11 มี.ค. 2022 เวลา 15:22 • สุขภาพ
มาทําความรู้จัก โรคจอตาในเด็กทารก ที่คลอดก่อนกําหนด
What is Retinopathy of Prematurity?
โรคจอตาในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of Premature หรือ ROP) เกิดจากการที่ทารกคลอดก่อนกำหนดนั้นมีการพัฒนาของเส้นเลือดที่ หล่อเลี้ยงเนื้อเยื่อจอตายังไม่สมบูรณ์ ทำให้เกิดความผิดปกติของค่าสายตา ในภายหลัง และอาจส่งผลให้สูญเสียการมองเห็นได้
รู้จักโรคจอตาในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด
จอตาเป็นเนื้อเยื่อบางๆ ที่อยู่บริเวณด้านในลูกตา คอยทำหน้าที่เปลี่ยนแสงที่เรามองเห็นให้เป็นสัญญาณประสาท เพื่อรอการส่งต่อไปที่สมองเพื่อแปลผล ซึ่งเนื้อเยื่อดังกล่าวมีความจำเป็นต้องใช้พลังงานและสารอาหารเป็นจำนวนมาก แต่หลอดเลือดที่มาเลี้ยงจอตานั้นจะมีการพัฒนาที่สมบูรณ์ ตอนที่ทารกมีอายุในครรภ์มารดาครบ 39-40 สัปดาห์ ดังนั้นในทารกที่คลอดก่อนกำหนด หลอดเลือดเหล่านี้จะยังมีการพัฒนาที่ไม่สมบูรณ์และมีโอกาสเกิดภาวะจอตาขาดเลือด ซึ่งเราเรียกว่าโรคจอตาในเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด (Retinopathy of Prematurity หรือ ROP) ซึ่งหากปล่อยทิ้งไว้ โดยไม่ได้รับการรักษาอาจเกิดการลุกลามและเกิดการสูญเสียการมองเห็นได้
ปัจจัยเสี่ยง
ปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่ทำให้เกิดโรค คือ การคลอดก่อนกำหนดโดยเฉพาะการ คลอดก่อนอายุครรภ์ครบ 30 สัปดาห์) และภาวะน้ำหนักแรกคลอดต่ำ(โดย เฉพาะน้ำหนักแรกคลอดที่ต่ำกว่า 1,500 กรัม) ส่วนปัจจัยเสี่ยงอื่นๆ ได้แก่ มีความผิดปกติของระบบหายใจ การมีภาวะติดเชื้อในกระแสเลือด น้ำหนักตัว ขึ้นช้า เคยมีประวัติต้องถ่ายหรือให้เลือด หรือมีความผิดปกติของระบบอื่นใน ร่างกายร่วมด้วย
ความสําคัญของการตรวจคัดกรอง
เนื่องจากทารกที่เป็นโรคนี้จะไม่มีอาการใดๆ ดังนั้นการตรวจคัดกรองจึงมี ความสําคัญมากสําหรับทารกที่อยู่ในเกณฑ์ที่มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้ โดย จักษุแพทย์จะทำการหยอดยาเพื่อขยายม่านตา และใช้อุปกรณ์พิเศษเพื่อตรวจ จอตาของเด็กเหล่านี้ โดยอาจจะต้องใส่เครื่องมือเพื่อเปิดเปลือกตาร่วมกับใช้ อุปกรณ์เพื่อกดผิวลูกตาด้านนอกเพื่อให้ทำการตรวจได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเป็นขั้นตอนปกติและมีความปลอดภัยสูงสำหรับทารก โดยจะต้องนัดมา เพื่อรับการตรวจคัดกรองอย่างต่อเนื่องทุก 1-3 สัปดาห์จนสามารถมั่นใจได้ว่าหลอดเลือดบนจอตามีการพัฒนาอย่างสมบูรณ์หรือโรคดังกล่าวอยู่ในระยะสงบแล้ว
การรักษา
หากตรวจพบว่าโรคอยู่ในระยะลุกลาม จักษุแพทย์อาจพิจารณาให้การรักษา โดยการใช้แสงเลเซอร์บนจอตาส่วนที่มีการขาดเลือด เพื่อระงับการลุกลามของโรค หรืออาจพิจารณาฉีดยาระงับการสร้างของหลอดเลือดเข้าในช่องวุ้นตาหรือให้การผ่าตัดร่วมด้วย
ผลในระยะยาว
ทารกที่เป็นโรคดังกล่าว ควรได้รับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่องในระยะยาว เนื่องจากมีโอกาสพบความผิดปกติของค่าสายตา และภาวะความผิดปกติอื่น ๆ ของลูกตาได้มากกว่าประชากรทั่วไป
ที่มาของข้อมูลและเนื้อหาโดย อ.นพ.อภิวัฒน์ มาวิจักขณ์
ฝ่ายจักษุวิทยา โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
สภากาชาดไทย
โฆษณา