23 มี.ค. 2022 เวลา 14:16 • หุ้น & เศรษฐกิจ
ราคาวัตถุดิบหลักในตลาดปุ๋ย เช่น แอมโมเนีย, ไนโตรเจน, ไนเตรต, ฟอสเฟต, โปแตช และซัลเฟต สูงขึ้น 30% นับตั้งแต่ขยับเข้าสู่ปีนี้ และปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่สูงกว่าราคาในช่วงที่เกิดวิกฤตด้านอาหารและพลังงานในปี 2008
รัสเซียและยูเครนเป็นหนึ่งในผู้ผลิตสินค้าโภคภัณฑ์ด้านการเกษตรที่สำคัญที่สุดในโลก ด้วยสินค้าที่ส่งออกไปในตลาดอาหารและปุ๋ยทั่วโลกมีการกระจุกตัวอยู่ในประเทศผู้ผลิตเพียงแค่ไม่กี่แห่ง
จากข้อมูลขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุว่า ในปี 2021 รัสเซียเป็นผู้ส่งออกปุ๋ยไนโตรเจนรายใหญ่ที่สุดของโลก และยังเป็นแหล่งซัพพลายเออร์รายใหญ่สุดอันดับสองของปุ๋ยโพแทสเซียมและฟอสฟอรัส
หัวหน้าฝ่ายจากบริษัทที่ปรึกษาการลงทุน CRU กล่าวว่า การค้าระหว่างรัสเซียและส่วนอื่น ๆ ของโลกยังไม่ได้ปิดตัวลง แต่ถูกทำให้เกิดการติดขัดอย่างรุนแรงเมื่อบริษัทผู้นำเข้าและเรือขนส่งต่างพากันหลีกเลี่ยงพวกเขาเนื่องจากการรุกรานยูเครน
รัสเซียที่ครองสัดส่วนประมาณ 14% ของการส่งออกปุ๋ยทั่วโลกถูกระงับการค้าส่งออกชั่วคราว ซึ่งคาดว่าจะเกิดเป็นปรากฏการณ์ระลอกคลื่นไปยังตลาดอาหารทั่วโลก นอกเหนือจากการดีดตัวขึ้นของราคาแก๊สที่เป็นส่วนประกอบหลักในการผลิตปุ๋ย
ในขณะเดียวกันมาตรการคว่ำบาตรต่อเบลารุสที่เป็นพันธมิตรของรัสเซียยังส่งผลกระทบเป็นอย่างมากต่อตลาดโปแตช เนื่องจากรัสเซียและเบลารุสมีส่วนเกี่ยวข้องจาก 40% ของปริมาณการซื้อขายที่เกิดขึ้นในแต่ละปี
เศรษฐกิจทั่วโลกกำลังเผชิญกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงเป็นประวัติการณ์ซึ่งได้รับแรงหนุนจากราคาอาหารและพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นเป็นส่วนใหญ่ และจากข้อมูลของ FAO ยังเแสดงให้เห็นว่าราคาอาหารได้ทะยานขึ้นไปเป็นสถิติสูงสุดตลอดกาลแล้ว
ก่อนหน้าเหตุการณ์ที่ส่งผลต่ออุปทานที่ลดลงจากรัสเซียและเบลารุส ราคาปุ๋ยต้องเผชิญกับแรงกดดันที่เพิ่มขึ้นจากการหยุดชะงักของระบบซัพพลายเชนทั่วโลก, การห้ามส่งออกของจีน และการโจมตีทางรถไฟของแคนาดา
ในขณะที่ประเด็นถกเถียงส่วนใหญ่จะกล่าวถึงการพุ่งขึ้นของดัชนีราคา หลังการรุกรานยูเครนของรัสเซียถูกครอบงำด้วยประเด็นเรื่องพลังงาน แต่ผลกระทบอย่างฉับพลันเกี่ยวกับการจัดหาปุ๋ย, ข้าวสาลี และธัญพืชอื่นๆ ก็ถูกคาดหมายว่าจะทำให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น
จากรายงานของกลุ่มนักวิจัยในยุโรปภายในเดือนนี้ได้ประเมินไว้ว่า ขอบเขตและความรุนแรงของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในอุปทานครั้งนี้อาจส่งผลกระทบที่รุนแรงกว่าการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในครั้งก่อน ด้วยแรงกดดันของอัตราเงินเฟ้อที่ขยายตัวขึ้น
การผลิตอาหารและปุ๋ยต้องใช้พลังงานสูงในส่วนของเครื่องจักร, กระบวนการอุตสาหกรรม และการขนส่ง แต่ยังคงต้องแข่งขันกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในด้านวัตถุดิบ เช่น การผลิตแบตเตอรี่ลิเธียมไอออนก็ต้องการสารเคมีที่ใช้ในการผลิตปุ๋ยฟอสฟอรัสเช่นกัน
ในท้ายที่สุดแล้วยังมีปัญหาด้านการจัดส่งและการขนส่ง และที่สำคัญกว่านั้นผลกระทบของมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซียจะยิ่งทำให้ระบบซัพพลายเชนในตลาดโลกมีความตึงตัวยิ่งขึ้นไปอีก คล้ายกับเหตุวิกฤตอาหารโลกที่เคยเกิดขึ้นในปี 2008
References :
โฆษณา