18 มี.ค. 2022 เวลา 09:28 • ประวัติศาสตร์
เรื่องจริง เรื่องแต่ง กับม้าเฉียวผู้หยาบช้าในหน้าประวัติศาสตร์
ในวรรณกรรมอิงประวัติศาสตร์สามก๊ก ความนิยมชมชอบ และความชอบธรรมต่างถูกถ่ายเทไปทางฝ่ายของเล่าปี่เป็นส่วนมาก ทั้งตัวของเล่าปี่เอง กุนซืออย่างขงเบ้ง รวมถึงห้าขุนพลคนเก่งของจ๊กก๊กก็ต่างเป็นที่ชื่นชอบเช่นกัน วันนี้เรามาทำความรู้จักกับม้าเฉียวในหน้าประวัติศาสตร์ที่รู้แล้วอาจจะเปลี่ยนความคิดหรือนำไปขบคิดต่อว่าสิ่งที่ประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้ น่าเชื่อถือเพียงใด
และเช่นเคยครับ การเรียนรู้จากบันทึกทางประวัติศาสตร์เท่าที่มีอยู่ มิได้ไปหักล้างความเชื่อเดิมให้หมดสิ้น หรือไว้เพื่อถกเถียงอวดรู้ในวงสนทนา หรือนำเอาไปถกเถียงคนละเรื่องเดียวกัน ฝ่ายหนึ่งยกวรรณกรรมมาถกสนทนา อีกฝ่ายเอาประวัติศาสตร์มาอ้าง เรื่องราวจึงไม่มีวันจบสิ้น ผู้ที่มีปัญญาแล้ว จะได้แต่นั่งหัวเราะและเลี่ยงวงสนทนาเช่นนี้ออกไป
ในนิยายสามก๊ก ม้าเฉียวขุนพลรูปงามที่มีความดุดัน มุทะลุ ฝีมือเข้มแข็ง บุตรแห่งม้าเท้งแห่งเสเหลียง ผู้มีอิทธิพลทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ม้าเฉียวปรากฏตัวครั้งแรกในนิยายเมื่อครั้งเข้าตีทัพลิฉุยกุยกี สังหารอองหวนและจับลิบ้องทหารเอกของลิฉุยกุยกีได้อย่างง่ายดายด้วยวัยเพียงไม่ถึง 20 ปี ในขณะนั้น เมื่อโจโฉรู้ว่าม้าเท้งเป็นหนึ่งในแผนโค่นอำนาจโจโฉตามแผนของตังสิน โจโฉจึงใช้แผนล่อเรียกตัวให้ม้าเท้งเข้าเมืองหลวงแล้วสังหารม้าเท้งเสีย ม้าเฉียวจึงรวบรวมกำลังพลในเสเหลียงร่วมกับหันซุยลุกขึ้นประกาศสงครามกับโจโฉ
เมื่อทั้งสองประจันหน้ากัน ม้าเฉียวรุกเข้าตีค่ายโจโฉแตกจนโจโฉต้องยอมตัดหนวดถอดเกราะแดง ปลอมตัวหนีม้าเฉียวกลางสนามรบอย่างน่าอนาถ โชคดีที่ได้องครักษ์อย่างเคาทูเข้ามาช่วยไว้ทัน แต่ด้วยสติปัญญาโจโฉก็สามารถใช้อุบายยุให้หันซุยกับม้าเฉียวแตกคอกันและจบลงด้วยการพ่ายศึกของม้าเฉียว หนีลงใต้ รับใช้เตียวฬ่อ สุดท้ายได้มาเป็นหนึ่งในขุนพลของเล่าปี่ เสริมเขี้ยวเล็บให้เล่าปี่ในที่สุด
ฟังดูแล้วเรื่องราวของม้าเฉียวก็มาจากตระกูลที่จงรักภักดี และยืนหยัดขึ้นต่อสู้แก้แค้นให้ผู้เป็นบิดาอย่างห้าวหาญ ไม่เกรงกลัวบารมีของโจโฉ ไม่ต่างจากขุนพลอีกสี่คนของจ๊กก๊กทีเรียกว่าห้าทหารเสือที่ตั้งให้ในภายหลัง เข้าเงื่อนไขที่เล่าปี่ผู้ทรงคุณธรรมจะรับคนเช่นนี้ไว้
แต่ในทางประวัติศาสตร์ ตามจดหมายเหตุสามก๊ก ซานกว๋อจื่อ ของเฉินโซ่ว ได้บันทึกเรื่องราวไว้ว่า ขณะที่ม้าเท้งและครอบครัวเดินทางเข้าเมืองหลวง ม้าเฉียวและหันซุยได้ก่อกบฏขึ้น โดยได้บรรยายศึกนี้ไว้ว่า แม่ทัพหน้าในทัพนี้คือจงอิ้วเจ้าเมืองลกเอี๋ยงนำทัพเพื่อกันทัพม้าเฉียวก่อนถึงภาคกลาง โดยโจหยินได้รับคำสั่งจากโจโฉให้ไปรับมือก่อน โจหองเฝ้าด่านตงก๋วน ซิหลงเป็นรองแม่ทัพ โจโฉสั่งให้โจหองห้ามออกรบ ให้ตั้งมั่นเอาไว้ แต่โจหองกลับวู่วามพลาดท่าเสียทีให้กับม้าเฉียว ถอยหนีกลับมา
ทำให้โจโฉต้องนำทัพเองข้ามแม่น้ำ ม้าเฉียวนำทัพม้าไม่กี่พันคนลอบโจมตีกระทันหัน โจโฉแทบเอาชีวิตไม่รอด แต่ยังดีที่ได้เคาทูช่วยชีวิตเอาไว้ แต่สุดท้ายโจโฉก็ใช้แผนยุให้หันซุยและม้าเฉียวแตกคอกัน ม้าเฉียวแตกพ่ายไป เมื่อโจโฉกลับมาเมืองหลวงจึงสั่งประหารครอบครัวม้าเท้งทั้งหมด
จากจดหมายเหตุสามก๊กที่บันทึกเรื่องราวนี้ไว้ก็จะเกิดข้อสงสัยว่าเหตุใดม้าเฉียวจึงกล้าแข็งข้อขึ้นในขณะที่บิดาและพี่น้องของตนอยู่ในเงื้อมมือของศรัตรู ถ้าจะคิดไปในแนวที่ว่า ม้าเฉียวจงใจผิดหลักคุณธรรมจริง เป็นโอกาสดีที่จะสังหารบิดาและพี่น้อง กองกำลังและอำนาจทั้งหมดก็จะเป็นของตนในที่สุด หรือถ้าจะคิดอีกมุม ม้าเฉียวจำต้องตัดสินใจก่อกบฏเพราะทราบว่าโจโฉหลอกบิดามาสังหารจริงตามนิยาย แต่ก็เป็นไปได้น้อยกว่า เพราะในอดีตสงครามระหว่างเล่าปังกับเซี่ยงวี่
เมื่อเล่าปังรู้ว่าครอบครัวอยู่ในมือของเซี่ยงวี่ก็ไม่กล้าทำอะไรมากมายนัก ยังใช้ความเป็นพี่น้องคิดผ่อนผันเหตุการณ์จนแก้เอาบิดาและภรรยาออกมาได้ หรือจะเป็นอ๋องหลิน ทหารเอกของเล่าปังที่ถูกเซี่ยงวี่จับมารดาไว้ จางเหลียงและเล่าปังก็ยังใช้แผนการเจรจาก่อนที่จะทำอะไรวู่วามไปก่อน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็เป็นไปได้ทางเดียวคือ ม้าเฉียวขาดกุนซือข้างกายที่ดีอย่างจางเหลียงและเฉินผิง ประกอบกับความมุทะลุส่วนตัว และรู้จักนิสัยโจโฉดีว่า เมื่อตัดสินใจเดินแล้วจะไม่เหลียวหลัง ม้าเฉียวจึงจำต้องก่อกบฏ
แต่จะปักใจเชื่อเพียงบันทึกของตันซิ่วซึ่งรับใช้จิ้นก๊กก็คงไม่สนิทใจนัก ในหน้าประวัติศาสตร์อื่นนอกจากจดหมายเหตุสามก๊กก็บันทึกว่า ภายหลังที่ม้าเท้งและครอบครัวเดินทางเข้าเมืองหลวงเพื่อรับตำแหน่งสำคัญในราชสำนัก โจโฉก็ยกทัพไปตีเตียวฬ่อ ระหว่างเส้นทาง ม้าเฉียวเกรงว่าโจโฉจะแกล้งวกมาตีเสเหลียง จึงตัดสินในร่วมมือกับหันซุยประกาศสงครามกับโจโฉ เกิดศึกที่ด่านตงก๋วน แต่สุดท้ายก็ถูกแผนยุแยงของฝ่ายโจโฉทำให้ม้าเฉียวพ่ายแพ้ไปในที่สุด ม้าเฉียวหนีไปทางตะวันตกและตั้งตัวขึ้นเป็นแม่ทัพพิทักษ์ตะวันตกที่นั่น แต่ก็ดำรงอำนาจอยู่ไม่นานเมื่อถูกขั้วอำนาจเก่าก่อกบฏและสังหารภรรยาม้าเฉียว จนม้าเฉียวต้องหนีไปฮั่นจง รับใช้เตียวฬ่อ
ผู้คนในแผ่นดินในช่วงนั้นมีมุมมองเชิงลบต่อม้าเฉียว ว่าทรยศต่อบิดาก่อกบฏโดยไม่ห่วงครอบครัว ทิ้งภรรยาและบุตรเมื่อแปรพักตร์ไปหาเล่าปี่ ฆ่ามารดาและลูกชายของศรัตรูได้อย่างเลือดเย็น แม้แต่เล่าเจี้ยงเองที่เคยจะยกบุตรสาวให้ม้าเฉียวแต่ก็ถูกเหล่าขุนนางห้ามไว้ โดยใช้คำว่า "ม้าเฉียวเป็นคนรูปงามแต่หยาบช้า"
ตามนิยาย ม้าเฉียวรบตัวต่อตัวกับทั้งเคาทูที่ด่านตงก๋วน และประมือกับเตียวหุยที่ด่านแฮบังก๋วน แต่ตามประวัติศาสตร์แล้ว การรบตัวต่อตัวไม่เคยเกิดขึ้น และยุทธการที่ด่านแฮบังก๋วนก็เป็นเพียงเรื่องแต่งเท่านั้น
ต่อมา ม้าเฉียวคิดว่าเตียวฬ่อไม่สามารถประสบความสำเร็จอะไรได้ จึงแปรพักตร์ไปหาเล่าปี่ จึงเขียนจดหมายลับไปยังเล่าปี่ มีความว่าปรารถนาจะรับใช้
ม้าเฉียวเสียชีวิตในปี 222 อายุ 47 ปี (นับแบบจีน) สาเหตุการตายไม่ได้ถูกระบุไว้ ก่อนที่จะเสียชีวิต ม้าเฉียวเขียนจดหมายถึงเล่าปี่(ตามนิยายเล่าปี่ตายก่อน) ความว่า "ครอบครัว 200 กว่าคนของข้าถูกโจโฉประหาร ข้ามีเพียงม้าต้ายผู้เป็นญาติเท่านั้นที่ยังเหลืออยู่ เขาจะเป็นคนที่สืบทอดตระกูลของข้า ข้าขอฝากฝังให้ท่านช่วยดูแล ข้าต้องการบอกเพียงเท่านี้" เสียชีวิตในตำแหน่งสุดท้าย regional governor
ก็เป็นที่น่าสนใจอยู่ไม่น้อยที่เรื่องราวทั้งสองขั้วแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง แต่ก็เช่นเดิมครับ ไม่ว่าเรื่องราวใดจะถูกผิดก็ตาม เราในฐานะผู้ศึกษาก็ได้แต่คิดวิเคราะห์และให้ถือเอาเป็นเรื่องราวที่น่าศึกษาไว้เป็นอุธาหรณ์ต่อไป ผู้ที่ปรารถนาจะเสพความตามบันทึกประวัติศาสตร์ก็พึงศึกษา ผู้ที่ปรารถนาความสวยงามทางวรรณกรรมก็เพลิดเพลินไปกับท่วงทำนอง ไม่มีผิดถูก ไม่โต้เถียง ถกสนทนาเพื่อก่อให้เกิดปัญญาเพียงเท่านั้น
ที่มา
-หนังสือสามก๊ก ฉบับเจ้าพระยาพระคลัง (หน)
-เรื่องจริงหรือเรื่องแต่งในจดหมายเหตุสามก๊ก ฉบับเฉินโซ่ว โดย ยศไกร ส.ตันสกุล
โฆษณา