22 มี.ค. 2022 เวลา 06:33 • สุขภาพ
‘Work ไร้ Balance’ ต้องระวัง! เมื่ออาการ Burnout ทำไฟมอด เหนื่อยใจ และพังไปถึงสมอง
3
ทุกวันนี้ใครยังไม่เคยรู้สึก “Burnout” ต้องบอกว่าคุณโชคดีมาก!
เพราะอาการหมดไฟ หรือ Burnout แทบจะเป็นอาการยอดฮิตในหมู่คนทำงาน ตีคู่มากับการปวดหลังและ Office Syndrome! โดยสาเหตุสำคัญมาจากการที่พนักงานต้องใช้พลังงานอย่างมาก ในการทำงานรวมถึงการต้องเดินทางไปทำงานในแต่ละวัน ก็ยังบั่นทอนประสิทธิภาพในการสร้างสรรค์ผลงานด้วยเช่นกัน อีกทั้งปัญหาการทำงานแบบ ‘Work ไร้ Balance’ หรือการใช้เวลาปะปนระหว่างการทำงานและเวลาพักผ่อน ที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำ ก็ทำให้บรรดาพนักงานจำนวนมากตกอยู่ในสภาวะหมดไฟอย่างเลี่ยงไม่ได้
1
ที่ผ่านๆ มาเราอาจเข้าใจว่า อาการ Burnout นั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจเพียงอย่างเดียว แต่จากการรายงานของแพทย์ด้านจิตวิทยาโรงพยาบาล NewYork-Presbyterian ระบุว่า หากเราตกอยู่ในสภาวะหมดไฟที่นานเกินไป หรือมีระดับอารมณ์ที่รุนแรงก็อาจส่งผลต่อระบบการทำงานของสมองได้
4
โดย Amy Arnsten ศาสตราจารย์ด้านประสาทวิทยา ได้ให้ความเห็นว่า เมื่อคุณเริ่มตกอยู่ในสภาวะหมดไฟ คุณจะเริ่มรู้สึกว่า แม้แต่สิ่งเล็กๆ น้อยๆ ก็รบกวนคุณไปหมด และคุณจะรู้สึกถูกกระตุ้นจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวได้ง่าย นอกจากนี้คุณจะยังรู้สึกไม่มีแรงจูงใจหรือหมดหวังต่อการทำอะไรใหม่ๆ
แน่นอนว่าความเครียดสะสม หรือความเครียดเรื้อรัง จะสร้างผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว โดยเมื่อไม่นานมานี้นักวิจัยออกมาเผยว่า ขณะที่เราอยู่ในอาการหมดไฟ สมองเราก็ได้รับผลกระทบไปด้วย เพราะเมื่อเราอยู่ในภาวะหมดไฟ สมองส่วนคอร์เทกซ์บริเวณหน้าผาก (Prefrontal Cortex) ซึ่งทำหน้าที่ประมวลการแสดงออกที่เหมาะสม และช่วยในการตัดสินใจอย่างมีเหตุผล จะลดประสิทธิภาพในการทำงานลง
1
ซึ่งในเวลาต่อมาจะส่งผลให้เราเริ่มขาดสมาธิที่จะจดจ่อต่อสิ่งต่างๆ หรือแม้แต่การรักษาความจำในระยะยาว ไม่เพียงเท่านั้น จากงานวิจัยยังพบว่า การตัดสินใจของเราจะเริ่มผิดพลาดมากขึ้นไปด้วย
4
นอกจากสมองส่วนคอร์เทกซ์บริเวณหน้าผากแล้ว ในงานวิจัยยังระบุอีกว่า เนื้อเยื่อประสาทของสมอง อย่างอมิกดาลา (Amygdala) ซึ่งทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับอารมณ์ และสัญชาตญาณการอยู่รอด อย่างการควบคุมความกลัว ความรัก หรือแม้แต่ความโกรธ จะทำงานในด้านลบที่รุนแรงมากขึ้น เมื่อเราอยู่ในอาการที่หมดไฟ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอนที่สมองส่วนคอร์เทกซ์บริเวณหน้าผากทำงานได้แย่ลง ความสามารถในการควบคุมอารมณ์ก็จะยิ่งต่ำลงไปด้วย
ขณะที่ Kira Schabram ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยวอชิงตัน ระบุว่า อาการหมดไฟ หรือ Burnout สามารถหายได้ หากเริ่มรู้สึกถึงอาการเหนื่อยล้า ก็จงหยุดทำงาน ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่เราจะหยุดทำงานบ้าง หรืออาจจะเริ่มด้วยวิธีง่ายๆ อย่างการนอนหลับให้เพียงพอ เนื่องจากเวลาในการนอน ส่งผลต่อการทำงานของสมองอย่างมาก นอกจากนี้ Schabram ยังกล่าวอีกว่า หลายคนมักใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในการบรรเทา หรือกำจัดความเครียด แต่นั่นไม่ใช่ทางเลือกที่ดีนัก เช้าต่อมาคุณจะรู้สึกแย่กว่าเดิมเสียอีก ทางที่ดีคือ ควรทำสมาธิ หรือไปออกกำลังกาย จะช่วยพัฒนามุมมองใหม่ๆ และจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้ตัวคุณเอง ซึ่งเป็นวิธีที่ทำได้ไม่ยาก อีกทั้งจะช่วยให้คุณหลุดพ้นจากอาการหมดไฟได้จริง
แปลและเรียบเรียงจาก:
#missiontothemoon
#missiontothemoonpodcast
#worldnews
โฆษณา