22 มี.ค. 2022 เวลา 01:00 • สิ่งแวดล้อม
ทางรอดเกรตแบร์ริเออร์รีฟ ทั่วโลกต้องบรรลุ Net Zero ให้ได้ 50% ในทศวรรษนี้
ในวันที่อากาศแจ่มใส ไม่มีพายุฝน และน้ำไม่ร้อนจนเกินไป แนวปะการัง ‘เกรตแบร์ริเออร์รีฟ’ จะมีสัตว์น้ำเข้ามาอาศัยมากถึง 1,625 สายพันธุ์ หอย 3,000 สายพันธุ์ อีไคโนเดิร์ม เช่นดาวทะเลและเม่นทะเล 630 สายพันธุ์
รวมถึงสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ อีกมากมายหลายหลากที่เข้ามาพึ่งพิง เช่น พวกนกทะเล
แต่ดูเหมือนว่าวันนี้ จำนวนชนิดพันธุ์อาจไม่มีมากมายเหมือนเก่า เพราะมีนาคม 2021 เกรตแบร์ริเออร์รีฟ ได้กลับมาเผชิญต่อการฟอกขาวครั้งใหญ่อีกครั้ง
ข้อมูลสรุปขององค์กร Climate Council อธิบายว่า อุณหภูมิของน้ำเหนือตอนกลางแนวปะการังในช่วงเดือนมีนาคมสูงกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 3 องศาเซลเซียส
เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ที่อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทรวัดได้สูงที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่เคยมีการบันทึก
โดยความร้อนส่วนเกินที่มหาสมุทรดูดซับในปี 2021 นั้นเทียบเท่ากับพลังงานของระเบิดปรมาณูฮิโรชิม่าเจ็ดลูก
บริเวณน่านน้ำใกล้ผิวดินนอกออสเตรเลียตะวันออกเฉียงใต้กำลังอุ่นขึ้นเกือบสี่เท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลก
สิ่งนี้กำลังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในการกระจายพันธุ์ การล่มสลายของสายพันธุ์ และความหลากหลายทางชีวภาพลดลง
ซึ่งตัวอย่างที่ปรากฎเด่นชัดแล้วก็คือ การฟอกขาวของเกรตแบร์ริเออร์รีฟ
 
นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ มักเตือนอยู่เสมอว่า หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง การฟอกขาวของแนวปะการังจะเกิดขึ้นทุกปี และท้ายที่สุดแนวปะการังน้ำตื้นทั่วโลกจะล่มสลาย
สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นกับเกรตแบร์ริเออร์รีฟในเวลานี้ พบว่าสภาพของปะการังค่อนข้างใกล้เคียงกับเหตุการณ์ฟอกขาวครั้งใหญ่ในรอบที่ผ่านๆ มา
ซึ่งถือเป็นการฟอกขาวครั้งใหญ่หนที่ 4 ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในรอบ 6 ปี และถือเป็นสถิติที่เกิดขึ้นถี่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
โดยเกิดต่อเนื่องกันในปี 2016, 2018 และปี 2020
ในบางปีที่การฟอกขาวไม่ได้กระจายเป็นวงกว้างเท่ากับในช่วง 3 ปีที่กล่าว แต่ก็ทำให้แนวปะการังบางจุดไม่สามารถฟื้นฟูให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก
นับจากการฟอกขาวครั้งใหญ่หนแรกในปี 1998 มีผลสำรวจออกมากว่า 98 เปอร์เซ็นต์ของเกรตแบร์ริเออร์รีฟเคยผ่านการฟอกขาวมาแล้วอย่างน้อย 1 ครั้ง
หรือในอีกด้านหนึ่งมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ จากแนวปะการังทั้งหมดที่ยังไม่เคยเผชิญการฟอกขาว
และนับตั้งแต่นั้นมา จำนวนตัวอ่อนของปะการังได้ลดลงถึง 71 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งกระทบโดยตรงต่อการอยู่รอดของแนวปะการังในอนาคต
ขณะเดียวกัน อุณหภูมิที่สูงขึ้น นอกจากจะทำร้ายปะการังแล้ว ยังสร้างผลร้ายต่อระบบนิเวศทางทะเลของออสเตรเลียอีกหลายด้าน อาทิเช่น การลดลงของหญ้าทะเลและป่าสาหร่ายเคลป์
และจะสะเทือนถึงการทำประมง อุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่สร้างรายได้และอาหารให้กับประชาชนในที่สุด
ตัวอย่างเช่น ในเขตปกครองท้องถิ่นดักลาชไชร์ ของควีนแลนด์ มูลค่าทางเศรษฐกิจของพื้นที่ทั้งหมดมาจากการท่องเที่ยวถึง 80 เปอร์เซ็นต์ จะหายไปทันที
จากการวิเคราะห์ของ Climate Council พบว่า การจำกัดอุณหภูมิให้สูงไม่เกิน 1.5 องศา ยังถือเป็นเรื่องสำคัญอันดับแรกที่ต้องลงมือทำทันที
ขณะเดียวกันเป้าหมายการลดคาร์บอนฯ ให้เหลือศูนย์จะต้องเร่งทำให้เร็วขึ้น
ในกรณีของออสเตรเลียที่ตั้งเป้าความสำเร็จไว้ในปี 2050 นั้น ถือว่าใช้เวลานานเกินไป
หากต้องการปกป้อง ‘เกรตแบร์ริเออร์รีฟ’ ให้อยู่รอดได้จริงๆ ต้องลดการปล่อยคาร์บอนฯ ให้ได้ 75 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2030 และลดที่เหลือให้สำเร็จภายในปี 2035
หรือในอีกแง่หนึ่ง ทุกๆ ประเทศควรต้องลดคาร์บอนฯ ให้ได้ 50 เปอร์เซ็นต์ ภายในทศวรรษนี้
ในอีกแง่หนึ่ง นักวิทยาศาสตร์ของ Great Barrier Reef Marine Park Authority อธิบายว่า
หากโลกร้อนเกิน 1.5 องศา ไปแล้ว ด้วยเครื่องมือ งานวิจัย และการพัฒนาองค์ความรู้ต่างๆ ที่มีตอนนี้ ยังไม่มีเทคโนโลยีไหนจะช่วยชีวิตปะการังเอาไว้ได้
แต่หากอุณหภูมิพุ่งไปถึง 3 องศา นั่นหมายถึงจุดจบอย่างแน่นอน
#IsLIFE #GreatBarrierReef #ColaReef #ClimateCrisis
อ้างอิง
The Conversation : https://bit.ly/3iGWSbj
Climate Council : https://bit.ly/3wpZ2np
The Guardian : https://bit.ly/3ItNoKH
The Guardian : https://bit.ly/3D1vWfm
The Guardian : https://bit.ly/34ZRQDj
Photo : Francesco Ungaro
โฆษณา