Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
SDG Wings Thailand
•
ติดตาม
23 มี.ค. 2022 เวลา 16:48 • สิ่งแวดล้อม
ยางนาเชียงใหม่ - 140 ปี แห่งรัก
คุณย่าทวดเล่าว่าต้นยางเหล่านี้แม่เค้าเอามาปลูก ได้รับคำจากหลวงว่า ห้ามตาย ทุกคนก็เอาใจใส่รักต้นยาง
แสงจันทร์ เพียนอก ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในร่มเงาของต้นยางนายาวนานกว่า 65 ปี
คนรุ่นก่อนจะมีความผูกพันธ์รักต้นยาง ฤดูใบไม้ร่วงจะไปเก็บใบมาสานมุงหลังคา ถ้าปวดฟันปวดเหงือก เอามีดไปกระเทาะเปลือกเอาเนื้อมาจิ้มที่เหงือกที่ฟันก็หาย สมัยก่อนเอามีดไปสับๆ รองขี้ใต้มาใช้ในชีวิตประจำวัน
ก่อนเข้าฤดูแล้ง เดือนเมษาจะมีการตัดทอนกิ่งที่ล้ำออกไป กิ่งแห้งกิ่งผุ ใช้คนตอกไม้ลิ่มขึ้นไป มีขวานมีมีดมีเชือก ไม่เคยได้ยินว่าต้นยางมันล้มมันหัก ตอนนั้นมันอาจสมบูรณ์แข็งแรง ”
แสงจันทร์ เพียนอก ชาวบ้านผู้อยู่อาศัยในร่มเงาของต้นยางนายาวนานกว่า 65 ปี เล่าถึงความผูกพันธ์ของผู้เฒ่าผู้แก่ที่มีต่อต้นยางนา สมัยเมื่อครั้งยังเป็นเด็ก
ทุกคนบนถนนเส้นสารภีไม่ได้รังเกียจต้นยาง มีความรักอยู่ ถึงต้นล้มก็ยังเสียดาย
“ต้นยางก็เหมือนคนเฒ่า ฝนบ่ตกก็หักได้ เมื่อคืนมีลมก็หวาดผวา ในชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น เป็นภาพที่จำได้ วันที่ 1 ตุลาคม 2564 เวลา 14.13 นาที เหตุการณ์นี้จำติดตา เกิดมาตลอดชีวิต 65 ปีไม่เคยเจอเหตุการณ์นี้ สูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สิน สิ่งที่สำคัญคือจิตใจยังมีความเศร้าอยู่”
วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์จากภูมิสถาปัตย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เล่าถึง สถานการณ์และการจัดการปัญหาต้นยางนาผ่านมุมมองนักวิชาการ
“ผมเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องในการประเมินเพื่อตัดแต่ง และวางแผนในการดูแลสุขภาพต้นไม้อยู่หลายครั้ง
ความจริงที่ผมพบข้อที่หนึ่ง ก็คือว่า คนที่ปลูกต้นยาง ไม่ได้เห็นต้นยางใหญ่ขนาดนี้ในตอนปลูก และไม่เห็นว่าจะมีการอยู่อาศัยหนาแน่นขนาดนี้ในเวลาปลูกเช่นกัน การอยู่อาศัยภายใต้ต้นไม้ขนาดใหญ่เลยเกิดความขัดแย้งกัน ผมไม่ได้ว่าเป็นเฉพาะถนนสายนี้ ที่ไหนในโลกก็เป็น ความจริงอีกข้อหนึ่งก็คือ ผมอยากให้เข้าใจว่าโดยธรรมชาติแล้วต้นไม้มันล้มได้ ความจริงข้อที่สามคือ พื้นที่ที่ต้นยางยืนอยู่เนี่ยะมันไม่ได้เหมาะสำหรับการปลูกต้นไม้เท่าไหร่ ในปัจจุบัน ด้วยความแน่นของดิน คุณภาพในการระบายน้ำ ทำให้การเจริญของมันไม่ได้เหมาะสมในการยืนต้นเท่าไหร่นัก
แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะแก้ไขไม่ได้ เราพูดถึงต้นยางในลักษณะการเป็นถนนต้นยาง ไม่ใช่ต้นยางเพียงต้นเดียว ดังนั้นการจัดการที่เหมาะสมจึงไม่ใช่การจัดการต้นไม้เป็นต้นๆ มันคือการจัดการพื้นที่ทั้งบริเวณต้นยาง”
จริงๆ พื้นที่ตรงนั้นเป็นพื้นที่พิเศษนะ
ในประเทศไทยไม่ได้มีเยอะ มีที่เดียว
แล้วก็ใน South East Asia ที่ผมได้เคยไปเห็นมา มันก็ไม่ได้ใหญ่โตและมีระยะทางได้ขนาดนี้ แต่เรากำลังจัดการพื้นที่พิเศษในกลไกธรรมดามากเลย
วรงค์ วงศ์ลังกา อาจารย์จากภูมิสถาปัตย์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
“ ผมนึกตัวอย่างนึงคือเวลาไปเคนย่า ที่มันมีซาฟารี รถไปดูสิงโต เค้าก็ต้องมีรถที่มันเหมาะสมกับการดูสิงโต ถูกมั้ยฮะ ถามว่ามีคนอยู่มั้ย มีฮะมีชาวมาไซอยู่แถวนั้นแต่ชนเผ่าเค้าต้องมีโครงสร้างบ้านที่พิเศษด้วย แล้วอาชีพที่มันสอดคล้องกับตรงนั้นอ่ะครับ จะเลี้ยงสัตว์ เลี้ยงไก่ ให้สิงโตมาโจมตีเค้าก็ไม่ทำฮะ ทางรัฐเค้าก็ส่งเสริมอาชีพที่เหมาะสม เช่นกัน อาชีพใต้ต้นยาง ถ้ามีคนอยู่อาศัย มีร้านค้าขนาดเล็กผมว่าโอเค ไปด้วยกันได้ แต่บางครั้งมีคาร์แคร์ มีเต็นท์รถมือสอง ผมว่ามีความเปราะบางมาก ถ้ามีการ switch ย้ายจัดโซนนิ่งให้ไป ก็น่าจะเหมาะสมสอดคล้องกับอาชีพที่น่าจะต้องการความปลอดภัยมากๆ ด้วย”
บุญชู เทพสุนทร ตัวแทนชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ต้นยางนาล้มเมื่อปีก่อน ย้ำถึงความสำคัญที่จะต้องสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนที่อยู่ใต้ต้นยาง “ ผมไม่อยากให้มันล้มซักต้นเลยครับ ไม่ต้องไปตัด เพียงแต่ว่าจะทำยังไงให้อยู่ร่วมกับเราได้ ผู้บริหารระดับสูงของประเทศควรมอบหมายให้มีผู้รับผิดชอบโดยตรง มีการวางแผนและจัดสรรงบประมาณไว้โดยเฉพาะ ชดเชยค่าเสียหายให้กับผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนอย่างทันท่วงที และควรสนับสนุนผู้อยู่อาศัยใต้ต้นยางที่ทำคุณประโยชน์ให้กับต้นยางด้วย”
สายกลาง จินดาสุ นักโบราณคดีชำนาญการ มองภาพการอนุรักษ์ต้นยาง ผ่านประเด็นเรื่องการจัดการความเสี่ยง
“สำหรับผมคิดว่าปัจจุบันเนี่ยะการจัดการความเสี่ยงถือเป็นสิ่งสำคัญมาก ภัยจากต้นยาง คือ ภัยจากพายุ ภัยจากฝนตกหนัก ภัยทางธรรมชาติ คือ สิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่สามารถป้องกันได้ แต่ในกระบวนการภัยตัวเนี๊ยะมันจะไปคูณเข้ากับตัวช่องโหว่หรือความอ่อนแอของแหล่งหรือพื้นที่ เช่น เสถียรภาพของดิน อาจจะไม่มั่นคงแข็งแรง หรือตัวต้นสูงมาก พุ่มใหญ่หนา อาจจะรับแรงลมเยอะ หรือการที่รากไม่สามารถไชไปหาอาหารในฝั่งถนน รากอาจจะโตข้างเดียว หรือการมีอาคารที่ประชิดพื้นที่มากโครงสร้างแข็งไว้ใต้ดิน รากโตไม่ได้ เราไม่สามารถควบคุมภัยธรรมชาติได้แต่เราสามารถควบคุมอันหลังได้ ยิ่งเราควบคุมตัวคูณมมันก็น้อยตาม ความเสี่ยงมันก็น้อยลงตาม
การจัดการความเสี่ยงเป็นสหวิทยาการ คงต้องอาศัยศาสตร์หลายๆ อย่างเพื่อเอามาวิเคราะห์ความเสี่ยง การจัดการในอนาคตต้องร่วมมือกันในหลายๆ ศาสตร์หลายๆ ความรู้”
วรงค์ วงศ์ลังกา เน้นเรื่องความสำคัญของงบประมาณ และความจำเป็นในการบริหารจัดการพื้นที่ต้นยางในรูปแบบพื้นที่พิเศษ “งบปประมาณเป็นสิ่งที่สำคัญมาก อย่างรถเครนเบิก 25 วัน ใครจะมาให้เรา เวลาทำทำเป็นเฟสแต่เวลาล้มมันไม่ได้ล้มเป็นเฟส มันทำให้เราบริหาารปัญหาไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ถ้าเรามีทางที่จะทำให้เราพอจะหารายได้เข้ามาสนับสนุนกับเงินที่ทางจังหวัดมี มันจะทำให้เราบริหารจัดการได้ดี หลายครั้งที่ผมได้รับโทรศัพท์ ว่ามันหักแล้วแขวนอยู่ ผมไม่มีแม้กระทั่งรถเครน ซึ่งถ้าไปเขียนคำร้องก็ต้องรออนุมัติคำร้อง ซึ่งมันนานมาก
บนดินเป็นปัญหาที่เราพอจะมองเห็นและจัดการได้ แต่ปัญหาส่วนใต้ดินเรามองไม่เห็น แล้วปัญหาทีต้นยางเกิดกับชุมชนส่วนใหญ่เนี่ยะ มันโค่น ทั้งที่มันยังมีชีวิตอยู่เนี่ยะละฮะ สิ่งที่ทั้งโลกได้ตระหนักถึงเรื่องของต้นไม้ริมถนนก็คือ สภาพของรากใต้ต้นที่จะทานน้ำหนักให้ต้นนั้นตั้งอยู่ได้ครับ ถนนเนี่ยะแหละครับเป็นอุปสรรคนึง ในการทำงานกับต้นยางผมได้ลองเปิดรากหลายต้น ใต้ต้นมีท่อน้ำ ซึ่งไม่ได้ใช้แล้ว มันมาจากถนนที่สร้างไม่รู้กี่ครั้ง ตัวถนนเองควรออกแบบให้มันซึมนน้ำได้ ผมเสนอให้ใช้อิฐตัวหนอนที่มันยาวกว่าเดิม แข็งแกรงกว่าเดิม ผมว่านักวิชาการไทยเก่งพอที่จะมาร่วมมือกันทำให้พื้นที่พิเศษตรงนี้มันอยู่ต่อไปได้
มันต้องสอดคล้องกับการปรับพฤติกรรม มันควรมีรถขนส่งขนาดเบา รถขนส่งสาธารณะที่นำคนจากชุมชนตรงนั้นออกไปยังที่ต่างๆ ได้ ผมว่าปัญหาทุกอย่างจะถูกแก้ไขไปเป็นองค์รวม การตัดทอนต้นยาง เป็นเรื่องสมควรและน่าทำ ผมว่าถ้าเรามีการตั้งกลุ่มคุยกันเป็นข้อตกลงที่เราเห็นร่วมกัน ว่าเรากำลังลดความสูงอยู่ถึงแม้ว่าช่วงนี้มันจะโล่งไปบ้าง แต่อีกสามสี่ปี มันจะกลับมาเขียวเหมือนเดิม ผมว่ามันก็เป็นอีกวิธีนึง”
การเสวนาสิ้นสุดลงอีกครั้ง ต้นเดือนกุมภาพันธ์ อากาศหนาวเย็นต่อเนื่อง ฝนพรำบ้างเป็นบางวัน ยางนาสูงเสียดฟ้า 923 ต้น อัตลักษณ์ ความภาคภูมิใจของชาวเชียงใหม่ ยังคงยืนหยัดอวดสายตาผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา บนถนนสายเชียงใหม่ - ลำพูน ถนนหลวงหมายเลข 106 เส้นทางเก่าแก่ เสน่ห์มนต์ขลัง กว่า 140 ปี ที่ลูกหลานชาวเชียงใหม่ยังคงร่วมแรงร่วมใจอนุรักษ์ไว้ ท่ามกลางสายหมอก กาลเวลา ที่กำลังแปรเปลี่ยน
จิตติมา จันทนะมาฬะกะ
SDG Wings Thailand
- -
เรียบเรียงจาก
เวทีเสวนา คน : ต้นไม้ กับอนาคตถนนสายต้นยางนา เชียงใหม่-ลำพูน
วันเสาร์ ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565
จัดโดย The North องศาเหนือ - เขียว สวย หอม Greenery.Beauty.Scent - นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) Thai PBS
#ยางนาเชียงใหม่ลำพูน #ถนนยางนา #องศาเหนือ #เขียวสวยหอม เขียว สวย หอม Greenery.Beauty.Scent #นักข่าวพลเมือง (ThaiPBS) SDG Wings Thailand #ยางนาเชียงใหม่ #140ปีแห่งรัก
- -
Also published on:
++ สำนักข่าวกรีนนิวส์ GreenNews
https://greennews.agency/?p=27454
++ Environman
https://www.facebook.com/1523107561151019/posts/4580132645448480/
++ Prachatham ประชาธรรม
++ พลเมืองสีเขียว
บันทึก
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย