22 มี.ค. 2022 เวลา 12:21 • ไลฟ์สไตล์
“เข้าใจจิต จะเข้าใจขันธ์ทั้งหมด
ถ้าไม่เข้าใจจิตก็ไม่เข้าใจ ยังไม่พ้น”
“ … หลวงพ่อไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ ไปกราบท่านบอกว่า “หลวงปู่ผมอยากปฏิบัติ”
ท่านนั่งเงียบๆ เกือบชั่วโมง แล้วท่านถึงจะบอกให้ดูจิต
หลวงปู่ดูลย์สอนลูกศิษย์แต่ละคนไม่เหมือนกันหรอก
บางคนก็ให้ดูกาย
บางคนให้ทำสมถะ แล้วแต่
แต่หลวงพ่อท่านสอนตัดเข้ามาที่จิตเลย
เพราะท่านดูว่าหลวงพ่อพอทำได้ ดูได้
1
หลวงพ่อก็มาดู จิตเดี๋ยวก็สุข เดี๋ยวก็ทุกข์
เดี๋ยวก็ดี เดี๋ยวก็ร้าย
เดี๋ยวก็ไปดูรูป เดี๋ยวไปฟังเสียง
เดี๋ยวไปดมกลิ่น ลิ้มรส ไปรู้สัมผัสทางกาย
ไปคิดนึกทางใจ ไปเพ่งอารมณ์กรรมฐานทางใจ
เห็นจิตมันทำงานเกิดดับๆ ดูไปเรื่อยๆ
ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ
สุดท้ายมันก็จะเห็นขันธ์ 5 ก็ไม่ใช่เรา
ทำไมดูจิตตัวเดียวกลับไปเห็นขันธ์ 5 ได้ทั้งหมด
เห็นอายตนะได้ทั้งหมด
เพราะขันธ์ 5 มันเกิดมาจากจิตนั่นล่ะ อาศัยจิต
“วิญญาณะ ปัจจะยา นามะรูปัง”
วิญญาณก็ตัวจิตนั่นล่ะ เป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป
มีกายมีใจขึ้นมา
อาศัยวิญญาณตัวเดียวเป็นต้นตอ
ฉะนั้นเราเรียนที่หัวโจกมันได้ ก็เข้าใจทั้งหมด
1
หลวงปู่เทสก์ท่านเคยสอน
ท่านบอกจับที่จิตอันเดียว รู้ที่จิตอันเดียว
จิตเหมือนจอมแห
เราไม่เคยทอดแห เราไม่รู้จักจอมแห
แหมันเป็นวงกว้างๆ ตรงกลางเขารวบขึ้นมาๆ
เรียกว่าจอมแห
1
เวลาเราจับแห เราไม่ไปจับขอบแต่ละด้าน
ถ้าจับขอบแต่ละด้าน ทำอะไรไม่ได้
ฉะนั้นจับที่จอมแห ตรงกลางของมันเลย
ศูนย์กลางของมัน
เวลาจะเหวี่ยงแห ก็เหวี่ยงออกไป
จับตัวนี้ไว้ แล้วก็เหวี่ยง มันก็คลี่ออกไปคลุม
1
จอมแหเขาผูกเชือกไว้ เอาไว้ลากคืนมา
จิตมันเหมือนจอมแห จับที่จิตได้ตัวเดียว ได้ทั้งหมดเลย
หลวงปู่ดูลย์ก็สอนอย่างนั้นเหมือนกัน บอกธรรมะ 84,000 พระธรรมขันธ์ก็ออกมาจากจิตที่บริสุทธิ์อันเดียวนี้เอง
เพราะฉะนั้นถ้าเราเข้าใจจิต
เราก็จะเข้าใจขันธ์ทั้งหมด
ถ้าไม่เข้าใจจิตก็ไม่เข้าใจ ยังไม่พ้น
เข้าใจจิตอันเดียว จะเข้าใจขันธ์ทั้งหมด
ฉะนั้นไล่ไปเป็นลำดับๆ ถ้าอินทรีย์แก่กล้า ดูจิตได้ดูจิตไปเลย
ถ้าอินทรีย์เรายังไม่แก่กล้า ก็ไล่ไป
ดูกาย ในกายมีเวทนา
พอมีเวทนาเกิดขึ้น ก็มีการตีความให้ค่า
แล้วก็มีความปรุงแต่งของจิต ชอบ ไม่ชอบอะไรขึ้นมา
จิตก็วิ่งดิ้นรนเข้าไปยึดไปถืออะไรอย่างนี้
เรียนเป็นลำดับไป
ถ้าเรียนลัดได้ ก็ลัดเข้าที่จิต
เวลาจิตมันเกิดปัญญาสูงกว่านั้น
จะเห็นรูปนามเป็นตัวทุกข์
ตรงนี้มันก็เหมือนกัน จิตเหมือนจอมแห
ถ้าเราเห็นว่าจิตคือตัวทุกข์
ขันธ์ 5 ทั้งหมดซึ่งเป็นผลผลิตของจิตก็เป็นตัวทุกข์ทั้งหมดล่ะ
1
รู้ที่เดียวปล่อยทั้งหมดเลย
แต่ถ้ารู้ตรงนี้ไม่ได้ ก็วางไปเป็นลำดับๆ
หลวงพ่อเรียนกับหลวงปู่ดูลย์อยู่ไม่นาน ใช้เวลา 7 เดือน ท่านก็บอกว่าหลวงพ่อช่วยตัวเองได้แล้ว ท่านบอกอย่างนี้
หลวงพ่อก็ออกไปหาประสบการณ์ เข้าสำนักครูบาอาจารย์ต่างๆ ไปมันแทบทุกสาย ไปดูเขาว่าเขาภาวนากันอย่างไร
เข้าไปที่ไหนๆ เอ เขาพูดแต่เรื่องกายทั้งนั้นเลย ไม่เห็นมีใครพูดเรื่องจิตเลย
สายท่านพุทธทาสก็ทำอานาปนสติ 16 ขั้น ก็กายนั่นล่ะ เริ่มมาจากกาย
พองยุบมันก็เริ่มมาจากกาย
โกเอ็นก้าก็นั่งสมาธิทำอานาปนสติ มันก็กาย แล้วเขาไปดูเวทนาต่อ แต่เริ่มก็เริ่มจากกาย เวทนาที่เขาดูก็เป็นเวทนาทางกายส่วนใหญ่
สายหลวงพ่อเทียนไปขยับมือมันก็กายอีกล่ะ
สายวัดป่าพุทโธแล้วก็พิจารณากาย
ไปที่ไหนๆ มีแต่คนพูดแต่เรื่องกาย
มีหลวงปู่ดูลย์สอนเราประหลาดอยู่คนเดียว
กลับไปหาท่าน มีโอกาสก็เข้าไปกราบท่าน ไปถามท่านว่า “หลวงปู่ครับ ผมไปที่ไหนก็เห็นแต่เขาพูดเรื่องกาย ผมจะต้องกลับไปดูกายไหม”
หลวงปู่ท่านมองหลวงพ่อแบบสลดสังเวช มันโง่ แต่ท่านไม่ด่า แต่สายตาท่านบอกเลยว่ามองเราแบบสงสารเลย ท่านบอกว่า “ที่เขาดูกายเพื่อให้เห็นจิต เข้ามาถึงจิตแล้ว เอาอะไรกับกาย กายเป็นของทิ้ง” ท่านว่าอย่างนี้
แต่ลูกศิษย์ท่านส่วนใหญ่ก็กาย ไม่ใช่ว่าทุกคนดูจิตหรอก
หลวงพ่อมาพูดเรื่องดูจิตๆ ช่วงแรกคนไม่ค่อยเข้าใจ
เดี๋ยวนี้ไปที่ไหนก็พูดแต่เรื่องจิต
ดูจิต ดูถูกบ้าง ดูผิดบ้าง
1
ที่จริงเป็นคำสอนที่ครูบาอาจารย์สายวัดป่ารุ่นเก่าพูดกันมานานแล้ว เรื่องจิตผู้รู้ ไม่ใช่เรื่องประหลาด เพียงแต่รุ่นหลังๆ ลืมๆ ไป หลวงพ่อพูดเยอะๆ เข้า หลังๆ นี้ คนเอาเรื่องคำสอนเกี่ยวกับจิตใจที่ครูบาอาจารย์สอนเอามาเผยแพร่เยอะขึ้น
ที่จริงครูบาอาจารย์ที่ท่านสอนเรื่องจิต มีหลายองค์ องค์หนึ่งอย่างหลวงปู่เหรียญ
ถ้าใครเคยไปศาลาลุงชิน ท่านเป็นครูบาอาจารย์ที่เทศน์เพราะที่สุดเลย เสียงท่านก็ดี ฟังแล้วมีความสุข ฟังแล้วสงบสุข เสียดายไม่รู้ว่าเขาอัดไว้หรือเปล่าที่ท่านเทศน์ เป็นคำสอนเกี่ยวกับจิตทั้งนั้นเลย
หลวงพ่อเจอท่านครั้งแรก
ท่านอายุยังไม่มากเท่าตอนหลังๆ
ท่านก็สอนพุทโธพิจารณากาย
ตอนที่ท่านอายุเยอะขึ้นมา ท่านพูดแต่เรื่องจิต
หลวงปู่เทสก์ก็เหมือนกัน
ตอนหนุ่มๆ ก็สอนแต่พุทโธพิจารณากาย
ช่วงหลังพูดแต่เรื่องจิตเหมือนกัน
“จิตอันใด ใจอันนั้น
จิตเป็นผู้คิด ผู้นึก ผู้ปรุง ผู้แต่ง
ใจเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน”
ท่านชอบสอนอย่างนี้
2
หลวงปู่ดูลย์สอนหลวงพ่อสอนเรื่องจิต
เราภาวนาเรื่อยๆ เราจะรู้เลย
ครูบาอาจารย์ถึงบอก อย่างหลวงปู่มั่นบอก
ได้จิตคือได้ธรรม ไม่ได้จิตคือไม่ได้ธรรม
ยังไม่ได้ธรรมะ ได้จิตมาจะได้ธรรมะ
จิตเป็นของละเอียด
เราก็ต้องพัฒนาสติของเราให้ว่องไว
ฝึกจิตให้ตั้งมั่น มีสมาธิให้มากพอ
ถ้าจิตเราลอกแลกๆ เราดูจิตไม่ออก มันฟุ้งซ่าน
เพราะฉะนั้นจิตต้องอยู่กับเนื้อกับตัว
แล้วถัดจากนั้นอะไรเกิดขึ้นกับจิตใจ รู้มันไปเรื่อย
สภาวะที่จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัวนั้นล่ะ เรียกว่าสมาธิ
แล้วพอมีความเปลี่ยนแปลงอะไรเกิดขึ้นในจิตในใจ
ก็รู้เอา ตัวที่รู้เอาเรียกว่าสติ
ฉะนั้นเครื่องมือสำคัญในการทำกรรมฐาน
จะดูกาย หรือดูเวทนา ดูจิตอะไรก็ตามเถิด
เครื่องมือสำคัญเหมือนกัน 2 ตัว สติกับสมาธิ
เพราะฉะนั้นเราต้องมาพัฒนาคู่มือคู่นี้ 2 ตัวนี้
เครื่องมือสำคัญในการทำกรรมฐาน
จะดูกาย หรือดูเวทนา ดูจิตอะไรก็ตามเถิด
เครื่องมือสำคัญเหมือนกัน 2 ตัว สติกับสมาธิ
เพราะฉะนั้นเราต้องมาพัฒนาคู่มือคู่นี้ 2 ตัวนี้
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วิธีพัฒนาสติทำอย่างไร
สติเกิดจากการที่จิตจำสภาวะได้แม่น เรียกว่าถิรสัญญา
จิตจะจำสภาวะได้แม่นต้องเห็นสภาวะบ่อยๆ
เหมือนอย่างเรามีญาติพี่น้อง
ตอนเด็กๆ เห็นกันทุกวัน พอโตขึ้นแยกย้ายกันไป
ผ่านไปหลายสิบปี มาเจอกันไม่รู้จักกันแล้ว จำไม่ได้
เพราะไม่ค่อยเห็น
เพื่อนเราสักคนเจอกันทุกวันๆ เรียนหนังสือมาด้วยกัน
ทำงานที่เดียวกัน บ้านก็อยู่ใกล้กันอย่างนี้
โหย จำแม่นเลยคนนี้
แค่ได้ยินเสียงฝีเท้ามันเดินก็รู้แล้วคนนี้มา
ลักษณะที่สติมันทำงานก็อย่างนี้ล่ะ
ไม่ได้เจตนาจะรู้ แต่การที่เรารู้สภาวะซ้ำๆๆ ไปเรื่อย
ต่อไปพอสภาวะตัวนั้นมา สติจะรู้เลย
วิธีฝึกสติก็คือการทำสติปัฏฐานนั่นล่ะ
คอยรู้กาย รู้เวทนา รู้จิต รู้สภาวธรรมทั้งหลาย
ทั้งรูปทั้งนาม รู้บ่อยๆ
ถ้าเราดูจิตไม่ออก เราดูกาย คอยรู้สึกอยู่ในกาย
ร่างกายขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว
ร่างกายหายใจออก หายใจเข้าคอยรู้ไว้
ต่อไปพอเราขาดสติแล้วเราเกิดขยับตัว
ขยับปุ๊บสติเกิดเองเลย อันนี้ไม่ได้โมเม
หลวงพ่อเคยเจอมาด้วยตัวเอง
หลวงพ่อลองไปขยับมือเล่นอย่างหลวงพ่อเทียน รู้กาย
ทำเล่นๆ ทำเป็น ไม่ใช่ไม่เป็น
บอกแล้วว่าเรียนมาแทบทุกสำนัก
ขยับอะไร ขยับมือ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก
ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก
ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึกๆ
วันหนึ่งเห็นเพื่อนจะเดินไปทักทายมัน
พอก้าวขาออกไป พอตอนที่เห็นเพื่อนดีใจแล้วขาดสติ
แต่ตอนที่เท้าเคลื่อน ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก
รู้ขึ้นมาเองเลย นี่สติมันเกิดแล้ว
ฉะนั้นการที่เราเห็นสภาวะซ้ำๆ จะทำให้สติเกิด
ไม่ดูกายก็ได้ ใช้ดูเวทนาก็ได้ ดูจิตก็ได้
อย่างถ้าเราขี้โมโหเราก็ดู
จิตโกรธขึ้นมาก็รู้ จิตหายโกรธก็รู้ ดูมันอยู่แค่นี้
ต่อไป จิตมันเป็นอะไร มันรู้หมด
เริ่มต้นเรียนมันคู่เดียวก็พอ
ถ้าขี้โกรธ ก็จิตโกรธจิตไม่โกรธ เฝ้าดูมัน
จิตเดี๋ยวก็โกรธ เดี๋ยวก็ไม่โกรธ มีอยู่ทั้งวัน
ถ้าขี้โลภเจออะไรก็อยากได้หมด ก็ดูไป
เดี๋ยวจิตก็โลภ เดี๋ยวจิตก็ไม่โลภ ทั้งวันก็มีอยู่ 2 อย่าง
ดูมันคู่เดียวนี่ล่ะ
อย่างเราดูจิตโลภอยู่เรื่อยๆ ต่อไปมันชำนาญขึ้น
พอจิตมันโกรธปุ๊บ มันเห็นเองล่ะ มันระลึกขึ้นได้เองเลย
นี่วิธีฝึกให้มีสติ คือรู้สภาวะเนืองๆ ไป รู้บ่อยๆ
จนกระทั่งเวลาเผลอๆ แล้ว สภาวะนั้นเกิดขึ้น
สติระลึกได้เอง
ส่วนสมาธิเอาแบบง่ายๆ เลย
ก็คือ ถ้าจิตใจเราฟุ้งซ่าน รู้สึกลงในร่างกาย
ไม่ต้องไปดูจิตหรอก ส่วนใหญ่กำลังพวกเราไม่พอ
ฟุ้งซ่านจริงๆ ดูลงไปในร่างกาย
รู้สึกไหมร่างกายไม่เคยฟุ้งซ่านเลยๆ
ที่ฟุ้งซ่านคือจิต
พอเรามาระลึกรู้ในร่างกาย
ร่างกายมันเป็นวัตถุ เป็นก้อนธาตุ
ไม่มีความฟุ้งซ่านอะไรหรอก
ใจสัมผัสความไม่ฟุ้งซ่านของร่างกาย
ใจเราสัมผัสความไม่ฟุ้งซ่าน ความสงบของกาย
ใจก็สงบทันทีเลย ของง่ายๆ
1
ถ้าทำกรรมฐานเป็นแล้ว ชำนิชำนาญแล้ว
จะทำอะไรมันก็เป็นกรรมฐานได้หมด
อยากสงบหรือ ไม่เห็นจะต้องดูแต่ลมหายใจเลย
รู้สึกร่างกายนี้ รู้สึกลงไปเลย
ร่างกายนี้ไม่เห็นมันจะฟุ้งซ่านตรงไหนเลย
มันจะเห็นความต่าง
ร่างกายไม่ฟุ้งซ่าน ที่ฟุ้งซ่านอยู่ที่จิต
พอเห็นตรงนี้ปุ๊บ ความฟุ้งซ่านมันดับอัตโนมัติเลย
ไม่ฟุ้งซ่านแล้ว
เพราะฉะนั้นคนไหนพุทโธไม่ได้
ทำอานาปนสติก็ไม่ได้ ทำกรรมฐานอะไรก็ไม่ได้
รู้สึกตัวไป เห็นร่างกายมันยืน เดิน นั่ง นอน
รู้สึกมันไปเรื่อยๆ สมาธิมันก็เกิดได้เหมือนกัน
ค่อยๆ ฝึก แล้วจิตมีสติ มีสมาธิ
จิตก็จะสามารถเจริญปัญญาได้
การเจริญปัญญาก็คือการเห็นความจริง
อย่างอาจารย์ชอบพูดเมื่อก่อน
เดี๋ยวนี้พูดอะไรหลวงพ่อไม่รู้แล้ว
สมัยก่อนที่หลวงพ่อจะบวช
แกบอกรู้กายอย่างกายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น
อันนั้นเป็นหลักของการเจริญปัญญา
รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น
ถ้ารู้กายเฉยๆ ได้สมถะ ถ้ารู้ใจเฉยๆ ได้สมถะ
ถ้ารู้ว่ามันเป็นอย่างไร จะเป็นวิปัสสนา
มันเป็นอะไร มันเป็นไตรลักษณ์ทั้งนั้นล่ะ
กายก็มีไตรลักษณ์ ใจก็มีไตรลักษณ์
ฉะนั้นอย่างที่เขาสอน เขาบอกว่า
รู้กายอย่างที่กายเป็น รู้ใจอย่างที่ใจเป็น
อันนั้นคือหลัก
เวลาเราทำวิปัสสนา เราไปรู้อย่างที่มันเป็น
รู้ตามความเป็นจริงนั่นล่ะ
ถ้ารู้กายเฉยๆ เป็นสมถะ รู้ใจเฉยๆ ก็เป็นสมถะ
อย่างเราดูใจ แล้วก็ไปจับเอาความว่างๆ นิ่งๆ เฉยๆ อยู่ ก็เป็นสมถะ
หรือดูกาย เห็นท้องพอง เห็นท้องยุบ
ขยับมืออย่างนี้ มือเคลื่อนไหว รู้สึกไปเรื่อย
ท้องเคลื่อนไหว รู้สึก หายใจอยู่ รู้สึก
จิตอยู่ในอารมณ์อันเดียว
นั่นล่ะการทำสมถะ
ถ้าเข้าใจหลักนี้ อะไรๆ ก็ใช้ทำสมถะได้หมดเลย
แล้วถ้าเข้าใจหลัก รูปนามอะไรก็แสดงไตรลักษณ์ทั้งหมดเลย
อันนั้นเป็นวิปัสสนา
ฉะนั้นเราไม่ต้องนั่งเถียงกันว่า
กรรมฐานอะไรดีกว่ากรรมฐานอะไร
เราเอากรรมฐานอะไรได้ เราก็เอาอันนั้นล่ะ
คนอื่นเขาใช้อย่างอื่นก็เรื่องของเขา ทางใครทางมัน
บางคนก็บอกต้องดูกาย กายดี ก็สาธุ ก็ดีจริงๆ
แต่อาจจะไม่ดีสำหรับเรา แต่ดีสำหรับเขาอะไรอย่างนี้
หรือบางคนก็ขี้โม้ไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ วัดโน้นวันนี้
เที่ยวโม้ไปเรื่อย ดูจิตดีที่สุด
พูดอย่างนี้คือภาวนาไม่เป็น
ดูจิตมันดีสำหรับเราต่างหาก
คนอื่นมาดูแล้วอาจจะไม่ดีก็ได้
หลวงปู่ดูลย์ยังไม่ได้สอนทุกคนให้ดูจิตเลย
ฉะนั้นถ้ารู้หลักว่า หลักของสมถะเป็นอย่างนี้
หลักของวิปัสสนาเป็นอย่างนี้
เราก็จะสามารถเลือกเฟ้นกรรมฐานที่เหมาะกับเราเอง
สมถะเราใช้อะไรได้ ก็เอาอันนั้นล่ะ
วิปัสสนาเราเห็นอะไรถนัด แล้วเห็นไตรลักษณ์ได้
รู้กายแล้วเห็นไตรลักษณ์ได้ ก็ใช้ได้
รู้เวทนาแล้วเห็นไตรลักษณ์ได้ ก็ใช้ได้
รู้จิตตสังขาร จิตดีจิตชั่ว ก็ใช้ได้ ถ้าเห็นไตรลักษณ์
เพราะฉะนั้นเวลาเข้าใจหลัก เราจะเข้าใจทั้งหมด
ฟังจากหลวงพ่อพูดแล้วพวกเราหลายคนจะพบด้วยตัวเองเลย ไปฟังครูบาอาจารย์อื่นแล้วรู้เรื่อง ทั้งๆ ที่หลวงพ่อก็สอนแบบหลวงพ่อนี่ล่ะ แต่พอเราไปฟังท่านอื่นเทศน์เข้าใจ หรือเราอ่านพระไตรปิฎก อ่านแล้วเราก็เข้าใจ
ฉะนั้นเราเข้าใจจิตของเราเสียให้ดีเถอะ
แล้วเราจะเข้าใจทั้งหมดล่ะ
ทำไมคนนี้ภาวนาแบบนี้
ทำไมคนนี้ภาวนาแบบนี้ ผิดไหม มันก็ถูกของเขา
เราไปเอาอย่างเขา เอาดีไม่ได้
อย่าว่าแต่พวกเราฆราวาสเลย
พระในวัดนี้ส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งเลย ยังไม่ได้นับจำนวน
หลวงพ่อให้ดูกาย ไม่ได้ให้ดูจิต
เพราะว่าสมาธิยังไม่ตั้งมั่นพอ
สติยังไม่แหลมคมพอที่จะเห็นจิต
จิตมันเป็นของละเอียด
ฉะนั้นกรรมฐานทางใครทางมัน ไม่ว่ากัน
ใครถนัดอะไรก็เอาอันนั้นล่ะ
ละกิเลสได้ ก็ใช้ได้เหมือนกันหมดล่ะ
ถ้าภาวนาแล้วละกิเลสไม่ได้ ก็ใช้ไม่ได้ทั้งนั้นล่ะ
บางทีภาวนาแล้วกิเลสมากกว่าเก่า
อย่างนั้นล้มเหลวสิ้นเชิง
ฉะนั้นการภาวนามีตัวกรอบของมัน
คือตัวสัมมาวายามะ ความเพียรชอบ
ความเพียรละอกุศลที่มีอยู่
ความเพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด
ความเพียรที่จะทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิด
ทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญขึ้น
ฉะนั้นเราภาวนา ถ้าหลุดจากกรอบตัวนี้ก็ผิด
เจริญสติแล้วส่งเสริมกิเลสก็มี
ทำสมาธิแล้วส่งเสริมกิเลส ยิ่งเยอะใหญ่เลย
อย่างทำสติแล้วส่งเสริมกิเลส เครียดมากเลย
เครียด จะขยับอะไรนี่ เครียดมากเลย
มีสติอย่างรุนแรง จิตที่เครียดเป็นอกุศลจิต
เพราะฉะนั้นที่ทำอยู่ ไม่ได้มีสติหรอก
ถ้าไม่รู้ว่านี่เป็นอกุศล ก็ทำผิด
การภาวนามันก็มีอย่างนี้ล่ะ สมถะกับวิปัสสนา
สรุป สมถะทำให้จิตมันมีเรี่ยวมีแรง มีความพร้อมที่จะเจริญปัญญา
การเจริญปัญญาคือการทำวิปัสสนา
เพื่อให้จิตฉลาดเข้าใจความเป็นจริงของกายของใจ
จะเข้าใจความจริงของกายของใจได้
ก็ต้องเห็นกายบ่อยๆ เห็นใจบ่อยๆ
แล้วก็ดูเป็นแค่คนดู ไม่แทรกแซงมัน
จิตตั้งมั่นแล้วก็เป็นกลาง นี่คือมีสมาธิที่ดี
มีความตั้งมั่นและเป็นกลาง
มีสติระลึกรู้รูป ระลึกรู้นามที่กำลังปรากฏ
ก็จะเห็นความจริงของมัน คือ ไตรลักษณ์
ฉะนั้นค่อยๆ ฝึก
เริ่มต้นยากทั้งนั้นล่ะ
จะจีบผู้หญิงสักคนไม่เคยจีบใครเลย แข้งขาสั่นเลย
จะจีบสาวอะไรอย่างนี้ จีบมาหลายๆ คน เฉยๆ เฉยๆ
อกหักครั้งแรกจะเป็นจะตาย อกหักครั้งที่สิบเฉยๆ
กลับบ้านไปนอนสบายใจ
อะไรที่มันเคยแล้ว มันไม่ยาก
ของที่มันไม่เคย มันก็ยากทั้งนั้นล่ะ
ฉะนั้นอย่างคนบอก
โอ๊ย ทำไมกรรมฐานยากเหลือเกิน
ก็เธอไม่ค่อยปฏิบัติ
เธอปฏิบัติ ประเดี๋ยววันหนึ่ง มันก็ง่าย. …”
.
หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช
วัดสวนสันติธรรม
13 มีนาคม 2565
อ่านธรรมบรรยายฉบับเต็มได้ที่ :
Photo by : Unsplash

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา