Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
•
ติดตาม
20 มี.ค. 2022 เวลา 09:07 • อาหาร
ติดเตาเล่าเรื่อง l ข้าวเกรียบว่าว
ข้าวเกรียบว่าว หรือที่คนอีสานก็เรียก "ข้าวโป่ง" หรือ "ข้าวปอง"
ส่วนคนเหนือเรียกว่า "ข้าวควบ" ดังเรื่องบ่าเก่าเล่าไว้ในวรรณกรรมล้านนา เรื่อง นางอุทรา ว่า นางร้าย คือแม่เลี้ยงนางอุทรา แกล้งป่วย โดยใช้ข้าวควบวางไว้ใต้ที่นอน เมื่อขยับจะเสียงดัง ให้เข้าใจว่ากระดูกนางผิดปกติ (รัตนา พรหมพิชัย, ๒๕๔๒, หน้า ๘๐๙) หรือบางที่ก็อาจจะเรียกว่า "ขนมหูช้าง" ก็ได้ยินอยู่บ่อยครั้ง
1
เทคนิคการปิ้งข้าวเกรียบว่าวให้พองสวย นำข้าวเกรียบว่าววางบนไม้จี ไม้ไผ่ที่จักเป็นซี่ (มีด้ามจับยาวประมาณ ๑ ฟุต) แล้วใช้ไม้ไผ่ที่จักเป็นซี่อีกอันวางเหนือข้าวเกรียบว่าวเพื่อช่วยประคองไม่ให้ตก จากนั้นนำไปปิ้งบนเตาถ่านขนาดใหญ่ด้วยไฟแรงปานกลางค่อย ๆ เอียงด้านข้างข้าวเกรียบเข้าหาไฟทีละด้าน เมื่อพองแล้วให้พลิกกลับด้านบ่อย ๆ ปิ้งหมุนวนไปรอบ ๆ จนสุกทั่วทั้งแผ่น
"ความสุขสมัยเด็ก ๆ ที่อยู่ต่างจังหวัด การไปงานวัดเป็นเรื่องที่สนุก และมีความสุขมาก เพราะจะมีแต่ของอร่อย ๆ และอะไรสนุก ๆ ให้เล่น ที่สำคัญขนม หรือของกินเล่นที่เป็นต้องซื้อติดไม้ติดมือทุกครั้ง นั่นก็คือ ข้าวเกรียบว่าว"
ที่มาของชื่อข้าวเกรียบว่าว บ้างก็ว่าเวลาปิ้งแล้วลมพัดมามันก็ลอยไปกับสายลมเหมือนกับว่าว บ้างก็ว่าแผ่นใหญ่ และบางเหมือนว่าว ส่วนเด็กสมัยใหม่มักพูดเล่น ๆ ติดตลกว่าเวลาที่ชาวต่างชาติได้เห็นวิธีการปิ้งแล้วมันใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ จึงอุทานว่า ข้าวเกรียบ "ว้าว"
1
ข้าวเกรียบว่าว มีการทำมาแต่โบราณกาล ในการรับประทานนั้นต้องนำมาปิ้งให้สุกก่อนคล้ายกับข้าวจี่ เชื่อกันว่าขนมชนิดนี้เกิดจากผู้เฒ่าผู้แก่ที่ว่างจากการทำไร่ทำนาได้คิดทำขนมนี้ขึ้นเพื่อเป็นเครื่องถวายทาน และยังใช้ในพิธีกรรมตามงานบุญ สันนิษฐานว่าด้วยรูปทรงของขนมมีลักษณะกลม คนสมัยก่อนจึงอุปมาใช้แทนสัญลักษณ์การบูชาพระอาทิตย์ หรือพระจันทร์ ตามความเชื่อใช้ในการบูชามาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
นอกจากนี้ยังใช้ในพิธีบูชาข้าวในงานบุญเดือนสี่ ชาวบ้านมีความเชื่อว่าการได้ถวายข้าวเกรียบว่าวแด่พระสงฆ์เป็นการแสดงถึงความเคารพ และระลึกถึงคุณรัตนตรัยอันยิ่งใหญ่ จากนั้นมีกานำขนมบางส่วนไปใส่ในกระทงใบตองแล้วนำไปวางไว้ที่หน้าธาตุบรรจุกระดูกของญาติที่ล่วงลับไปแล้วเพื่อให้ได้รับประทาน
ตามความเชื่อ และประเพณีทางภาคอีสานยังมีการนำไปเป็นเครื่องถวายทานในบุญผะเหวดด้วย โดยจะปิ้งข้าวเกรียบว่าว หรือข้าวโป่ง เพื่อใส่ในกัณฑ์หลอน และถวายเป็นเครื่องประกอบกัณฑ์เทศ์ด้วย
นอกจากความอร่อยแล้ว การทำข้าวเกรียบว่าวยังเป็นการสร้างความรักความสามัคคีในครอบครัว ในชุมชน ด้วยการร่วมแรงร่วมใจกันทำเป็นขนมแจกจ่ายให้เด็ก ๆ ตลอดจนแขกไปใครมาก็สามารถของกินเล่นต้อนรับขับสู้ได้เป็นอย่างดี
ยิ่งไปกว่านั้นยังกุศโลบายที่แฝงชึ่งการแสดงให้เห็นคุณค่า และประโยชน์ ของ "ข้าว" ตามแบบวิถีความเรียบง่ายของคนไทยที่มีความผูกพันกับข้าวมาอย่างช้านาน
การทำข้าวเกรียบว่าว ในสมัยก่อนเป็นเรื่องที่ต้องพิถีพิถันมากคนโบราณถือว่าคนโบราณถือว่าคนที่จะทำข้าวเกรียบว่าวสวยไม่มีที่ติ จะต้องเป็นช่างข้าวเกรียบว่าวโดยเฉพาะ ถึงแม้ว่าจะทำกินก็ตาม ให้ยกย่องช่างข้าวเกรียบว่าวเหมือนกับช่างแขนงอื่น ๆ เช่น ช่างไม้ ช่างทอง เป็นต้น
ตามประวัติความเป็นมาในการทำข้าวเกรียบว่าวนั้นไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่ามีการทำตั้งแต่สมัยใด แต่สันนิษฐานว่าเกิดขึ้นในช่วงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
การทำเริ่มจากนำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วไปตำให้ละเอียดด้วยครกกระเดื่อง หรือ"ครกมอง" ในภาคอีสาน เป็นครกตำข้าวที่มีพัฒนาการจากครกมือ ซึ่งสามารถตำข้าวได้ปริมาณมากอีกทั้งยังทุ่นแรงในการตำข้าวเหนียวที่นึ่งสุกแล้วตำให้ละเอียดยากกว่าการตำข้าวเปลือกเพราะเวลานำข้าวเกรียบว่าวไปปิ้งจะได้แผ่นข้าวเกรียบว่าวที่สวยงามจึงต้องมีความอดทนอย่างยิ่งเพราะกว่าข้าวเกรียบว่าวจะละเอียดได้ที่ ต้องใช้เวลาในการตำนาน
เมื่อละเอียดแล้วจะเอาใบ "ตดหมูตดหมา" บางถิ่นเรียกเครือตดหมูตดหมา หรือย่านพาโหมขยี้กับน้ำแล้วสลัดใส่ครกผสมกับข้าวเหนี่ยวที่ตำเพื่อให้ข้าวเหนียวจับตัวกันดีและนำเอาน้ำอ้อยตำผสมจนเหนียวได้ที่ แล้วปั้นข้าวเหนียวเป็นก้อนผสมกับไข่แดง กดก้อนข้าวเหนียวที่ปั้นให้เป็นแผ่นบาง ๆ ตากแดดให้แห้ง เมื่อจะรับประทานต้องเอามาปิ้งให้สุก พลิกไปมาด้วยไม้จี จนพองขยายเป็นแผ่นใหญ่ สุกกรอบ หวานมันชวนรับประทาน
วิธีทำข้าวเกรียบว่าว
ส่วนผสม ข้าวเกรียบว่าว
๑.ข้าวเหนียวดิบใหม่ ๕ กิโลกรัม
๒.น้ำเปล่า สำหรับแช่ ข้าวเหนียว
๓.น้ำตาลโตนด หรือน้ำอ้อย ๓ กิโลกรัม
๔.น้ำมันมะพร้าว หรือน้ำมันพืช
๕.ไข่แดงของไข่เป็ดต้มสุก
วิธีทำข้าวเกรียบว่าว
๑.เอาข้าวเหนียวใหม่แช่น้ำเปล่า ๑ คืน พอวันรุ่งขึ้นเอาข้าวเหนียวมาล้างจนน้ำใส เก็บน้ำซาวข้าวไว้ด้วย
๒.ตั้งน้ำให้เดือด ใส่ข้าวเหนียวดิบลงในหวด นึ่งประมาณ ๓๐ นาที พักทิ้งให้ระอุ ๕ นาที จากนั้นเอาไปตำหรือนวดกับครกไม้ ประมาณ ๒ ชั่วโมง สลับกับการหยอดน้ำซาวข้าวลงไปเพื่อไม่ให้ข้าวติดครก
๓.พอครบเวลาใส่น้ำตาลโตนด หรือน้ำอ้อยลงไป ตำหรือนวดกับข้าวเหนียวประมาณ ๒ ชั่วโมง
๔.ผสมน้ำมันมะพร้าวกับไข่แดงต้มสุก ยีจนเนื้อเนียนเข้ากัน แล้วทามือให้ทั่วเพื่อกันแป้งติดมือ
๕.แบ่งแป้งข้าวเหนียวเป็นก้อนกลม เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ ๑-๑ ๑/๒ นิ้ว วางลงบนแผ่นพลาสติกทรงกลมที่เป็นแบบ คลึงแป้งเป็นแผ่นบางขนาดเท่ากับพิมพ์ที่เตรียมไว้ เสร็จแล้ววางบนเสื่อกกหรือตากบนแผ่นพลาสติกแล้วรองด้วยถาดแบนได้ คลึงจนแป้งหมดแล้วเอาไปผึ่งแดดด้านละประมาณ ๑.๓๐ ชั่วโมง
การปิ้งข้าวเกรียบว่าว ตั้งเตาถ่านใช้ไฟอ่อน แล้วเอาแผ่นข้าวเกรียบดิบมาย่างด้วยไม้ไผ่ที่จักเป็นซี่หรือใช้ตะแกรงสำหรับปิ้งอาหารแล้วใช้คีมสำหรับคีบอาหารกลับแผ่นข้าวเกรียบว่าวไปมา ย่างจนสุกเหลืองพองกรอบ
ในอดีตนั้น ตามงานวัดต่าง ๆ ข้าวเกรียบว่าวที่พ่อค้าแม่ค้านำมาปิ้งขายจะมีราคาเพียงอันละ ๑ สลึง แต่เด็ก ๆ มักไม่ค่อยมีเงิน อาจจะต้องรอให้พ่อแม่ปู่ย่าตายายซื้อกินแล้วจึงแบ่งให้ หรือบางครั้งอาจจะมีญาติผู้ใหญ่ใจดีซื้อแจกจ่ายให้เด็ก ๆ กินคนละอันสองอัน ข้าวเกรียบว่าวจึงถือได้ว่าเป็นขนมพื้นบ้าน ที่มีความผู้กพันกับชาวไทยมาตั้งแต่อดีตอย่างแท้จริง
ปัจจุบันมีขนมทานเล่นเข้ามาจำหน่ายแทนที่ในท้องตลาด และร้านสะดวกซื้อมากมาย ทำให้เด็กรุ่นใหม่หลายคนอาจไม่รู้จัก ข้าวเกรียบว่าว แล้วก็เป็นได้ หากไม่มีการอนุรักษ์ไว้เชื่อว่าอีกไม่นาน "ข้าวเกรียบว่าว" ก็จะหายไปจากวิถีชีวิตของคนไทยอย่างแน่นอน
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
รฤก รัก
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
#ขนมไทย
#ขนมพื้นบ้าน
#ข้าวเกรียบว่าว
#ติดเตาเล่าเรื่อง
facebook.com
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย
Baan Khun Yai-บ้านคุณยาย, Amphoe Si Satchanalai, Sukhothai, Thailand. 393 likes · 93 talking about this. “ทุกๆคำคือความทรงจำแห่งความสุข ที่จะถูกส่งมอบสู่คุณ โดยบ้านคุณยาย”
เยี่ยมชม
ขนมไทย
ขนมหวาน
ขนม
บันทึก
2
2
2
2
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย