15 มี.ค. 2022 เวลา 05:56 • หนังสือ
ทักษะที่ขาดไม่ได้ ในศตวรรษที่ 21
คงมีใครหลายคนที่สงสัยว่า เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปเราต้องมีทักษะอะไรบ้างที่จะต้องเพิ่มเติม ฝึกฝน ให้เกิดความชำนาญ ผมก็เป็นอีกคนหนึ่งที่สงสัยกับคำถามนี้เหมือนกันครับ เลยได้ไปหาหนังสือเล่มหนึ่งที่เชื่อว่าจะได้รับคำตอบนี้ได้ดีไม่น้อย และเป็นคำตอบที่ตรงกับคำถามมากที่สุด ก็คือหนังสือ The lost of skill ของ อ.นภดล ร่มโพธิ์ เล่มนี้แหละครับ
อ่านแล้วก็เริ่มได้คำตอบมาแบบไม่คาดฝันเหมือนกัน เพราะคำตอบแรกที่ได้ มันทำให้ผมทึ่งมาก ไม่คิดว่าทักษะแบบนี้ คือทักษะที่จะต้องมีในศตวรรษที่ 21
ในหนังสือบอกว่า ทักษะที่ต้องมีและขาดไม่ได้เลยในศตวรรษที่ 21 นี้ มีอยู่ 3 อย่างด้วยกัน คือ
อ่าน เขียน และเรียนรู้
"อ่าน"
การอ่านทำให้เราได้รับข้อมูลได้ดีที่สุดช่องทางหนึ่งเลยนะครับ ผมเป็นอีกคนหนึ่งที่เพิ่งเริ่มมาอ่านหนังสือจริงจังอีกครั้งภายหลังจากเรียนจบมหาวิทยาลัย ซึ่งเมื่อก่อนอาจจะเป็นการอ่านหนังสือเรียน หรือหนังสือเกี่ยวกับสาขาที่กำลังเรียนอยู่ จุดประสงค์ก็เพื่อให้สอบผ่าน หรือสอบได้คะแนนดี ๆ แต่ปัจจุบันทำงานแล้วก็ผ่อนคลายลงบ้าง คือเปลี่ยนมาอ่านในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง หรือการดูแลครอบครัวมากยิ่งขึ้น
การอ่านถ้าให้ผมเปรียบก็เหมือนการเติมน้ำมันรถครับ ถ้าเราต้องการที่จะนำรถไปให้งานให้วิ่งได้ ก็ต้องเติมน้ำมันเข้าไป ชีวิตเราก็เลยเปรียบเหมือนกับรถยนต์ ที่ต้องการเดินหน้าต่อไป หากไม่เติมเชื้อเพลิง ก็คงไปไหนด้วยตนเองไม่ได้
แต่ชีวิตเราก็ยังเป็นมากกว่ารถเสียอีกนะครับ เพราะรถยนต์ไม่เติมน้ำมันก็ต้องจอดสนิท ไปไหนไม่ได้ กลับกัน ชีวิตของเราแม้ไม่อ่านหนังสือยังต้องเดินหน้าต่อไปอยู่ตลอดเวลา เพียงแต่การจะเดินหน้ายังไงให้ถูกทางเพื่อไปถึงเป้าหมายให้มากที่สุด นั่นก็คือการกางแผนที่ครับ หนังสือก็เปรียบได้เสมือนการกางแผนที่ชีวิตให้เราได้เดินทางไปยังจุดหมายได้ดีที่สุดอีกอย่างหนังสือครับ มันเป็นเหมือนกับการเอาเส้นทางที่คนอื่นเคยเดินผ่านมาแล้ว มาตรวจสอบดูว่า เส้นทางไหนที่เราจะสามารถเดินไปได้ และเส้นทางไหนใกล้กับจุดหมายปลายทางได้มากที่สุด ทำให้เรารู้จักถนนเส้นนั้นพอสมควร ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยเห็น ไม่เคยผ่านถนนเส้นนั้นมาเลยในชีวิตนี้
ดังนั้น ไม่ว่าโลกใบนี้จะเปลี่ยนแปลงมากแค่ไหน การอ่าน ก็ยังเป็นทักษะสำคัญขาดไม่ได้เลยครับ ที่สำคัญการอ่านทำให้เราได้มีสมาธิจดจ่ออยู่กับตัวเอง อาจทำให้เราสามารถมองเห็นปัญหา หรือตัวตนที่แท้จริงของเราจากการอ่านได้ครับ
แต่ไม่ได้แปลว่าการรับข้อมูลข่าวสารจะต้องรับรู้ด้วยการอ่านเพียงอย่างเดียวนะครับ เพราะศตวรรษที่ 21 ย่อมนำมาซึ่งรูปแบบวิธีการเรียนรู้ใหม่ ๆ เข้ามาให้เรามากมาย ไม่ว่าจะเรียนรู้ผ่านการดู เช่น ยูทูป หรือวีดีโอความรู้อื่น ๆ ก็เป็นการรับข้อมูลได้ดีอีกทางหนึ่งเลยครับ เพราะได้เห็นทั้งภาพ และเสียง รวมทั้งมีผู้รู้หลายคนมาย่อยความรู้ที่ยากให้เป็นเรื่องง่ายไว้ให้เราได้ขบเคี้ยวเต็มไปหมด หรือผ่านการฟัง เช่น พอดแคสต์ ที่หลายคนได้ทำไว้ให้เราได้ฟังเพลิน ๆ ระหว่างทำกิจกรรมต่าง ๆ
ฉะนั้น แม้ว่าทักษะในการอ่านจะเป็นทักษะที่เราสามารถรับข้อมูลความรู้ใหม่ ๆ ที่ใช้กันมาช้านาน และเป็นวิธีที่ถือว่าดีที่สุดก็ตาม แต่คนเราไม่ได้เกิดมาเหมือนกัน การรับรู้ข้อมูล ก็ย่อมแตกต่างกัน เอาเป็นว่าใครถนัดการรับรู้ข้อมูลข่าวสารจากด้านใด รูปแบบใด ก็ทำไปตามที่ถนัดเลยครับ ส่วนตัวผมเห็นว่า การเรียนรู้ที่ดี คือการเรียนรู้ที่ผู้เรียนมีความสุข และอยากเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาครับ
แมวไม่ว่าจะสีขาวหรือสีดำ ขอเพียงจับหนูได้ก็คือแมวที่ดี
เติ้งเสี่ยวผิง
"เขียน"
เมื่อได้อ่านหนังสือมาแล้ว การที่เราจะตกผลึกความรู้ออกมาเพื่อเก็บไว้เป็นเหมือนกับห้องสมุดส่วนตัวของเราได้ดีมากที่สุดก็คือ การเขียน นี่แหละครับ แต่ในมุมมองส่วนตัวผมคือ เมื่อโลกได้ก้าวเข้ามาสู่ศตวรรษที่ 21 แล้ว การเขียน จึงไม่จำเป็นต้องเขียนด้วยปากกา ลงในกระดาษเสมอไป
การเขียนจึงสามารถเขียน หรือบันทึกไว้ในรูปแบบไหนก็ได้ ที่สามารถจัดเก็บ และนำออกมาค้นหาได้ง่ายที่สุดเท่าที่จะทำได้ และตัวเราถนัดใช้งานได้มากที่สุด เช่น จดไว้ในไอแพดการ หรือในแอพพลิเคชั่นจดบันทึกต่าง ๆ ที่มีให้เลือกใช้มากมายในโทรศัพท์สมาร์ทโฟนของเรา การโพสต์ไว้ใน Blockdit ก็เป็นอีกการบันทึกหนึ่งที่ไม่เลวเลยนะครับ เพราะได้แบ่งปันความรู้ที่ได้เรียนรู้มาให้กับคนอื่นได้เรียนรู้ร่วมกันอีกด้วย ที่สำคัญแพลตฟอร์มมีการจัดเรียงอย่างเป็นระเบียบ สามารถค้นหาได้ง่ายไม่แพ้กับการค้นหาหนังสือในห้องสมุดด้วยสารบัญหมวดหมู่เลยครับ แต่สิ่งที่ง่ายกว่าก็คือสามารถกดค้นหา แล้วพิมพ์คำที่เราต้องการค้นหา ความรู้ที่เราบันทึกไว้ก็จะขึ้นมาให้เราได้ทบทวนแล้วหละครับ
แม้การเขียนจะเป็นสิ่งสำคัญมากเพียงใด การจัดเก็บข้อมูลที่เขียนย่อมมีความสำคัญมากเช่นเดียวกัน
"เรียนรู้"
หลายคนอาจเคยได้ยินการมีทักษะการเรียนรู้ตลอดเวลา หรือคำว่า "ไม่แก่เกินเรียน" ผมก็เชื่อคำพูดนี้เหมือนกันนะครับ
ผมมีเพื่อนที่เรียนมหาวิทยาลัยรามคำแหงด้วยกันอยู่คนหนึ่ง คุณตาอายุ 70 กว่าปี (ในปี พ.ศ.2556) นะครับ คุณตามาเรียนคณะนิติศาสตร์ เหมือนกันกับผม แล้วเราก็ได้เจอกันที่สนามสอบอยู่เรื่อย ๆ ครับ ผมถามว่าคุณตาอายุมากแล้ว ทำไมถึงตัดสินใจเรียนนิติศาสตร์ ทำไมไม่ไปเรียนการปฏิบัติธรรม (อันนี้ถามตรง ๆ ตามประสาคนรู้จักมักคุ้นกันนะครับ) คำตอบที่ได้คือ
ผมเคยถูกเอาเปรียบมาก็ไม่น้อย ด้วยความไม่รู้กฎหมาย
ผมเลยไม่อยากให้ใครมารังแกลูกหลานของผมอีก
ตอนนี้เขาเหล่านั้นไม่ได้เรียนกฎหมาย
แต่กำลังยุ่งอยู่กับการทำงานของตัวเอง
ผมเป็นคนที่ว่างที่สุดแล้ว เลยมาเรียนกฎหมายเพื่อนำไปถ่ายทอด
ให้ลูกหลานของผมได้ฟังไว้เป็นความรู้บ้าง
คุณตานิติศาสตร์
ผมจึงได้เห็นกับตาครั้งแรกว่า การเรียนรู้ย่อมไม่มีคำว่าสิ้นสุด หรือจบการศึกษา ทุกคนย่อมต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่สำคัญการเรียนรู้ ไม่จำเป็นต้องเรียนรู้เพื่อตัวเองเสมอไป แต่เรียนรู้เพื่อคนอื่นก็สามารถทำได้เช่นกัน
ยิ่งยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างไม่สิ้นสุดเหมือนกับศตวรรษที่ 21 นี้ยิ่งมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องเรียนรู้และหาความรู้ใหม่ๆที่พัฒนามาพร้อมกับศตวรรษนี้ตลอดเวลา
และผมขอเพิ่มอีกทักษะหนึ่งก็คือ "ทักษะการปรับตัว"
หลายคนอาจจะเห็นแล้วว่าศตวรรษที่ 21 นี้มีความเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมากที่เราไม่อาจนำความรู้เก่ามาปรับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมเหมือนกับเมื่อก่อนในหลายๆ ด้าน การปรับตัวยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นย่อมเป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อย ยกตัวอย่างเช่นการทำธุรกิจ หากจะส่งจดหมายในการติดต่อเพื่อซื้อขายแลกเปลี่ยนก็คงไม่ทันกินเสียแล้วในยุคสมัยนี้ ทุกคนในยุคนี้จึงปรับเปลี่ยนมาใช้เป็นการส่ง email หรือทางโทรศัพท์หากันก็จะรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
หรือเมื่อก่อนผู้ใหญ่ชอบว่าให้เด็กว่า ทำไมเล่นไลน์กันบ่อยจัง เล่นทั้งวัน สุดท้ายปัจจุบัน ผู้ใหญ่หลายคนกลับเล่นไลน์มากไม่แพ้เด็ก ๆ เลย เพราะไม่ว่าจะเป็นการติดต่อกับคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน หรือคนรู้จักอื่น ๆ ถ้าไม่ได้เป็นเรื่องเร่งด่วนอะไรมากมาย ไลน์ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการติดต่อที่ตอบสนองความต้องการคนในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี
การที่รู้จักปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ และเทคโนโลยี จะทำให้เราใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เพราะคงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า เทคโนโลยี นำมาซึ่งความเจริญ
ไม้ใหญ่ต้นแข็งแรงยอมหักได้ด้วยสายลม
ไผ่โอนอ่อนโยนลู่ลมยังทนอยู่
P.NatP.Nat Story
โฆษณา