13 มี.ค. 2022 เวลา 03:18 • หุ้น & เศรษฐกิจ
หุ้นปูติน-รัสเซีย VS หุ้นโลก/ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร : สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า (ประเทศไทย)
1
เรื่องเกี่ยวกับประเทศรัสเซียนั้นผมคิดว่าคนไทยรู้จักและสนใจค่อนข้างน้อยเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจพอ ๆ กัน อย่างเกาหลีใต้ เหตุผลสำคัญอาจจะมาจากการที่รัสเซียอยู่ห่างจากประเทศไทยค่อนข้างมากและมีการติดต่อค้าขายน้อยและวัฒนธรรมของผู้คนแตกต่างกันมาก
เราแทบไม่เคยเห็นหรือใช้สินค้ารัสเซียไม่ต้องพูดถึงภาพยนตร์ ดารานักร้องที่มีชื่อเสียงหรือแม้แต่นักกีฬาที่โดดเด่นที่จะเป็นข่าวให้เราติดตามแบบประเทศที่ก้าวหน้าและ “เปิด” อย่างอเมริกา ยุโรป หรือเอเชีย
3
สิ่งที่เรารับรู้มากหน่อยเกี่ยวกับรัสเซียก็อาจจะเป็นเรื่องของนักท่องเที่ยวและชุมชนชาวรัสเซียโดยเฉพาะแถวพัทยาและที่เด่นที่สุดก็คือ “ผู้นำสูงสุด” ของรัสเซีย คือ วลาดิมีร์ ปูติน ซึ่งอยู่ใน “เวทีโลก” ในด้านการเมืองเป็นเวลานานมาก นับถึงวันนี้ก็กว่า 20 ปีแล้ว
1
ดูเหมือนว่าปูตินจะมีความสุขและแสดงให้โลกเห็นและรับรู้ว่า รัสเซียนั้นยังเป็น “มหาอำนาจ” ที่ยิ่งใหญ่และใครจะมา “ลูบคม” ไม่ได้ และนี่ก็คือสิ่งที่เราจะมาดูกันว่าจริงหรือไม่? และสงครามกับยูเครนที่ปูตินก่อขึ้นจะลงเอยอย่างไรและจะกระทบกับรัสเซียและโลกอย่างไร—โดยเฉพาะในเรื่องของหุ้น—ทั่วโลก
2
การวิเคราะห์นั้น ผมจะเดินเรื่องตั้งแต่การล่มสลายของสหภาพโซเวียต และตามด้วยรัสเซียที่มีปูตินเป็นผู้นำหลังจากนั้นมาจนถึงปัจจุบัน และเนื่องจากเวลาส่วนใหญ่หรือเกือบทั้งหมดในช่วงหลังนั้น อยู่ในช่วงที่มีปูตินเป็น “ผู้จัดการ” รัสเซียและปูตินจึงแทบจะแยกกันไม่ออก การเติบโตก้าวหน้าหรือล้าหลังของประเทศก็มีส่วนสำคัญจากปูติน สถานะความเข้มแข็งของรัสเซียก็น่าจะอยู่ที่บทบาทของปูติน
3
ถ้าเปรียบรัสเซียเป็น “หุ้น” ตัวหนึ่งในหุ้นโลกหรือประเทศทั้งหมดในโลก ปูตินก็เป็น “ซีอีโอ” ของบริษัทรัสเซีย ประเทศรัสเซียหรือหุ้นรัสเซียนั้นเคยยิ่งใหญ่มากและอยู่มานาน CEO ปูตินเองก็อายุมากและบริหารงานมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 20 และก็ดูเหมือนว่าจะได้รับการยอมรับว่ามีความสามารถและเก่งกาจโดยเฉพาะในทางการเมืองทั้งในและต่างประเทศ แต่บัดนี้เป็นยุคของศตวรรษที่ 21 แล้ว สภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วจะมา Disrupt หรือทำลายแนวความคิดและวิธีการเดิมของปูตินหรือไม่ นี่เป็นเรื่องที่ต้องมาพิจารณากัน
6
การวิเคราะห์พลังอำนาจและความยิ่งใหญ่ของประเทศนั้น ก่อนสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็เป็นเรื่องยาก เพราะโลกยังไม่มีข้อมูลที่เรียกว่า “GDP” หรือภาษาไทยก็คือ “ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ” ต่อปี
2
นี่คือปริมาณสินค้าและบริการทั้งหมดที่ประเทศผลิตได้ ตั้งแต่เรื่องของอาหารและ ปัจจัย 4 ที่คนจำเป็นต้องใช้ และข้อมูลข่าวสารที่เป็นเป็นความรู้ความฉลาดที่จะช่วยเพิ่มพลังในการผลิต รวมถึงอาวุธที่จะใช้ในการป้องกันประเทศหรือการต่อสู้กับประเทศอื่นในแต่ละปี มันบอกถึงจำนวนของผู้คนที่เป็นพลเมืองและความสามารถของคนที่จะทำการผลิตหรือกิจกรรมอื่นเช่นการรบ ซึ่งก็จะเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่จะทำให้ผู้คนในประเทศอยู่ดีกินดีในยามสงบ และก็สามารถนำมาใช้ในช่วงที่เกิดสงคราม ดังนั้น โดยหลักการคร่าว ๆ ก็คือ ถ้า 2 ประเทศรบกัน ประเทศที่มี GDP มากกว่าก็มีโอกาสชนะสงครามมากกว่า
3
สหภาพโซเวียตรัสเซียนั้นเกิดขึ้นจากการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ จำนวนมากหลังจากการปฎิวัติบอลเชวิกโค่นล้มพระเจ้าซาร์แห่งจักวรรดิรัสเซียในปี 1922 และปกครองประเทศด้วยระบบคอมมิวนิสต์มาจนเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นฝ่ายผู้ชนะสงครามในปี 1945 หลังจากนั้น สหภาพโซเวียตก็เจริญเติบโตและก้าวหน้าเร็วระดับต้น ๆ ของโลกในประเทศพัฒนาแล้ว โดยเฉพาะในช่วงแรก ๆ อาจจะเป็นรองเฉพาะสหรัฐอเมริกาซึ่งก็เป็นการรวมตัวของรัฐต่าง ๆ และก็เป็นฝ่ายชนะสงครามเช่นเดียวกัน
5
อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลัง ๆ เศรษฐกิจและการเมืองของสหภาพก็เกิดปัญหารุนแรง จนถึงจุดสุดท้ายในปี 1991 สหภาพโซเวียตก็ล่มสลาย ในวันนั้น สหภาพโซเวียตมี GDP ประมาณ 3.14 ล้านล้านดอลลาร์และเป็นอันดับ 3 รองจากญี่ปุ่นที่ 3.7 และอเมริกาที่ 6 ล้านล้านเหรียญ อย่างไรก็ตาม ถ้าวัดจากกำลังซื้อจริง ๆ (หรือ PPP) สหภาพโซเวียตมีขนาดเศรษฐกิจใกล้เคียงกับสหรัฐ
3
นอกจากนั้น จำนวนประชากรของโซเวียตยังมากกว่าสหรัฐด้วย พูดง่าย ๆ ในปี 1991 นั้น สหภาพโซเวียตยิ่งใหญ่จริงและเป็น “ซุปเปอร์เพาเวอร์” เท่า ๆ กับสหรัฐ
1
หลังจากโซเวียตล่มสลาย ประชากรของรัสเซียเหลือเพียงครึ่งเดียวที่ประมาณ 150 ล้านคน เศรษฐกิจก็ตกต่ำลงไปมาก GDP ของรัสเซียไม่ติดอันดับ 1 ใน 10 ของประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถึงแม้ว่ารัสเซียยังมีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุดแต่ก็แทบจะไม่มีบทบาทหรือศักดิ์ศรีอะไรในเวทีโลกมากนัก และการ “แข่งขัน” กับสหรัฐในแทบทุกด้านก็จบลงไปด้วย
1
เวลาผ่านไปเกือบ 10 ปีที่เศรษฐกิจไม่โตเลยและมีแต่เล็กลงจนถึงปี 2000 GDP อยู่ที่ 259,000 ล้านเหรียญสหรัฐหรือแค่ 10% จากจุดสูงสุดของโซเวียต และนั่นก็คือวันที่ปูตินได้รับการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของรัสเซียสมัยแรก และนั่นก็น่าจะเป็นจุดเริ่มของการพยายามที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ของโซเวียตและอาณาจักรรัสเซียในอดีตให้กลับมาอีกครั้งหนึ่ง
ภายใต้ปูตินโดยเฉพาะในช่วง 8 ปีแรกนั้น รัสเซียได้เริ่มนำระบบทุนนิยมมาใช้และเริ่มพัฒนาเศรษฐกิจโดยเฉพาะการพัฒนาอุตสาหรรมการขุดน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่รัสเซียมีอยู่มาก ผลก็คือ เศรษฐกิจเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เฉลี่ยถึงปีละ 26% จนถึงปี 2008 GDP ก็มีขนาด 1.66 ล้านล้านเหรียญสหรัฐก่อนที่จะตกลงมาในช่วงปี 2009 เหลือ 1.22 ล้านล้านเหรียญ
3
อานิสงค์จากวิกฤติซับไพร์มในปี 2008 ของสหรัฐและการตกลงมาของราคาน้ำมันดิบจาก 140 เหลือเพียง 41เหรียญต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตาม ขนาดของ GDP รัสเซียในปี 2010 ก็กลับมาติดอันดับ 10 ของโลกในปี 2010 ที่ประมาณ 1.52 ล้านล้านเหรียญ ควบคู่กับหัวรบนิวเคลียร์ที่ยังอยู่ครบ ปูตินรัสเซียก็เริ่มจะเชิดหน้าได้ และเขาเตือนโลกเสมอว่า รัสเซียนั้นยังเป็นมหาอำนาจที่ใครจะมาหยามไม่ได้
3
เศรษฐกิจรัสเซียเดินหน้าเติบโตต่อไปอย่างรวดเร็วต่อจนถึงจุดสูงสุดในปี 2013 ที่ 2.21 ล้านล้านเหรียญ ปูตินน่าจะเริ่มมีความเชื่อมั่นในตนเองและศักยภาพของรัสเซียมากขึ้นมากจนถึงเวลาที่จะเริ่มรวบรวม “อดีต” รัฐโซเวียตให้กลับมาสู่ความยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
ในช่วงต้นปี 2014 เขาก็เข้ายึดครองไครเมียของยูเครนและเริ่มส่งเสริมผู้คนในเขตดอนบาสของยูเครนให้แยกตัวเป็นอิสระซึ่งในที่สุดก็อาจจะกลับไปรวมกับรัสเซีย การดำเนินการครั้งนั้นแทบไม่มีมหาอำนาจยุโรปคัดค้านรุนแรง เหตุเพราะทั้ง 2 เขตนั้นมีคนเชื้อสายรัสเซียเป็นส่วนใหญ่
2
อย่างไรก็ตาม ต่อมาอีกหลายเดือนสหรัฐก็เริ่ม “แซงชั่น” รัสเซียอย่างเบา ๆ เพื่อเป็นการเตือนว่าไม่เห็นด้วย นั่นประกอบกับการที่ราคาน้ำมันตกลงมาจากประมาณ 100 เหลือ 50 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลซึ่งทำให้ค่าเงินรูเบิลตกลงมาครึ่งหนึ่งคือจาก 33 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์กลายเป็น 66 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ในเวลาไม่กี่เดือน ดังนั้น พอถึงปี 2015 GDP ของรัสเซียก็ตกลงมาเกือบครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 1.36 ล้านล้านเหรียญ
2
เวลาผ่านไปอีก 6-7 ปี เศรษฐกิจรัสเซียก็โตกลับขึ้นไปใหม่ ส่วนหนึ่งก็ตามราคาน้ำมันดิบที่เป็นผลิตผลหลักของรัสเซียแต่ GDP ก็ไม่เคยกลับขึ้นไปเกิน 1.7 ล้านล้านเหรียญ จนกระทั่งถึงปีนี้ที่รัสเซียเริ่มบุกและดูเหมือนว่าอาจจะยึดยูเครนทั้งประเทศซึ่งทำให้นาโต้และอเมริกาแซงชั่นอย่างหนักที่สุดทันที
2
ผลก็คือ ค่าเงินรูเบิลตกลงมาเกือบครึ่งทันทีจาก 70 ต้น ๆ เป็นเกือบ 140 รูเบิลต่อ 1 ดอลลาร์ และถ้ายังเป็นอย่างนี้ต่อไป GDP ของรัสเซียก็อาจจะลดเหลือเพียง 1 ล้านล้านเหรียญหรือมากกว่าของไทยเพียงเท่าเดียว แม้ว่าราคาน้ำมันอาจจะเพิ่มขึ้นเกิน 100ดอลลาร์ต่อบาร์เรลก็อาจจะไม่ช่วยอะไรมากนักเพราะสินค้าอื่นถูกแซงชั่นไปมากมาย
5
ความผิดพลาดของปูตินโดยเฉพาะในการพยายามพารัสเซียกลับไปยิ่งใหญ่แบบเดิมผ่านการทำสงคราม ทำให้รัสเซียถูกแซงชั่นและค่าเงินตกลงซึ่งส่งผลให้ GDP ลดลงมาก ในขณะเดียวกัน ในด้านของเศรษฐกิจที่อิงอยู่กับน้ำมันดิบและทรัพยากรธรรมชาติมาก ทำให้การพัฒนาด้านอื่นไม่ก้าวหน้า “ตามโลกสมัยใหม่ไม่ทัน” จะส่งผลให้รัสเซียเล็กลงและมีศักยภาพน้อยลงจนในที่สุดก็อาจจะไม่มีความสำคัญมากอีกต่อไปนอกจากจะเป็น “ภัยคุกคาม” ต่อโลกเพราะมีหัวรบนิวเคลียร์มากที่สุด
5
แต่ในประเด็นอื่น ๆ นั้น ผมกำลังมองว่าเศรษฐกิจรัสเซียจริง ๆ ในวันนี้ไม่ได้ใหญ่พอที่จะเป็นภัยคุกคามเศรษฐกิจและตลาดหุ้นโลกได้เลย ดังนั้น ในขั้นนี้ผมคิดว่านักลงทุนไม่ต้องเป็นห่วงมากนักกับสงครามรัสเซียยูเครน ผมคิดว่าหุ้นโลกลงรอบนี้อาจจะไม่ได้มีส่วนจากสงครามมากนัก มันอาจจะถึงเวลาลงของมันอยู่ก่อนแล้วก็ได้หลังจากที่ปรับตัวขึ้นแรงมายาวนานหลาย ๆ ปี สงครามอาจจะซ้ำเติมบ้างแต่ไม่มาก
6
อ่านบทความต่อได้ที่
ประชาสัมพันธ์ - ตอนนี้เว็บบอร์ด Thai VI เปิดให้สมัครสมาชิกและทดลองใช้ได้ฟรี 30 วันแล้ว! เข้าไปสมัครกันได้เลยครับที่ www.ThaiVI.org
โฆษณา