14 มี.ค. 2022 เวลา 19:32 • ท่องเที่ยว
Ukraine (ยูเครน)...มหาวิหารเซนต์โซเฟีย มรดกโลกแห่งเคียฟ EP.13
เมื่อเร็วๆ นี้เราอาจได้ยินชื่อของมหาวิหารเซนต์โซเฟีย (St.Sophia Cathedral) อันเก่าแก่ แห่งกรุงเคียฟอยู่บ่อยๆ เนื่องจากหลายคนเป็นกังวลว่ามหาวิหารแห่งนี้อาจถูกทำลายไปพร้อมๆ กับสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กำลังปะทุอยู่ในตอนนี้
Photo Cr.askideas.com
มหาวิหารเซนต์โซเฟียตั้งอยู่บริเวณจัตุรัสโซเฟีย ที่เป็นสัญลักษณ์ของกรุงเคียฟ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก โดยองค์การยูเนสโก เมื่อปี ค.ศ.1990 ถือเป็นมรดกโลกแห่งแรกของยูเครน และยังเป็น 1 ใน 7 สิ่งมหัศจรรย์ของยูเครนอีกด้วย
จัตุรัสโซเฟีย Photo Cr.st-sophia.org.ua
หอระฆังบริเวณทางเข้ามหาวิหารเซนต์โซเฟีย
หอระฆังสีฟ้าขาวสไตล์บาร็อกสูง 76 เมตร สร้างขึ้นเมื่อปีค.ศ.1699-1706...ในปัจจุบันเป็นทางเข้าหลักของมหาวิหารเซนต์โซเฟีย สามารถเดินขึ้นไปด้านบนของหอระฆังได้ เราจะเจอระฆังใหญ่น้ำหนักประมาณ 13 ตัน ที่ถูกหล่อขึ้นในปีค.ศ.1705 และชั้นบนสุดภายใต้โดมทองได้ติดตั้งดาวสีเหลือง (Star of Bethlehem) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์สำคัญของคริสตจักรออโธด็อกซ์
ภายในหอระฆังที่มีทางเดินขึ้นไปถึงยอดโดม Photo Cr.ukrainetrek.com
ในส่วนของตัวมหาวิหารเอง สร้างขึ้นในช่วงต้นศตวรรษที่ 11 ในสมัยของผู้ปกครองคนสำคัญสองคนแห่งอาณาจักรเคียฟรุส หรือคีวานรุส คือเจ้าชายวลาดิเมียร์ (ปีค.ศ.980-1015) และลูกชายของเขา เจ้าชายยาโรสลาฟ (ปีค.ศ.1016-18 และ 1019-54) ที่เป็นต้นกำเนิดของการนับถือศาสนาคริสต์นิกายออโธด็อกซ์ของอาณาจักรแห่งนี้ โดยมีการทำพิธีล้างบาปหรือศีลจุ่มที่แม่น้ำ Dnipro (Dneiper)
มหาวิหารเซนต์โซเฟีย Photo Cr.askideas.com
ศาสนาคริสต์นิกายออโธด็อกซ์มีต้นกำเนิดจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล (เมืองอิสตันบูล ประเทศตุรกีในปัจจุบัน) ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ที่ได้รับการขนานนามว่าเป็นโรมันตะวันออกในสมัยนั้น
มหาวิหารเซนต์โซเฟียจึงถือเป็นศาสนสถานออโธด็อกซ์ที่ยิ่งใหญ่ของอาณาจักรแห่งนี้ ที่นี่เคยเป็นที่พำนักของบิชอปและยังเป็นสถานที่ฝังศพของผู้ปกครองเมือง รวมถึงเจ้าชายยาโรสลาฟด้วย
มหาวิหารเซนต์โซเฟียและหอระฆังในฤดูหนาว Photo Cr.askideas.com
ด้านในของมหาวิหารมีภาพเฟรสโกโบราณที่ได้รับการบูรณะอย่างต่อเนื่อง ภาพโมเสก แท่นบูชา แกลลอรี่ และโลงศพหินอ่อนของเจ้าชายยาโรสลาฟ แต่น่าเสียดายที่พระศพจริงดั้งเดิม (กระดูก) ได้ถูกเก็บอยู่ที่พิพิธภัณฑ์แห่งหนึ่งในประเทศสหรัฐอเมริกา
มีการบันทึกว่าพระศพถูกส่งไปทำการวิจัยในปีค.ศ.1939 โดยไม่ได้รับการบันทึกว่ามีการส่งคืนจนกระทั่งปีค.ศ.1964 จากนั้นในปีค.ศ.2009 ได้มีการเปิดโลงศพอีกครั้งและพบว่ามีโครงกระดูกผู้หญิงอยู่ภายในโลง
เอกสารที่ระบุรายละเอียดการฝังศพในปีค.ศ.1964 อีกครั้งนั้น ถูกปลอมแปลงเพื่อปกปิดข้อเท็จจริงที่ว่าพระศพของเจ้าชายยาโรสลาฟได้สูญหายไป จึงได้มีการสืบหาข้อมูลจากผู้ที่เกี่ยวข้องในการวิจัยและฝังศพในครั้งดังกล่าว โดยได้รับคำตอบที่ไม่ชัดเจนแต่เป็นไปในทางที่มีการซ่อนพระศพไว้ในช่วงที่กองทัพนาซีบุกยึดกรุงเคียฟในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และจากนั้นก็สูญหายทั้งหมด หรือถูกขโมยและส่งไปยังสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีโบราณวัตถุทางศาสนามากมายถูกเก็บรักษาไว้เพื่อไม่ให้ถูกทำลายโดยกลุ่มคอมมิวนิสต์
ด้านในของมหาวิหาร
ด้านในของมหาวิหาร
ด้านในของมหาวิหาร
โลงศพดั้งเดิมของเจ้าชายยาโรสลาฟ
ในส่วนของชั้นสามจะเป็นแกลลอรี่ที่จัดแสดงโบราณวัตถุ ภาพเฟรสโก ภาพโมเสก จิตรกรรมฝาผนังบางส่วนของมหาวิหาร ฯลฯ
โบราณวัตถุบางส่วนที่จัดแสดงในแกลลอรี่ของมหาวิหาร
มหาวิหารเซนต์โซเฟียเคยตกเป็นของมองโกลในปีค.ศ.1240 และได้ถูกละเลยจนทรุดโทรมมายาวนานหลายศตวรรษ หลายครั้งที่รอดพ้นจากการทำลายล้างอย่างหวุดหวิดผ่านสงครามและความวุ่นวายทางการเมือง
ในศตวรรษที่ 18 มีการปรับปรุงมหาวิหารให้เป็นสไตล์บาร็อก มีการขยายพื้นที่ให้กว้างขวางขึ้น มีการสร้างอาคารโดยรอบและมีการตกแต่งเพิ่มเติม
Photo Cr.European Medieval Heritage FB
ในศตวรรษที่ 19 ได้เริ่มมีการบูรณะฟื้นฟูจิตรกรรมฝาผนัง กระเบื้องโมเสก รูปปั้นแกะสลัก และมีการปิดทองรูปไอคอนต่างๆ
ภาพเฟรสโกที่เป็นจิตรกรรมฝาผนังในมหาวิหารมีพื้นที่รวมกันถึง 3,000 ตารางเมตร และกระเบื้องโมเสก 260 ตารางเมตร การบูรณะซ่อมแซมและฟื้นฟูจึงกินเวลายาวนาน และได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิต่างๆ มาโดยตลอด
มหาวิหารเซนต์โซเฟียในช่วงใบไม้เปลี่ยนสี
มหาวิหารเซนต์โซเฟียแห่งเคียฟ รอดพ้นจากการทำลายล้างทางศาสนาในสมัยโซเวียต และกลายเป็นศูนย์กลางทางจิตวิญญาณและวัฒนธรรมของยูเครน ซึ่งรวบรวมความรู้และภูมิปัญญาอันเป็นเอกลักษณ์ของชาวยูเครนในช่วงสหัสวรรษที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม โบสถ์แห่งนี้ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นโบสถ์จริงๆ ที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนาตั้งแต่ปีค.ศ.1934 แต่เปิดเป็นพิพิธภัณฑ์มาจนถึงปัจจุบัน
ในปีค.ศ.2020 มูลนิธิ Zagoriy ร่วมกับบริษัทยา Darnitsa และ InterChem ได้ดำเนินโครงการอนุรักษ์มหาวิหารเซนต์โซเฟียและอาคารโดยรอบ ซึ่งได้นำนวัตกรรมจากสวิตเซอร์แลนด์ที่เรียกว่า ระบบ BioDry มาใช้ปรับสมดุลความชื้นภายในอาคารที่มีมากเกินไป เป็นกระบวนการทำให้แห้งตามธรรมชาติ โดยติดตั้งอุปกรณ์ที่สามารถทำงานด้วยตนเองโดยไม่ต้องใช้ไฟฟ้า
ระบบ BioDry ช่วยปรับระดับความชื้นที่เหมาะสม ยืดอายุและช่วยรักษาตัวอาคารให้สามารถคงอยู่ในสภาพสมบูรณ์จนถึงคนรุ่นต่อไปได้ เทคโนโลยีนี้ใช้สำหรับฟื้นฟูโบราณสถานและพิพิธภัณฑ์ที่สำคัญทั่วโลก ระบบนี้ได้รับการติดตั้งใน Palazzo Montecitorio ในกรุงโรม, พิพิธภัณฑ์ Enzo Ferrari ในโมเดนา และปราสาท Malbork ในโปแลนด์
1
ชมคลิป กดที่รูปภาพด้านล่าง 👇
หลังจากที่ได้ผ่านร้อนผ่านหนาวมาอย่างยาวนาน เราก็ได้แต่หวังว่ามหาวิหารอันงดงาม อายุพันกว่าปีแห่งนี้ จะอยู่รอดปลอดภัยได้อีกครั้ง เฉกเช่นเดียวกับชาวยูเครน
ติดตาม EP ก่อนหน้านี้ได้ที่ 👇
Ukraine (ยูเครน)...เดินเล่นบรรยากาศชิลๆ ในกรุงเคียฟ EP.12
Ukraine (ยูเครน)...ปราสาทในตำนานแห่งลวิฟ Lviv EP.11
Ukraine (ยูเครน)...ชุมชนยิวในเมืองลวิฟ Lviv(ภาคต่อ) EP.10
โฆษณา