22 มี.ค. 2022 เวลา 23:00 • หนังสือ
ทำความเข้าใจ 'กฎ 10,000 ชั่วโมง' กันใหม่
‘อยากเป็นเซียนหมากรุกเหรอ? เล่นหมากรุกให้ครบ 10,000 ชั่วโมงสิ’
‘อยากเป็นสุดยอดนักเปียโนงั้นหรือ? เล่นเปียโนให้ครบ 10,000 ชั่วโมงสิ`
ไม่ว่าคุณจะอยากเป็นยอดฝีมือในด้านใดก็ตาม สิ่งที่คุณต้องทำคือแค่ทุ่มเวลาให้กับสิ่ง ๆ นั้นอย่างน้อยหนึ่งหมื่นชั่วโมง
นี่คือ concept ของ ‘กฎ 10,000 ชั่วโมง’ ที่คุ้นหูใครหลายคน
ว่าแต่.. มันแค่นี้จริง ๆ หรือ?..
หนังสือ 'PEAK' ของ K. Anders Ericsson ร่วมกับ Robert Pool
เมื่อไม่นานมานี้ ผมเพิ่งอ่านหนังสือของ K. Anders Ericsson เขียนร่วมกับ Robert Pool เรื่อง ‘PEAK’ ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับการพัฒนาทักษะเพื่อให้เป็นยอดฝีมือในด้านใด ๆ แน่นอนว่ามีเรื่องกฎ 10,000 ชั่วโมงในเล่มนี้ด้วย
หนังสือเล่มนี้ทำให้ผมเข้าใจว่าเจ้ากฎ 10,000 ชั่วโมงที่ใครต่อใครก็พูดกันมีที่มาที่ไปอย่างไร และยังทำให้พบด้วยว่า จริง ๆ แล้วน่าจะยังมีหลายคนที่เข้าใจกฎนี้ผิดอยู่ หรืออย่างน้อยที่สุดคือ มีความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
ในบทความนี้ ผมจึงอยากมาแชร์กฎ 10,000 ชั่วโมงในแบบที่ผมได้รู้มาจากหนังสือเล่มนี้ พร้อมกับคำอธิบายว่าอะไรคือ 3 ข้อที่คนส่วนใหญ่น่าจะเข้าใจผิดเกี่ยวกับกฎนี้กันครับ
1. กฎ 10,000 ชั่วโมง ไม่ได้หมายความว่า 10,000 ชั่วโมงจริง ๆ
การจะเป็นยอดฝีมือในด้านใดด้านหนึ่ง เอาเข้าจริงมันก็ไม่ได้ใช้เวลาฝึกฝนหนึ่งหมื่นชั่วโมงเป๊ะ ๆ บางศาสตร์อาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ ในขณะที่บางศาสตร์อาจจะน้อยกว่า
อย่างเช่น กรณีศึกษาทักษะการจำตัวเลขของคนหนึ่งใช้เวลาเพียงสองร้อยชั่วโมงก็สามารถจำตัวเลขได้ถึงแปดสิบสองหลัก แต่การศึกษาทักษะของนักเรียนไวโอลินที่กลายเป็นสุดยอดนักไวโอลินในเวลาต่อมากลับใช้เวลามากถึงสองหมื่นชั่วโมง
นอกจากนี้ ยังเป็นเรื่องยากที่จะระบุว่าต้องเก่งขนาดไหนถึงจะเรียกว่ายอดฝีมือ การจำเลขได้แปดสิบสองหลักจะเรียกว่ายอดฝีมือได้หรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับนิยามของแต่ละคน
สรุปก็คือ กฎหนึ่งหมื่นชั่วโมงต้องการจะสื่อเพียงว่าหนทางสู่การเป็นสุดยอดไม่ได้ใช้เวลาเพียงหลักวันหรือหลักเดือน แต่ต้องใช้เวลาเป็นหลักปีจนถึงหลักสิบปีกันเลยทีเดียวครับ
2. กฎ 10,000 ชั่วโมง ไม่ใช่แค่ทำไปงั้น ๆ ให้ครบ
1
ต่อให้เราฝึกฝนทักษะใดทักษะหนึ่งครบ 10,000 ชั่วโมงจริง แต่ถ้าเราแค่ทำไปงั้น ๆ เราก็จะไม่มีวันเป็นยอดฝีมือแต่อย่างใด
การพัฒนาทักษะที่ได้ผลดีที่สุดจะต้องมีการวัดผลอย่างจริงจัง และในชั่วโมงแห่งการฝึกฝนจะต้องใช้สมาธิ และคอยปรับปรุงตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ดีกว่าครั้งก่อนอยู่เสมอ
เช่น คนที่ฝึกฝนจนจำเลขได้แปดสิบสองหลัก สี่วันแรกแห่งการฝึกเขาสามารถจำตัวเลขได้เพียงแปดหลักเท่านั้น และเขายังเชื่ออีกด้วยว่าเขาไม่สามารถจำตัวเลขไปได้มากกว่านี้ ความสามารถของเขามาถึงจุดที่พัฒนาต่อไม่ได้แล้ว อย่างไรก็ตาม หลังจากที่เขาตั้งใจมากขึ้น จริงจังขึ้นและปรับปรุงเทคนิคต่าง ๆ อยู่เสมอ ในที่สุดเขาก็เอาชนะข้อจำกัดของตัวเองจนสามารถจำเลขได้ถึงแปดสิบสองหลัก แม้จะใช้เวลานานถึงสองร้อยชั่วโมงก็ตาม
จะเห็นว่าการฝึกฝนด้วยความคิดที่ว่าแค่ทำไปงั้น ๆ จะช่วยให้คุณพัฒนาตัวเองได้เพียงระดับหนึ่งเท่านั้น หากคุณต้องการพัฒนาตัวเองอย่างก้าวกระโดด ก็เป็นเรื่องจำเป็นที่คุณจะต้องจริงจังกับมันมากกว่าแค่ทำไปงั้น ๆ ครับ
3. การฝึกไม่ใช่เรื่องสนุก
เราอาจจะเห็นนักกีตาร์ที่เก่งระดับโลกบรรเลงเพลงได้อย่างไร้ที่ติ นักเปียโนที่คล่องแคล่วราวกับฟ้าส่งมาให้เป็นสุดยอดนักเปียโน บางครั้งเราก็อดคิดไม่ได้ว่าคนเหล่านั้นช่างมีพรสวรรค์ในเรื่องนั้นจริง ๆ
หากเราลองไปศึกษาชีวิตของสุดยอดนักดนตรี ก็อย่างที่คุณพอจะเดาได้ครับ พวกเขาไม่ได้เก่งแต่เกิด พวกเขาแค่ฝึกฝนอย่างจริงจังมาเป็นสิบ ๆ ปี แต่สิ่งที่น่าสนใจคือตลอดช่วงเวลาที่ฝึกฝน พวกเขาไม่ได้รู้สึกว่าเป็นเรื่องสนุกเลยแม้แต่น้อย
แม้ว่าคุณจะเห็นนักดนตรีมีความสุขที่ได้เล่นดนตรี แต่การเล่นต่างจากการฝึกครับ
การฝึกเป็นเรื่องที่จริงจังกว่ามาก การจะพัฒนาตัวเองให้เป็นยอดฝีมือจะต้องผ่านบทเรียนที่เข้มข้นและโหดหิน เป็นเวลานานต่อเนื่อง ยอดฝีมือจะต้องทำซ้ำครั้งแล้วครั้งเล่า เมื่อพวกเขาผิดพลาดเขาจะต้องหาคำตอบให้ได้ว่าอะไรทำให้เขาผิดพลาด และครั้งต่อไปจะต้องทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ผิดพลาดอีก พวกเขาจะตามหา Feedback อยู่เสมอแล้วปรับปรุงมันจนกว่าจะดี พอดีแล้วก็ต้องทำให้ดีขึ้นอีกอย่างไม่หยุดหย่อน
แน่นอนว่าเส้นทางสู่การเป็นยอดฝีมือไม่ใช่เรื่องสนุก แต่ผลลัพธ์ของมันก็คุ้มค่าเสมอครับ
เช่นเดียวกับกฎหรือทฤษฎีอื่น ๆ บางครั้งมันก็เป็นแค่ชื่อเท่านั้น หากเราต้องการนำทฤษฎีต่าง ๆ ไปปรับใช้กับชีวิต เราก็จำเป็นต้องทำความเข้าใจความหมายและใจความสำคัญของทฤษฎีเหล่านั้นอีกครั้ง
หลังจากที่ผมอ่านเรื่องนี้จบ ผมขอให้ความหมายของกฎ 10,000 ชั่วโมงในแบบของผมเองว่า หากคุณต้องการเป็นยอดฝีมือในด้านใดก็ตาม คุณก็จำเป็นต้องฝึกฝนอย่างจริงจัง และขอย้ำคำว่า 'จริงจัง' เป็นเวลานานหลักสิบปี..
ไม่มีทางลัดใด ๆ ทั้งนั้น

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา