18 มี.ค. 2022 เวลา 12:19 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
Turning Red : ทำไมการเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่เอเชีย อาจส่งผลเสียในระยะยาวมากกว่าผลดี?
1
เคารพพ่อแม่เป็นเรื่องดี แต่ถ้าเคารพมากเกิน เราอาจลืมเคารพตัวเองก็ได้
("Honoring Your Parents Sounds Great, But If You Take It Too Far, Well, You Might Forget To Honor Yourself.")
เมยหลิน ลี
3
การเลี้ยงลูกแบบเข้มงวด ลูกต้องเชื่อฟังพ่อแม่ ต้องทำตามทุกอย่างที่พ่อแม่ต้องการ และถูกมองว่ายังเป็นเด็กเสมอในสายตาพ่อแม่จึงไม่ยอมปล่อยให้ลูกตัดสินใจอะไรเอง
สิ่งเหล่านี้ คือ ภาพจำการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ชาวเอเชีย ที่ฟังดูแล้วเหมือนจะเป็นสิ่งที่ช่วยตีกรอบให้ลูกเดินไปในเส้นทางที่ดี มีโอกาสประสบความสำเร็จ แต่ในบางครั้งก็เป็นเหมือนดาบสองคมที่ส่งผลเสียต่อตัวลูก
ภาพยนตร์แอนิเมชั่นเรื่องล่าสุดจาก Pixar คงจะถ่ายทอดความรู้สึกของลูกที่อยู่ในครอบครัวเชื้อสายเอเชียได้เป็นอย่างดี เรื่องราวของเมยหลิน ลี เด็กสาวอายุ 13 ปี ที่อาศัยอยู่ในเมืองโทรอนโต แคนาดา เธอเติบโตมาในครอบครัวเชื้อสายจีน
แม้ว่าภายนอกเธอจะเป็นเด็กร่าเริง ผลการเรียนดี กิจกรรมเด่น แต่เธอต้องยอมซ่อนความต้องการของตัวเองไว้หลายอย่าง เพื่อจะได้เป็นลูกที่ดีในแบบที่แม่ของเธอพึงพอใจ จนวันหนึ่งสิ่งที่เธอเก็บไว้ตลอดก็ได้ระเบิดออกมา
1
ในบทความนี้ Bnomics จึงอยากมาเล่าว่าปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นตัวกำหนดสไตล์การเลี้ยงลูกอย่างไร และการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวดอย่างที่พ่อแม่ชาวเอเชียนิยมทำ จะส่งผลดีหรือผลเสียมากกว่ากันในระยะยาว
📌 แนวทางการเลี้ยงลูกในอดีตเป็นอย่างไร
ศาสตราจารย์ Fabricio Zilibotti นักเศรษฐศาสตร์ชาวอิตาลีชี้ว่า ในอดีต การเลี้ยงลูกแบบแรกๆ ของพ่อแม่เลยก็คือ การมองว่าเด็กยังคงมีความสับสน และไม่เข้าใจในหลายๆ สิ่ง วิธีเดียวที่จะสอนพวกเขาได้คือ การใช้การลงโทษทางร่างกายเพื่อให้เด็กๆ ประพฤติตัวอยู่ในระเบียบวินัย
ต่อมาแนวทางการเลี้ยงดูเด็กเริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีแนวคิดที่ว่าเด็กไม่ควรจะได้รับการลงโทษเช่นนั้น แต่การลงโทษควรจะเป็นผลโดยธรรมชาติที่เกิดจากการกระทำผิดของเขาเสียมากกว่า หรือพูดง่ายๆ คือผู้ใหญ่ไม่ควรไปละเมิดสิทธิเสรีภาพและความสุขของเด็ก และควรปล่อยให้เด็กเรียนรู้จากประสบการณ์ด้วยความเร็วและรูปแบบที่เหมาะสมกับตัวเด็กเอง
การเปลี่ยนแปลงหลักการทางการศึกษา ในช่วงทศวรรษ 1960 ถึง 1970 จึงมีเป้าหมายหลัก คือ ให้ผู้เรียนมีความสุข ร่าเริง สมดุล และส่งเสริมให้มีพัฒนาการในแบบของตนเอง สำหรับหลายๆ ประเทศในช่วงนั้นการศึกษาไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่มากเท่าไรนัก พ่อแม่จึงไม่ค่อยพยายามขวนขวายผลักดันให้ลูกต้องเรียนหนักๆ
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าระบบการศึกษาแบบนั้นจะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่ทำให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้มากพอ 30 ปีถัดมา โลกมีความเหลื่อมล้ำเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ประกอบกับการศึกษาก็ให้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้นมาก
เด็กๆ ที่เรียนไม่จบจะไม่สามารถมีความมั่นคงในชีวิตได้ จึงเกิดคำว่า “Tiger parenting” หรือ การเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่ผู้เข้มงวด ซึ่งเป็นรูปแบบการเลี้ยงดูลูกที่พ่อแม่จะเข้าไปยุ่งเกี่ยวในเรื่องการเรียนของลูกเป็นอย่างมาก คอยเข้มงวดกวดขันเพื่อให้แน่ใจว่าลูกจะประสบความสำเร็จ
รูปแบบการเลี้ยงลูกเช่นนี้พบมากในครอบครัวชาวจีน เอเชียตะวันออก และในตอนหลังก็เริ่มแพร่ไปในครอบครัวชนชั้นกลางของสหรัฐฯ
📌 รูปแบบเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกัน ทำให้พ่อแม่มีแนวทางการเลี้ยงลูกต่างกัน
โดยทั่วไปแล้วแนวทางการเลี้ยงลูกของพ่อแม่ ถูกแบ่งอย่างคร่าวๆ ได้ 3 แบบคือ
  • 1.
    แบบเผด็จการ (authoritarian) พ่อแม่เหล่านี้มักจะควบคุมและจำกัดทางเลือกต่างๆ ของลูก โดยลูกต้องเชื่อฟังที่พ่อแม่สั่งอย่างเคร่งครัด
  • 2.
    แบบปล่อยให้ทำตามใจ (permissive) ซึ่งไม่ได้หมายความว่าพ่อแม่เหล่านี้จะละเลยลูก แต่พวกเขามักจะเคารพในการตัดสินใจของลูก และลูกไม่จำเป็นต้องทำตามสิ่งที่พ่อแม่คาดหวัง
  • 3.
    แบบคอยกำกับดูแล (authoritative) พ่อแม่เหล่านี้จะคอยชี้นำสิ่งที่สำคัญให้แก่ลูก บ่มเพาะความคิดของลูกด้วยการใช้เหตุผลมากกว่าที่จะออกคำสั่งและกฎระเบียบ
1
ศาสตราจารย์ Fabricio Zilibotti มองว่าการที่พ่อแม่จะเลือกสไตล์การเลี้ยงลูกแบบใดแบบหนึ่งนี้ ปัจจัยสำคัญก็มาจากความชอบส่วนตัว ส่วนอีกปัจจัยก็มาจากลักษณะสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะในเรื่องความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในประเทศนั้นๆ
งานวิจัยพบข้อสังเกตที่ว่าในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง การศึกษาที่สูงให้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ในขณะที่คนที่การศึกษาต่ำมักจะต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก พ่อแม่ส่วนใหญ่จึงนิยมการเลี้ยงลูกแบบเผด็จการและเข้มงวดกับลูก
ในขณะที่ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำต่ำอย่างแถบสแกนดิเนเวีย ศิลปิน หรือเด็กที่ออกจากโรงเรียนกลางคัน มีรายได้น้อยกว่าหมอและวิศวกรเพียงไม่มาก พ่อแม่จึงสามารถปล่อยวางกับลูกได้มากขึ้น ในประเทศเหล่านี้จึงมักจะเลี้ยงลูกแบบปล่อยให้ทำตามใจ เนื่องจากไม่ต้องกังวลกับอนาคตของลูกมากนัก
ข้อมูลการสำรวจจาก OECD พบว่า ในประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้สูง เด็กๆ มักจะถูกปลูกฝังให้ต้องตั้งใจเรียนอย่างหนัก เช่น ในประเทศจีน หรือสหรัฐฯ ในขณะที่ประเทศสวีเดน, นอร์เวย์ ที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ต่ำ มักจะให้ค่ากับความเป็นตัวของตัวเองและการมีจินตนาการมากกว่า
เครดิตภาพ : Pixar และ Disney Plus
และเมื่อมองลึกลงไป ก็จะพบว่าสถานะทางสังคมก็มีผลต่อการเลือกรูปแบบการเลี้ยงลูกเช่นกัน ครอบครัวชนชั้นกลาง ที่พอมีกำลังทางการเงินและมีความรู้ มักจะมีแนวโน้มเลี้ยงลูกแบบเผด็จการ
โดยจะเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับลูกอยู่เสมอๆ ยิ่งความเหลื่อมล้ำในประเทศมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งทำให้พ่อแม่ โดยเฉพาะพ่อแม่ที่พอจะมีทุนทรัพย์อยู่บ้าง พยายามดูแลและกวดขันลูกอย่างเต็มที่ เพื่อหวังจะหนีออกจากวงจรความยากจน
📌 แล้วการเลี้ยงลูกแบบเข้มงวดของพ่อแม่เอเชียส่งผลเสียหรือผลดีมากกว่ากัน?
ทั้งนี้มีคนสังเกตว่าพ่อแม่ผู้เข้มงวดของเอเชีย เหมือนจะเลี้ยงลูกได้เหนือกว่า มีผลการเรียนดีกว่า ในงานวิจัยหนึ่งจึงได้นำข้อมูลของเด็กในประเทศจีนมาวิเคราะห์ด้วยเศรษฐมิติ
จากการวิจัยพบว่า การแสดงความรู้สึกของพ่อแม่ต่อลูก มีผลอย่างต่อทักษะทางด้านการคิดและผลการเรียน ในขณะที่พ่อแม่ที่ชอบออกคำสั่งกับลูก ช่วยให้ลูกมีผลการเรียนดีก็จริง แต่ไม่มีผลต่อการพัฒนาทักษะทางด้านการคิด
และถ้าเรามองว่าทักษะทางด้านการคิดเป็นสิ่งทำคัญที่ต้องใช้ในการทำงานในระยะยาว นั่นก็หมายถึงว่าการที่พ่อแม่ลักษณะเผด็จการ ชอบออกคำสั่งและออกกฎเข้มงวด ไม่มีประสิทธิภาพในการปลูกฝังและเสริมสร้างทุนมนุษย์ได้เลย
ในขณะที่พ่อและแม่ที่มีการแสดงความรู้สึกต่อลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับแม่ จะมีผลเชิงบวกต่อทักษะการคิดและผลการเรียนของลูก
นั่นหมายถึงว่าการเป็นพ่อแม่ที่คอยทำความเข้าใจและซัพพอร์ทลูก สำคัญกว่าการเป็นพ่อแม่ที่ชอบวางกฎระเบียบ และอาจกล่าวได้ว่าการเลี้ยงลูกแบบพ่อแม่ผู้เข้มงวดนั้นไม่ได้เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาการเรียนเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการพัฒนาทักษะการคิด
การแสดงความรู้สึกของพ่อแม่ มีความสำคัญต่อการปลูกฝังทักษะด้านอารมณ์และสังคมทั้ง 4 ด้าน ประกอบด้วย อาการซึมเศร้า, ความมั่นใจในตัวเอง, แรงผลักดัน และการมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น
ในขณะที่การออกคำสั่งของพ่อแม่ มีผลบวกแค่สร้างแรงผลักดันในการเรียนให้ลูกเท่านั้นแต่ทำให้ลูกมีภาวะซึมเศร้าและมีความเครียดมากกว่า โดยเฉพาะในช่วงวัยรุ่น
เครดิตภาพ : Pixar และ Disney Plus
ดังนั้นวิธีการเลี้ยงดูลูกในแบบที่น่าจะดีที่สุดโดยเปรียบเทียบกันแล้ว คือ การเลี้ยงลูกแบบกำกับดูแล เพราะจะช่วยให้การพัฒนาทักษะทางด้านอารมณ์และสังคมของลูกในช่วงวัยรุ่นดีที่สุด อีกทั้งยังช่วยพัฒนาทักษะทางด้านการคิดได้
1
สำหรับพ่อแม่ชาวจีนและพ่อแม่ชาวเอเชียส่วนใหญ่ที่มักจะตั้งความหวังกับผลการเรียน และความสำเร็จในการทำงานของลูกสูงมาก จึงควรจะรับฟังความรู้สึกของลูกและแสดงความรู้สึกต่อลูก ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการพัฒนาทักษะรอบด้านและพัฒนาทุนมนุษย์ได้ในระยะยาว
2
ถึง...พ่อแม่ทุกคน
ลูกไม่ใช่ชีวิตที่สองของคุณ ลูกไม่ใช่ถ้วยรางวัลของคุณ
และลูกไม่ได้เติบโตมาเพื่อรับใช้ความฝันของคุณ
โปรดปล่อยให้ลูกได้เลือกทางเดินของตนเอง มีความฝันเป็นของตัวเอง
โดยมีคุณเป็นผู้ที่คอยให้คำแนะนำอยู่ห่างๆ
อย่ากดดันลูกจนทำให้เขาต้องเก็บซ่อนตัวตนของเขาไว้
และเฝ้ารอวันที่พ่อแม่ไม่อยู่แล้ว เพื่อที่เขาจะได้เป็นตัวของตัวเอง
เพราะคุณจะไม่มีวันได้อยู่ข้างๆ ลูก
ในวันที่ลูกประสบความสำเร็จตามแนวทางของเขาเองเลย...
8
เครดิตภาพ : Pixar และ Disney Plus
ผู้เขียน : ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Reference:

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา