19 มี.ค. 2022 เวลา 18:02 • ปรัชญา
สังคมควรจะใจกว้าง (Tolerant) แค่ไหน?
สังคมที่ดี ต้องทำตัวเหมือน "สุภาพชน" คือ ควรจะมีความอดทน อดกลั้น ใจกว้าง และยอมรับความแตกต่างทุกอย่างไม่ว่าใครก็ตามที่นำความแตกต่างเข้ามาใช่หรือไม่?
คำถามที่เหมือนจะธรรมดา ๆ นี้ คนทั่วไปมักจะตอบว่า "แน่นอนสิ สังคมความจะยอมรับความแตกต่างทุกอย่าง" เพราะเป็นคำตอบที่เหมาะสมกับยุคสมัยปัจจุบันที่คนเราให้ความสำคัญกับการยอมรับความแตกต่าง
หาก ครั้งหนึ่งนักปรัชญาชื่อ คาร์ล ป็อปเปอร์ (Karl Popper) เคยวิเคราะห์ให้ฟังอย่างละเอียด ในมิติที่น่าสนใจ ดังนี้
สมมุติว่ามีคน 2 กลุ่ม กลุ่มดั้งเดิมคือ "สุภาพชน" ที่อดทน อดกลั้น ใจกว้าง และยอมรับทุกอย่างที่เข้ามา
กลุ่มใหม่ที่เข้ามา คือ "กลุ่มคนใจแคบ" (Intolerant) ที่ไม่มีความอดทนอดกลั้นใด ๆ และไม่ยอมรับความคิดหรือวิธีปฏิบัติใด ๆ ที่ต่างจากที่ตนเองเชื่อ
แทบจะโดยอัตโนมัติ กลุ่มที่ 1 "สุภาพชน" ก็จะยอมรับ "กลุ่มคนใจแคบ" เข้ามาอยู่ในสังคมด้วย เพราะสุภาพชนจะไม่มองคนที่ความใจแคบ แต่จะมองว่า "ทุกคนมีสิทธิมองต่าง" ดังนั้น "กลุ่มคนใจแคบ" ไม่ใช่คนไม่ดี แค่มองต่างเท่านั้น ซึ่งไม่มีปัญหาสามารถคุยกันได้
ทว่า เมื่อเวลาผ่านไป "กลุ่มคนใจแคบ" ก็จะเริ่มแสดงอำนาจ และเริ่มใช้ประโยชน์จากความใจกว้างของกลุ่ม "สุภาพชน" จนท้ายที่สุด กลุ่ม "สุภาพชน" เองก็จะไม่มีที่ยืน
นักปรัชญาชื่อ คาร์ล ป็อปเปอร์ ปรากฏการณ์นี้ เป็น "paradox" หรือ ความขัดแย้ง เพราะว่า แม้ว่าเราจะให้ความสำคัญกับการให้คนที่เห็นต่างมีที่ยืน หากถ้าคนที่เห็นต่างนั้น เป็นคนใจแคบ เมื่อได้รับโอกาสแล้ว ก็มักจะใช้ประโยชน์จากโอกาสที่ได้นั้นเผยแพร่หลักการ แนวคิด ที่ตนเองเชื่อเท่านั้น โดยจากหลายครั้งที่ปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์โลก กลุ่ม "สุภาพชน" จะถูก "กลุ่มคนใจแคบ" กำจัด กวาดล้าง จนกลายเป็นคนกลุ่มน้อย ไม่มีสิทธิ์ ไม่มีเสียงในการคิดใด ๆ ทำให้สังคมนั้น ๆ ที่แม้จะเริ่มต้นที่เป็นสังคมที่ใจกว้าง ก็จะลงท้ายด้วยการเป็นสังคมที่ใจแคบ นำไปสู่ สังคม เผด็จการ สังคมอำนาจเบ็ดเสร็จ เป็นต้น
นักปรัชญาชื่อ คาร์ล ป็อปเปอร์ ไม่ได้บอกวิธีการไว้อย่างแน่ชัด ว่าเราควรจะทำอย่างไร ถ้าไม่อยากให้สังคมของเราต้องกลายเป็นสังคมเผด็จการ สังคมอำนาจเบ็ดเสร็จ เพราะแต่ละกรณี ก็มีบริบทที่แตกต่างกัน
อาจจะพอตีความได้ว่า สิ่งที่ คาร์ล ป็อปเปอร์ ต้องการจะบอกคือ:
1. แม้ว่าจะเป็น "สุภาพชน" ที่โดยปรกติจะใจกว้าง ยอมรับ ทุกอย่าง ก็จะต้องมีการตีเส้นว่า เรื่องใดบ้างที่จะยอมใจกว้างมากเกินไปไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องของสิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์
2. อย่างไรก็ตาม สิทธิขั้นพื้นฐานของความเป็นมนุษย์ ก็เปลี่ยนไป ตามกาลเวลา เช่น ในอดีตเรื่องของสิทธิในร่างกายของเราอาจจะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานสำคัญ ต่อมา เมื่อสังคมมีความรู้มากขึ้น เราก็ขยายสิทธิขั้นพื้นฐานออกไป ในเรื่อง การศึกษา เสรีภาพในการแสดงออก การรับบริการทางสาธารณสุข อากาศสะอาด เป็นต้น ดังนั้น แม้แต่ สิทธิขั้นพื้นฐาน เอง ก็ไม่ใช่อะไรที่ตายตัว ดังนั้นทางที่ดีที่สุด คือ การให้ทุกคน (รวมถึงกลุ่มคนใจแคบเอง) ได้แสดงออกด้วย โดยสังคมจะใช้เสียงส่วนใหญ่ที่ตั้งอยู่บนหลักของความเข้าอกเข้าใจและศีลธรรมในการตัดสิน
3. แต่ท้ายที่สุดเอง ต้องไม่ลืมบทเรียนจากประวัติศาสตร์ว่า คนใจกว้าง มักจะถูกเอารัดเอาเปรียบเสมอ ดังนั้น ไม่ว่าจะอยากเป็น "สุภาพชน" แค่ไหน ก็ต้องตระหนักไว้เสมอ ถึง บทเรียนจาก "The Paradox of Tolerance" ของ ท่านคาร์ล ป็อปเปอร์ นี้
โฆษณา