Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
หมุนทันโลก@World Digest
•
ติดตาม
15 มี.ค. 2022 เวลา 02:55 • สิ่งแวดล้อม
“มะฮอกกานี”ใกล้สิ้นลม..!
“มะฮอกกานี” เป็นต้นไม้สูงใหญ่ที่สูงเสียดฟ้า พบตามธรรมชาติในเขตมรสุมหรือเขตป่าฝนในแอฟริกาหรืออเมริกาใต้ และมีชื่อมานานหลายศตวรรษจากบรรดาช่างไม้และช่างทำเฟอร์นิเจอร์ในด้านความสวยงามและความคงทนที่ไม่เหมือนไม้ชนิดอื่น ๆ
ว่าไปแล้วไม่มะฮอกกานีมีความโดดเด่นด้านลายไม้ และเนื้อไม้สีแดงงดงาม มีความคงทนเป็นพิเศษ ซึ่งถือว่า เป็น “เพชรน้ำหนึ่ง” ของไม้ที่เหมาะในการทำเฟอร์นิเจอร์ งานแกะสลัก และเครื่องดนตรีต่าง ๆ มากมาย
แต่ปัจจุบันไม้มะฮอกกานีกำลังอยู่ในสถานการณ์ที่ล่อแหลม และใกล้จะสิ้นลมเต็มทีหมายถึงว่า อาจจะสูญพันธ์ในอนาคตอันใกล้ได้ แม้กระทั่งองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากลยังระบุว่า “ไม้มะฮอกกานีกำลังถูกคุกคามในอัตราที่ไม่สามารถทดแทนได้”
บรรดารัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกจึงได้ออกกฎหมายข้อกำหนดที่เข้มงวด โดยกำหนดให้ไม้ซุงที่จะนำมาขายต้องมาจากการปลูกหรือแหล่งที่สามารถปลูกทดแทนใหม่ได้ แม้ว่ากฎเหล่านี้จะช่วยลด Deforestationและการทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย แต่ก็เป็นการลดปริมาณมะฮอกกานีในท้องตลาด ทำให้ราคามะฮอกกานีมีราคาสูงขึ้นมากเพราะ ปริมาณที่มีในปัจจุบันมีไม่เพียงพอกับความต้องการทั่วโลก
ทั้งนี้เพราะ ไม้มะฮอกกานีเป็นวัสดุที่ผู้คนทั่วโลกต้องการมากที่สุดในโลก และยังถือว่า เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจและความมั่งคั่ง ซึ่งไม้มะฮอกกานีต้นหนึ่งสามารถทำเงินได้มากหลายหมื่นดอลลาร์สหรัฐฯในตลาดโลก หลังแปรรูปไปขายทั่วโลก โดยเฉพาะสหรัฐฯ และยุโรป
นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับเดือนเมษายนเมื่อหลายปีที่ผ่านมาได้เคยทำรายงานพิเศษเกี่ยวกับไม้มะฮออกกานีไว้ในหลายๆแง่มุม จึงขอนำบางส่วนมาให้ลองอ่านกันดังนี้(ส่วนฉบับเต็มๆ ลองไปหาอ่านกันดู)
หลังจากที่ประเทศบราซิลประกาศห้ามทำไม้มะฮอกกานีใบใหญ่ในปี 2001 ทำให้ประเทศเปรูก้าวขึ้นมาเป็นผู้ส่งออกไม้ชนิดนี้รายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งของโลก ซึ่งปรากฏการณ์ตื่น”ทองคำสีแดง”(ชื่อไม้มะฮอกกานี) ทำให้พื้นที่ป่าลุ่มน้ำหลายๆแห่งของเปรู และเป็นถิ่นอาศัยของชนพื้นเมืองต้องสูญเสียไม้มีค่าชนิดนี้ไปจำนวนมากในแต่ละปี
“ทุกวันนี้ฐานที่มั่นสุดท้ายเกือบทั้งหมดของมะฮอกกานี รวมถึงสนสแปนิชซีดาร์กระจุกตัวในเขตของชนพื้นเมือง อุทยานแห่งชาติ และพื้นที่อนุรักษ์สำหรับชนเผ่าที่ใช้ชีวิตตัดขาดจากโลกภายนอก”
ก็ต้องบอกว่า ไม้มะฮอกกานีมีขณะนี้มี “ภาวะสุ่มเสี่ยง”มากที่สุดชนิดหนึ่งของโลก ไล่มาตั้งแต่เม็กซิโกผ่านมายังอเมริกากลาง จนถึงชายขอบด้านใต้ของลุ่มน้ำอะเมซอน ซึ่งมีข้อมูลระบุว่า การทำไม้ทำให้ไม้มะฮอกกานีในอเมริกาใต้ลดจำนวนเหลือเพียง 30% ของถิ่นกระจายพันธุ์ในอดีต
รายงานชิ้นนี้ยังระบุอีกว่า ผลของการตัดไม้มะฮอกกานีออกมาขายในตลาดโลกจำนวนมาก และทำให้พื้นที่ไม้ชนิดนี้ลดลง ได้ส่งผลคุกคามเป็นลูกโซ่ไปยังไม้ชนิดอื่นๆด้วยเช่น โกไปย์บา , อิชปินโก ,ซีอัวอัวโก และกาปีโรนา ซึ่งไม่มีกฎหมายคุ้มครองดังเช่นไม้มะฮอกกานีให้กลายเป็น “เป้าหมายใหม่” ของนักล่าไม้มากขึ้นเรื่อยๆ
ประเด็นที่น่าสนใจคือ ไม้ชนิดนี้รวมถึงไม้มะฮอกกานีมีผลต่อระบบนิเวศของผืนป่ามาก และมีผลต่อชีวิตของชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยในผืนป่าเหล่านี้มานานนับศตวรรษ แต่ปัจจุบันผืนป่าเหล่านี้ถูกคุกคาม และรุกล้ำพื้นที่ลึกเข้าไปมากขึ้นเรื่อยๆ
ในแต่ละปีไม้มะฮอกกานีที่ถูกแปรรูปและส่งไปขายโดยเฉพาะที่สหรัฐฯ ได้สร้างผลกำไรให้กับผู้ส่งอก และผู้นำเข้าอย่างมาก แต่” เงินเพียงน้อยนิด” เท่านั้นที่ตกไปถึงมือของชนพื้นเมือง ซึ่งมักจะถูกละเมิดสิทธิ และฉกฉวยผลประโยชน์ไปจากผืนดินที่ตัวเองอาศัยอยู่
ยิ่งไปกว่านั้นภัยที่เกิดจากการตัด” ไม้มะฮอกกานีเถื่อน” เริ่มขยายวง และลุกลามกินพื้นที่ลึกเข้าไปมากขึ้นๆ และในบางครั้งยังร่วมมือ หรือหลอกชุมชนในพื้นที่ให้รับเงิน เพื่อแลกกับใบอนุญาตตัดไม้ ซึ่งจะถูกนำไปใช้ในการ “สวมตอ” ไม้มะฮอกกานีที่ลักลอบตัดในเขตสงวน หรือเขตห้ามตัดไม้
อย่างเช่น อุตสาหกรรมทำไม้ของเปรู จะทำตามกรอบของสัมปทานและใบอนุญาตที่ออกแบบมาให้ชุมชน บริษัท หรือบุคคลใช้ประโยชน์จากพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง รวมถึงการออกใบอนุญาตขนส่ง ตั้งแต่จุดตัดไม้ไปจนถึงโรงเลื่อย และจุดส่งออกหรือจุดสุดท้ายที่จะมีการซื้อขายกัน
แต่เพราะว่า ใบอนุญาตมีช่องโหว่ให้ซื้อขายกันได้ง่ายในตลาดมืด และเอื้อประโยชน์ให้คนทำไม้สามารถตัดต้นไม้จากที่หนึ่งแล้วไป “สวมตอ”ว่า มาจากอีกพื้นที่หนึ่งได้..!
ในอีกด้านหนึ่งของบริษัทที่ได้รับสัมปทานอย่างถูกต้องและมีใบอนุญาต ก็ยังถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า “ช่วยปิดบังการทำไม้เถื่อน” ซึ่งบริษัท ซีเอฟเอ(บริษัททำสัมปทานที่ถูกต้อง) ต้องออกมาตอบโต้และยืนยันว่า บริษัทได้สัมปทานอย่างถูกต้องในพื้นที่กลางป่าดิบบนสองฝั่งแม่น้ำยูกายาลีในประเทศเปรู ซึ่งเป็นต้นแบบของการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างสมเหตุสมผล คนงานตัดไม้จะสวมแจ็กเก็ตสะท้อนแสง และหมุนเวียนตัดต้นไม้ปีละแปลงตลอดระยะเวลา 30 ปี
อย่างไรก็ตามนิตยสารเนชั่นแนลฯยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า
“ปัญหาของการทำไม้เถื่อนได้ระบาดไปทั่วประเทศเปรู จนเมื่อปี 2007 สหรัฐฯได้เรียกร้องให้เปรูปฏิรูปด้านต่างๆ หนึ่งในจำนวนนั้นคือ การทำไม้มะฮอกกานีต้องเป็นไปตามอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าหรือพืชป่าใกล้สูญพันธุ์ (ไซเตส) “
แม้ว่าจะทำถึงขนาดนี้แล้ว ก็ดูเหมือนว่า ไม่ได้ทำให้สถานการณ์ไม้มะฮอกกานีดีขึ้น และกลุ่มผู้ลักลอบทำไม่เถื่อนนี้ยังฉกฉวยไม้ของพวกเขาไป แต่จากนี้ไปเกมกำลังจะเปลี่ยนใหม่ เมื่อชุมชนที่เป็นเจ้าของผืนป่ากำลังจะลุกขึ้นมายืนหยัด และต่อสู้กับภัยที่คุกคามไม้มะฮอกกานีให้ถึงที่สุด
ความท้าทายในการป้องกันไม้มะฮอกกานีเถื่อน ยังขึ้นกับนโยบายรัฐด้วยเช่นกัน..!
กล่าวคือ ตราบใดที่ชนพื้นเมืองยังไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินทำกิน พากทำไม้เถื่อนก็จะไม่มีวันเคารพสิทธิของคนในพื้นที่ หากเขามีเอกสารสิทธิ์ก็น่าจะเป็นกลไกลในการต่อสู้กับการทำไม้เถื่อน
ตรงนี้ก็เป็นประเด็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องขบคิดและพิจารณาเช่นกันว่า ควรทำหรือไม่ในเรื่องการออกเอกสารสิทธิ์ให้ชนพื้นเมือง หรือทำควบคู่ไปกับมาตรการอื่นๆ ด้วย
ก็ต้องติดตามกันดูต่อไประหว่างรัฐบาลในฐานะผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ,ชุมชนพื้นเมืองที่เป็นเจ้าของผืนป่า , บริษัทสัมปทานที่มีใบอนุญาต กับกลุ่มบุคคลที่ลักลอบตัดไม้เถื่อนจะหาวิธีป้องกัน และปราบปรามอย่างไรให้จำนวน “ไม้มะฮอกกานีเถื่อน” ลดจำนวนลงในแต่ละปี
ยังไงก็ตามสิ่งที่เป็นหัวใจของการต่อสู้ ก่อนที่ไม้มะฮอกกานีจะสิ้นลมไปในอนาคตอันใกล้ ก็ขึ้นกับว่า
“ชนพื้นเมืองเหล่านี้จะสร้างความเข้มแข็ง และผนึกกำลังให้เป็นหนึ่งเดียวได้มากน้อยแค่ไหน และไม่ตกเป็นเหยื่อ โดยเห็นแก่ค่าตอบแทนเพียงน้อยนิด”
บันทึก
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย