21 มี.ค. 2022 เวลา 12:39 • หนังสือ
เสียงแห่งขุนเขา
The Sound of The Mountain
ไม่บ่อยครั้งนัก…ที่จะเห็นแค่หน้าปกของหนังสือสักเล่ม แล้วเกิดความอยากอ่าน ไม่ลังเลที่จะตัดสินใจซื้อหนังสือเล่มนั้นมาครอบครองในทันที ความรู้สึกแบบนี้เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อคนเขียนได้พบกับหนังสือเล่มนี้ในครั้งแรก
จากหน้าปก…มีหลายปัจจัยที่ทำให้อยากอ่านหนังสือเล่มนี้
อย่างแรกเลย…หนังสือเล่มนี้เป็นวรรณกรรมญี่ปุ่น ชนชาติที่มีเอกลักษณ์ในการรังสรรค์ผลงานวรรณกรรมได้อย่างโดดเด่นและแตกต่าง ว่ากันว่าวรรณกรรมญี่ปุ่นนั้นสะท้อนและเข้าถึงถึงจิตวิญญาน อารมณ์และความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์ได้อย่างลึกซึ้งถึงแก่น เกี่ยวพันกับธรรมชาติ และจารีตประเพณี รวมไปถึงสัจธรรมของชีวิต โดยเฉพาะงานเขียนของยาสึนาริ คาวาบาตะ ผู้ที่ผลงานของเขาหลายต่อหลายชิ้น กลายเป็นมรดกทางวรรณกรรมอันล้ำค่าทั้งต่อซีกโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
ยาสึนาริ คาวาบาตะ เป็นนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนแรกที่คว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เมื่อปี ค.ศ. 1968 หรือปี พ.ศ. 2511 และเป็นคนที่สองของเอเชีย ถัดจากรพินทรนาถ ฐากุร นักปราชญ์ชาวอินเดีย ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1913
ยาสึนาริ คาวาบาตะ เริ่มเป็นที่รู้จัก เมื่อผลงานที่ชื่อ The Isu Dancer หรือในชื่อไทย ‘ระบำเร่’ ปรากฏต่อสายตานักอ่านในปี ค.ศ. 1926 แต่ที่โดดเด่นเป็นที่กล่าวขวัญถึงของนักอ่านทั่วโลก คือเมื่อผลงาน The Snow Country หรือ ‘เมืองหิมะ’ ออกมาในปี ค.ศ. 1935 และมีการแก้ไขเพิ่มเติมอีกหลายครั้ง กว่าฉบับสมบูรณ์จะเสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 1948
ผลงาน The Sound of Mountain หรือ ‘เสียงแห่งขุนเขา’ นี้ ยาสึนาริ คาวาตาบะ เริ่มเขียนขึ้นในปี ค.ศ. 1949 และเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1954 ซึ่งในเวลานั้นเขาประสบความสำเร็จอย่างสูง และได้รับการยอมรับในฐานะนักประพันธ์ฝีมือเยี่ยมแถวหน้าของแวดวงวรรณกรรมญี่ปุ่นแล้ว
ในขณะที่ยาสึนาริ คาวาตาบะ เริ่มต้นเขียน ‘เสียงแห่งขุนเขา’ นั้น เขายังเริ่มต้นเขียนนวนิยายอีกเรื่องหนึ่งไปในเวลาเดียวกัน นั่นคือเรื่อง Thousand Cranes หรือ ‘กระเรียนพันตัว’ ซึ่งเสร็จสมบูรณ์ในปี ค.ศ. 1951 ว่ากันว่านวนิยายทั้งสองเรื่องนี้เขียนขึ้นเพื่อเยียวยาจิตใจ หลังจากบอบช้ำจากภาวะสงคราม ที่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง ทำลายความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรที่เรารู้จักกันดีในนาม ‘ดินแดนแห่งอาทิตย์อุทัย’ อย่างย่อยยับ นอกจากวัตถุสิ่งก่อสร้างจะแหลกสลายพังพินาศแล้ว จารีตประเพณีและจริยธรรมบางอย่างของชาวญี่ปุ่นยังแตกยับ สูญสลายตามไปอีกด้วย
‘เสียงแห่งขุนเขา’ เป็นเรื่องราวของชายวัยใกล้เกษียณกับความรักหลงใหลในลูกสะใภ้ของตนเอง สะท้อนภาพของครอบครัวชาวญี่ปุ่นที่ได้รับผลระทบหลายๆอย่างหลังจากสงครามจบลง คนไทยเราได้อ่านผลงานชิ้นเยี่ยมนี้จากฝีมือการแปลของ ‘อมราวดี’ ที่การันตีถึงผลงานการแปลชิ้นเยี่ยมมาแล้วอย่างมากมาย ตั้งแต่ท่านแปลนวนิยายอมตะเรื่อง Innocent ของมารี คอเรลลิ ในชื่อ ‘ผู้บริสุทธิ์’ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2481 รวมถึงวรรณกรรมญี่ปุ่นอย่าง Namiko หรือ ‘จำพราก’ ในปี พ.ศ. 2497
‘เสียงแห่งขุนเขา’ จากฝีมือการแปลของ ‘อมราวดี’ รวมเล่มครั้งแรกโดยสำนักงานข่าวสารญี่ปุ่นแห่งประเทศไทย ในปี พ.ศ. 2512 และพิมพ์ซำ้ต่อมาอีกหลายครั้ง ในภาพ คือพิมพ์ครั้งที่ 5 โดยสำนักพิมพ์นาคร ในปี พ.ศ. 2557
ทั้งนักเขียนเจ้าของรางวัลโนเบล นักแปลขั้นเทพ และเอกลักษณ์ของวรรณกรรมญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลก รวมไปถึงการออกแบบหน้าปกที่เรียบง่ายแต่เด่นสะดุดตา เหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ตัดสินใจเดินไปตามหา ‘เสียงแห่งขุนเขา’ ได้อย่างไม่ยากเลย
โฆษณา