อกระจายรายได้ และฝึกให้คนในชุมชนเป็นช่าง... ไม่ใช่กรรมกร โดยกรกตนำครูช่างในชุมชน ทั้งช่างเรือประมงพื้นบ้าน ช่างถักอวน หรือช่างขัดหิน มาสอนให้วัยรุ่น ในชุมชนที่ไม่มีงานทำ กลายเป็นกลุ่มที่สร้างรายได้เลี้ยงตนเองและจุนเจือครอบครัว มีความมั่นคงให้กับชีวิตมากขึ้น
เราแค่ต้องรู้จักกับเทคนิคที่เราเป็นแล้วนำมาต่อยอดกับทักษะความเป็นพื้นบ้าน
กรกต อารมย์ดี
ผลิตภัณฑ์ในชุมชนบ้านแหลมคือเครื่องจักสาน เช่น ว่าว อวนจับปลา เปลญวน และเปลเด็ก ซึ่งผลิตภัณฑ์ทั้งหมดนี้ใช้วัสดุ 2 อย่างที่คล้ายคลึงกันคือ ไม้ไผ่ และเชือก แตกต่างกันที่วิธีการทำและลักษณะของการใช้งาน วิธีการเชื่อมระหว่างไม้ไผ่กับเชือกคือการมัดและผูก ซึ่งกรกตได้คลุกคลีอยู่กับการมัดผูกว่าวจุฬาปักเป้า ผลงานที่สร้างสรรค์ออกมาจะเป็นการต่อยอดจากมัดและผูกว่าว นอกจากเทคนิคการมัดและผูกแล้ว การเข้าใจและรู้จักวัสดุ เป็นอย่างดีนั้นก็สาคัญไม่แพ้กัน
ไม้ไผ่ในชุมชนบ้านแหลมคือไม้ไผ่สีสุก ทั้งนี้ เทคนิคการตัดไม้ไผ่ของชาวบ้านคือการเลือกไม้ไผ่ที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีครึ่ง ไปจนถึง 3 ปี ส่วนไม้ไผ่ที่อายุน้อยกว่านั้นจะปล่อยให้โตและในอีก 2 ปีข้างหน้าจะวนกลับมาตัด เป็นการตัดไม้ไผ่แบบอนุรักษ์ หลาย ๆ ชุมชนใช้วิธีการตัดแบบนี้ ทั้งหมดเรียกว่าเป็นการตัดแบบพี่เลี้ยงน้อง ต่อมาเทคนิค การป้องกันไม้ไผ่ไม่ให้เกิดเชื้อราและมอดใช้เทคนิคเชิงช่างของชุมชน นำไม้ไผ่มาแช่กับน้ำเกลือ น้ำทะเล หรือน้ำคลองที่เป็นน้ำเค็ม ซึ่งเป็นการยืดการอายุการใช้งานของไม้ไผ่ และเมื่อนำภูมิปัญญาทักษะพื้นบ้านเหล่านี้มาใช้ ทำให้วัสดุมีมูลค่าเพิ่มขึ้น
ในต่างประเทศเขาเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรม
กรกต อารมย์ดี
งานหัตถกรรมทุกชิ้นต่างมีคุณค่าต้องใช้ เวลา สมาธิ เทคนิคของการเลือกไม้ไผ่ การมัดและผูก การเหลาไม้ ไผ่ และทักษะเชิงช่างต่าง ๆ ทั้งหมดนี้ต่อยอดให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ร่วมสมัยขึ้นได้ และสิ่งที่เป็นการยกระดับเรื่อง ความเป็นไทยคืองานฝีมือช่าง วัสดุ ทักษะพื้นฐานของภูมิปัญญาชุมชน กรกตกล่าวว่า “เราตีตลาดจากต่างประเทศ มาก่อน ความแตกต่างก็คือในต่างประเทศเขาเห็นคุณค่าของงานหัตถกรรม”
ลูกค้าในฝั่งยุโรปสนใจงานผลิตภัณฑ์ทสี่ร้างสรรค์จากภูมิปัญญาพื้นบ้านให้กลายเป็นร่วมสมัยและในทางเอเชีย เช่น จีน ไต้หวัน และญี่ปุ่น นิยมนำผลงานมาประดับตกแต่งเข้ากับอาคาร สร้างคุณค่าให้กับอาคารเดิม โดยรวมแล้วฐานลูกค้าต่างประเทศนั้นไม่ได้ต้องการงานสร้างสรรค์เพียงอย่างเดียว แต่ในผลงานนั้น ๆ ต้องมี เรื่องราวที่สามารถบอกเล่าได้
ภาพ: CreativeMatters
ก้าวเดินไปต่อกับผลงานสร้างสรรค์
กรกตได้นำ “ไม้ไผ่” พืชหลังบ้านใกล้ตัวมาสร้างสรรค์กับเทคนิคการคัดสรรไม้ไผ่ การดัด การผูกและมัด เงื่อน ประกอบกับความสามารถด้านการออกแบบมาประยุกต์เป็นงานหัตถศิลป์ร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แบรนด์ KORAKOT ก่อตั้งในปี 2549 จนถึงปัจจุบัน เข้าสู่ปีที่ 16 แบรนด์มีการพัฒนาและเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ผลงานในช่วง 2 ปีให้หลังมาช่วงของวิกฤตการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) กรกตได้พัฒนา โครงการเป็นผลงานเกี่ยวกับการประดับภายในอาคารห้างสรรพสินค้าในประเทศจีน กรกตกล่าวว่า “ผมได้เรียนรู้ จากการทำงานในประเทศจีน เหมือนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถทำให้ผมเริ่มสนับสนุนทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับการให้เครดิตแต่ละวิชาชีพต่าง ๆ เพื่อจะทำให้น้อง ๆ ทีมสถาปนิกและทีมช่างมีแรงในการสร้างสรรค์ผลงานที่สามารถพัฒนาขึ้นไปได้อีก”
ภาพ : https://www.thetravel2gether.com/kaomaiplamun-ampawa
ส่วนโครงการในประเทศไทยกรกตได้สร้างสรรค์ผลงานด้านสถาปัตยกรรมไว้ เช่น ครัวย่าริ้ว ร้านอาหารป่า ชายเลนที่จังหวัดเพชรบุรี และร้านอาหารข้าวใหม่ปลามัน จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งการสร้างงานสถาปัตยกรรมนี้ จุดสำคัญคือตั้งใจให้อาคารเป็นแลนด์มาร์ค (2) สำคัญ การออกแบบอาคารตั้งใจให้เป็นสัญลักษณ์ของพื้นที่ ดึงความ เป็นอัตลักษณ์ของชุมชนนั้นมาออกแบบ โดยใช้บริบทของสังคมละแวกนั้นมาเป็นแรงบันดาลใจของรูปทรงอาคาร ซึ่งโครงการให้หลังมานี้มีการใช้เทคนิคการมัดและผูกแบบใหม่ด้วยยางยืดยึดกับไม้ไผ่
ยางยืดนี้เป็นการที่กรกตได้เดินสารวจพื้นที่ชุมชนจนบังเอิญเห็นนั่งร้านเก็บผลไม้ในชุมชนซึ่งใช้ยางยืดมัด และผูกในการทำนั่งร้าน เลยสนใจนำมาปรับใช้กับการสร้างอาคารได้
กรกตกล่าวว่า “การมัดด้วยยางยืดถูกจริตกับไม้ไผ่ พอถูกความร้อนมันหดตัว พอถูกฝนทำให้บวมขึ้น ไม้ไผ่ ไปอยู่ในป่าชายเลนซึ่งอยู่ในโคลนมันต้องยืดหยุ่น ไม้ไผ่ถูกพัดไปในทิศทางของคลื่นมันก็ยืดหยุ่นอีก อยู่กับลมก็โยกเยก”
ไม้ไผ่ที่นำมาใช้ต้องไม่โดนเจาะ ซึ่งเวลาไม้ไผ่ถูกความชื้นจะทำให้ไม่แตก เปรียบคล้าย ๆ กับงานจักสาน ตลอดเวลาที่ผ่านมากรกตได้เรียนรู้คุณสมบัติเฉพาะต่าง ๆ และทดลองใช้วัสดุให้ถูกกับคุณสมบัติของไม้ไผ่ ปรับและเปลี่ยนไปตามสถานการณ์เพื่อให้ผลงานออกมาดีที่สุด
ภาพ : https://www.thebuffaloamphawa.com
ทั้งหมดนี้เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ปฏิวัติพืชหลังบ้านให้กลายเป็นพืชเศรษฐกิจทสี่ามารถนำมาต่อยอดสร้างรายได้ให้กับตัวเองและชุมชน งานหัตถกรรมพื้นถิ่นโดยภูมิปัญญาชาวบ้านของกรกตนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการกระจายงานให้ชุมชนที่มีความถนัดด้านการดัด ผูกมัด ขึ้นทรง ทักษะพื้นบ้านต่าง ๆ สนับสนุนซึ่งกันและกันเพื่อให้เกิดการสร้างสรรค์ผลผลิตและประสบการณ์ใหม่ ๆ กับหัตถกรรมของเมืองไทย
การสร้างผลงานออกแบบพื้นบ้านที่เป็นเอกลักษณ์จำเป็นต้องผสมผสานความรู้ด้านการออกแบบร่วมสมัย และภูมิปัญญาท้องถิ่นให้ได้อย่างลงตัว ประยุกต์องค์ความรู้จากภูมิปัญญาสู่ผลผลิตร่วมสมัย และพัฒนาความคิด สร้างสรรค์เพื่อต่อยอดไปในอนาคต กรกตสืบทอดและส่งต่อองค์ความรู้แก่ชุมชน สร้างศักยภาพที่จะแตกแขนงองค์ ความรู้ดั้งเดิมให้พัฒนาไปอย่างยั่งยืน
หมายเหตุ
(1) ออเดอร์ (order) หมายถึง รายการสั่งซื้อหรือความต้องการซื้อขาย
(2) แลนด์มาร์ค (landmark) หมายถึง จุดสังเกตหรือสถานที่ที่โดดเด่น
เอกสารอ้างอิง
กรกต อารมย์ดี. (2565). นักออกแบบ ห้างหุ้นส่วนจากัด กรกต อินเตอร์เนชั่นนอล. สัมภาษณ์, 12 มกราคม.
The Buffalo Amphawa (2021). Media. Accessed February 1. Available from
The travel together คนเดินทาง (2021). Media. Accessed February 1. Available from https://www.thetravel2gether.com/kaomaiplamun-ampawa
ขอขอบคุณ คุณ กรกต อารมย์ดี ห้างหุ้นส่วนจากัด กรกต อินเตอร์เนชั่นนอล
#CreativeMatters
#KORAKOT
#CraftandFolkArt
#กรกตอารมย์ดี
Facebook: CreativeMatters
โฆษณา