13 มี.ค. 2022 เวลา 00:32 • ปรัชญา
ชีวิตที่สมดุลคือการดําเนินชีวิตตามทางสายกลางหรือ มัชฌิมาปฏิปทา ที่ไม่สุดโต่งไปในด้านใดด้านหนึ่ง อยู่ระหว่างความดีงาม- ความชั่ว, ความสุข-ความทุกข์, ดีใจ-เสียใจ, สมหวัง-สิ้นหวัง เราจะไม่ให้ค่าหรือให้ความสําคัญด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะแต่เราจะดํารงค์สติอยู่ตรงกลาง โดยถ้าเราหลงไปด้านหนึ่งโดยเฉพาะ สติเราจะตามติด อย่างว่องไว สัมปชัญญะหรือความรู้สึกตัวจะบอกว่าเราหลงและจะดึงสติกลับมาตรงกลาง นั่นคือความสมดุลแห่งชีวิตที่แท้จริง ในทางโลกความหลงไปในทางใดทางหนึ่งก็ถือว่าเป็นกิเลสหรือความยึดติดรูปแบบหนึ่ง ความสมดุลของชีวิตโดยการใช้ชีวิตอย่างมีสติและรู้ทันกิเลสทุกรูปแบบ เช่นเราทําดีเรารู้ตัวว่าเราทําดี เราทําชั่วเราก็รู้ว่าเราทําชั่ว เราหลงไปในความดีเราก็รู้ตัวว่าเราหลง เป็นเรื่องจิตที่เดินสายกลางมีความรู้สึกตัว มิใช่การห้ามไม่ให้ทําความดี
เมื่อเราหลงเข้าไปในด้านใดด้านหนึ่งแล้ว เราก็จะยึดติดในด้านนั้น และปฏิเสธอีกด้าน ยิ่งปฏิเสธอีกด้านมากเท่าใด ก็ยึดติดอีกด้านมากเท่านั้น กลายเป็นการสบัดไม่หลุด ยึดติดอย่างเหนียวแน่น เช่นติดสุข ยึดติดในความดี ติดในชั่ว ติดในความสมหวัง อาจจะมีคน ถามว่านั่นคือสิ่งที่ดีมิใช่หรือ? ทําไมเราจึงปฏิเสธมันด้วยละ สิ่งที่เป็นสุดโต่งด้านดีก็ควรจะดี เป็นกุศลธรรม ความจริงควรจะเป็นเช่นนั้น มิฉนั้นหลักธรรมต่างๆที่มุ่งสู่ความดีจะมีไว้ทําไม
ผมก็มีความสงสัยเช่นกัน ว่ามันจะทําได้จริงหรือเป็นเช่นนั้นได้อย่างไร? แต่ผมเริ่มรู้แล้วว่าการที่มีความสุขกับติดสุข กับการที่เป็นคนดีกับติดดี นั้นต่างกัน อย่างไร? หลวงพ่อชาท่านอธิบายไว้ขัดเจนมาก ท่านเคยบอกว่า ความชั่วก็เหมือนกับหัวงู ความดีเสมือนหางงู จะจับด้านไหนมันก็คืองู จับหางหัวก็อาจจะแว้งกัดเอา เรื่องนี้ถ้าเราใช้ logic ธรรมดาในการคิด เราคงคิดว่ามันไม่สมเหตุสมผล ใครจะคิดว่าความดีคือหัวงู แต่ถ้าเราใช้ปัญญาในการพิจารณา อย่างละเอียดถี่ถ้วน นั่นคือถ้าเรารับรู้ว่าเป็นงูที่มีทั้งหัวและหางและเราไม่แตะมันจะไม่ดีกว่าหรือเพราะเราจะไม่มีวันถูกมันกัดเอา หรือถ้าเราชอบแตะหาง เราก็อย่าไปจับไว้นานๆโดยมีสติรีบดึงออกมา เพราะรู้ว่าเดี๋ยวหัวมันจะกลับมาฉกเอา
ทําไมเราจึงคิดว่าหางงูเป็นสิ่งไม่ดี ทั้งๆที่ความดีก็ควรจะดีแล้วทําไมจะจับไม่ได้ จะรีบปล่อยไปทําไม อะไรจะแว้งมากัดความดีได้ นั่นคือความคิดที่ติดอยู่ในโลกหรือโลกียะ ซึ่งไม่ใช่ไม่ดีในทางโลกเป็นความดีจริงแต่ในโลกุตระ ความดีก็ถือว่าเป็นความยึดติดรูปแบบหนึ่งที่เป็นสิ่งขวางกั้นมิให้เราหลุดพ้น คนที่ยังดําเนินชีวิตในโลกียะก็จะมุ่งสู่ความดีงามแต่พอถึงเวลาหนึ่ง เขาก็จะปลดปล่อยความดีงามหรือปลดปล่อยทุกสิ่งที่ยึดติด หรืออะไรที่เป็นสิ่งเหนี่ยวรั้งในโลกียะ เพื่อมุ่งสู่โลกุตระอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในชีวิต จิตจึงมีอิสระมีเสรีภาพที่แท้จริง การปล่อยวางในทางโลกคนอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ ส่วนคนที่เข้าใจจะมีความรู้สึกเฉยๆกับความดี หรือมีความสุขก็เฉยๆหรือดีใจก็รู้ตัวว่าดีใจ มีความสุขก็รู้ตัวว่ามีความสุข เวลามีความทุกข์ก็รู้ว่าทุกข์ก็ไม่เที่ยงเดี๋ยวมันก็จะดับไป เพราะเห็นอีกด้าน ที่เป็นความสุขมันก็จะมาเองซักวันเป็นต้น
โฆษณา