21 มี.ค. 2022 เวลา 11:44 • ไลฟ์สไตล์
กว่าจะรู้ก็สายไปเสียแล้ว! 6 บทเรียนการบริหารเวลาที่คนมักมองข้าม
ถ้าหากคนเรามีเวลาเพิ่มได้ 2 ชั่วโมงต่อวัน คุณจะตกลงไหม?
1
แน่นอนว่าหลายคนตอบว่า ‘ตกลงแน่นอน’ เพราะ 24 ชั่วโมงต่อวันนั้นช่างน้อยนิดเหลือเกิน โดยเฉพาะเมื่อเรามีสิ่งที่ต้องทำมากมาย คำว่า ‘ไม่มีเวลา’ ที่คอยถ่วงเราไม่ให้ทำตามความฝัน จะหายไปในพริบตา เราเชื่อเหลือเกินว่าชีวิตจะง่ายขึ้นเมื่อเรามีเวลามากกว่าเดิม
ถ้าฉันมีเวลามากกว่านี้ ฉันคงจะทำอาหารดีๆ เพื่อสุขภาพได้ทุกมื้อ
ถ้าฉันมีเวลามากกว่านี้ ฉันจะได้อยู่กับคนรักและครอบครัวมากขึ้น
ถ้าฉันมีเวลามากกว่านี้ ฉันคงจะเริ่มเขียนหนังสือ ทำธุรกิจส่วนตัว ไปเที่ยวไกลๆ หรืออย่างน้อยที่สุดคือ คงได้เคลียร์กล่องอีเมลที่รกหูรกตา
1
รายการ ‘สิ่งที่อยากทำเมื่อมีเวลา’ ยืดยาวต่อไปเรื่อยๆ หากให้สาธยายวันเดียวก็คงไม่จบ และเราก็พอจะเห็นเป้าหมายของตัวเองรางๆ แล้วว่า เมื่อมีเวลามากขึ้น ชีวิตที่เราต้องการนั้นจะเป็นอย่างไร
1
อย่างไรก็ตาม ความจริงที่หลายคนไม่อยากได้ยินคือ ‘เรามีเวลา’
2
แม้ยากที่จะยอมรับ แต่ความจริงคือเรามีเวลามากพอ พอที่จะเริ่มต้นลงมือทำสิ่งที่กล่าวมา เรามีเวลามากมาย เพียงแต่เราไม่รู้จักใช้มันอย่างมีประสิทธิภาพ และเรามีเวลาเหลือเฟือ เพียงแต่บางครั้งเราใช้มันไปกับเรื่องไร้สาระ
ดังนั้น ถ้าเราอยากใช้เวลาที่มีอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพล่ะ? ต้องทำอย่างไร
1) เลิกมอง ‘เวลา’ จากมุมมองเดิมๆ
เอาเข้าจริงๆ ชีวิตเราคงไม่ได้ต่างไปจากเดิมนัก หากเวลาเพิ่มเป็น 26 ชั่วโมง เราคงจะใช้มันไปกับการนอน หรือ เรื่องอื่นๆ อย่างที่เคยทำ ตอนสุดท้ายเราก็บ่นตามเคยว่า ไม่มีเวลา
และหากให้พูดตามตรง เราคงรู้จักเทคนิคบริหารเวลามากมายอยู่แล้วเช่นกัน ตั้งแต่การไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่ตื่นสาย หัดใช้เทคนิค Pomodoro หัดปฏิเสธชาวบ้านบ้าง หรือ ใช้วิธีทำงานแบบ 80/20 และอื่นๆ อีกมากมาย ปัญหาคือเทคนิคเหล่านี้ไม่ช่วยเลยในระยะยาว ถ้าหากเราไม่ ‘เปลี่ยนมุมมอง’ ที่เรามีต่อเวลา
1
ก่อนจะภาวนาขอเวลาเพิ่ม ถามตัวเองก่อนว่า ‘ทำไม’ เราถึงต้องการเวลามากขึ้น
3
แน่นอน ไม่ใช่เพื่อทำงานที่เราเกลียดอยู่แล้ว และไม่ใช่เพื่อการทำงานบ้านที่เราแสนชิงชังด้วย เราต้องการเวลานั้นเพื่อทำอะไรที่เรารัก อยู่กับเพื่อน คนรัก และครอบครัวต่างหาก
3
หากตอบคำถามตัวเองได้แล้วว่าเวลา 2 ชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นนั้น จะเอาไปทำอะไร ลองคิดต่ออีกว่า พอจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะแบ่งเวลาไปทำสิ่งเหล่านี้ ทั้งๆ ที่มี 24 ชั่วโมงเท่าเดิม
ยกตัวอย่างเช่น เราเป็นคนที่ใส่ใจกับสุขภาพกายมากๆ และต้องการ 2 ชั่วโมงที่เพิ่มขึ้นในการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม เราไม่สามารถเปลี่ยนเวลาจาก 24 ชั่วโมงเป็น 26 ชั่วโมงได้ สิ่งที่เราทำได้คือ ลดเวลาการทำอย่างอื่นที่ไม่สำคัญในชีวิตลง (อย่างการดูทีวี การเล่นโซเชียลมีเดีย หรือการออกไปเที่ยวทั้งๆ ที่ไม่อยากไป) เพียงเท่านี้ เราก็หาเวลาเพิ่มเติมมาทำเรื่องที่เราให้ความสำคัญได้แล้ว
2
เหมือนกับที่นักเขียนชื่อ ปีเตอร์ เทอร์ลา เคยกล่าวว่า
1
“Managing your time without setting priorities is like shooting randomly and calling whatever you hit the target.” (บริหารเวลาโดยไม่จัดลำดับความสำคัญ ก็ไม่ต่างจากการยิงมั่วซั่วและเรียกอะไรต่อมิอะไรที่ยิงโดนว่า ‘เป้าหมาย’)
6
2) หยุดให้ความสำคัญกับทุกสิ่งจนมากเกินไป
หากเรามีเป้าหมายสำคัญ ‘1 เรื่อง’ นั่นหมายความชัดเจนว่าเรื่องนั้นสำคัญกว่าเรื่องอื่นๆ แต่ถ้าหากเรามีเป้าหมายสำคัญ ‘10 เรื่อง’ มีความเป็นไปได้สูงว่าเราจะไม่รู้เลยว่าสิ่งไหนสำคัญที่สุดสำหรับเรา
และไม่แน่ ทั้ง 10 เรื่องนั้นอาจไม่สำคัญจริงๆ สักเรื่องเลยก็ได้
มีบทเรียนมากมายที่สอนเราว่าอย่าทำอะไรหลายอย่างพร้อมๆ กัน ไม่ว่าจะเป็นสุภาษิต ‘อย่าจับปลาสองมือ’ หรือคำพูดของ พูบลิลิอุส ไซรัส นักเขียนภาษาละตินที่ว่า ‘To do two things at once is to do neither.’ หรือแปลว่า การทำอะไรสองอย่างพร้อมๆ กันคือการไม่ได้ทำอะไรเลย
3
ดังนั้นถ้าอยากทำตามเป้าหมายสำเร็จ การมีเป้าหมายเพียง 1 เดียวจะดีกว่า
แต่ถ้าเราอยากทำหลายเรื่องจริงๆ ให้เลือกเป้าหมายที่ไม่ชนกัน อย่างเช่นการออกกำลังกายกับการสร้างธุรกิจ เพราะเราคงออกกำลังกายเพียง 1-3 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น และ มีเวลาที่เหลือกับสุขภาพดีๆ ไปใช้ในการสร้างธุรกิจ ในขณะเดียวกัน การนั่งหน้าแล็ปท็อปจัดการธุรกิจเกิน 10 ชั่วโมงก็คงจะไม่ดีต่อเราเท่าไหร่ การได้ลุกมาออกกำลังกายเปลี่ยนอิริยาบถบ้างจะ Productive มากกว่า
3) เลิกใช้ ‘ช่วงเวลาสำคัญ’ ไปกับเรื่องไร้สาระ
1
เรามีเวลา 24 ชั่วโมงต่อวันก็จริง แต่อย่าลืมว่าเราไม่ได้มี ‘แรง’ ตลอด 24 ชั่วโมง
คนเรามีช่วงเวลาที่จะทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพแค่วันละ 3-5 ชั่วโมงเท่านั้น นอกเหนือจากช่วงนี้ พลังงานและสมาธิของเราจะลดลง ดังนั้นตามหาช่วงเวลาที่ Productive ที่สุดของตัวเองและใช้เวลานั้นไปกับการทำงานที่ ‘สำคัญที่สุด’ (แนะนำว่าให้ปิดแจ้งเตือน และอย่าใช้เวลานี้ไปกับการตอบอีเมลหรือการประชุมด้วย)
3
4) คำถามสำคัญ
แกร์รี เคลเลอร์ ผู้เขียนหนังสือ The One Thing บอกว่า หากเรารู้ว่าเป้าหมายของเราคืออะไรแล้ว แต่ไม่รู้ว่าขั้นตอนต่อไปต้องทำอะไร ลองถามตัวเองด้วย ‘คำถามสำคัญ’ ดู
1
คำถามนั้นคือ “อะไรคือ 1 สิ่งที่เราทำแล้วจะทำให้สิ่งอื่นๆ ง่ายขึ้น?”
2
บ่อยครั้ง สิ่งนั้นมักจะเป็นขั้นตอนที่ยากและเราพยายามเลี่ยงมาตลอด แต่เชื่อเถอะว่า ถ้าทำสำเร็จแล้วจะส่งผลดีต่อเราในระยะยาวจริงๆ ดังนั้นตามหาว่า อะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เส้นทางไปถึงเป้าหมายของเราเรียบง่ายขึ้น จดมันไว้บนสุดในรายการ To-do List และลงมือทำ
5) วางระบบ To-do List ใหม่
คุณกำลังเขียน To-do List ที่เต็มไปด้วย ‘สิ่งที่ต้องทำ’ เพียงอย่างเดียวหรือเปล่า? หากตอบว่าใช่ คุณต้องเปลี่ยนวิธีจด To-do List เสียแล้วล่ะ!
4
การจดสิ่งที่ต้องทำลงไปบนกระดาษเป็นเรื่องดี เพราะมันช่วยลดความเครียด ช่วยให้โฟกัสได้ดีขึ้น และไม่ลืมสิ่งที่ต้องทำ แต่ถ้าหากบนกระดาษของเราเต็มไปด้วยสิ่งที่ต้องทำจนละลานตาไปหมด แทนที่จะช่วย มันอาจทำให้เราเครียดหนักกว่าเดิม
จริงๆ แล้วการจะใช้ To-do List ให้มีประสิทธิภาพต้องใส่ ‘ความสำคัญ’ และ ‘เดดไลน์’ ไว้ด้วย สองสิ่งนี้จะช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญได้ถูกต้อง ดังนี้
[ ] งานที่สำคัญและเร่งด่วน
[ ] งานที่สำคัญและไม่เร่งด่วน
[ ] งานที่เร่งด่วนแต่ไม่สำคัญ
[ ] งานที่ไม่เร่งด่วนและไม่สำคัญ
3
6) ใช้ชีวิตบ้าง
หากเรามัวแต่กังวลว่าต้อง Productive ในทุกๆ วัน ชีวิตคงไม่มีความสุขและเกิดอาการเบิร์นเอาท์ตามมา ดังนั้นแทนที่จะใช้เวลาในการ ‘ทำให้ได้มากที่สุด’ ลองเปลี่ยนไปใช้เวลาอย่าง ‘มีความหมายที่สุด’ แทน
นอกจากจะวิ่งตามเป้าหมาย ลองหยุดพัก นั่งสมาธิ ยืดเส้นยืดสาย โทรหาครอบครัว ฟังเพลงโปรด ออกไปรับแสงแดด เล่นกับแมว ดื่มกาแฟร้านโปรด หรือให้กำลังใจคนรอบข้าง
1 วันมี 1,440 นาที อย่าลืมแบ่งนาทีอันมีค่าเหล่านี้ในการเติมความสุขให้ตัวเองด้วยนะ
4
อ้างอิง:
เนื้อหาอื่นๆ ที่น่าสนใจ
- บริหารเวลาในเวอร์ชันที่ดีที่สุดของตัวเอง! กับ 6 บทเรียนจากหนังสือ “At Your Best” >> https://bit.ly/3tl2n5n
- 13 นิสัยที่ควรหยุด! หากไม่อยากเปลืองเวลาชีวิต >> https://bit.ly/3InG17B
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#softskills
#timemanagement
โฆษณา